Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

ประวัติการไปรษณีย์ไทย

Posted By Plookpedia | 03 ธ.ค. 59
4,868 Views

  Favorite

ประวัติการไปรษณีย์ไทย 

การติดต่อส่งข่าวสารไปมาถึงกัน ของคนไทยในสมัยโบราณนั้น ถ้าเป็น เรื่องรีบร้อนสำคัญ ก็มักจะจัดให้คนถือไป หากเป็นเรื่องธรรมดาไม่เร่งร้อนก็มักจะฝากไปกับพ่อค้า หรือคนเดินทางที่จะเดินผ่าน ไปทางนั้นๆ ส่วนในทางราชการ หากเป็นราชการเร่งร้อนสำคัญ ก็มีการแต่งข้าหลวงเชิญหนังสือ หรือ "ท้องตรา" หรือ "ใบบอก" ออกไปส่งยังที่หมายซึ่งอาจจะต้องขึ่ช้าง ขึ่ม้า ลง เรือ ลงแพ ตามลักษณะภูมิประเทศ และเป็นหน้าที่ของกรมการเมืองรายทางที่ผ่าน ที่จะต้องจัดยานพาหนะทางไปส่งถึงเขตชายแดน ถ้าเป็นราชการไม่เร่งร้อน คณะกรรมการเมืองก็จัดคนให้ส่งหนังสือต่อๆ กันไป

 

แสตมป์ชุด ๓๐๐ ปี สัมพันธภาพไทย-ฝรั่งเศส พ.ศ. ๒๒๒๘ - ๒๕๒๘ (ซ้าย) ราชทูตไทยถวายพระราชสาสน์แด่พระเจ้าหลุยส์ที่ ๑๔ (ขวา)
ราชทูตฝรั่งเศส ถวายพระราชสาสน์ แด่สมเด็จพระนารายณ์มหาราช


ส่วนการส่งพระราชสาสน์ หรือหนังสือ ติดต่อกับประเทศนั้น มีวิธีใหญ่ๆ อยู่ ๒ วิธีคือ 

๑. แต่งตั้งคณะทูตอัญเชิญพระราชสาสน์ไปยัง ประเทศที่จะติดต่อโดยตรง เช่น พระวิสุทธสุนทร (ปาน) อัญเชิญพระราชสาสน์ของสมเด็จพระนา- รายณ์มหาราชไปถวายพระเจ้าหลุยส์ที่ ๑๔ แห่ง ฝรั่งเศส พระยามนตรีสุริยวงศ์เป็นราชทูตอัญเชิญ พระราชสาสน์ และเครื่องราชบรรณาการของ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ไปถวายสมเด็จ พระราชินีนาถวิกตอเรีย แห่งอังกฤษ เป็นต้น 

๒. ทางราชสำนักฝากหนังสือผ่านคนกลางซึ่งโดยมากก็คือ พ่อค้า นายเรือ หรือเจ้าหน้าที่ของต่างประเทศเป็นสำคัญ

เป็นที่น่าสังเกตว่าการติดต่อสื่อสารกันทางจดหมายในสมัยก่อน ไม่ค่อยมีแพร่หลาย นอกจากจะมีสาเหตุจากความไม่สะดวกในการฝากส่ง และการเดินหนังสือไปมาถึงกันแล้ว ยังมีสาเหตุอื่นคือ การศึกษาเล่าเรียนของประชาชนมีจำกัด ในสมัย ก่อนไม่มีโรงเรียน การศึกษาเล่าเรียนของพระบรมวงศานุวงศ์ หรือข้าราชการขุนนางชั้นผู้ใหญ่ จึงมีอาจารย์สอนให้เฉพาะในวัง 

จนมาถึงปลายรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ ๓) มีกลุ่มมิชชันนารี หรือหมอสอนศาสนาชาวยุโรป เข้ามาเผยแพร่คริสต์ศาสนาในประเทศไทย จึงเริ่มมีการเขียนจดหมายติดต่อกับ ญาติพี่น้อง มิตรสหายในประเทศของตนขึ้น โดย ส่งจดหมายไปทางเรือ ดังตัวอย่างจดหมายของมิช- ชันนารีผู้หนึ่ง ซึ่งเป็นภรรยาของหมอบรัดเลย์ ผู้ ริเริ่มก่อตั้งโรงพิมพ์แห่งแรกในประเทศไทย (โรงพิมพ์ อักษรสยามนุกูลกิจ) จดหมายนี้ส่งจากกรุงเทพฯ ใน วันที่ ๑๑ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๓๗๙ ถึงเมืองโรเชส- เตอร์ (Rochester) ในนิวยอร์ก วันที่ ๙ เมษายน พ.ศ. ๒๓๘๐ ใช้เวลาเดินทางทั้งสิ้น ๕ เดือน อัตราค่าส่ง ๑๘ เซ็นต์ ซึ่งขณะนั้นยังไม่มีแสตมป์ใช้

   

ตัวอย่างจดหมายของมิชชันนารีที่ส่งจากกรุงเทพฯ เมื่อวันที่ ๑๑พฤศจิกายน พ.ศ.๑๘๓๖ ถึงเมืองโรเชสเตอร์ เมื่อวันที่ ๙ เมษายนพ.ศ.๑๘๓๗


ข้อนี้จะเป็นหลักฐานอันดีที่แสดงให้คนรุ่นหลัง เห็นว่า การจัดส่งหนังสือเมื่อ ๑๐๐ กว่าปีที่แล้ว ต้องใช้เวลามากเพียงใด หากเป็นปัจจุบันก็ใช้เวลาเพียงไม่กี่วันเท่านั้น 

 

