Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

สถานการณ์การละเมิดสิทธิมนุษยชนที่มีอยู่ในประเทศไทย

Posted By Plookpedia | 13 เม.ย. 60
5,168 Views

  Favorite

สถานการณ์การละเมิดสิทธิมนุษยชนที่มีอยู่ในประเทศไทย

      การประกาศใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยพุทธศักราช ๒๕๔๐ ซึ่งให้การรับรองและคุ้มครองสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานของประชาชนอย่างกว้างขวางทำให้สหประชาชาติและประชาคมระหว่างประเทศให้การยอมรับว่าประเทศไทยมีพัฒนาการในการพิทักษ์และส่งเสริมสิทธิมนุษยชนแล้ว อย่างไรก็ตามในทางปฏิบัติรัฐก็ยังไม่ได้ออกกฎหมายรองรับมาตราที่เกี่ยวกับสิทธิเสรีภาพตามที่รัฐธรรมนูญได้บัญญัติไว้อีกจำนวนมากทั้งยังมีนโยบายและกฎหมายบางอย่างที่ไม่สอดคล้องกับเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ นอกจากนั้นสิทธิของประชาชนและชุมชนในประเทศบางครั้งยังถูกคุกคามและละเมิดจากกลุ่มต่าง ๆ ทั้งภายในและภายนอกประเทศ เช่น กระบวนการข้ามชาติเพื่อลักลอบค้ามนุษย์โดยเฉพาะแรงงานเด็ก การละเมิดสิทธิชุมชนและสิทธิในการพัฒนา การแย่งชิงทรัพยากรท้องถิ่นและทำลายสิ่งแวดล้อมโดยบรรษัทข้ามชาติที่ร่วมมือกับกลุ่มทุนในประเทศ อาจกล่าวได้ว่าถึงแม้ประชาคมระหว่างประเทศและสหประชาชาติจะให้การยอมรับว่าประเทศไทยมีพัฒนาการในการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชนที่รวดเร็วและก้าวหน้าแต่ปัจจุบันการละเมิดสิทธิมนุษยชนในประเทศก็ยังปรากฏอยู่เสมอและมีแนวโน้มที่จะรุนแรงยิ่งขึ้นถ้าไม่รีบดำเนินการแก้ไขให้ทันท่วงที 


สถานการณ์การละเมิดสิทธิมนุษยชน ที่ปรากฏเสมอ ๆ ในสังคมไทย พอจะสรุปได้ดังนี้ คือ 

สถานการณ์ด้านเด็ก เยาวชน และครอบครัว

      ทิศทางการพัฒนาที่มีผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงด้านเศรษฐกิจและสังคมที่ผ่านมาส่งผลให้สถาบันครอบครัวไทยอ่อนแอลงทั้งในแง่ของการพัฒนาศักยภาพบุคคลในครอบครัวและสร้างภูมิต้าน ทานให้แก่เด็กรวมถึงการทำร้ายเด็กโดยบุคคลในครอบครัวทำให้เกิดปัญหาต่าง ๆ เช่น เด็กและเยาวชนติดยาเสพติด เด็กถูกล่วงละเมิดทางเพศ เด็กกำพร้า เด็กเร่ร่อน การใช้แรงงานเด็ก เด็กในธุรกิจบริการทางเพศ เด็กหนีภัย เด็กและเยาวชนในสถานสงเคราะห์ เด็กในสถานพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน

สถานการณ์ด้านกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม

      ถึงแม้ว่ารัฐธรรมนูญจะได้กำหนดให้มีการปรับปรุงและพัฒนากฎหมายและกระบวนการยุติธรรมหลายประการแต่ในทางปฏิบัติการละเมิดสิทธิเสรีภาพของประชาชนก็ยังคงเป็นปัญหาอีกมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งการคุ้มครองสิทธิของผู้ต้องหากระบวนการลงโทษโดยวิธีต่าง ๆ การคุ้มครองเด็กและเยาวชนเมื่อตกเป็นผู้ต้องหา นอกจากนี้ยังมีกฎหมายและกฎระเบียบอีกเป็นจำนวนมากที่ยังไม่ได้รับการปรับปรุงแก้ไขให้สอดคล้องกับเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญและมีกฎหมายอีกเป็นจำนวนมากที่ยังไม่ออกมารองรับสิทธิของประชาชนและสิทธิชุมชนโดยเฉพาะสิทธิในการมีส่วนร่วมของประชาชนในการพัฒนาการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

