Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

หนังสือโบราณของไทย

Posted By Plookpedia | 04 เม.ย. 60
32,027 Views

  Favorite

หนังสือโบราณของไทย

      ก่อนที่เราจะมีหนังสือและสมุดสำหรับใช้อ่านและเขียนเช่นในปัจจุบัน คนไทยมีหนังสือโบราณ ๒ ประเภท คือ หนังสือใบลานและหนังสือสมุดไทย  หนังสือใบลานเป็นหนังสือที่บันทึกตัวหนังสือลงในใบของต้นลานซึ่งเป็นต้นไม้ป่ามีใบยาวขนาด ๕๐ - ๗๕ เซนติเมตร เมื่อเตรียมใบลานตามกรรมวิธีพร้อมแล้วก็เขียนข้อความโดยใช้เหล็กปลายแหลมเขียนให้เป็นรอยลึกลงในใบลาน หน้าหนึ่ง ๆ ประมาณ ๕ บรรทัด เมื่อเขียนเสร็จแล้วจะใช้ลูกประคบชุบเขม่าไฟลูบไล้ไปทั่วเพื่อให้สีดำฝังลงไปบนร่องตัวอักษรจากนั้นเจาะรูร้อยหูมัดรวมกันเป็นผูกแล้วห่อด้วยผ้าที่มีคุณภาพดี เช่น ผ้าไหม ผ้าปูม ผ้าตาด เพื่อป้องกันไม่ให้สกปรกหรือชำรุดได้ง่ายนอกห่อผ้าจะมีฉลากบอกชื่อเรื่องเสียบไว้ เนื้อหาส่วนใหญ่ของหนังสือใบลานเป็นเรื่องทางศาสนา เช่น พระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้าทำให้มีความสำคัญต้องเก็บรักษาไว้อย่างดีในที่อันควรและดูแลรักษาเป็นพิเศษ 

 

หนังสือโบราณ

 

หนังสือโบราณ
หนังสือโบราณ

 

      หนังสือสมุดไทยเป็นหนังสือที่บันทึกข้อความลงในกระดาษเขียนด้วยดินสอหินสีขาวหรือใช้ปากกาหรือพู่กันชุบหมึกสีต่าง ๆ แล้วเขียน หนังสือสมุดไทยใช้กระดาษแผ่นเดียวยาวติดต่อกันพับกลับไปกลับมาเป็นเล่มหนาหรือบางตามความต้องการของผู้เขียน หน้าหนึ่งเขียนได้ประมาณ ๓ - ๔ บรรทัด มี ๒ สี คือ สีดำเรียกว่าหนังสือสมุดไทยดำ สีขาวเรียกว่าหนังสือสมุดไทยขาว สมุดดังกล่าวนี้ส่วนมากทำจากเปลือกข่อยจึงเรียกอีกอย่างว่าสมุดข่อย ส่วนภาคเหนือนิยมทำจากเปลือกต้นสาจึงเรียกว่าสมุดกระดาษสา  หนังสือโบราณทั้ง ๒ ประเภทนี้แสดงให้เห็นว่าคนไทยโบราณมีความรู้ความสามารถในการจัดทำหนังสือบันทึกเรื่องราวต่าง ๆ ในอดีตไว้ไม่ให้สูญหาย นอกจากนี้ยังมีความเชื่อว่าการสร้างหนังสือธรรมะ ตำราความรู้ และวรรณคดี แล้วนำไปถวายวัดจะได้รับผลานิสงส์ ทำให้ได้รับความสุข ความเจริญ และสมปรารถนาในสิ่งที่ตั้งจิตอธิษฐานไว้จึงมีการสร้างหนังสือใบลานและหนังสือสมุดไทยจำนวนมากจนเมื่อมีการนำสมุดฝรั่งอย่างที่ใช้กันในปัจจุบันเข้ามาพร้อมกับการพิมพ์ การทำหนังสือใบลานและหนังสือสมุดไทยจึงหมดความนิยมลง ปัจจุบันจะศึกษาหรือดูหนังสือโบราณเหล่านี้ได้ที่หอสมุดแห่งชาติและตามวัดบางแห่ง

 

หนังสือโบราณ
หนังสือโบราณ

 

 

 

 