ตัวอย่างจดหมายพร้อมซองติดแสตมป์สเตรตส์เซตเทิลเมนส์ มีตราประทับกงสุลอังกฤษ

   
ในสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ ๔) ทรงเปลี่ยนแปลงนโยบายการต่างประเทศคือ ทรงต้อนรับชาวต่างประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งชาวยุโรป เนื่องจากทรงตระหนักเป็นอย่างดีว่า ไทยยังด้อยทางวิทยาการสมัยใหม่กว่าประเทศทางยุโรปอยู่มาก จำต้องเรียนรู้วิทยาการต่างๆ เหล่านี้ จากประเทศทางยุโรป จึงโปรดเกล้าฯ ให้ทำสนธิสัญญาทางการค้ากับประเทศต่างๆ ซึ่งเปิดโอกาสให้ประเทศนั้นๆ เข้ามาตั้งสถานกงสุลของตนขึ้น ในประเทศไทย เพื่อคอยควบคุมดูแลคน และกิจการค้าขายของตน เช่น ใน พ.ศ. ๒๓๙๘ เซอร์ จอห์น บาวริง (Sir John Bowring) ผู้ว่าการเกาะฮ่องกง และผู้สำเร็จราชการของอังกฤษประจำประเทศจีน ได้เดินทางเข้ามาทำสนธิสัญญาบาวริงกับไทย และใน พ.ศ. ๒๓๙๙ ได้มีการจัดตั้งสถานกงสุลอังกฤษ ขึ้นในกรุงเทพฯ เป็นผลให้การค้ากับต่างประเทศ ตื่นตัว มีบริษัทของอังกฤษหลายบริษัทมาเปิดสาขา ในกรุงเทพฯ เช่น บริษัทบอนนีวิลล์ (Bonneville) บริษัทมาร์ควาลด์ (Markwald) และ บริษัทบอร์เนียม (Borneo) เป็นต้น ในรัชสมัยเดียวกันนี้เอง ได้มีการ จัดตั้งสถานกงสุลสหรัฐอเมริกาในกรุงเทพฯ ติดตาม มา ผลจากการที่ชาวต่างประเทศเข้ามาพำนักอยู่ ในกรุงเทพฯ มากขึ้น ทำให้เกิดความต้องการใน บริการไปรษณีย์ สถานกงสุลอังกฤษจึงเป็นธุระ จัดการรวบรวมข่าวสารของชาวยุโรป ส่งลงเรือ ไปยังสิงคโปร์เพื่อส่งต่อไปยังปลายทางอีกทอดหนึ่ง ส่วนสถานกงสุลสหรัฐฯ ก็เป็นธุระจัดการรวบรวม ข่าวสารให้แก่ชาวอเมริกัน นอกจากนั้น ในบาง ครั้งบริษัทต่างประเทศที่มีสาขาในกรุงเทพฯ ก็ส่ง จดหมายเองโดยตีตราประทับของบริษัทตนและฝาก ส่งลงเรือไปยังสิงค์โปร์ แต่เนื่องจากขณะนั้น ประเทศไทยเรายังไม่มีแสตมป์ของตนเอง จึงนำ แสตมป์ของอีสต์อินเดีย และสเตรตส์เซตเทิลเมนตส์ (Straits Settlements) มาจำหน่ายเพื่อใช้ในการส่ง จดหมายไปพลางก่อน นอกจากนั้น ยังได้นำแสตมป์ ของฮ่องกงมาใช้ในบางช่วงอีกด้วย

 

ตัวอย่างจดหมายใน พ.ศ.๒๔๐๖ ใช้สแตมป์อีสต์อินเดีย ราคา ๒แอนนา ๔ ดวง ซึ่งพิมพ์ประทับ B 172


ต่อมาราว พ.ศ. ๒๔๑๐ สถานกงสุลอังกฤษได้ ใช้แสตมป์ที่นำมาจากสเตรตส์เซตเทิลเมนตส์ พิมพ์อักษร "B" ทับลงไป ("B" ใช้แทน Bangkok) ใช้ผนึกจดหมายที่รับฝากส่ง ดังปรากฏหลักฐานการนำแสตมป์ดังกล่าวมาใช้ 

     

ตัวอย่างจดหมายที่ส่งจากกรุงเทพฯ ไปยังฝรั่งเศส เมื่อ พ.ศ.๒๔๒๖ต้องส่งผ่านและลงทะเบียนที่สิงคโปร์ ซึ่งสังเกตได้จากตราประทับ SINGAPORE P.O.


แสตมป์ประทับอักษร "B" นี้ ได้นำมาใช้ถึงวัน ที่ ๑ มกราคม พ.ศ. ๒๔๒๙ เท่านั้น เพราะเมื่อไทยเรามีกิจการไปรษณีย์ของเราเอง มาได้ระยะหนึ่ง การใช้สถานกงสุลเป็นที่ฝากส่งจดหมาย ก็ยกเลิกไป

    

แสตมป์ที่นำมาจากสเตรตส์เซตเทิลเมนตส์ แล้วพิมพ์ประทับอักษร B เพื่อจำหน่ายแก่ผู้ที่จะส่งข่าวสารไปต่างประเทศ


ในขณะที่เอกชนและบริษัทต่างๆ มีการส่งข่าวสารติดต่อกับต่างประเทศ ทางด้านราชสำนัก ก็มีการส่งพระราชสาสน์ติดต่อเจริญสัมพันธไมตรีกับต่างประเทศเช่นกัน แต่การจัดส่ง ทำโดยเจ้าหน้าที่พระราชวัง ไม่ได้มีการติดแสตมป์แต่อย่างใด โดยปกติจะอาศัยฝากส่ง หรือเดินทางไปกับเรือสินค้าเป็นสำคัญ ดังตัวอย่างพระราชสาสน์ของ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว และพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่นำมาแสดง ณ ที่นี้

 

ซองปิดแสตมป์ประทับอักษร B ใช้แล้ว


ในตอนต้นสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ ๕) คือ ใน พ.ศ. ๒๔๑๘ สมเด็จเจ้าฟ้าภาณุรังษีสว่างวงศ์ พร้อมพระบรมวงศานุวงศ์ ทรงออกหนังสือพิมพ์รายวันขึ้น ชื่อ "ข่าวราชการ" หรือ "Court" หนังสือพิมพ์รายวันฉบับแรกของไทย ทรงให้มีบุรุษเดินหนังสือข่าวราชการ ส่งแก่สมาชิกเรียกว่า "โปสต์แมน" (postman) มีการจัดพิมพ์ตั๋วแสตมป์เป็นค่าบริการ ตั๋วแสตมป์นี้เป็นพระรูปเหมือนของ สมเด็จเจ้าฟ้าภาณุรังษีสว่างวงศ์ มีอยู่ ๒ รุ่น รุ่นแรกด้านล่างมีภาษาอังกฤษว่า "RISING P" ซึ่งมีความหมายตรงกับภาษาไทยว่า ภาณุรังษี รุ่นที่ ๒ มีอักษรที่มุมทั้งสี่ว่า ป ม ภ ส ย่อมา จาก โปสต์มาสเตอร์ ภาณุรังษีสว่างวงศ์ และมีคำด้านล่างว่า "ค่าหนังสือฝาก" 

