Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

แมลงศัตรูฝ้ายและการป้องกันกำจัด

Posted By Plookpedia | 31 ธ.ค. 59
1,813 Views

  Favorite

แมลงศัตรูฝ้ายและการป้องกันกำจัด

      การปลูกฝ้ายในประเทศไทย การป้องกัน และกำจัดแมลงศัตรูเป็นปัญหาที่สำคัญที่สุด ซึ่งอาจทำให้ได้ผลิตผลสูง หรือล้มเหลว ไม่ได้ผลเลยก็ได้ เพราะในด้านดินฟ้าอากาศของประเทศไทยเหมาะสมกับการปลูกฝ้ายเป็นอย่างมาก แต่ในเวลาเดียวกัน ก็เหมาะสำหรับการแพร่ขยายพันธุ์ของแมลงศัตรูฝ้ายด้วย ฉะนั้น การปลูกฝ้ายจะได้ผลิตผลสูงหรือไม่ได้เลย จึงอยู่ที่ความสามารถในการป้องกัน และกำจัดแมลงศัตรูได้เพียงใด จากการสำรวจของด้านกีฎวิทยาแจ้งว่า แมลงศัตรูฝ้ายทั้งหมดมีประมาณ ๔๐ ชนิด แต่ถึงขั้นที่ทำความเสียหายให้แก่ฝ้ายมีประมาณ ๒๐ ชนิด และที่ทำความเสียหายถึงขั้นร้ายแรงมีเพียง ๓ ชนิด  ดังที่ได้กล่าวแล้วว่า แมลงศัตรูฝ้ายมีความสำคัญต่อการปลูกฝ้ายเป็นอย่างยิ่ง จึงจำเป็นจะต้องรู้เรื่องแมลงศัตรู และวิธีป้องกัน และกำจัดให้มากเป็นพิเศษ  เพื่อความสะดวกแก่กสิกรผู้ปลูกฝ้าย จะได้ทราบถึงแมลงศัตรู ที่เข้าทำลายต้นฝ้ายในไร่ตามระยะอายุของฝ้าย จะได้สะดวกต่อการป้องกัน และกำจัดได้ทันท่วงที ฝ้ายจะมีแมลงศัตรูเข้าทำลายตั้งแต่เริ่มปลูกไปจนถึงระยะแก่จนเก็บเกี่ยวได้ การระบาดของหนอนแต่ละชนิดอาจระบาดมากน้อยแตกต่างกัน แต่ละปี แต่ส่วนมากแมลงที่เข้ารบกวนฝ้ายมีดังนี้

 

เพลี้ยอ่อนทำลายฝ้ายได้ทุกระยะ ทำให้ใบหงิก เส้นใยสกปรก

   