      การที่ความรู้ ความคิด ความเชื่อ ตลอดจนขนบธรรมเนียมประเพณี ศิลปะ และวัฒนธรรมของไทยในอดีตมิได้สูญหายไปตามกาลเวลาส่วนหนึ่งเป็นเพราะบรรพบุรุษของไทยได้บันทึกเรื่องราวต่าง ๆ เหล่านี้ไว้ในหนังสือโบราณซึ่งมี ๒ ประเภท คือ หนังสือใบลานและหนังสือสมุดไทย หนังสือใบลานเป็นหนังสือที่ใช้วิธีเขียนตัวหนังสือซึ่งเรียกว่าการจารลงบนใบของต้นลาน ใบลานที่มีคุณภาพดีขนาดพอเหมาะ คือ ใบอ่อนที่สองซึ่งเพิ่งเริ่มคลี่ใบออกเพราะเส้นใยไม่เหนียวมาก ใบเรียบเนียนไม่กรอบแตกง่าย เมื่อตัดใบแล้วจะทิ้งตากแดดตากน้ำค้างประมาณ ๓ วัน ๓ คืน แล้วจึงมัดรวมกัน จากนั้นนำมาเจียนก้านออกแล้วซ้อนกันประมาณ ๒๐ - ๓๐ ลาน ขดม้วนให้กลมมัดด้วยเชือกแล้วนำไปแช่น้ำประมาณ ๒๔ ชั่วโมง บางท้องถิ่นนำไปต้มในน้ำซาวข้าวหลังจากนั้นนำออกตากให้แห้งประมาณ ๒ วัน  เมื่อใบลานแห้งสนิทแล้วคลี่ออกจากม้วนเช็ดทำความสะอาดทีละใบแล้วจึงนำมาใส่ขนอบซึ่งเป็นพิมพ์สำหรับแทงลาน ขนอบทำจากไม้ขนาดเท่าใบลานใช้ประกับด้านหน้าและด้านหลังรวม ๒ อัน เมื่อจัดเรียงใบลานซ้อนกันได้ประมาณ ๑๐ - ๒๐ ใบ และประกบด้วยขนอบแล้วใช้มีดคมบาง ๆ ตัดลานให้เสมอและได้ระดับกับขอบขนอบทั้งสี่ด้าน จากนั้นใช้ก้านลานหรือที่เรียกว่าไม้กลัดร้อยลานเข้าด้วยกันตามรูที่เจาะไว้ให้ได้ ๑ กับ เท่ากับ ๕๐๐ ใบ มัดเป็น ๓ ตอน ใช้ขนอบประกบหน้า - หลังอาจอัดด้วยเครื่องอัดลานให้แน่นจากนั้นนำไปอบในเตาอบให้แห้งสนิทเพื่อป้องกันเชื้อรา  ใบลานแต่ละกับที่แห้งแล้วจะนำมาแกะออกทำความสะอาดทีละใบโดยใช้ทรายละเอียดคั่วร้อนโรยบนหน้าลานแล้วใช้ลูกประคบขัดให้ผิวหน้าลานเรียบเกลี้ยงใช้ผ้าแห้งเช็ดทำความสะอาดอีกครั้งจากนั้นใช้เหล็กแหลมเผาไฟเจาะตามช่องร้อยที่แทงไว้ตอนแรกแล้วจัดใบลานเข้าผูก ผูกหนึ่งมี ๒๔ ใบ ใบลานนี้พร้อมใช้จารหนังสือได้ทันที

 

หนังสือโบราณ
การคัดเลือกใบลานที่มีขนาดพอเหมาะและคุณภาพดีเพื่อนำมาทำหนังสือใบลาน

 

      การเขียนหนังสือโบราณจะใช้เหล็กจาร จารตัวหนังสือให้เป็นรอยลึกในเนื้อลาน เหล็กจารเป็นเหล็กปลายแหลมมีด้ามถือทำด้วยไม้หรือเขาสัตว์  ในขณะที่จารหนังสือจะต้องฝนเหล็กจารให้แหลม คมตลอดเวลาเพื่อเส้นอักษรจะได้เรียบงดงาม ผู้จารจะต้องระวังในการผ่อนน้ำหนักมือให้เหมาะสมถ้าเบาเกินไปเส้นตัวหนังสือจะขาดถ้าหนักเกินไใบลานจะทะลุ  หลังจากจารข้อความหมดแล้วจะลบหน้าลานโดยใช้ลูกประคบชุบเขม่าไฟผสมน้ำมันยางลูบไปมาให้ทั่วเพื่อให้สีดำของเขม่าไฟฝังในร่องที่เป็นรูปอักษรแล้วใช้ทรายละเอียดคั่วร้อนโรยบนหน้าลาน ใช้ลูกประคบสะอาดถูไปมาหลายครั้ง เพื่อลบผิวหน้าลานให้ขาวสะอาดทำให้ลายเส้นอักษรผุดขึ้นเป็นสีดำอย่างเด่นชัด  คัมภีร์ใบลานที่จารข้อความแล้วอาจมีการตกแต่งให้สวยงามเข้าชุดกันทั้งตัวคัมภีร์และไม้ประกับโดยตกแต่งที่ปกหน้า ปกหลังขอบคัมภีร์  ไม้ประกับหน้า-หลังด้วยลายรดน้ำประดับมุก ประดับกระจก หรือปิดทอง คัมภีร์ใบลานที่มีการตกแต่งจะเรียกชื่อตามลักษณะการตกแต่งนั้น เช่น คัมภีร์ใบลานฉบับทองทึบ ฉบับล่องชาด ฉบับล่องชาดรดน้ำดำ ไม้ประกับก็เรียกตามลักษณะการตกแต่ง เช่น ไม้ประกับประดับมุก ไม้ประกับลายรดน้ำ
      ในการอ่านหรือแปลคัมภีร์ใบลานจะวางคัมภีร์ไว้บนกากะเยียซึ่งทำจากไม้แท่งกลมยาว ๘ อัน ร้อยด้วยเชือก เมื่อกางออกจะเป็นเหมือนโต๊ะสี่เหลี่ยมสำหรับรองรับใบลาน ส่วนหนังสือสมุดไทยเป็นหนังสือที่บันทึกข้อความลงบนกระดาษด้วยดินสอหินสีขาวหรือใช้ปากกาหรือพู่กันจุ่มหมึกแล้วเขียน สำหรับกระดาษที่ทำจากเปลือกต้นข่อยเรียกอีกอย่างว่า สมุดข่อย ในภาคเหนือทำจากเปลือกต้นสาจึงเรียกว่า สมุดกระดาษสา ส่วนภาคใต้นิยมใช้ไม้เถาที่เรียกว่า ย่านกฤษณาหรือปฤษณาและหัวต้นเอาะนกผสมกับเยื่อไม้อื่น ๆ ทำกระดาษได้เช่นกัน