 

พระราชหัตถเลขา ในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ส่งจากพระราชวังจันทรเกษม พระนครศรีอยุธยา
ไปยังชาลส์เคนดัลล์ กงสุลไทยในอังกฤษ ใส่ซอง ๒ ชั้น จ่าหน้าซองด้วยพระองค์เอง ซองชั้นนอกเป็นผ้าไหม


ถ้าส่งหนังสือถึงผู้รับที่อยู่ในคูพระนครชั้นในให้ ปิดแสตมป์ ๑ ดวง ราคา ๑ อัฐ ถ้าผู้รับอยู่นอกคูพระนครชั้นใน ให้ปิดแสตมป์ ๒ ดวง รวมเป็นราคา ๒ อัฐ

 

พระราชหัตถเลขา ในพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่ส่งไปยังสิงคโปร์ ใน พ.ศ.๒๔๐๓

   
ต่อมาโปรดให้สั่งพิมพ์แสตมป์มาจากประเทศ อังกฤษ มีกรอบลวดลาย และภายในกรอบมีภาพ พระบรมฉายาลักษณ์รัชกาลที่ ๕ และภาพพระบรมวงศานุวงศ์ชั้นสูง บนดวงแสตมป์ไม่มีตัวอักษร หรือตัวเลขบอกราคาไว้เลย แต่สันนิษฐานว่า แต่ละดวง มีราคาเท่ากัน คือ ดวงละ ๑ อัฐ 

 

พระราชสาสน์ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวที่ส่งไปยังเซอร์ วิลเลียม โรบินสัน เมื่อ พ.ศ.๒๔๒๑

 

เมื่อสมเด็จเจ้าฟ้าภาณุรังษีสว่างวงศ์ และพระบรมวงศานุวงศ์ ได้ทรงเลิกการออกหนังสือราชการ เนื่องจากแต่ละพระองค์ทรงมีภาระในหน้าที่ราชการ ก็มิได้ทรงคิดจะจัดการไปรษณีย์ขึ้นในประเทศไทยแต่อย่างใด จนเวลาล่วงเลยมาถึงกลาง พ.ศ. ๒๔๒๓ มีหลักฐานปรากฏในจดหมายเหตุหอหลวงว่า เจ้าหมื่นเสมอใจราช ได้มีหนังสือกราบบังคมทูล พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ขอให้ทรงจัดตั้งการไปรษณีย์ขึ้นในประเทศไทย โดยในหนังสือนั้นได้ กราบบังคมทูลถึงความจำเป็นว่า การพาณิชย์ค้าขาย และบ้านเมืองเจริญขึ้นกว่าแต่ก่อน สมควรที่จะได้จัดการไปรษณีย์ขึ้น เจ้าหมื่นเสมอใจราชได้ทูลถึง หลักการทั่วไปในการดำเนินงานไปรษณีย์ที่สำคัญคือ จะต้องจัดทำบัญชีเลขที่บ้านก่อน ทั้งยังประมาณการ ค่าใช้จ่ายต่างๆ รวมทั้งรายได้ที่คาดว่าจะได้รับ ใน การนี้ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรง สนับสนุนเป็นอย่างดี ได้มีการจัดทำเลขบ้าน และ ขณะเดียวกันก็สั่งพิมพ์ตราไปรษณียากรจากบริษัท วอเทอร์โลว์แอนด์ ซันส์ จำกัด (Waterlow and Sons Limited) ประเทศอังกฤษ มาใช้งาน ๖ ชนิด ๖ ราคา คือ โสฬศ อัฐ เสี้ยว ซีก เฟื้อง และสลึง (สำหรับชนิด ราคา ๑ เฟื้องนั้น เมื่อเปิดการไปรษณีย์ขึ้นแล้ว บริษัทผู้พิมพ์ส่งมาไม่ทัน และเนื่องจากทางการได้ ยกเลิกหน่วยเงินเฟื้องไปก่อนจึงไม่ได้นำออกใช้) เริ่ม นำออกใช้ในวันประกาศเปิดการไปรษณีย์ขึ้นใน กรุงเทพฯ ในวันที่ ๔ สิงหาคม พ.ศ. ๒๔๒๖ เป็น ต้นมา นับเป็นแสตมป์ชุดแรกในรัชกาลนี้ 

 

สมเด็จพระราชปิตุลา บรมวงศาภิมุข เจ้าฟ้าภาณุรังษีสว่างวงศ์


ต่อมาในวันที่ ๑ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๒๘ ไทยได้เข้าร่วมเป็นสมาชิกของสหภาพสากลไปรษณีย์ แต่เนื่องจากแสตมป์ชุดแรกของไทย ไม่มีอักษรภาษาอังกฤษบ่งบอกชื่อประเทศ และไม่มีตัวเลขอาระบิค บ่งบอกราคาแสตมป์ จึงต้องสั่งแสตมป์ชุดใหม่มาใช้ ให้มีชื่อประเทศว่า "SIAM" มีตัวเลขอาระบิคบอก ราคาและมีหน่วยเงินเป็นอัฐ "ATT" 

 

แสตมป์ชุดแรก มี ๖ ราคา ออกใช้เมื่อวันที่ ๔ สิงหาคม พ.ศ.๒๔๒๖


ในระหว่างที่รอแสตมป์ชุดที่สองอยู่นั้น ได้นำเอาแสตมป์ชุดแรกราคาโสฬศมาประทับ "1 TICAL" ใช้ แทนไปพลางก่อน ในการส่งจดหมายไปต่างประเทศ (1 TICAL = ๖๔ อัฐ) โดยประทับแก้เป็น ๕ แบบ

