Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

ลักษณะของปริศนาคำทาย

Posted By Plookpedia | 11 พ.ค. 60
14,029 Views

  Favorite

ลักษณะของปริศนาคำทาย

      ปริศนาคำทายมีองค์ประกอบหลัก ๒ ส่วนคือ ปริศนาและคำเฉลย ปริศนาเป็นส่วนที่อธิบายหรือบอกใบ้คำเฉลยแต่ในขณะเดียวกันคำอธิบายในปริศนาก็ลวงให้ผู้ฟังหลงทางด้วยลักษณะที่ทั้ง "แนะ" และ "ลวง" ดังกล่าวทำให้ปริศนาคำทายมีความน่าสนใจ กล่าวคือเมื่อแรกได้ยินข้อปริศนาคนฟังมักถูกลวงให้คิดผิดทางจนเกิดความฉงนงงงวยแต่เมื่อได้ทราบคำเฉลยแล้วก็จะคิดได้ถูกแนวทาง ปริศนาที่ดูเหมือนลึกลับและน่าฉงนนั้นก็กลับกลายเป็นเรื่องพื้น ๆ ที่ไม่มีอะไรชวนสงสัย ลักษณะดังกล่าวทำให้ปริศนาคำทายสามารถดึงดูดความสนใจของผู้คนเป็นจำนวนมาก นอกจากลักษณะเด่นดังกล่าวแล้วปริศนาคำทายมีลักษณะเด่นทางเนื้อหาและลักษณะเด่นทางภาษาที่น่าสนใจดังนี้

ลักษณะเด่นทางเนื้อหา

      ปริศนาคำทายนั้นมีเนื้อหาหลากหลายแต่เมื่อพิจารณาโดยรวมแล้วสามารถสรุปลักษณะเด่นทางเนื้อหาได้เป็น ๓ ประการ คือ เนื้อหาเกิดจากการสังเกตสิ่งแวดล้อมรอบตัว เนื้อหาเกิดจากความใส่ใจภาษา และเนื้อหาเกิดจากความคิดสร้างสรรค์ที่แหวกขนบ 
๑) เนื้อหาเกิดจากการสังเกตสิ่งแวดล้อมรอบตัว

      เนื้อหาส่วนใหญ่ของปริศนาคำทายของไทยเกิดจากการสังเกตสิ่งแวดล้อมรอบตัวไม่ว่าจะเป็นสิ่งของเครื่องใช้ พืชพรรณธรรมชาติ ความใส่ใจและช่างสังเกต ทำให้ผู้คิดปริศนาสามารถนำลักษณะเด่นที่น่าสนใจของสิ่งต่าง ๆ รอบตัวมาผูกขึ้นเป็นปริศนาดังในตัวอย่างต่อไปนี้ 

  • อะไรเอ่ย  ต้นเท่าลำเรือ  ใบห่อเกลือไม่มิด    (เฉลย : ต้นมะขาม)

   ปริศนานี้เกิดจากการสังเกตธรรมชาติทำให้เห็นลักษณะที่ดูเหมือนจะตรงกันข้ามกันของต้นมะขาม กล่าวคือลำต้นใหญ่มากแต่ใบเล็กมากจนไม่สามารถห่อเกลือได้ 

 

 


๒) เนื้อหาเกิดจากความใส่ใจภาษา
      นอกเหนือจากการสังเกตสิ่งแวดล้อมรอบตัวแล้ว คนไทยยังใส่ใจต่อภาษาที่ใช้เรียกสิ่งต่าง ๆ ด้วยความใส่ใจดังกล่าว ทำให้สังเกตเห็นลักษณะที่น่าสนใจบางอย่างที่สามารถนำมาผูกเป็นปริศนาได้ ดังตัวอย่างต่อไปนี้     

  • อะไรเอ่ย  เจ๊กขาย  ไทยเขียน (เฉลย :  เทียนไข)