 

หนังสือโบราณ
หนังสือโบราณ
การร้อยใบลานโดยใช้ไม้กลัดให้ได้ ๑ กับ เท่ากับ ๕๐๐ ใบ
หนังสือโบราณ
การอัดใบลานด้วยเครื่องอัดลาน


      สมุดไทยเป็นหนังสือที่ไม่ได้เย็บเล่มเหมือนกับหนังสือปัจจุบันแต่จะใช้กระดาษแผ่นเดียวยาวติดต่อกันพับกลับไปกลับมาให้เป็นเล่มหนาหรือบางตามต้องการ มี ๒ สี คือ สีขาว และสีดำ จึงเรียกว่า หนังสือสมุดไทยขาวและหนังสือสมุดไทยดำ  คนไทยโบราณรู้จักทำกระดาษใช้มาตั้งแต่สมัยอยุธยาตอนกลางโดยนำเปลือกข่อยแช่น้ำนาน ๓ - ๔ วัน ให้เปื่อยล้างให้สะอา บีบน้ำพอหมาดแล้วฉีกเป็นฝอย เปลือกที่ขาวสะอาดจะใช้ทำสมุดขาวเปลือกที่ไม่สะอาดใช้ทำสมุดดำ  จากนั้นนำเปลือกข่อยไปนึ่งในกระทะใบบัวให้สุกทั่วกันนานราว ๔๘ ชั่วโมง นำเปลือกข่อยที่นึ่งสุกแล้วนี้ไปแช่น้ำปูนขาวประมาณ ๒๔ ชั่วโมง หรือนานกว่านั้นให้ปูนขาวกัดเปลือกข่อยจนเปื่อยยุ่ยแล้วนำไปล้างให้สะอาดบีบให้แห้งด้วยเครื่องมือซึ่งคล้ายที่ทับกล้วยจนแห้งสนิท นำเปลือกข่อยที่เปื่อยยุ่ยวางบนกระดานทุบข่อยหรือเขียงใช้ค้อนทุบวนไปวนมา ๖ - ๗ รอบ เมื่อละเอียดทั่วกันดีแล้วเปลือกข่อยจะมีลักษณะเป็นเยื่อพร้อมใช้ทำกระดาษต่อไป  ในการทำกระดาษจะต้องนำเยื่อข่อยละลายน้ำในครุซึ่งเป็นภาชนะทำด้วยไม้ไผ่สานตาถี่ชันยารูปร่างคล้ายกระบุงใช้มือตีเยื่อข่อยให้แตกและละลายปนกับน้ำเทเยื่อข่อยลงในพะแนง คือ แบบพิมพ์ที่จะทำกระดาษมีลักษณะเป็นตะแกรงที่มีกรอบไม้รูปสี่เหลี่ยมกรุด้วยผ้ามุ้งหรือมุ้งลวดมีขนาดเท่าความกว้างยาวของกระดาษที่ต้องการ  เมื่อเกลี่ยเยื่อข่อยในพะแนงให้กระจายเสมอกันแล้วพรมน้ำให้ทั่วอีกครั้งก่อนยกพะแนงขึ้นจากน้ำในระดับราบเสมอกันทั้งแผ่น เพื่อให้เยื่อข่อยติดผิวหน้าพะแนงสม่ำเสมอกัน วางพะแนงตามแนวนอนให้เอียง ๘๐ องศา แล้วใช้ไม้ซางรีดจนแห้งและหน้ากระดาษเรียบจากนั้นวางตั้งพิงราวพะแนงตากแดดจนแห้งสนิท

