Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

ความชื้นทำให้เรารู้สึกร้อนได้จริงหรือ

Posted By Plook Creator | 09 ธ.ค. 60
44,505 Views

  Favorite

หากคุณอยู่ประเทศไทย ไม่ว่ามุมไหนของประเทศ ไม่ว่าจังหวัดไหน คุณต้องเคยบ่นวันละหลาย ๆ รอบถึงความร้อนที่ต้องเผชิญ จะด้วยตั้งใจหรือไม่ตั้งใจก็ตาม แต่สงสัยหรือไม่ว่า แม้ในบางวันที่แดดไม่ส่อง ฟ้าปิด มีเมฆบัง รู้สึกถึงความขมุกขมัว กระทั่งตอนเที่ยงวันที่อยู่ในที่โล่งก็ยังมองเงาไม่เห็น แต่สิ่งที่ยังรู้สึกได้กลับเป็นความร้อนอบอ้าว

 

ความอบอ้าวที่เกิดขึ้นในวันที่ฟ้าขมุกขมัวนั้น ต่างจากความร้อนอบอ้าวเมื่อยืนกางแขนกลางแดด แต่มันก็ทำให้เจ็บแสบไม่แพ้กัน เพราะเหงื่อยังซึมตามหนังศีรษะ มือเปียก ตัวเปียก เสื้อผ้าที่สวมอยู่ก็เปียกไปหมด มันร้อนแบบอึดอัด แต่เมื่อดูอุณหภูมิหรือเช็กสภาพอากาศในมือถือ กลับบอกว่าอุณหภูมิเพียง 28 องศาเซลเซียส แต่ทำไมรู้สึกเหมือนว่ามันร้อนกว่านั้น หรือเว็บเช็กสภาพอากาศจะผิด หรือว่าคุณกำลังป่วย


คำตอบก็คือ คุณไม่ได้ป่วย และตัวเลขบอกอุณหภูมิก็ไม่ได้บอกผิด นั่นเป็นเพราะไม่ได้มีเพียงแดด และอุณหภูมิที่ทำให้คุณรู้สึกร้อน ความชื้นของอากาศ (Humidity) ก็ทำให้คุณรู้สึกร้อนได้เช่นกัน

picture credit (eBike Shed Ltd), https://www.ebikeshed.com/

 

ความชื้นของอากาศ คือ จำนวนไอน้ำที่มีอยู่ในอากาศ ซึ่งประจายตัวปะปนอยู่ในอากาศ โดยมาจากการระเหยของแหล่งน้ำ การคายน้ำจากพืช หรือการหายใจของสิ่งมีชีวิตก็ปล่อยไอน้ำออกมาสู่อากาศได้เช่นกัน มันไม่ได้เกี่ยวข้องกับปรากฏการณ์ทางธรรมชาติ อย่างการก่อตัวของเมฆ การควบแน่นเป็นฝน หรือน้ำค้างที่เกาะตามใบหญ้าเท่านั้น ความชื้นสามารถทำให้เรารู้สึกร้อนอึดอัดได้ด้วย

 

ค่าความชื้นที่สามารถวัดได้เรียกว่า ความชื้นสัมพัทธ์ มันคือ อัตราส่วนของปริมาณไอน้ำที่มีอยู่จริงในอากาศ ต่อ ปริมาณไอน้ำที่จะทำให้อากาศอิ่มตัว ณ อุณหภูมิเดียวกัน วัดเป็นหน่วยเปอร์เซ็นต์ หากมี 100% เต็ม ก็แปลว่า มีไอน้ำปะปนในอากาศเต็มพื้นที่แล้วและน้ำในบริเวณนั้นไม่สามารถระเหยได้อีก ซึ่งเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเกี่ยวพันกับความรู้สึกของเรา หากเราอยู่ในห้องที่แม้จะมีอากาศไม่ร้อนมากแต่ความชื้นในอากาศสูง เหงื่อหรือความชื้นบริเวณผิวหนังของเราจะไม่สามารถระเหยออกไปได้ และนั่นทำให้เรารู้สึกเหนียวเหนอะหนะ หรือแม้แต่อึดอัด โดยเฉพาะถ้าเรามีเหงื่อออก