   ปริศนานี้แสดงให้เห็นว่าคนไทยใส่ใจต่อภาษาทำให้สังเกตเห็นความสัมพันธ์ระหว่างกลุ่มเสียงในภาษา ๒ กลุ่ม คือ "ไทยเขียน" และ "เทียนไข" ซึ่งเป็นเสียงที่เกิดจากการผวนคำอันเป็นลักษณะการเล่นกับภาษาที่โดดเด่นอย่างหนึ่งในวัฒนธรรมไทย 

      ปริศนาผะหมีหรือโจ๊กเป็นปริศนาที่ให้ความสำคัญกับภาษาเป็นอย่างยิ่ง ปริศนากลุ่มนี้ผูกขึ้นจากการสังเกตคำต่าง ๆ จนทำให้เห็นว่าคำเหล่านั้นมีลักษณะเด่นบางอย่างร่วมกันซึ่งสามารถนำมาสร้างเป็นปริศนาได้และนำคำต่าง ๆ ที่มีความสัมพันธ์กัน มารวมเป็นหมวดหมู่เพื่อใช้เล่นทายดังในตัวอย่างนี้  


นามนางยักษ์ รักพระ อภัยท่าน 
(ผีเสื้อสมุทร)
นามแหล่งธาร ขานไข กว้างใหญ่แสน 
(มหาสมุทร)
นามนาวา ค้าของ ล่องข้ามแดน 
(เรือเดินสมุทร)
นามถิ่นที่ พระสี่แขน แม้นบรรทม 
(เกษียรสมุทร)

(ประสิทธิ์   ประสิว)


ความใส่ใจภาษาทำให้ผู้คิดปริศนานี้สังเกตเห็นว่าในภาษาไทยมีคำที่ลงท้ายด้วย "สมุทร" อยู่กลุ่มหนึ่ง จึงได้นำมาผูกเป็นปริศนา 
๓) เนื้อหาเกิดจากความคิดสร้างสรรค์ที่แหวกขนบ
      เนื้อหาของปริศนาคำทายสร้างขึ้นจากความคิดสร้างสรรค์ที่แหวกขนบไม่ได้อิงกับความรู้ตามแบบแผน ลักษณะดังกล่าวทำให้ปริศนาคำทายต่างจากปัญหาทั่ว ๆ ไป และปัญหาทางวิชาการดังจะเห็นได้จากตัวอย่างนี้ 


ปัญหาวิชาการ : สองบวกสอง ได้อะไร  (คำตอบ :  สี่)
ปริศนาคำทาย :  สองบวกสอง ได้อะไร (เฉลย : กระต่าย พูดพร้อมยกมือที่ชูนิ้วชี้และนิ้วกลางทั้งสองข้างขึ้นไปวางไว้เหนือศีรษะ)


      จะเห็นว่าคำถามทั้งสองมีเนื้อความเหมือนกันแต่ปัญหาวิชาการมีเนื้อหาอิงกับความรู้ทางคณิตศาสตร์ในขณะที่ปริศนาคำทายอิงกับความคิดสร้างสรรค์ที่แหวกขนบในตัวอย่างแรกซึ่งเป็นคำถามเชิงวิชาการนั้นผู้ฟังต้องใช้ความรู้ทางคณิตศาสตร์ในการแก้ปัญหาว่า เมื่อรวมจำนวน "สอง" กับ "สอง" ผลลัพธ์จะได้เท่าไร คำตอบคือ "สี่" ในทางตรงกันข้ามสำหรับปริศนาคำทายนั้น ใช้แนวคิดนอกกรอบในการผูกปริศนา กล่าวคือ "สอง" ในปริศนานี้มิได้หมายถึงตัวเลขในทางคณิตศาสตร์แต่หมายถึงจำนวนนิ้วมือและ "บวก" ในที่นี้มิได้ต้องการทราบผลรวมของจำนวนนิ้วมือหากแต่ต้องการทายว่าอากัปกิริยาที่เกิดจากการรวมมือทั้งสองที่ชูสองนิ้วเข้าด้วยกันสามารถตีความถึงอะไรได้บ้าง "สอง" ในที่นี้คือ "สองนิ้ว" ซึ่งสื่อถึง "หูกระต่าย"


