Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

การบริบาลทารกและโรคทางกุมารเวชศาสตร์

Posted By Plookpedia | 26 เม.ย. 67
7,257 Views

  Favorite

การบริบาลทารกและโรคทางกุมารเวชศาสตร์

      เด็กๆ เคยสงสัย บ้างไหมว่า กว่าเด็กๆ จะเติบโตขึ้นมาจนอ่านหนังสือออก และจนโตเป็นผู้ใหญ่ทำการทำงานได้นั้น เด็กๆ ได้ผ่านช่วงชีวิตหนึ่ง ซึ่งแทบจะไม่ทราบเลย ถ้าไม่มีใครบอก หรือเล่าให้ฟัง ชีวิตช่วงนั้นเป็นเวลาที่เด็กไม่สามารถจะช่วยตัวเองได้เลย เริ่มตั้งแต่ชีวิตอุบัติขึ้นภายหลังการผสมระหว่างไข่ในท้องแม่ และเชื้อชีวิตจากพ่อ ตลอดเวลาที่เด็กๆ อยู่ในท้องแม่ ซึ่งนานถึง ๙ เดือน จนกระทั่งคลอด เด็กๆ ต้องการความเอาใจใส่ดูแลอย่างใกล้ชิด เพื่อความปลอดภัยของชีวิต ตอนนี้ร่างกายของเด็กๆ จะเจริญเติบโตอย่างรวดเร็วในระยะ ๒-๓ ปีแรก ซึ่งมองเห็นได้ชัดเจนกว่าระยะอื่น นอกจากร่างกายจะเติบโตแข็งแรงขึ้นเป็นลำดับแล้ว ความเจริญเติบโตเกี่ยวกับความรู้สึกต่างๆ ซึ่งเรียกว่า พัฒนาการทางจิต และความเจริญเติบโตเกี่ยวกับความนึกคิด ซึ่งเรียกว่า เชาวน์ปัญญา ก็ดำเนินและเจริญขึ้นไปเรื่อยๆ จนถึงระยะหนึ่ง คือ ช่วงกลางของวัยเด็ก การเจริญเติบโตช้าลง แต่ก็เจริญขึ้นอย่างสม่ำเสมอ และกลับรวดเร็วอีกครั้งในระยะย่างเข้าเป็นผู้ใหญ่
      ถ้าเด็กๆ ไปเปิดพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๔๙๓ จะพบว่า เขาอธิบายคำว่า เด็ก ว่าหมายถึง คนที่มีอายุน้อย โดยทั่วไปนิยมถืออายุต่ำกว่า ๑๕ ปี วัยเด็กถือว่าเป็นจุดศูนย์กลางของการเจริญเติบโตของมนุษย์ จึงควรที่จะได้รับการดูแล เพื่อช่วยกันรับผิดชอบสังคม และบ้านเมืองในอนาคต เพราะอีกไม่นาน เด็กในขณะนี้ก็จะกลายเป็นผู้ใหญ่ในเวลาต่อมา สมตามคำกล่าวที่ได้ยินกันอยู่บ่อยๆ ว่า "เด็กวันนี้คือผู้ใหญ่ในวันหน้า"

 

 

 

การจัดอายุเด็กตั้งแต่แรกเกิดถึง ๑๕ ปี ตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถานนี้ เป็นการจัดอย่างกว้างขวาง ในทางการแพทย์ได้แบ่งวัยเด็กๆ ไว้เป็นระยะ และมีชื่อเฉพาะดังนี้

      ทารกแรกเกิด หมายถึง ช่วงตั้งแต่คลอดจนอายุได้ ๒๘ วัน
      ทารก หมายถึง ช่วยตั้งแต่แรกคลอดจนอายุ ๑ ปี
      เด็กวัยก่อนเรียนหรือปฐมวัย หมายถึง อายุระหว่าง ๒-๖ ปี
      เด็กวัยเรียน หมายถึง อายุ ๗-๑๕ ปี
      เด็กวัยรุ่น (หนุ่ม - สาว)    ถ้าเป็นหญิง หมายถึง ระหว่างอายุ ๑๒ - ๑๗ ปี  ถ้าเป็นชาย หมายถึง ระหว่างอายุ ๑๔-๑๙ ปี
ในทางการแพทย์ เด็กที่มีคุณภาพ หมายถึง เด็กที่มีสุขภาพดี และเป็นสุข ซึ่งประกอบด้วย

      ๑. มีความสมบูรณ์ทางร่างกาย ปราศจากความพิการและโรค
      ๒. สมองและเชาวน์ปัญญาปกติ
      ๓. จิตใจ และอารมณ์ปกติ สามารถอยู่ร่วมกับคนอื่นได้
      วัยเด็กเป็นวัยที่รับประสบการณ์ของชีวิตอย่างกว้างขวาง เริ่มตั้งแต่ช่วงต้นของชีวิต ซึ่งต้องการความช่วยเหลือทุกด้าน จนกระทั่งเริ่มช่วยตัวเองได้ทีละนิด และช่วยตัวเองได้เต็มที่ตามอายุและวัยที่ผ่านไป แม้ว่าช่วงระยะของความเป็นเด็กจะค่อนข้างสั้น เมื่อเทียบกับช่วงชีวิตของคนแต่ละคน แต่ก็นับว่ามีความสำคัญ เพราะเป็นช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อที่มีความหมาย และมีอิทธิพลอย่างใหญ่หลวงต่อการดำเนินชีวิต เมื่อเติบโตขึ้นเป็นผู้ใหญ่

 


      จากรายงานของสถาบันประชากรของสหรัฐอเมริกา ซึ่งจัดทำขึ้น เนื่องในปีเด็กสากล เมื่อพ.ศ. ๒๕๒๒ เกี่ยวกับสถานภาพ และสุขภาพเด็กของโลก ในปี พ.ศ. ๒๕๑๘ (ค.ศ. ๑๙๗๕) ได้พบว่าเด็ก ในโลกที่มีอายุต่ำกว่า ๑๕ ปี มีทั้งสิ้น ๑,๔๙๓ ล้านคน หรือเท่ากับร้อยละ ๓๖ ของประชากรของโลก
เด็ก    ๖๐๔  ล้านคน ไม่ได้รับบริการทางแพทย์ที่มีประสิทธิภาพ
        ๒๓๐  ล้านคน มีสภาพทุพโภชนา
        ๔๑๗  ล้านคน มีสภาพที่อยู่อาศัยไม่เหมาะสม
        ๕๙๐  ล้านคน ไม่มีน้ำดื่มที่ปลอดภัย
        ๗๒  ล้านคน ได้รับความทรมานจากอาการทุพพลภาพอย่างมาก
        และ ๕  ล้านคน จะตายทุกปีด้วยโรคติดเชื้อที่สำคัญ ๖ ชนิด
สำหรับในประเทศไทยเด็กที่มีอายุต่ำกว่า ๑๕ ปี มีถึงร้อยละ ๔๕ ของประชากรของประเทศ และร้อยละ ๘๕ อาศัยอยู่ในชนบท เพียงร้อยละ ๑๕ เท่านั้นที่อาศัยอยู่ในเมือง

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
  • Posted By
  • Plookpedia
  • 15 Followers
  • Follow