 

แสตมป์ราคา ๑ โสฬศ ที่นำมาประทับ 1 TICAL เพื่อนำออกใช้ชั่วคราว ระหว่างรอแสตมป์ที่สั่งเข้ามาใหม่เป็นชุดที่สอง

    
ในวันที่ ๑ เมษายน พ.ศ. ๒๔๓๐ เริ่มนำแสตมป์ชุดที่สองออกใช้ แสตมป์ชุดนี้มี ๒, ๓, ๔, ๘, ๑๒, ๒๔ และ ๖๔ อัฐ ส่วนราคา ๑ อัฐนั้น สั่งเพิ่มเติมมาภายหลัง 

หลังจากที่แสตมป์ชุดที่สองถูกนำออกใช้แล้วปรากฏว่า มีแสตมป์หลายราคา ที่สั่งมาไม่เพียงพอแก่ความต้องการ จึงมีการประทับแก้ราคาบนดวงแสตมป์หลายราคาด้วยกัน เช่น 

 

แสตมป์ชุดที่สอง ออกใช้เมื่อวันที่ ๑ เมษายน พ.ศ.๒๔๓๐

   
ในเดือนกันยายน พ.ศ. ๒๔๓๓ ได้มีการประทับ แก้ราคา ๑ อัฐ ลงบนแสตมป์เดิมราคา ๓ อัฐ เพราะอัตราค่าส่งในประเทศขณะนั้น เท่ากับ ๑ อัฐ

 

แสตมป์ประทับแก้ราคา ๑ อัฐ บนราคา ๓ อัฐ


ในเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๓๕ ได้มีการ ประทับแก้ราคา ๔ อัฐ ลงบนแสตมป์เดิมราคา ๒๔ อัฐ โดยใช้มือประทับด้วยแม่พิมพ์ไม้ และแม่พิมพ์โลหะ

 

แสตมป์ประทับแก้ราคา ๔ อัฐ บนราคา ๒๔ อัฐ


ปลาย พ.ศ. ๒๔๓๗ มีการประทับแก้ราคา ๒ อัฐ ลงบนแสตมป์เดิมราคา ๖๔ อัฐ และจากการประทับแก้ หรือพิมพ์แก้ราคาในชุดต่างๆ นี้เอง ทำให้เกิดการผิดพลาด ซึ่งเรียกว่า ตัวตลก ได้แก่ ตัวแก้พิมพ์ซ้ำ ตัวแก้หัวกลับพิมพ์แก้ด้านหลัง และบางชุดที่ประทับแก้ทั้งภาษาไทยและอังกฤษ ก็อาจจะตกตัวแก้ภาษาใดภาษาหนึ่ง เป็นต้น 

ในวันที่ ๓ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๔๒ ได้นำเอา แสตมป์แก้ ๑๐ อัฐ บน ๒๔ อัฐ ออกมาใช้ แสตมป์แก้ชนิดนี้ นิยมเรียกกันในหมู่นักสะสมแสตมป์ว่า "สิบใหญ่" นอกจากที่ได้นำมาแสดงในที่นี้ ก็ยังมีแสตมป์แก้อีกหลายราคาด้วยกัน ที่ได้จัดทำขึ้นออกใช้เป็นการชั่วคราว ก่อนที่แสตมป์ชุดใหม่ที่สั่งจากต่างประเทศจะมาถึง

 

ซองจดหมายในประเทศ ส่งจากสมุทรปราการมายังกรุงเทพฯเมื่อ พ.ศ.๒๔๓๗


หลังจากที่ไทยเข้าร่วมเป็นสมาชิกของสหภาพสากลไปรษณีย์แล้ว ก็ได้มีการขยายกิจการไปรษณีย์ ออกไปยังจังหวัดต่างๆ ในทั่วทุกภาคของประเทศ โดยเริ่มเปิดแห่งแรกที่สมุทรปราการ เมื่อวันที่ ๒๖ สิงหาคม พ.ศ. ๒๔๒๘ และแห่งที่สองที่นครเขื่อนขันธ์ (พระประแดง จังหวัดสมุทรปราการ เมื่อวันที่ ๑๙ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๒๘ ส่วนจังหวัดอื่นๆ ก็ได้ เปิดที่ทำการไปรษณีย์ขึ้นในระยะต่อมาตามลำดับ จนครบทุกจังหวัดทั่วประเทศ และต่อมาก็ได้มีบริการ ใหม่ๆ เปิดบริการแก่ประชาชนตลอดมา

    

ซองจดหมายที่ส่งจากจันทบูรณ์ (จันทบุรี ระหว่างที่ถูกฝรั่งเศสยึดครองไปยังปลายทางที่เมืองไซ่ง่อน (บน)
และ ที่ประเทศฝรั่งเศส (ล่าง) ไม่มีการติดแสตมป์ แต่มีตราแสดงการยึดครอง


ใน พ.ศ. ๒๔๓๖ ได้มีการออกแสตมป์ชุด ราชกุมาร ขึ้น โดยพระอาจารย์สอนภาษาอังกฤษ ของสมเด็จเจ้าฟ้าวชิรุณหิศ เพื่อประกอบการศึกษา ในราชสำนัก มีอยู่ ๓ ราคาด้วยกัน ได้แก่ ราคา ๑ อัฐ ๑ เสี้ยว และ ๑ ซีก

ปลาย พ.ศ. ๒๔๓๖ จังหวัดจันทบุรีถูกยึดครอง โดยประเทศฝรั่งเศส และมีการลงนามสนธิสัญญาว่า ด้วยการยึดครองในวันที่ ๓ ตุลาคม ปีเดียวกันนั้น จดหมายที่ส่งออกจากจันทบุรีในระยะนั้น จะมีตราพิเศษของประเทศฝรั่งเศส ที่แสดงการยึดครอง จดหมายเหล่านี้จะส่งไปยังศูนย์ที่เมืองไซ่ง่อน ในประเทศ เวียดนาม ก่อนส่งไปยังปลายทางต่อไป 