ปัญหาวิชาการ : อะไรอยู่ใต้สะพานพุทธ  (คำตอบ : แม่น้ำเจ้าพระยา)
ปริศนาคำทาย : อะไรเอ่ยอยู่ใต้สะพานพุทธ  (เฉลย : สระอุ)


      ปัญหาวิชาการข้างต้นนั้นอิงกับความรู้ทางภูมิศาสตร์ ดังนั้นคำตอบที่ถูกต้องคือแม่น้ำเจ้าพระยา ในทางกลับกันปริศนาคำทายที่ใช้คำถามเดียวกันไม่ได้สร้างขึ้นจากพื้นความรู้ตามแบบแผนอย่างปัญหาวิชาการหากแต่มุ่งที่จะถามลักษณะ ที่เกี่ยวกับรูปเขียนของคำว่า "สะพานพุทธ" เป็นสำคัญ  สำหรับเนื้อหาหลักของปริศนาผะหมีและโจ๊กนั้นส่วนหนึ่งเกิดจากความคิดสร้างสรรค์ในการจัดหมวดหมู่คำต่าง ๆ ในภาษาไทยดังที่ได้กล่าวไปแล้ว การจัดหมวดหมู่โดยพิจารณาจากลักษณะร่วมทางภาษานับได้ว่าเป็นความคิดสร้างสรรค์อย่างหนึ่ง ดังตัวอย่างนี้ 


ดารานำงามแท้เล่นแม่เบี้ย  (มะหมี่)
ช่วยชมเชียร์ภูษาผ้าลายสี  (มัดหมี่)
อาหารจีนกินได้หลายเส้นดี  (บะหมี่)
ลพบุรีมีนามเด่นอำเภอ  (บ้านหมี่)
         (ประสิทธิ์   ประสิว)


      ในปริศนานี้หากพิจารณาในโลกของความเป็นจริงจะพบว่า "มะหมี่" "มัดหมี่" "บะหมี่" และ "บ้านหมี่" นั้นไม่ได้มีความเกี่ยวข้องกันแต่อย่างใด อย่างไรก็ดีหากมองโดยใช้เกณฑ์ทางด้านรูปภาษา เราก็จะพบลักษณะความสัมพันธ์ที่โดดเด่นระหว่างคำทั้งสี่คือลงท้ายด้วยคำว่า "หมี่" เหมือนกันซึ่งความคิดเชิงสร้างสรรค์ในการมองความสัมพันธ์ระหว่างคำเรียกสิ่งต่าง ๆ เหล่านี้ทำให้เห็นลักษณะเด่นที่สามารถนำมาใช้ในการผูกปริศนาขึ้น

ลักษณะเด่นทางภาษา

      ลักษณะเด่นอีกส่วนหนึ่งของปริศนาคำทายคือลักษณะเด่นทางภาษา ภาษามีส่วนประกอบหลัก ๒ ส่วนคือ รูปภาษาและความหมาย ดังนั้นในการพิจารณาลักษณะเด่นทางภาษาของปริศนาคำทายจึงควรพิจารณาใน ๒ ส่วนดังกล่าว 

ก.  ลักษณะเด่นทางรูปภาษา

ลักษณะเด่นทางรูปภาษาของปริศนาคำทายมีหลายอย่าง อาทิเช่น การเล่นเสียงสัมผัส การซ้ำคำ และการใช้คำผวน 
๑) การเล่นเสียงสัมผัส
      การเล่นเสียงสัมผัสเป็นลักษณะเด่นอย่างหนึ่งของปริศนาคำทายไทยปริศนา "อะไรเอ่ย" มักจะมีลักษณะเป็นร้อยแก้วที่มีสัมผัสคล้องจอง สัมผัสที่ใช้มีทั้งสัมผัสสระและสัมผัสพยัญชนะ สัมผัสที่พบมากคือ สัมผัสสระ ดังเช่นในตัวอย่างต่อไปนี้   

