Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

การชักลากไม้ด้วยรถแทรกเตอร์

Posted By Plookpedia | 05 ธ.ค. 59
2,019 Views

  Favorite

การชักลากไม้ด้วยรถแทรกเตอร์

ปัจจุบันนี้ได้มีผู้นำรถแทรกเตอร์หลายชนิดเข้ามาใช้ในการชักลากไม้ในประเทศไทย ซึ่งพอจะแบ่งแยกออกได้เป็น ๓ ประเภท คือ

ก. รถแทรกเตอร์ตีนตะขาบ (crawler) 

      เป็นรถแทรกเตอร์ขนาดใหญ่ ซึ่งมีล้อเหล็กเป็นตีนตะขาบ โดยมากเจ้าของมักจะซื้อมาเพื่อใช้ในการทำถนน เมื่อว่างจากการทำถนน ก็นำมาใช้ในการชักลากไม้ รถแทรกเตอร์ชนิดนี้มีกำลังสูง จึงเหมาะที่จะใช้ชักลากไม้ซุงขนาดใหญ่ วิธีชักลากไม้ของรถแทรกเตอร์ชนิดนี้ต้องอาศัยกว้าน ซึ่งมีลวดเกลียวติดอยู่ท้ายรถ กว้านเอาซุงเข้ามาหาตัวรถ เมื่อซุงมาชิดท้ายรถแล้ว ก็ลากไม้ไปยังที่ที่ต้องการ ในด้านการป่าไม้ถือว่ารถแทรกเตอร์ชนิดนี้ ไม่เหมาะสมที่จะใช้ชักลากไม้ เพราะมีการสึกหรอสูง ค่าใช้จ่ายในการซ่อมแซมแพง และมีอัตราความเร็วต่ำ นอกจากนั้น การเคลื่อนตัวของมันจะทำให้ดินแน่น เพราะมีน้ำหนักมาก เมื่อดินแน่นจะทำให้เมล็ดของไม้ที่ร่วงลงสู่พื้นดินงอกได้ยาก นอกจากนั้น ยังทำลายกล้าไม้เล็กๆ ในป่ามากกว่าเครื่องจักรกลชนิดอื่นด้วย บางประเทศในทวีปยุโรป ห้ามนำรถแทรกเตอร์ชนิดนี้เข้าไปใช้งานในป่า

 

การทำไม้ด้วยรถแทรกเตอร์ ชนิดมีล้อประกอบ

 

ข. รถแทรกเตอร์ล้อยาง 

      เป็นรถแทรกเตอร์ล้อยางขนาดเล็ก ซึ่งใช้ในการกสิกรรม ที่เราเรียกว่า "รถไถนา" นั่นเอง แต่มีผู้นำมาดัดแปลงใช้ในการลากไม้ ความคิดที่ดัดแปลงรถไถนามาใช้ในการทำไม้นั้น เกิดขึ้นในทวีปยุโรป ซึ่งชาวนาส่วนใหญ่มีทั้งที่นาและมีป่าไม้เป็นของตนเอง เมื่อหมดฤดูทำนา จึงคิดค้นหาทางดัดแปลงรถไถนามาใช้ในการทำไม้สัก เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๐๖ นับว่าได้ผลดี และค่าใช้จ่ายต่ำกว่าการใช้รถแทรกเตอร์ประเภทอื่น การนำรถแทรกเตอร์ไถนามาใช้ลากไม้สักนั้น จะต้องเพิ่มคานโค้งติดเข้าที่แขนไฮดรอลิก ทางด้านหลังของรถแทรกเตอร์ และเพิ่มคีมหนาม สำหรับจับหัวไม้ติดอยู่ที่คานโค้งด้านหลังด้วย เมื่อจะลากไม้ซุงก็ลดแขนไฮดรอลิก ให้คานโค้งต่ำลงมา จนคีมหนามสามารถจับหัวไม้ได้ แล้วยกแขนไฮดรอลิกให้สูงขึ้น คานโค้ง และคีมหนามก็จะจับหัวไม้ยกสูงขึ้น ต่อจากนั้น ก็ลากไม้ไปยังที่ที่ต้องการ การยกหัวไม้ขึ้นนี้ ทำให้เบาแรงในการชักลากไม้ลงได้ประมาณครึ่งหนึ่ง เพราะท้องไม้ซุงไม่ถูกพื้นดินเต็มที่ เหมือนกับที่ช้างลากไม้ ดังนั้น ความฝืดระหว่างท่อนไม้กับพื้นดินจึงน้อยลงไปด้วย โดยปกติรถแทรกเตอร์ชนิดนี้ จะลากไม้ได้มีน้ำหนักไม่เกิน ๒ ตัน หากไม้ซุงท่อนใดมีน้ำหนักมาก ควรใส่ล้อพ่วงประกอบ จะทำให้รถแทรกเตอร์สามารถลากไม้ ซึ่งมีน้ำหนักไม่เกิน ๔ ตันได้ รถแทรกเตอร์ไถนานี้ สามารถนำไปใช้ในการลากไม้ซุงขนาดเล็กได้ดี นอกจากนั้น รถแทรกเตอร์ชนิดนี้ ยังมีราคาถูกกว่ารถแทรกเตอร์ชนิดอื่นๆ เครื่องอะไหล่หาง่าย และสามารถดัดแปลงไปใช้งานได้หลายอย่าง เช่น ใช้ยกไม้ ใช้ลากล้อพ่วงไถนา ได้เคยมีการทดลองเปรียบเทียบผลงาน ระหว่างการใช้รถแทรกเตอร์ชนิดนี้ กับการใช้ช้าง ในการชักลากไม้สัก ปรากฏว่ารถแทรกเตอร์ชนิดนี้ ๑ คัน มีผลงานเท่ากับการใช้ช้าง ๕ เชือก และการใช้รถแทรกเตอร์ชนิดนี้ ใช้ค่าใช้จ่ายถูกกว่าการใช้ช้างประมาณร้อยละ ๑๗ แต่รถแทรกเตอร์ชนิดนี้มีข้อเสียที่ว่า ไม่สามารถทำงานลากไม้บนลาด เขาซึ่งมีความชันเกิน ๒๕ องศาได้ อย่างไรก็ดี การที่จะตัดสินใจใช้รถแทรกเตอร์ลากไม้ จะต้องคำนึงถึงปัญหาน้ำมันเชื้อเพลิง สภาพของท้องที่ปัญหาคนว่างงาน และความเร่งด่วนของงานด้วย