ในเดือนกันยายน พ.ศ. ๒๔๔๒ ได้มีการนำ แสตมป์ชุดที่สาม ซึ่งสั่งพิมพ์จากประเทศเยอรมัน ออกใช้ และมีการพิมพ์บางราคาเพิ่มขึ้นอีกในภายหลัง รวมที่สั่งมาทั้งสิ้น ๑๒ ราคาด้วยกัน

 

แสตมป์ชุดพระพักตร์เพี้ยน


ในเดือนตุลาคม พ.ศ. ๒๔๔๒ มีการนำเอาแสตมป์ชุดพระพักตร์เพี้ยนออกใช้ แสตมป์ชุดนี้ ทางการได้รับจากประเทศเยอรมัน ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๔๔๐ แต่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ไม่ทรงพอพระทัย ในลักษณะพระพักตร์ในดวงแสตมป์ จึงมีพระบรมราชโองการให้เก็บแสตมป์ชุดนี้เสีย ต่อมามีการเปลี่ยนแปลงการบริหารการไปรษณีย์ โดยให้กระทรวงพระคลังมหาสมบัติ ควบคุมการจ่ายแสตมป์ไปยังที่ทำการไปรษณีย์ ใน พ.ศ. ๒๔๔๒ เกิดมีการผิดพลาด นำแสตมป์ชุดนี้บางส่วนออกใช้ในเมือง ๓ เมือง คือ ภูเก็ต โคราช และพระตะบอง และมีการส่งต่อไปยังที่ทำการไปรษณีย์ย่อยๆ ในบริเวณใกล้เคียง เช่น ระนอง ศรีโสภณ และเคดาห์ - ไทรบุรี เมื่อทางการตรวจพบจึงได้เรียกแสตมป์ส่วนที่เหลืออยู่กลับ แล้วเผาทิ้ง พร้อมกับส่วนที่เหลือในคลังทั้งหมด

ถึงแม้ว่าแสตมป์ชุดนี้จะมีการนำออกใช้ แต่ก็เป็นระยะเวลาที่สั้นมาก แสตมป์ชุดนี้ที่ใช้แล้วจริง จึงหาได้ยากมาก และราคา ๔ อัฐ และ ๑๐ อัฐ ที่ใช้จริงนั้น ยังไม่เคยปรากฏเลย ที่พบก็เป็นแสตมป์ ที่ทางการนำไปให้พนักงานไปรษณีย์ประทับตราขีดฆ่าที่โคราช ระหว่างวันที่ ๓ - ๒๖ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๔๒ เท่านั้น

 

แสตมป์ชุดชั่วคราวพระตะบอง


แสตมป์ชุดชั่วคราวพระตะบองออกใช้ในเดือน กันยายน พ.ศ. ๒๔๔๕ เนื่องจาก ในเดือนกันยายนปีดังกล่าว ข้าหลวงใหญ่ประจำพระตะบองได้โทรเลขไปยังกรุงเทพ ขอเบิกแสตมป์หลายราคา เพื่อนำออกใช้ แต่กระทรวงพระคลังมหาสมบัติส่งให้ล่าช้าไม่ทันการ ประกอบกับแสตมป์ราคา ๒ และ ๑๐ อัฐ ที่พระตะบองหมดลง ข้าหลวงใหญ่จึงได้ออกคำสั่งให้นายไปรษณีย์ แก้ไขราคาแสตมป์ชุดที่สาม จาก ๓ อัฐ แก้เป็น ๒ อัฐ และจาก ๑๒ อัฐ แก้เป็น ๑๐ อัฐ ด้วยเครื่องพิมพ์หมึกสีม่วง และนำออกใช้ทันที เมื่อทางการทราบข่าวจึงสั่งระงับการแก้ไข และให้งดใช้ ทำให้แสตมป์ชุดนี้หายากมาก เพราะมีจำนวนการพิมพ์น้อย และระยะการใช้สั้น
นอกจากแสตมป์แก้ชุดพระตะบองแล้ว ก็ยังมีแสตมป์แก้ชุดอื่น ที่นำออกใช้แทนแสตมป์บางราคา ที่ขาดไป ได้แก่ ชุดชั่วคราว ๑ อัฐแก้ทับบนราคา ๑ ๒ อัฐ และ ๒ อัฐแก้ทับบนราคา ๒๘ อัฐ

เป็นที่น่าสังเกตว่าในสมัยรัชกาลที่ ๕ มีที่ทำการไปรษณีย์ของไทยหลายแห่ง ซึ่งปัจจุบันอยู่ในประเทศลาว เขมร และมาเลเซีย จะสังเกตได้จากตราประทับของที่ทำการไปรษณีย์ต่างๆ ซึ่งขณะนี้ ไม่ได้อยู่ในประเทศไทยแล้ว

 

แสตมป์ประทับตราที่ทำการไปรษณีย์ไพลิน (ในเขมร)

    
ตราประทับที่ทำการไปรษณีย์ในลาวได้แก่ ไชยบุรี หลวงพระบาง จำปาศักดิ์ ปากลาย โขง 

ตราประทับที่ทำการไปรษณีย์ในเขมรได้แก่ พระตะบอง ไพลิน เสียมราษฎร์ ศรีโสภณ และ จันทคิรีเขตร์ 

ตราประทับที่ทำการไปรษณีย์ ในมาเลเซีย ได้แก่ เคดาห์ - ไทรบุรี โกตาบาห์รู กวาลามุดา กุลิม ลังกาวี ปะลิส บาตูเมงกีบัง (กลันตัน) 

ในเดือนธันวาคม พ.ศ. ๒๔๔๘ และ ๑ เมษายน พ.ศ. ๒๔๕๑ ได้มีการนำแสตมป์ชุดวัดแจ้งออกใช้ โดยพิมพ์ ๒ รุ่น รุ่นหลังมีบางราคาเพิ่มขึ้น เพราะ มีการเปลี่ยนแปลงอัตราค่าส่งในประเทศ เพื่อให้สอดคล้องกับราคาของสหภาพสากลไปรษณีย์

 