 

หนังสือโบราณ
คัมภีร์ใบลานที่มีการตกแต่งให้สวยงามเข้าชุดกัน
ทั้งตัวคัมภีร์และไม้ประกับ
หนังสือโบราณ
คัมภีร์ใบลานวางบนกากะเยีย
หนังสือโบราณ
วางพะแนงตั้งพิงราวตากแดดจนแห้งสนิท

 

      การทำสมุดขาวและสมุดดำนั้นต้องลบสมุดเสียก่อนนั่นคือใช้ลูกประคบชุบแป้งเปียกทาบนกระดาษจนทั่วแผ่นแล้วนำไปตากแดดให้แห้ง  จากนั้นนำมาลบอีกด้านหนึ่งตากแดดจนแห้งสนิทแล้วนำไปขัดให้เรียบและขึ้นมันด้วยหินแม่น้ำ หากทำสมุดขาวแป้งเปียกจะผสมน้ำปูนขาวหากทำสมุดดำแป้งเปียกจะผสมเขม่าไฟหรือถ่านบดละเอียด  ในการทำสมุดช่างจะวางไม้แบบลงตอนกลางตามขวางของแผ่นกระดาษนำมีดหักสมุดซึ่งเป็นมีดที่ไม่มีคม กรีดกระดาษเป็นรอยทั้งสองข้างเอาไม้แบบออกแล้วหักกระดาษตามรอยขีดกลับไปกลับมาจนหมดกระดาษทั้งสองด้าน ถ้ากระดาษสั้นก็ต่อให้ยาวตามต้องการแล้วตัดริมสองข้างให้เรียบเสมอกันจากนั้นทำปกสมุด คือ ติดคิ้วสมุดบนหน้าสมุดทั้งสองด้าน คิ้วสมุดเป็นแถบกระดาษกว้าง ๑ - ๒ เซนติเมตร ทาแป้งเปียกติดริมขอบสี่ด้านเรียงซ้อนกัน ๓ - ๕ ชั้น เสร็จขั้นตอนนี้ก็จะได้สมุดไทยตามที่ต้องการ  ในการเขียนสมุดไทยจะต้องขีดเส้นบรรทัดก่อนด้วยตะกั่วนมเหลาแหลมและเขียนใต้บรรทัด วัสดุที่ใช้เขียนมีหลายอย่าง ได้แก่ ดินสอขาวทำจากหินดินสอ ปากกาหรือปากไก่ทำจากไม้หรือขนไก่เหลาแหลมบากให้มีร่องสำหรับให้น้ำหมึกไหล  น้ำหมึกทำจากวัสดุธรรมชาติมีสีต่าง ๆ ทั้งสีดำ ขาว แดง เหลือง และทอง
      ในอดีตคนไทยมีวิธีรักษาและเผยแพร่ความรู้และวรรณคดีต่าง ๆ ด้วยการคัดลอกไว้ในหนังสือโบราณหากเป็นเรื่องในพระพุทธศาสนาก็จะนำไปถวายวัดเพื่อเป็นการสืบพระศาสนาและใช้เป็นตำราสำหรับพระเณรศึกษาเล่าเรียน  หนังสือโบราณเหล่านี้จึงยังคงมีเก็บรักษาไว้ตามวัดวาอารามต่าง ๆ ทั่วพระราชอาณาจักรแต่ปัจจุบันได้ถูกทำลายไปเสียมากเพราะคนรุ่นหลังไม่เห็นคุณค่า ดังนั้น การเผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับหนังสือโบราณจะทำให้คนยุคปัจจุบันได้ตระหนักถึงคุณค่าของทรัพย์สินทางปัญญาและมรดกทางวัฒนธรรมของบรรพบุรุษไทยทั้งในด้านเนื้อความที่บันทึกไว้ในหนังสือโบราณเหล่านั้นและภูมิปัญญาในการประดิษฐ์คิดค้นเครื่องมือเครื่องใช้ต่าง ๆ ในการทำหนังสือใบลานและสมุดไทยอันน่ายกย่องอย่างยิ่ง

 

หนังสือโบราณ
ใช้มีดหักสมุดหักกระดาษตามรอยขีดกลับไปกลับมา
หนังสือโบราณ
หนังสือโบราณที่ยังคงมีเก็บรักษาไว้ตามวัดต่าง

 

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
  • Posted By
  • Plookpedia
  • 15 Followers
  • Follow