ค. รถแทรกเตอร์ลากไม้ชนิดล้อยาง (wheeled skidder) 

      เป็นรถแทรกเตอร์ที่ประดิษฐ์ขึ้นมา เพื่อใช้ในการลากไม้โดยเฉพาะ จะนำไปใช้งานอื่นไม่ได้ รถแทรกเตอร์ชนิดนี้ มีแรงม้าสูงกว่ารถแทรกเตอร์ไถนา มีลักษณะสำคัญ คือ มีล้อยางใหญ่ ๔ ล้อ ข้างหน้าติดผาน สำหรับใช้กรุยทางหรือใช้ดันไม้ ด้านหลังมีกว้าน ซึ่งประกอบด้วย เสากว้านสูงประมาณ ๑ เมตร ตรงกลางตัวรถระหว่างล้อหน้า และล้อหลังมีข้อต่อพับไปมาได้ ดังนั้น รถแทรกเตอร์ชนิดนี้ จึงสามารถเลี้ยววงแคบได้ดี เนื่องจากรถแทรกเตอร์ชนิดนี้ มีแรงม้าสูง ดังนั้น จึงเหมาะสำหรับใช้ลากไม้ขนาดใหญ่ โดยใช้สายลวดเกลียวจากกว้านท้ายรถไปผูกกับหัวไม้ซุง แล้วใช้กว้านดึงไม้ซุง ให้เข้ามาหาท้ายรถ เมื่อหัวไม้ซุงมาถึงท้ายรถ จะยกสูงขึ้น เพราะลวดกว้านต้องผ่านเสากว้าน ที่ติดกับตัวรถด้านหลัง การยกหัวไม้ซุงสูงขึ้นนี้ ทำให้ลดความฝืดในการชักลากลง จึงทำให้สามารถลากไม้ที่มีน้ำหนัก ๖-๗ ตันได้ เนื่องจากรถแทรกเตอร์ชนิดนี้มีราคาสูง และใช้ในการทำไม้โดยเฉพาะ จึงเหมาะสำหรับการทำไม้ขนาดใหญ่ ที่มีปริมาณมากพอ คุ้มกับการลงทุน ส่วนดีของรถแทรกเตอร์ชนิดนี้ คือ มีอัตราความเร็วสูง มีความคล่องแคล่ว และสามารถลากไม้ในสภาพพื้นที่ ซึ่งมีความลาดชันไม่เกิน ๓๕ องศาได้ แต่ผู้ใช้จะต้องมีความรู้ความชำนาญ และต้องได้รับการฝึกฝนเป็นพิเศษ  

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
  • Posted By
  • Plookpedia
  • 15 Followers
  • Follow