แสตมป์ประทับตราที่ทำการไปรษณีย์ในลาว

 
ในเดือนเมษายน พ.ศ. ๒๔๕๐ มีการนำแสตมป์ราคาสูงชุดฤชากรออกใช้ เนื่องด้วยกรมไปรษณีย์ฯ ได้เปิดไปรษณีย์ที่ ๘ ขึ้นที่เยาวราช เพื่อรับฝากไปรษณียภัณฑ์ไปประเทศจีนเป็นส่วนใหญ่ เปิดตั้งแต่ วันที่ ๑ เมษายน ๒๔๕๐ ปรากฏว่า ชาวจีนนำส่งไปรษณียภัณฑ์เป็นจำนวนมาก บางห่อมีจดหมายมาก ถึง ๗๕๐ ฉบับ จึงต้องปิดแสตมป์ราคาสูง แต่ขณะนั้นแสตมป์ราคาสูงที่สุดมีเพียง 1 TICAL (๑ บาท) และแสตมป์ราคาสูงยังไม่ได้พิมพ์มาใช้ กระทรวงโยธาธิการ จึงกราบบังคมทูลฯ ขอพระบรมราชานุญาต นำแสตมป์ฤชากร ซึ่งใช้เป็นค่าธรรมเนียมศาล และที่ดิน ชนิดราคา ๑๐,๒๐, และ ๔๐ บาท มาพิมพ์ทับเป็น SIAM POSTAGE 10, 20 และ 40 TICALS ใช้เป็นแสตมป์ไปพลางก่อน จนกว่าแสตมป์ราคาสูงที่สั่งพิมพ์จะมาถึง

 

แสตมป์ชุดฤชากร


ในระหว่างวันที่ ๙ - ๑๖ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๕๐ มีการใช้ของชั่วคราว เนื่องจากในเดือนธันวาคม พ.ศ. ๒๔๕๐ เกิดขาดแคลนแสตมป์ราคา ๑ อัฐ กรมไปรษณีย์ฯ จึงอนุมัติให้นายไปรษณีย์ ๔ คน จากที่ทำการไปรษณีย์ ๓ แห่ง เขียนข้อความด้วย ลายมือหรือพิมพ์ดีดหรือใช้ตรายางประทับ เป็น ภาษาไทยหรืออังกฤษลงบนซอง มีใจความว่า "ไม่ได้ติดแสตมป์ เพราะแสตมป์หนึ่งอัฐไม่มี" หรือ "one att stamps run short-postage paid" แล้วให้ประทับตราขีดฆ่า พร้อมกับเซ็นชื่อกำกับ แทนการใช้แสตมป์ทุกซองไป จนเมื่อใดที่ทำวิธีดังกล่าวได้ครบเงิน ๖๔ อัฐ ก็ให้ซื้อแสตมป์ราคา ๖๔ อัฐ มาประทับตรา ประจำวันต่อไป

นายไปรษณีย์ ๔ คน จากที่ทำการไปรษณีย์ ๓ แห่ง ได้แก่ 

      กรุงเทพฯ ป.ณ.ที่ ๑ (วัดเลียบในปัจจุบัน) ได้แก่ หลวงวิวิธธนการ (นายฟ้อน, Fawn) กับพระรัยการ- บัญชา (รัยการ, Rayakarn) 

      กรุงเทพฯ ป.ณ.ที่ ๕ (หัวลำโพงในปัจจุบัน) ได้แก่ ขุนสนธิสารนันท์ (Manit) 

วิธีนี้ใช้อยู่เพียงวันที่ ๙ - ๑๖ ธันวาคม เพราะแสตมป์แก้รุ่นต่อไปได้ถูกนำออกมาใช้แทน ในวันที่ ๑๑ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๕๑ แสตมป์ ชุดรัชมังคลาภิเษกก็ออกใช้ เป็นภาพพระบรมรูปทรงม้า ซึ่งประชาชนได้ร่วมใจกันบริจาคเงินน้อมเกล้าฯ ถวายให้จัดสร้างขึ้น เป็นพระราชานุสาวรีย์ เพื่อเฉลิมวันครบรอบ ๔๐ ปีแห่งการเสวยราชสมบัติของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว    

 

แสตมป์ชุดมังคลาภิเษก


ในวันที่ ๕ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๕๒ แสตมป์ ชุดครุฑรัชกาลที่ ๕ ได้ออกใช้ นับเป็นแสตมป์ชุดถาวรชุดสุดท้ายในรัชสมัยนี้ แต่อย่างไรก็ตาม ก่อนแสตมป์ชุดนี้ ก็มีแสตมป์ชุดชั่วคราวอีกหลายชุด ที่ไม่ได้ กล่าวไว้ ณ ที่นี้

    

ตัวอย่างซองจดหมายที่มีข้อความว่า ไม่ได้ติดแสตมป์ เพราะแสตมป์หนึ่งอัฐไม่มี


ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ ๖) แสตมป์ชุดแรกที่นำออกใช้ ในวันที่ ๑๕ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๕๕ คือ ชุดเวียนนา (พิมพ์ที่กรุงเวียนนา ประเทศออสเตรีย) มีทั้งราคา สตางค์และราคาบาท โดยเป็นชุดแรกที่พิมพ์หน่วย เงินภาษาอังกฤษว่า "BATH" แทน "TICAL" 

    

ตัวอย่างซองจดหมายของเชลยศึก ที่ส่งจากค่ายกักกัน ในกรุงเทพฯ ไปยังสวิตเซอร์แลนด์ใน พ.ศ.๒๔๖๐ (บน)
และค่ายกักกันในพระนครศรีอยุธยาไปยังเดนมาร์ก ใน พ.ศ.๒๔๖๑ (ล่าง)


