วิธีการป้องกันไม่ให้เป็นโรคไต ได้แก่ การดื่มน้ำอย่างเพียงพอโดยเฉพาะเมื่อต้องเสียน้ำและเกลือแร่จากอาการท้องเดินหรือการออกกำลังกายอย่างหักโหมในช่วงอากาศร้อนและหลีกเลี่ยงการใช้ยาที่เป็นพิษต่อไต เช่น ยาฆ่าเชื้อบางชนิด ยาแก้ปวด ยาสมุนไพรบางอย่าง เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการติดเชื้ออย่างรุนแรงซึ่งเป็นสาเหตุของไตวายเฉียบพลันได้รวมทั้งตรวจหารอยโรคไตหรือโรคที่เป็นสาเหตุของโรคไต เช่น โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง โรคนิ่ว โรคเกาต์ โรคถุงน้ำในไต โรคไตพิการแต่กำเนิด โรคทางพันธุกรรมต่าง ๆ โรคไตอักเสบเรื้อรังชนิดต่าง ๆ โรคเอสแอลอี นอกจากนี้ตรวจค้นหาผู้ป่วยโรคไตเรื้อรังในกลุ่มเสี่ยง ผู้สูงอายุ ผู้ที่มีสมาชิกในครอบครัวเป็นโรคไตเรื้อรัง ผู้ป่วยที่ฟื้นจากภาวะไตวายเฉียบพลัน ผู้ที่สูญเสียเนื้อไตจากโรคหรือการผ่าตัด ผู้ที่รับประทานยาแก้ปวดเป็นประจำหรือได้รับสารเคมีที่เป็นพิษบ่อย ๆ และผู้ที่มีน้ำหนักแรกคลอดน้อย ส่วนการป้องกันไม่ให้ผู้ป่วยที่เป็นโรคไตเกิดโรคไตเรื้อรังสามารถทำได้ คือ ผู้ป่วยโรคเบาหวานควรควบคุมระดับน้ำตาลให้ใกล้เคียงคนปกติ ผู้ป่วยโรคความดันโลหิตสูงควรควบคุมความดันโลหิตให้ต่ำกว่า ๑๓๐/๘๐ มิลลิเมตรปรอท และลดอาหารเค็ม ผู้ป่วยโรคเกาต์ควรควบคุมอาหารและยา ผู้ป่วยโรคเอสแอลอีควรวินิจฉัยและรักษาในระยะแรกเพื่อป้องกันไม่ให้โรคลุกลามถึงไต ผู้ป่วยโรคอ้วนลงพุงควรลดน้ำหนักและผู้ที่มีไขมันในเลือดสูงมากควรลดไขมันโดยควบคุมอาหารและให้ยาตลอดจนงดสูบบุหรี่
แนวทางในการป้องกันโรคไตเรื้อรังทั่วไป ได้แก่
ก. การวินิจฉัยโรคทุกชนิดให้ได้ในระยะแรกขณะที่โรคยังเป็นน้อยโดยเฉพาะโรคที่ทำให้เกิดโรคไตเรื้อรัง เช่น โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง โรคเอสแอลอี โรคอ้วน
ข. ติดตามการรักษาอย่างใกล้ชิดควบคุมโรคและปัจจัยเสี่ยงต่าง ๆ ที่จะทำให้ไตวาย เช่น ควบคุมความดันโลหิตให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม ควบคุมระดับน้ำตาล ไขมัน กรดยูริก หลีกเลี่ยงการใช้ยาที่เป็นพิษต่อไต
ค. แนะนำอาหารที่เหมาะสมตามระยะของโรคและวิธีการรักษาเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดภาวะทุพโภชนาการ
ง. พยายามป้องกันไม่ให้เกิดภาวะแทรกซ้อนต่าง ๆ เช่น รักษาสมดุลของน้ำ กรด-ด่าง และเกลือแร่ในร่างกาย
จ. ป้องกันและรักษาโรคหลอดเลือดตีบของสมอง หัวใจ และแขนขา
ฉ. ส่งต่อผู้ป่วยไปยังผู้เชี่ยวชาญในเวลาที่เหมาะสม เช่น ผู้ป่วยที่เป็นโรคเบาหวานและโรคไตต้องส่งจักษุแพทย์เพื่อรักษาภาวะเบาหวานขึ้นจอประสาทตา (diabetic retinopathy) ป้องกันไม่ให้ตาบอดและส่งต่อผู้ป่วยไปที่อายุรแพทย์โรคไตเพื่อติดตามการรักษาอย่างใกล้ชิดและให้การบำบัดทดแทนไตในเวลาที่เหมาะสม
การดูแลผู้ป่วยโรคไตอย่างใกล้ชิดนอกจากช่วยชะลอการเสื่อมของไตหรือป้องกันภาวะแทรกซ้อนและความพิการต่าง ๆ แล้ว ยังเป็นการช่วยประหยัดค่ารักษาพยาบาลของผู้ป่วยและครอบครัว เพื่อให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีมีความสุขทั้งร่างกายและจิตใจ