Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

รวมปฏิกิริยาเคมีในชีวิตประจำวัน

Posted By sanomaru | 25 ต.ค. 60
592,133 Views

  Favorite

เมื่อลืมตาตื่นนอนขึ้นมา ทันทีที่เราแปรงฟัน อาบน้ำและฟอกสบู่ ก็มีปฏิกิริยาเคมี (Chemical Reaction) หรือการเปลี่ยนแปลงทางเคมีเกิดขึ้น เมื่อเราทำอาหาร ก็มีปฏิกิริยาเคมีเกิดขึ้น เมื่อเราสตาร์ตเครื่องยนต์และขับรถไปทำงาน ก็มีปฏิกิริยาเคมีเกิดขึ้น ปฏิกิริยาเคมีเกิดขึ้นแม้กระทั่งตอนที่เรานำอาหารเข้าสู่ร่างกาย จึงดูเหมือนว่าปฏิกิริยาเคมีจะอยู่ทุกหนทุกแห่งรอบ ๆ ตัวเราในแต่ละวัน หรือเรียกว่าเป็นปฏิกิริยาเคมีในชีวิตประจำวันได้เลยทีเดียว

 

ในชีวิตประจำวันของคนเราเกี่ยวข้องกับปฏิกิริยาเคมีมากมาย ตัวอย่างของปฏิกิริยาเคมีที่เรามักเห็นและคุ้นเคยกันดี ได้แก่

 

1. กระบวนการสังเคราะห์ด้วยแสง (Photosynthesis)

การสังเคราะห์ด้วยแสงเป็นปฏิกิริยาเคมีที่เกิดขึ้นในพืช โดยพืชจะดูดกลืนพลังงานแสงจากดวงอาทิตย์มาใช้เพื่อเปลี่ยนคาร์บอนไดออกไซด์และน้ำให้เป็นอาหาร (กลูโคส) ของพืช และมีผลพลอยได้คือ ออกซิเจน ออกมา ปฏิกิริยานี้เกี่ยวข้องกับชีวิตประจำวันของเราโดยตรง เพราะนี่คือกระบวนการผลิตอาหารที่สำคัญของโลก อีกทั้งยังเป็นการเปลี่ยนก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ให้เป็นก๊าซออกซิเจนที่เราสามารถใช้หายใจด้วย

ภาพ : Shutterstock

 

สมการเคมีของกระบวนการสังเคราะห์ด้วยแสง
6CO2 + 6H2O + light ----> C6H12O6 + 6O2
คาร์บอนไดออกไซด์ + น้ำ + แสง ----> กลูโคส + ออกซิเจน


2. การสันดาปหรือการเผาไหม้เชื้อเพลิง

ทุกครั้งที่เราจุดไม้ขีดไฟ ไฟแช็ก หรือก่อกองไฟ จะมีปฏิกิริยาเคมีอย่างหนึ่งเกิดขึ้น นั่นคือปฏิกิริยาการสันดาปหรือการเผาไหม้เชื้อเพลิง ซึ่งนอกจากจะมีเชื้อเพลิงที่ติดไฟ เช่น มีเทน โพรเพน ไฮโดรเจน แล้ว ยังต้องมีก๊าซออกซิเจนเพื่อช่วยทำให้ไฟติด และความร้อนด้วย จึงจะทำให้ได้พลังงาน ตลอดจนน้ำและก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ออกมา

 

สมการเคมีการสันดาป
C3H8 + 5O2 + heat ----> 4H2O + 3CO2 + energy  
โพรเพน (เชื้อเพลิง) + ออกซิเจน + ความร้อน ----> น้ำ + คาร์บอนไดออกไซด์ + พลังงาน


3. ปฏิกิริยาการเกิดสนิมเหล็ก

หลายครั้งที่เราเห็นมีดในครัว กุญแจ หรือราวสะพานลอยมีสีแดงเพราะถูกสนิมเหล็กจับ มันคือตัวอย่างของการเกิดปฏิกิริยาออกซิเดชัน หรือการสูญเสียอิเล็กตรอนจากวงโคจรภายในอะตอมของมันให้กับโมเลกุลอื่น ซึ่งนอกจากปฏิกิริยาออกซิเดชันที่เกิดขึ้นกับเหล็กแล้ว ยังมีปฏิกิริยาที่เกิดขึ้นกับทองแดง ทำให้เกิดเป็นสนิมสีเขียว และปฏิกิริยาที่เกิดขึ้นกับโลหะเงิน ทำให้เกิดเป็นรอยด่างดวงขึ้นมาด้วย

 

สมการเคมีของการเกิดสนิมเหล็ก
4Fe + 3O2 + 3H2O ----> 2Fe2O3.3H2O
เหล็ก + ออกซิเจน + น้ำ ----> เหล็กออกไซด์ (สนิมเหล็ก)


4. ปฏิกิริยาการสะเทิน

ปฏิกิริยาการสะเทินเกิดจากการที่กรด เช่น น้ำส้มสายชู น้ำมะนาว กรดซัลฟิวลิก และเบส เช่น เบกกิ้งโซดา สบู่ อะซีโตน เข้าทำปฏิกิริยากันได้พอดี เกิดเป็นผลิตภัณฑ์เกลือและน้ำ ทั้งนี้เกลือที่ได้ไม่จำเป็นต้องเป็นเกลือโซเดียมคลอไรด์เสมอไป ขึ้นกับสารตั้งต้น ซึ่งอาจทำให้ได้เป็นเกลือโพแทสเซียมคลอไรด์ ซึ่งมีรสชาติเค็มเหมือนกันแต่อันตรายสำหรับผู้ป่วยโรคไตมากกว่าเกลือโซเดียมคลอไรด์

