Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

อุตสาหกรรมเคมี

Posted By Plookpedia | 05 ธ.ค. 59
1,750 Views

  Favorite

อุตสาหกรรมเคมี

      อุตสาหกรรมเคมีของโลกปัจจุบัน ขึ้นอยู่กับถ่านหิน และปิโตรเลียมเป็นสำคัญ สารทั้งสองอย่างนี้เป็นของที่มีปริมาณตายตัว เมื่อหมดแล้วก็เป็นอันหมดไปเหมือนกับสินแร่อย่างอื่น แต่ไม้เป็นสิ่งที่ธรรมชาติสามารถทำให้มีขึ้นใหม่ และมีต่อเนื่องไปได้เสมอ หากมนุษย์ให้โอกาส หรือส่งเสริมให้เป็นเช่นนั้น เชื่อกันว่า ไม้นี้เองจะเป็นวัตถุดิบสำคัญในอุตสาหกรรมเคมีในอนาคต  เรารู้ว่า ไม้ประกอบด้วยเซลลูโลสและลิกนินเป็นส่วนใหญ่ เซลลูโลสนั้นเมื่อย่อยลงไปให้ถึงที่สุดจะได้เป็นกลูโคส ซึ่งเป็นน้ำตาล ที่มีคุณค่าทางอาหารอย่างหนึ่ง เซลลูโลสไนเตรตเป็นพลาสติกที่มนุษย์ประดิษฐ์ขึ้นได้เป็นชนิดแรก เรียกว่า "เซลลูลอยด์" เซลลูโลส อะซีเทตเป็นพลาสติกเหมือนกันที่ทำเป็นใยเทียมเรียกกันว่า "เรยอง" อนึ่งเซลลูโลสไนเตรตสามารถใช้เป็นเชื้อเพลิงของยานอวกาศได้ เนื่องจากมีออกซิเจนช่วยในการเผาไหม้ได้ในตัวเอง 

 

การกลั่นไม้

 

      ปัจจุบันเรายังใช้ลิกนินให้เป็นประโยชน์ได้ไม่มากนัก แม้ว่าโครงสร้างของมันจะเป็นที่เข้าใจกันบ้างแล้ว สารที่มีกลิ่นหอมเรียกว่า "วานิลิน" ซึ่งใช้ผสมไอศกรีมหรือขนมต่างๆ สามารถทำได้จากลิกนินนี้ การใช้ลิกนินให้เป็นประโยชน์อย่างเต็มที่นั้น ยังจะต้องมีการค้นคว้ากันต่อไป  สารอินทรีย์อื่นๆ ที่แทรกอยู่ในเนื้อไม้นั้น เช่น แทนนิน สารให้สี และสารที่มีสรรพคุณเป็นยารักษาโรค ได้นำไปใช้ประโยชน์กันอย่างกว้างขวาง เช่น นำแทนนินไปใช้ในอุตสาหกรรมฟอกหนังและทำกาว 

      ในการกลั่นไม้ กล่าวคือ ทำไม้ให้ร้อนในอุณหภูมิสูง ไม้จะสลายตัวเป็นสารประกอบอินทรีย์หลายอย่าง ปะปนกันอยู่ในของเหลวที่กลั่นได้ เรียกว่า "กรดไพโรลิกเนียส" จากของเหลวที่ได้จากการกลั่นไม้นี้ อาจแยกสารพวกครีโอโซตออกมา แล้วแยกออกเป็นกรดน้ำส้ม เมทิลแอลกอฮอล์ซึ่งใช้จุดตะเกียง และสารอื่นๆ สำหรับถ่านไม้ที่เหลือจากการกลั่นถ่านไม้ ยังมีความบริสุทธิ์กว่าถ่านไม้ที่ได้จากการเผาด้วยวิธีธรรมดา

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
  • Posted By
  • Plookpedia
  • 15 Followers
  • Follow