  • อะไรเอ่ยหน้างอคออ่อน กินก่อนทุกวัน  (เฉลย : ทัพพี)

ในปริศนานี้มีเสียงสัมผัสสระระหว่างคำว่า "งอ" กับ "คอ" และระหว่างคำว่า "อ่อน" กับ "ก่อน" นอกจากนี้ยังมีเสียงสัมผัสพยัญชนะระหว่างคำว่า "กิน" กับ "ก่อน"

  • อะไรเอ่ยตาสองชั้น ฟันสองหน คนสามขา  (เฉลย : แว่นตา ฟันปลอม ไม้เท้า)

สัมผัสสระที่พบในปริศนานี้เกิดจากคำว่า "ชั้น" กับ "ฟัน" และคำว่า "หน" กับ "คน" นอกจากนี้ยังมีสัมผัสพยัญชนะระหว่างคำว่า "คน" และ "ขา"
      นอกจากปริศนา "อะไรเอ่ย" แล้วโคลงทายและปริศนาผะหมีก็เน้นการเล่นเสียงสัมผัส บทปริศนาของปริศนาทั้งสองนี้จะแต่งด้วยคำประพันธ์ประเภทต่าง ๆ ทั้งโคลง กลอน กาพย์ และฉันท์ ดังนั้นจึงมีการใช้เสียงสัมผัสคล้องจองตามแบบแผนฉันทลักษณ์ของคำประพันธ์แต่ละประเภทด้วย ยกตัวอย่างเช่น 


ใช่นาคาตัวนิดพิษเหลือหลาย  (งูสามเหลี่ยม)
สตรีร้ายขายหน้าท่านว่าชั่ว (หญิงสามผัว)
บุรุษร้ายใครไม่ทำให้ต่ำตัว  (ชายสามโบสถ์)
มากหัวมากหน้าภูผาใด     (เขาสามมุข)
   (พังเพย  ใจรักธรรม)


      ในปริศนานี้มีการเล่นเสียงสัมผัสสระระหว่างคำต่อไปนี้ นิด-พิษ หลาย-ขาย ร้าย-ขาย หน้า-ว่า ชั่ว-ตัว ทำ-ต่ำ ไม่-ให้ ตัว-หัว หน้า-ผา  นอกจากนี้มีเสียงสัมผัสพยัญชนะระหว่างคำต่อไปนี้ เหลือ-หลาย ต่ำ-ตัว และ ภู-ผา  นอกจากเสียงสัมผัสสระและสัมผัสพยัญชนะแล้วปริศนาผะหมีหรือโจ๊กชนิดที่เรียกว่า "โจ๊กคำผัน" มีเสียงสัมผัสวรรณยุกต์เป็นลักษณะเด่นที่ร้อยเรียงคำเฉลยในชุดเข้าด้วยกัน
๒) การซ้ำคำ
การซ้ำคำ คือ การนำคำที่ได้ใช้ไปแล้วมาใช้ซ้ำอีกครั้งหนึ่ง การซ้ำคำจะทำให้เกิดเสียงที่ไพเราะ ดังตัวอย่างนี้

  • อะไรเอ่ย  สี่สายยานโตงเตง  ข้างนอกร้องเพลง  ข้างในร้องไห้   (เฉลย : เปล)

ตัวอย่างปริศนาข้อนี้มีการซ้ำคำว่า "ข้าง" และ "ร้อง" ทำให้เกิดโครงสร้างคู่ขนานกันระหว่าง "ข้างนอกร้องเพลง" กับ "ข้างในร้องไห้"

  • อะไรเอ่ย  ดำแล้วขาว ยาวแล้วสั้น มั่นแล้วคลอน   (เฉลย : ผม  สายตา  ฟัน)