 

สมการเคมีของปฏิกิริยาการสะเทิน
HCl + KOH ----> KCl + H2O
ไฮโดรเจนคลอไรด์ (กรด) + โพแทสเซียมไฮดรอกไซด์ (เบส) ----> โพแทสเซียมคลอไรด์ (เกลือ) + น้ำ


5. ปฏิกิริยาการสลายตัวของโซเดียมไฮโดรเจนคาร์บอเนตหรือเบกกิ้งโซดา

เวลาที่เราทำขนมประเภทเค้กหรือขนมปัง จำเป็นต้องมีเบกกิ้งโซดาหรือผงฟู (มีเบกกิ้งโซดาเป็นส่วนประกอบ) เป็นหนึ่งในส่วนผสม และเมื่ออุณหภูมิสูงขึ้น เบกกิ้งโซดาซึ่งมีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า โซเดียมไฮโดรเจนคาร์บอนเนตหรือโซเดียมไบคาร์บอเนต จะเกิดปฏิกิริยาการสลายตัวและได้คาร์บอนไดออกไซด์ออกมา ซึ่งก๊าซนี้เองที่ทำให้ขนมฟูนุ่มน่ารับประทาน

 

สมการเคมีของปฏิกิริยาการสลายตัวของโซเดียมไฮโดรเจนคาร์บอเนตหรือเบกกิ้งโซดา
NaHCO3 + heat ----> Na2CO3 + CO2 + H20
โซเดียมไฮโดรเจนคาร์บอเนต (โซเดียมไบคาร์บอเนต) + ความร้อน ----> โซเดียมคาร์บอเนต + คาร์บอนไดออกไซด์ + น้ำ


6. ปฏิกิริยาการหายใจแบบใช้ออกซิเจน (การหายใจแบบแอโรบิก)

ปฏิกิริยาการหายใจแบบใช้ออกซิเจน เป็นการสลายสารอาหารโดยใช้ออกซิเจน เพื่อให้เกิดพลังงานที่เซลล์สามารถนำไปใช้ได้ โดยปฏิกิริยานี้จะเกิดขึ้นที่เซลล์ในร่างกายของเรานั่นเอง ซึ่งในปฏิกิริยานี้ สารอาหารอย่างกลูโคสจะรวมกับออกซิเจนที่เราหายใจเข้าไป เกิดปฏิกิริยาเคมีและปลดปล่อยพลังงานที่จำเป็นต่อเซลล์ออกมาในรูป ATP นอกจากนี้ยังมีคาร์บอนไดออกไซด์และน้ำที่ถูกปล่อยออกมาด้วย

 

สมการเคมีการหายใจแบบใช้ออกซิเจน
C6H12O6 + 6O2 ----> 6CO2 + 6H2O + energy (36 ATPs)
กลูโคส + ออกซิเจน ----> คาร์บอนไดออกไซด์ + น้ำ + พลังงาน (36 ATPs)

 

7. ปฏิกิริยาการหายใจแบบไม่ใช้ออกซิเจน (การหายใจแบบแอนาโรบิก)

ปฏิกิริยาการหายใจแบบไม่ใช้ออกซิเจนเกิดขึ้นทุกวัน แต่การหายใจแบบไม่ใช้ออกซิเจนในสิ่งมีชีวิตแต่ละชนิดจะให้ผลิตภัณฑ์ที่ต่างกัน จากกระบวนการบางอย่างที่แตกต่างกัน หากเป็นพืช รา และยีสต์ ปฏิกิริยาการหายใจแบบไม่ใช้ออกซิเจนจะได้ผลิตภัณฑ์เป็นเอทานอล คาร์บอนไดออกไซด์ และพลังงานออกมา ส่วนในกล้ามเนื้อของคนเรา การหายใจแบบไม่ใช้ออกซิเจนจะเกิดขึ้นเมื่อร่างกายไม่สามารถนำออกซิเจนส่งไปยังกล้ามเนื้อได้ทันและเพียงพอ เช่น กรณีที่มีการออกกำลังกายอย่างหนักและยาวนาน ซึ่งจะทำให้การสลายกลูโคสในเซลล์กล้ามเนื้อไม่สมบูรณ์ และเกิดเป็นกรดแลกติกสะสมในกล้ามเนื้อ ทำให้เกิดอาการปวดหรือกล้ามเนื้อล้าได้

 

สมการเคมีการหายใจแบบไม่ใช้ออกซิเจนในยีสต์
C6H12O6 ----> 2C2H5OH + 2CO2 + energy
กลูโคส ----> เอทานอลหรือเอทิลแอลกอฮอล์ + คาร์บอนไดออกไซด์ + พลังงาน

 

 

บทความที่เกี่ยวข้อง

- รวมปฏิกิริยาเคมีในชีวิตประจำวัน (ตอนที่ 2)

- การเกิดสนิมเหล็ก

 

 

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
Tags
  • Posted By
  • sanomaru
  • 17 Followers
  • Follow