      ระยะที่ ๑ คือ ระยะตั้งแต่ปลูกไปจนถึงเริ่มปรากฏดอกอ่อน หรือปี้ จะมีศัตรูเข้าทำลายทั้งเป็นแมลง และสัตว์อื่นๆ เช่น หนูผี และกิ้งกือ ที่เข้าขุดคุ้ยกินเมล็ดพันธุ์ฝ้ายที่ปลูกไว้ แต่ศัตรูที่สำคัญที่สุดในระยะหลังจากฝ้ายงอกแล้ว จนถึงระยะที่เริ่มมีใบจริง ๓-๔ ใบ หรือมีอายุประมาณ ๑ เดือน ก็คือ แมลงปากดูด ได้แก่ เพลี้ยจักจั่น เพลี้ยอ่อน เพลี้ยไฟ และแมลงหวี่ขาว ในแมลง ๔ ชนิดนี้ เพลี้ยจักจั่นจะทำความเสียหายให้แก่ต้นฝ้ายอ่อนได้มากกว่าชนิดอื่นๆ เพราะต้นฝ้ายอ่อนถ้าถูกแมลงชนิดนี้เข้ารบกวนทำลายมากๆ แล้วอาจตายหมดได้ เพลี้ยจักจั่นจะเริ่มเข้าเกาะดูดน้ำเลี้ยงใต้ใบฝ้าย ตั้งแต่ฝ้ายมีอายุประมาณ ๑๐ วัน ถัดจากนี้เมื่อฝ้ายมีอายุได้ ๑๔-๑๕ วัน จะมีเพลี้ยอ่อนเข้าเกาะ และดูดน้ำเลี้ยงใต้ใบฝ้ายเช่นกัน ความเสียหายจากการทำลายของเพลี้ยอ่อนโดยตรง มีไม่มากเหมือนเพลี้ยจักจั่น แต่เนื่องจากเพลี้ยอ่อนเป็นตัวนำเชื้อโรคใบหงิก ซึ่งเป็นโรคร้ายแรงมาสู้ต้นฝ้าย จึงนับได้ว่า เพลี้ยอ่อนก็เป็นศัตรูที่สำคัญชนิดหนึ่ง เพลี้ยไฟนั้นทำความเสียหายให้แก่ฝ้ายน้อยกว่าแมลง ๒ ชนิดที่กล่าวแล้ว เพราะส่วนใหญ่เป็นแต่เพียงทำลายยอดของต้นฝ้ายอ่อน ทำให้ฝ้ายแตกกิ่งก้านมากขึ้นกว่าปกติ ส่วนแมลงหวี่ขาวอาจเข้าทำลายทุกระยะ และเป็นตัวนำโรคไวรัส ซึ่งจะทำให้ผลิตผลลดลง มูลของแมลงที่ถ่ายลงบนเส้นใย จะทำให้เส้นใยสกปรก
      ระยะที่ ๒ คือ ระยะที่ฝ้ายมีอายุ ๓๐-๖๐ วัน ซึ่งเป็นระยะที่มีดอกอ่อนจนถึงดอกบาน ระยะนี้ส่วนมากจะเป็นแมลงที่เข้าทำลายดอกอ่อน ดอกแก่จนถึงสมออ่อน และเจ้ายอดต้นฝ้าย แมลงที่เข้าทำลายระยะนี้ที่ถือว่าสำคัญมี ๒ ชนิด คือ หนอนเจาะสมอสีเขียวหรือที่เรียกว่า หนอนเจาะสมออเมริกัน และหนอนเจาะสมอสีน้ำตาล หรือหนอนหลังขาวที่เรียกว่า หนอนสะไปนี หนอน ๒ ชนิดนี้ เป็นตัวทำลายผลิตผลฝ้ายมากที่สุด เพราะเข้าทำลายตั้งแต่ดอกอ่อน ดอกแก่ สมออ่อน และสมอแก่ ฉะนั้นเป็นระยะที่สำคัญ ที่ต้องเอาใจใส่ป้องกัน และกำจัดให้มากที่สุด

 

ผีเสื้อหนอนอเมริกัน


     ระยะที่ ๓ เมื่อฝ้ายมีอายุ ๖๐ วันขึ้นไป ซึ่งเป็นระยะที่ฝ้ายกำลังเจริญงอกงามเป็นสมออ่อน ในระยะนี้นอกจากจะมีหนอนเจาะสมอทั้ง ๒ ชนิด ในระยะที่ ๒ เข้าทำลายแล้ว ยังมีหนอนพวกทำลายใบเข้ารบกวนเป็นหนอนม้วนใบฝ้าย หนอนคืบ และหนอนกระทู้ หรือหนอนโพรดีเนีย แต่หนอน ๓ ชนิดหลังนี้ ไม่ทำความเสียหายแก่ผลิตผลฝ้าย เหมือนหนอนเจาะสมอสีเขียว และหนอนเจาะยอดเจาะสมอ

 