ในตัวอย่างนี้ มีการซ้ำคำว่า "แล้ว" ซึ่งอยู่ตรงกลางของคำใบ้ในปริศนา การซ้ำในลักษณะนี้ทำให้เกิดโครงสร้างคู่ขนานกันระหว่างคำใบ้ทุกชุด นอกจากนี้คำที่ประกอบในคำใบ้แต่ละชุดมีลักษณะที่เป็นคู่ตรงข้ามกันคือ ดำ-ขาว ยาว-สั้น มั่น-คลอน 
      สำหรับปริศนาชุดผะหมีหรือโจ๊กนั้นการซ้ำคำเป็นลักษณะสำคัญที่พบในชุดคำเฉลย ดังจะเห็นได้จากในตัวอย่างข้างต้นชุดคำเฉลยคือ งูสามเหลี่ยม หญิงสามผัว ชายสามโบสถ์ เขาสามมุข มีลักษณะร่วมกันคือการซ้ำพยางค์กลาง คือ "สาม"นอกจากการซ้ำพยางค์กลางแล้วยังมีการซ้ำพยางค์ต้นและการซ้ำพยางค์ท้ายของคำในชุดคำเฉลยอีกด้วย
๓) การใช้คำผวน
      คำผวนเป็นลักษณะการเล่นกับเสียงที่คนไทยรู้จักคุ้นเคยดี การผวนคำมีหลักคือคำที่นำมาผวนนั้นต้องมีอย่างน้อย ๒ พยางค์ ในการผวนนั้นให้คงเสียงพยัญชนะต้นของแต่ละพยางค์ไว้จากนั้นสลับเสียงสระและพยัญชนะของพยางค์หน้าและพยางค์หลัง เช่น "ตาลาย" ผวนได้เป็น "ตายลา" ในกรณีที่คำนั้นมีมากกว่า ๒ พยางค์ พยางค์กลางจะคงเสียงเดิมไว้ เช่น "หมูกินขี้กา" ผวนได้เป็น "หมากินขี้กู" ส่วนใหญ่คำที่ผวนแล้วนั้นมักไม่มีความหมายอะไรแต่ก็มีในบางครั้งที่คำที่ผวนแล้วนั้นไปตรงกับคำที่มีความหมาย 

  • มะนาวอะไรเอ่ย อยู่นอกโลก (เฉลย : มะนาวต่างดุ๊ด - มนุษย์ต่างดาว)

คำผวนในปริศนาข้อนี้อยู่ในส่วนคำเฉลย กล่าวคือก่อนจะได้คำเฉลยที่ถูกต้องจะต้องมีการผวนคำก่อน ๑ ชั้น คำเฉลยว่า "มะนาวต่างดุ๊ด" นั้นไม่มีความหมายแต่เมื่อผวนเป็น "มนุษย์ต่างดาว" จึงจะได้สิ่งที่เป็นไปตามที่ปริศนาบอกใบ้ คือ "อยู่นอกโลก" นอกจากปริศนาอะไรเอ่ยแล้วคำผวนยังใช้มากในการสร้างปริศนาผะหมีทั้งผะหมีถ้อยคำและผะหมีรูปภาพ ดังตัวอย่างต่อไปนี้


มาหนึ่งคือผู้ให้เกิดกาย (มาดาน-มารดา)
มาหนึ่งสาธยายเวทซึ้ง (มาตรน-มนตรา)
 มาหนึ่งขอเชิญทายเดือนหนึ่ง (มานี-มีนา)
              มาหนึ่งอย่าอ้ำอึ้งค่าเพี้ยงเพชรพลอย (มาดุ๊ก-มุกดา)