สถานการณ์ด้านนโยบายทางสังคม

      ถึงแม้ว่ารัฐธรรมนูญจะได้รับรองและคุ้มครองมิให้มีการเลือกปฏิบัติต่อกลุ่มต่าง ๆ ที่มีความแตกต่างกันและกำหนดให้มีมาตรการส่งเสริมความเสมอภาคแก่ผู้ด้อยโอกาส เด็ก คนชรา คนพิการ รวมทั้งส่งเสริมความเสมอภาคทางโอกาสระหว่างหญิงและชายและคุ้มครองมิให้มีการใช้ความรุนแรงในครอบครัว การคุ้มครองผู้ใช้แรงงานแต่ก็ยังมีการละเมิดสิทธิมนุษยชนอีกมาก เช่น ประเทศไทยยังเป็นทั้งประเทศต้นทางประเทศส่งผ่านและประเทศปลายทางของการค้ามนุษย์ข้ามชาติโดยเหยื่อส่วนใหญ่เป็นผู้หญิงและเด็กรวมถึงคนไทยกลุ่มชาติพันธุ์ต่าง ๆ และจากประเทศอื่น ๆ ได้ถูกเอารัดเอาเปรียบด้านธุรกิจบริการทางเพศและการเอาเปรียบแรงงาน  นอกจากนี้ทิศทางการพัฒนาที่มุ่งเน้นการผลิตในระบบอุตสาหกรรมได้ก่อให้เกิดช่องว่างของการกระจายรายได้ผู้ใช้แรง งานถูกเอาเปรียบและไม่ได้รับการส่งเสริมให้มีขบวนการรวมกลุ่มของสหภาพแรงงานต่าง ๆ ที่เข้มแข็ง สภาพความปลอดภัยในการทำงานส่วนใหญ่ยังมีความเสี่ยงสูงและไร้หลักประกัน

 

สิทธิมนุษยชน
การจัดกิจกรรมนันทนาการให้แก่ผู้สูงอายุเป็นการส่งเสริมความเสมอภาคแก่คนชราซึ่งเป็นนโยบายทางสังคม

 

สถานการณ์ด้านฐานทรัพยากรธรรมชาติ และสิทธิชุมชน

      การที่รัฐธรรมนูญรับรองสิทธิของชุมชนในด้านภูมิปัญญาท้องถิ่นและการมีส่วนร่วมในการจัดการบำรุงรักษาและใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอย่างสมดุลและยั่งยืนก็เพื่อพัฒนาให้ชุมชนมีความเข้มแข็งและมีอำนาจต่อรองในการพิทักษ์ปกป้องทรัพยากรและภูมิปัญญาท้องถิ่นรวมทั้งพื้นที่ทำกินและที่อยู่อาศัยตลอดจนความสามารถในการจัดการชุมชนของตนเพื่อการอยู่ร่วมกันอย่างสันติสุข   อย่างไรก็ตามรัฐและกลไกของรัฐยังขาดความรู้และความเข้าใจถึงวิถีชีวิตของชาวบ้านและการดูแลรักษาทรัพยากรธรรมชาติอย่างแท้จริงอีกทั้งยังนิยมใช้รัฐเป็นศูนย์กลางในการกำหนดนโยบายและการดำเนินการจึงยังไม่มีการออกกฎหมายเพื่อรับรองสิทธิชุมชนให้ชัดเจน  อีกทั้งบางครั้งยังไม่ตระหนักถึงความจำเป็นในการส่งเสริมและเคารพสิทธิการมีส่วนร่วมของประชาชนในการวางแผนพัฒนาทำให้เกิดปัญหาขัดแย้งจากการดำเนินโครงการต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นโครงการของเอกชน บรรษัทข้ามชาติหรือรัฐบาล

 

สิทธิมานุษยชน
การชุมนุมของชาวบ้านเพื่อคัดค้านการสร้างโรงไฟฟ้าหินกรูด จ.ประจวบคีรีขันธ์ เมื่อ พ.ศ. ๒๕๔๘

 

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
  • Posted By
  • Plookpedia
  • 15 Followers
  • Follow