ต่อมาราวต้น พ.ศ. ๒๔๕๗ ทางการได้ตกลงกับสหภาพสากลไปรษณีย์ เพื่อเปลี่ยนแปลงอัตราค่าส่งจดหมายไปต่างประเทศ เป็น ๑๕ สตางค์ ต่อ น้ำหนัก ๒๐ กรัม และอีก ๑๐ สตางค์ ต่อทุกๆ น้ำหนัก ๒๐ กรัมต่อไป และในขณะเดียวกันได้ลด อัตราค่าส่งในประเทศลง โดยอัตราค่าส่งภายใน กรุงเทพฯ ลดจาก ๖ สตางค์ เหลือ ๕ สตางค์ ส่วน อัตราค่าส่งไปต่างจังหวัดลดจาก ๑๒ สตางค์ เหลือ ๑๐ สตางค์ ต่อน้ำหนัก ๑๕ กรัม และค่าลงทะเบียน ให้คิดราคาฉบับละ ๑๕ สตางค์

 

แสตมป์ชุดเวียนนาที่นำมาแก้ราคา

 

 จึงเกิดความจำเป็นต้องใช้แสตมป์ ราคา ๕, ๑๐ และ ๑๕ สตางค์ ประกอบกับขณะนั้นขาดแคลน แสตมป์ราคา ๒ สตางค์ ทางการจึงได้สั่งแก้แสตมป์ ทั้ง ๔ ราคา โดยนำชุดเวียนนา มาแก้ที่บริษัท เค โอยามา (K. Oyama) กรุงเทพฯ  ในวันที่ ๑ มกราคม พ.ศ. ๒๔๖๐ ได้มีการ นำแสตมป์ชุดลอนดอนออกใช้ โดยสั่งพิมพ์จากประเทศอังกฤษ เลียนแบบชุดเวียนนา จะเปลี่ยนแปลงก็เฉพาะราคาบางดวงเท่านั้น เพราะสงครามโลกครั้ง ที่ ๑ เริ่มขึ้นในยุโรป จึงทำให้ยากที่จะส่งแสตมป์ จากเวียนนามากรุงเทพฯ  ในระยะสงครามโลกครั้งที่ ๑ นี้เอง มีจดหมาย ของเชลยศึกที่ส่งจากค่ายกักกันที่กรุงเทพฯ และอยุธยา เป็นหลักฐานที่แสดงให้เห็นว่า ประเทศไทยก็มีส่วน เกี่ยวข้องกับสงคราม มีค่ายกักกันเชลยศึกในประเทศ ไทยทั้งในกรุงเทพฯ และอยุธยา

 

ตัวอย่างแสตมป์ดุสิตธานีเต็มแผ่น (๒๘ ดวง)


ในวันที่ ๑๑ มกราคม พ.ศ. ๒๔๖๑ มีการ นำแสตมป์ชุดลอนดอนทั้งชุดมาประทับดวงตรากาชาด ออกจำหน่ายในราคาสูงกว่าราคาในดวง เพื่อนำเงินรายได้ส่วนที่เกินราคาจริงนี้ ไปบำรุงสภากาชาดไทย

 

ซองจดหมายที่ส่งภายในดุสิตธานี มีตราประทับดุสิตธานี ซองนี้มีปรากฏให้เห็นเพียงซองเดียวเท่านั้น


ในวันที่ ๒ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๖๑ ได้มีการนำชุดวันชัยออกใช้ โดยพิมพ์คำว่า "วันชัย VICTORY" บนแสตมป์ชุดลอนดอน (ยกเว้นราคา ๑๐ และ ๒๐ บาท) เป็นการฉลองชัยชนะในสงครามโลกครั้งที่ ๑

 

แสตมป์ชุดลอนดอน (ยกเว้นราคา ๑๐ และ ๒๐ บาท) ที่นำมาทำเป็นแสตมป์ชุดวันชัย

  
ในปี พ.ศ. ๒๔๖๑-๒๔๖๒ มีการนำแสตมป์ ดุสิตธานี ออกมาใช้ในเมือง ที่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงให้จำลองขึ้น เพื่อเป็นเมืองสำหรับทดลองใช้การปกครองระบอบประชาธิปไตย มีการเลือกตั้งผู้แทนราษฎร มีการออกกฎหมายเอง มีรัฐบาลของเมือง ซึ่งเลือกมาจากสภา รวมทั้งมีการออกหนังสือพิมพ์ ที่สามารถวิพากษ์วิจารณ์การเมืองได้เป็นครั้งแรก แสตมป์ดุสิตธานีนี้สั่งพิมพ์จากต่างประเทศ มีขนาดเล็กกว่าแสตมป์ธรรมดา เพื่อให้มีลักษณะแตกต่าง จากแสตมป์ที่ใช้อยู่ทั่วไป ในหนึ่งแผ่นมีแสตมป์จำนวน ๒๘ ดวง

 

แสตมป์ชุดบำรุงเสือป่า


ใน พ.ศ. ๒๔๖๓-๒๔๖๙ มีการนำเอาแสตมป์ชุด ปีกครุฑออกมาใช้ ๓ ระยะด้วยกัน โดยสั่งพิมพ์เป็น ราคาสตางค์ทั้งสิ้น และใน พ.ศ. ๒๔๖๒ - ๒๔๖๔ ได้มีการนำแสตมป์ชุดต่างๆ มาประทับเป็นแสตมป์ บำรุงเสือป่า ๓ รุ่นด้วยกัน แล้วนำออกจำหน่ายใน ราคาสูงกว่าราคาในดวง โดยนำรายได้ส่วนที่เกินนี้ ไปบำรุงกิจการเสือป่า

 

แสตมป์ชุดอากาศชุดแรก พิมพ์โดยบริษัทวอเทอร์โลว์แอนด์ซันส์ จำกัด ออกใช้เมื่อ พ.ศ.๒๔๖๗-๒๔๖๘ แถวที่ ๑-๓
เป็นตัวอย่างแสตมป์ทดลองพิมพ์ในขั้นตอนต่างๆ แถวที่ ๔-๕ เป็นแสตมป์จริง ส่วนแถวล่างสุดเป็นแสตมป์ตัวตลกของชุดนี้


ต่อมาได้มีการออกแสตมป์ชุดอากาศ ใน พ.ศ. ๒๔๖๗-๒๔๖๘ และในวันที่ ๑ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๖๘ ได้ออกแสตมป์ชุดมนังคศิลาเป็นชุดสุดท้ายในรัชกาลนี้ แสตมป์ชุดมนังคศิลาพิมพ์ขึ้น เพื่อจะสมโภชการครองราชย์ครบ ๑๕ ปี ของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวใน พ.ศ. ๒๔๖๘ แต่พระองค์เสด็จสวรรคตเสียก่อน จึงนำออกใช้เป็นชุดธรรมดา