คำเฉลยในปริศนาชุดนี้มีลักษณะเด่นร่วมกันคือทุกคำจะต้องนำมาผวนอีก ๑ ครั้งจึงจะได้คำเฉลยที่ถูกต้อง มีความหมายสอดคล้องกับคำใบ้ในตัวปริศนา 
ข. ลักษณะเด่นทางความหมาย
นอกจากลักษณะเด่นทางด้านรูปภาษาแล้วปริศนาคำทายยังมีลักษณะเด่นทางความหมายหลายประการ เช่น การใช้ความเปรียบ การใช้ความกำกวม และการใช้ความขัดแย้ง
๑) การใช้ความเปรียบ
      การใช้ความเปรียบเพื่อเปรียบเทียบสิ่งหนึ่งว่าเหมือนกับอีกสิ่งหนึ่งนั้นเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า การอุปมาโดยสิ่งที่นำมาเปรียบเทียบนั้นมักจะมาจากคนละกลุ่มกันแต่มีคุณสมบัติอย่างใดอย่างหนึ่งคล้ายกัน ตัวอย่างเช่น "ความรักเหมือนยาพิษ" เป็นการเปรียบเทียบความรักว่ามีคุณสมบัติบางอย่างราวกับเป็นยาพิษ อาจหมายความว่าทั้งสองสิ่งสามารถทำให้เกิดความเจ็บปวดทุกข์ทรมานได้ในปริศนาคำทายส่วนใหญ่มีการใช้ความเปรียบ ดังตัวอย่างต่อไปนี้

  • อะไรเอ่ย หีบขาวใส่ผ้าเหลือง กุญแจทั้งเมืองไขไม่ออก
    (เฉลย : ไข่)

ในตัวอย่างนี้มีการเปรียบเทียบ "ไข่" ว่าเป็น "หีบสีขาว" และเปรียบเทียบ "ไข่แดง" ซึ่งอยู่ในเปลือกไข่ว่าเป็น "ผ้าสีเหลืองที่บรรจุอยู่ในหีบ"

 

ปริศนาคำทายของไทย

 

  • อะไรเอ่ย ยายแก่หลังคดกินหญ้า หมดทุ่ง
    (เฉลย : เคียว)

ในตัวอย่างนี้มีการเปรียบเทียบ "เคียว" ว่าเป็นเสมือน "ยายแก่" โดยทั้งสองสิ่งมีส่วนที่เหมือนกันคือ มีส่วนกลางโค้งงอ  สื่อความหมายว่า ยายแก่มักหลังค่อม และใบเคียวมีลักษณะโค้งงอ

 

ปริศนาคำทายของไทย


๒) การใช้ความกำกวม
      ความกำกวม คือ ลักษณะที่รูปภาษาหนึ่งสามารถตีความความหมายได้มากกว่า ๑ ความหมาย ตัวอย่างเช่น "ตากลม" สามารถตีความว่าหมายถึง ดวงตาที่มีลักษณะกลมและในขณะเดียวกันก็สามารถตีความได้อีกว่าเป็นกริยาหมายความว่า "ผึ่งลม" ปริศนาคำทายใช้ความกำกวมในการลวงให้ผู้ฟังตีความผิดและหันเหความสนใจของผู้ฟังทำให้ไม่สามารถเดาคำเฉลยที่ถูกต้องได้ ตัวอย่างต่อไปนี้แสดงการใช้ความกำกวมในปริศนาคำทาย

  • อะไรเอ่ย อยู่ข้างหน้า (เฉลย : หู)

      ในตัวอย่างนี้ "ข้างหน้า" เป็นส่วนที่กำกวม กล่าวคือสามารถตีความได้มากกว่า ๑ ความหมาย ความหมายแรกคือ "ด้านหน้า"  ซึ่งเป็นการมอง "ข้างหน้า" ในฐานะคำประสมส่วนอีกความหมายหนึ่งคือ "ด้านข้างของใบหน้า" ความหมายนี้เกิดจากการพิจารณา "ข้างหน้า" ในฐานะที่เป็นวลีโดยทั่วไปความหมายของ "ข้างหน้า" ในฐานะที่เป็นคำประสมเป็นสิ่งที่ใช้บ่อยกว่า ดังนั้นผู้ฟังจึงมักหลงคิดว่าผู้ทายปริศนาต้องการถามว่า "สิ่งใดอยู่ที่ด้านหน้า" มากกว่าแต่เมื่อได้ฟังคำเฉลยจึงได้ทราบว่า ปริศนานี้ต้องการถามว่า "สิ่งใดที่อยู่ด้านข้างของใบหน้า"