หนอนกระทู้


      ระยะที่ ๔ เมื่อฝ้ายมีอายุ ๖๐ วันขึ้นไป จนถึงฝ้ายแก่แตกปุย นอกจากจะมีแมลงศัตรูจากระยะที่ ๑-๓ เข้ารบกวนแล้ว อาจมีหนอนเจาะสมอสีชมพูเข้ารบกวนดอกฝ้าย ที่กำลังจะบาน โดยเข้าไปกัดกินเกสร หริอเจาะเข้าไปในรังไข่ ทำให้ดอก และสมออ่อนร่วง แล้วยังเข้าทำลายสมอแก่ โดยเจาะเข้าไปกินเมล็ดฝ้าย ทำให้ปุยฝ้ายในสมอเสียหายหมด
      นอกจากแมลงศัตรู ๗-๘ ชนิดที่เข้าทำลายดังกล่าวแล้ว ยังมีแมลงชนิดอื่นๆ เข้าทำลายด้วย เช่น ตั๊กแตน ไรแดงหรือแมงมุมแดง แมลงหวี่ขาว มวนแดง และมวนชนิดอื่นๆ เข้าร่วมรบกวนตลอดชั่วระยะที่ฝ้ายกำลังเจริญเติบโต จึงเห็นได้ว่า ฝ้ายเป็นพืช ที่มีแมลงศัตรูรบกวนมากกว่าพืชไร่ชนิดอื่นๆ จึงจำเป็นจะต้องศึกษาให้ทราบถึง รูปร่างลักษณะ ชีวประวัติ ตลอดจนวิธีป้องกันกำจัดของแมลงศัตรูที่สำคัญๆ เหล่านี้ ให้มากที่สุด

  

ดอกอ่อน หรือปี้ และสมอที่เกิดกับกิ่งผล


การจำแนกแมลงตามความเสียหายที่ได้รับ

การจำแนกแมลงตามความเสียหายที่ฝ้ายได้รับ แบ่งเป็น ๓ กลุ่มดังนี้ 
ก.ศัตรูฝ้ายที่ทำความเสียหายร้ายแรง 
    ๑.หนอนเจาะสมออเมริกัน (Helicoverpa armigera Hiibner) 
    ๒.เพลี้ยอ่อน (Aphis gossypii Glover) 
    ๓.เพลี้ยจักจั่น (Ekmpoasca devastans Distant) 

ข.ศัตรูฝ้ายที่ทำความเสียหายปานกลาง 
    ๑.หนอนสะไปนีหรือหนอนหนาม(Earias fabia Stoll) 
    ๒.หนอนเจาะสมอสีชมพู (Pectinophora gossypiella Saunder) 
    ๓.หนอนม้วนใบ (Sylepta derogata Fabricius) 
    ๔.หนอนคืบกินใบ (Cosmophila flava Fabricius) 
    ๕.หนอนกระทู้กินใบ (Spodoptera litura Fabricius) 

ค.ศัตรูฝ้ายที่ไม่ค่อยมีความสำคัญ 
    ๑.ด้วงหมัดกินใบ (Podogrica Sp.) 
    ๒.เพลี้ยไฟ (Ayyaria chaetophora Karney) 
    ๓.ด้วงงวงกินเกสรและดอก (Amorphoidea Sp.) 
    ๔.มวนแดง (Dysdercus cingulatus Fabricius) 
    ๕.แมลงหวี่ขาว (Bemisia tabaci Gennadius) 
    ๖. มวนดำ หรือมวนดูดเมล็ด (Oxycarenus laetus Kirby) 
    ๗.ด้วงงวงเจาะลำต้น (Pempherulus affinis Faust) 
    ๘.หนอนผีเสื้อเจาะลำต้น (Zeuzera Sp.) 
    ๙.ตั๊กแตนชนิดต่าง ๆ (Order Orthoptera) 
    ๑๐.ปลวก (Order Isoptera) 
    ๑๑.แมงกระชอน หรือ จิ้งหรีด (Order Orthoptera) 
    ๑๒.แมงมุมแดง (Tetranychus Sp.) 
    ๑๓.กิ้งกือ (MIllipede)

      การจัดอันดับความสำคัญของแมลงได้พิจารณาถึงการระบาด และทำความเสียหายต่อฝ้ายในประเทศไทย ที่ปรากฏอยู่ในขณะนี้ (พ.ศ. ๒๕๑๐-๒๕๒๙) เท่านั้น เพราะการระบาดของแมลงเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ เช่น หนอนเจาะสมออเมริกัน เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๐๖ ได้จัดอันดับอยู่ในแมลงศัตรูที่ไม่ค่อยมีความสำคัญ แต่ขณะนี้ เป็นแมลงที่ระบาดทำความเสียหายร้ายแรงที่สุด ดังนั้น ในอนาคต แมลงชนิดหนึ่งชนิดใด อาจจะเปลี่ยนสภาพความสำคัญอีกก็ได้

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
  • Posted By
  • Plookpedia
  • 15 Followers
  • Follow