 

เหงื่อมีหน้าที่ลดอุณหภูมิร่างกายของเรา โดยเมื่อมันระเหยออกสู่อากาศจะนำเอาความร้อนบริเวณผิวหนังของเราออกไปด้วย แต่หากเหงื่อไม่สามารถระเหยออกไปได้ เราก็จะไม่สามารถระบายความร้อนออกไปจากร่างกายได้


ความชื้นสัมพัทธ์โดยปกติในช่วงฤดูร้อนสำหรับประเทศไทยซึ่งอยู่ในเขตร้อนชื้นนั้น อาจสูงขึ้นไปถึง 80-90% แต่ฤดูหนาวอาจจะอยู่ที่ 30-40% และนั่นเป็นอีกหนึ่งเหตุผลที่ทำไมหน้าร้อนประเทศไทย อาจจะเหนอะหนะและอึดอัดกว่าหน้าร้อนในประเทศแถบยุโรปซึ่งมีความชื้นต่ำกว่า มันจะร้อนแห้งกว่า หากมีเหงื่อออกก็จะระเหยออกไปได้อย่างรวดเร็ว และนั่นก็ทำให้รู้สึกไปเองได้ว่าอุณหภูมินั้นต่ำกว่า

 

อย่างไรก็ตาม การพิจารณาเปอร์เซ็นต์ของความชื้นสัมพัทธ์ก็ไม่สามารถบ่งบอกถึงความอึดอัดที่อาจจะเกิดขึ้นได้ เพราะว่าสัดส่วนความชื้นที่ล่องล่อยอยู่ในอากาศในรูปแบบของไอน้ำนั้นแปรผันตามอุณหภูมิ ความชื้นสัมพัทธ์ที่ 50% ของวันที่อุณหภูมิ 28 องศาเซลเซียส ไม่ชื้นเท่าวันที่มีอุณหภูมิ 35 องศาเซลเซียสและมีเปอร์เซ็นต์ความชื้นสัมพัทธ์ที่เท่ากัน และเพื่ออำนวยความสะดวกแก่ผู้บริโภค แอปพลิเคชันหรือเว็บพยากรณ์อากาศสมัยใหม่จึงไม่ได้พิจารณาเพียงแค่ตัวเลขอุณหภูมิอย่างเดียว แต่อาจจะมีการใช้คำว่า "ความรู้สึกจริง" หรือ Real Feeling เข้าร่วมด้วย เช่น หากคุณออกไปนอกบ้านในช่วงนี้อาจจะร้อนหรือหนาวกว่าตัวเลขอุณหภูมิ เพราะว่ามีการใช้ตัวแปรอื่น ๆ อย่างความชื้นในอากาศ หรือทิศทางและความแรงของลม ร่วมพยากรณ์ด้วย

 

ชีวิตเราไม่ได้ขึ้นอยู่กับปัจจัยอย่างใดอย่างหนึ่งเท่านั้น โลกและร่างกายของเรามีความซับซ้อนมากกว่าที่เห็น ความรู้สึกร้อน อึดอัด เหนียวตัว หรือเหนอะหนะ จึงไม่ได้เกี่ยวกับแดด ความร้อน หรืออุณหภูมิเพียงอย่างเดียว แต่เป็นเพราะกลไกการระบายความร้อนของร่างกายเราผ่านเหงื่อและการระเหยของน้ำที่ไปเกี่ยวพันกับความชื้นที่มีอยู่ในอากาศ ทำให้ยิ่งชื้นจึงอาจจะยิ่งร้อน การเดินเล่นตามห้างสรรพสินค้าหรือการอยู่ในห้องแอร์ในวันที่อากาศชื้นอาจจะดีต่อใจพอ ๆ กับการหลบอยู่ในบ้านตลอดวันแดดจ้านั่นเอง

 

 

 

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
Tags
  • Posted By
  • Plook Creator
  • 15 Followers
  • Follow