  • รถอะไรเอ่ย น่าเป็นห่วง
    (เฉลย : รถออดี้)

      ปริศนานี้แสดงให้เห็นความเป็นคนที่ชอบสนุกกับภาษาและความช่างสังเกตของคนไทยได้เป็นอย่างดี  ปริศนานี้สร้างขึ้นจากการสังเกตเครื่องหมายการค้าของรถยนต์ยุโรปยี่ห้อหนึ่งซึ่งเป็นรูปห่วง ๔ วงคล้องกันและมักติดอยู่ตรงด้านหน้าของตัวรถและจากการสังเกตเห็นถึงความกำกวมของกลุ่มเสียง "น่าเป็นห่วง" โดยกลุ่มเสียงนี้สามารถตีความว่า "น่าเป็นห่วง" (ลักษณะอาการซึ่งควรจะต้องใส่ใจเป็นพิเศษ) หรืออาจตีความเป็นประโยคว่า "หน้าเป็นห่วง" (ด้านหน้ารถมีห่วง) การตีความอย่างแรกมีความโดดเด่นกว่าเพราะเป็นวลีที่ใช้จนติดปากในภาษาไทย ดังนั้นเมื่อผู้ฟังได้ยินปริศนาก็มักนึกถึงความหมายในนัยนี้และถูกลวงให้หลงทางได้ซึ่งความกำกวมดังกล่าวถือว่าเป็นความกำกวมในระดับโครงสร้างวลี

 

ปริศนาคำทายของไทย


๓) การใช้ความขัดแย้ง
      ความขัดแย้งที่พบในปริศนาคำทายมักมีลักษณะที่เมื่อได้พิจารณาโดยถ้วนถี่จะพบว่าแท้จริงแล้วมิใช่ความขัดแย้งเป็นเพียงสิ่งที่ดูเหมือนจะขัดแย้ง ลักษณะเช่นนี้มีศัพท์เรียกว่า "อรรถวิภาค" (paradox) การใช้ความขัดแย้งในลักษณะดังกล่าวก่อให้เกิดความเข้าใจว่าสิ่งที่บรรยายไว้ในปริศนานั้นไม่น่าเป็นไปได้เมื่อผู้ฟังหลงคิดเช่นนั้นก็ไม่สามารถเดาคำตอบได้ ดังตัวอย่างนี้ 

  • อะไรเอ่ย ยิ่งตัดยิ่งยาว (เฉลย : ถนน)

      ในปริศนานี้คือ "ยิ่งตัด" ดูเหมือนจะมีความหมายขัดแย้งกับ "ยิ่งยาว" ทั้งนี้เพราะการตัดหมายถึงการทำให้วัตถุขาดออกจากกัน ผลลัพธ์ที่ได้ก็คือทำให้สิ่งนั้นสั้นลง ดังนั้นเมื่อ "ยิ่งตัด" ผลที่ตามมาควรจะเป็น "ยิ่งสั้น" เมื่อปริศนาบอกใบ้ว่า "ยิ่งตัดยิ่งยาว" จึงดูเหมือนเป็นสิ่งที่ขัดแย้งกันและเป็นไปไม่ได้แต่คำว่า "ตัด" นั้นเมื่อใช้กับสิ่งของบางอย่าง เช่น "เสื้อ" หรือ "ถนน" แล้วจะมีความหมายว่า "ผลิต สร้าง ทำให้เกิดขึ้น" เมื่อใช้ "ยิ่งตัด" กับ "ถนน" แล้วผลลัพธ์ที่ได้คือ "ยิ่งยาว" ดังนั้น "ยิ่งตัดยิ่งยาว" จึงไม่ได้ขัดแย้งกันและเป็นไปได้

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
  • Posted By
  • Plookpedia
  • 15 Followers
  • Follow