 

ตัวอย่างซองจดหมายติดแสตมป์ชุดอากาศส่งภายในประเทศ

 

ชุดรัชกาลที่ ๗ เป็นชุดแรกที่นำออกจำหน่าย ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ออกจำหน่ายในวันที่ ๑ เมษายน พ.ศ. ๒๔๗๑ มีราคา ตั้งแต่ ๒ สตางค์ไปจนถึง ๔๐ บาท
ตัวตลกที่สำคัญของแสตมป์ชุดนี้ได้แก่ แสตมป์ ที่ไม่มีรอยปรุในแนวนอน 

ในเดือนธันวาคม พ.ศ. ๒๔๗๖, ๒๔๗๗, ๒๔๗๘, ๒๔๗๙ และ ๒๔๘๐ ได้มีการจัดงานฉลองรัฐธรรมนูญขึ้น ในบริเวณพระราชวังสราญรมย์ จึงจัดทำตราประทับพิเศษฉลองรัฐธรรมนูญขึ้นใช้ร่วมกับตรา ประทับประจำวัน ณ ที่ทำการไปรษณีย์พระราชอุทยานสราญรมย์  จากนั้นก็มีการนำแสตมป์ชุดชั่วคราวและชุด ถาวรออกจำหน่ายอีกหลายชุด เช่น ชุดอากาศชุดที่ ๒ ชุด ๑๕๐ ปี แห่งราชวงศ์จักรี ชุดพระที่นั่งอนันตสมาคม และชุดพระที่นั่งจักรี เป็นต้น

 

ซองและแสตมป์ที่มีตราประทับที่ทำการไปรษณีย์พระราชอุทยานสราญรมย์ และตราฉลองรัฐธรรมนูญ


เป็นที่น่าสังเกตว่า ชุดพระที่นั่งอนันตสมาคมที่ นำออกจำหน่ายในวันที่ ๒๔ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๘๒ นั้น เป็นแสตมป์ชุดแรกที่เริ่มใช้ภาพสถานที่สำคัญ ของไทย และหลังจากนั้นก็มีแสตมป์ภาพสถานที่ ต่างๆ กัน ออกมาอีกเป็นจำนวนมาก

 

ซองและแสตมป์ที่มีตราประทับที่ทำการไปรษณีย์พระราชอุทยานสราญรมย์ และตราฉลองรัฐธรรมนูญ


ชุดพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล และพระราชวังบางปะอิน เป็นชุดแรกที่นำออก จำหน่ายในรัชสมัยของพระองค์ นำออกจำหน่าย ในวันที่ ๑๗ เมษายน ๒๔๘๔ 

  

แสตมป์ที่มีตราประทับที่ทำการไปรษณีย์ที่อยู่ในการยึดครองของไทย


ต่อจากนั้นก็มีแสตมป์ชุดอากาศ ชุดพระบรมฉายาลักษ์รัชกาลที่ ๘ ชุดอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ และชุดอนุสาวรีย์ปราบกบฏ ออกจำหน่าย ในวันที่ ๑๕ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๘๖ ได้มี แสตมป์ชุดไทยยึดครองกลันตันออกจำหน่าย แสตมป์ชุดนี้ไม่มีกาวด้านหลัง ออกมาเป็นภาษามลายู และราคาเป็นหน่วยเงินมลายู เพื่อใช้ในรัฐกลันตัน  ต่อมาใน พ.ศ. ๒๔๘๗ ได้นำแสตมป์ชุดที่รัฐ ในมลายูออกจำหน่าย แสตมป์ชุดนี้พิมพ์ขึ้นเพื่อใช้ เฉพาะใน ๔ รัฐ คือ ไทรบุรี กลันตัน ตรังกานู และปะลิส ในขณะที่ไทยได้ ๔ รัฐ นี้คือ มาจากอังกฤษ ในระยะต้นสงครามโลกครั้งที่ ๒ แต่ใน พ.ศ. ๒๔๘๘ ก็กลับคืนไปเป็นของอังกฤษอีก  รัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล มีที่ทำการไปรษณีย์หลายแห่ง ที่อยู่ในการยึดครองของไทย แต่ขณะนี้ไม่ได้อยู่ในประเทศไทยแล้ว เช่น

 

แสตมป์ชุดพระบรมฉายาลักษณ์รัชกาลที่ ๘


ที่ทำการไปรษณีย์ในลาว ได้แก่ จำปาศักดิ์ พิบูลสงคราม และลานช้าง ที่ทำการไปรษณีย์ในเขมร ได้แก่ ศรีโสภณ มงคลบุรี และพระตะบอง  ส่วนที่ทำการไปรษณีย์ในมลายู นั้น ได้แก่ ที่ทำการไปรษณีย์ใน ๔ รัฐ ซึ่งจะไม่กล่าวในที่นี้ เพราะมีการจัดทำแสตมป์พิเศษใช้ในรัฐเหล่านี้อยู่แล้ว

 

แสตมป์ชุดพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลปัจจุบันและ สมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถ


ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลปัจจุบัน แสตมป์ชุดแรกออกจำหน่าย เมื่อ พ.ศ. ๒๔๙๐ และมีแสตมป์ชุดต่างๆ ออก จำหน่ายในโอกาสและวาระสำคัญอีกเป็นจำนวนมาก มีทั้งที่เป็นภาพพระบรมฉายาลักษณ์ของพระองค์ท่าน สมเด็จพระบรมราชินีนาถ และพระบรมวงศานุวงศ์ ภาพที่แสดงถึงศิลปะ วัฒนธรรม และจิตรกรรมของ ไทย ภาพการส่งเสริมการกีฬาและกิจกรรมต่างๆ ของสังคม รวมถึงภาพสัตว์ ผลไม้ สถานที่ท่องเที่ยว ของไทย และอื่นๆ เป็นต้น

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
  • Posted By
  • Plookpedia
  • 15 Followers
  • Follow