Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

ประโยค

Posted By Plookpedia | 05 เม.ย. 60
2,088 Views

  Favorite

ประโยค

      ในระดับประโยคนักภาษาศาสตร์ศึกษาถึงโครงสร้างของวลีและประโยคซึ่งเกิดจากการที่นำคำมาเรียงต่อกันเป็นลำดับจากซ้ายไปขวา ถ้าเราพิจารณาประโยคต่อไปนี้ก็จะเห็นได้ว่าการนำคำมาเรียงกันเป็นประโยคนั้นมีกฎเกณฑ์ กล่าวคือมิใช่คำใดจะอยู่ในตำแหน่งใดก็ได้และถ้าไม่เรียงตามกฎเกณฑ์ก็จะไม่เป็นประโยค เช่น 

/ แจ๋วใส่เสื้อสีเขียวตัวนี้ทุกวันพุธ
/ ทุกวันพุธ แจ๋วใส่เสื้อสีเขียวตัวนี้ 
/ เสื้อสีเขียวตัวนี้ แจ๋วใส่ทุกวันพุธ 
X แจ๋วตัวนี้ เสื้อทุกใส่สีเขียววันพุธ 
X ทุกแจ๋ว เสื้อวันพุธใส่สีเขียวนี้ตัว 
X วันพุธทุกสีเขียวใส่ตัวนี้เสื้อแจ๋ว 
X เสื้อแจ๋วนี้ทุกวันพุธตัวสีเขียวใส่ 

      ถ้าวิเคราะห์รายละเอียดต่อไปอีกก็จะเห็นว่าถ้าไม่เรียงคำตามกฎเกณฑ์จะได้สิ่งที่ไม่เป็นประโยคไม่สื่อความมากกว่าสิ่งที่เป็นประโยคและสื่อความได้และเมื่อพิจารณาจากข้อมูลประโยคที่ถูกต้อง นักภาษาศาสตร์ก็ตั้งสมมติฐานว่าคำในภาษานั้นแตกต่างกัน แยกได้เป็นประเภทต่าง ๆ (นาม สรรพนาม กริยา...) แต่ละประเภทมีลักษณะและหน้าที่แตกต่างกันและคำที่อยู่ในประโยคเดียวกันมีความสัมพันธ์มากน้อยไม่เท่ากัน เป็นต้นว่า "สีเขียว" สัมพันธ์ใกล้ชิดกับ "เสื้อ" มากกว่าสัมพันธ์กับคำว่า "ใส่" "ทุก" สัมพันธ์กับ "วันพุธ" มากกว่าคำอื่น ๆ ในประโยค ซึ่งแสดงว่าคำในประโยคเดียวกันเกาะกันเป็นกลุ่ม ๆ ตามความสัมพันธ์หรือที่เรียกกันว่า "วลี" และกลุ่มคำเหล่านี้ก็แยกเป็นประเภทต่าง ๆ ได้เช่นเดียวกับคำ (นามวลี กริยาวลี บุพบทวลี...) ในแง่ของความสัมพันธ์ของคำและกลุ่มคำในประโยค เมื่อพิจารณาในรายละเอียดจะเห็นได้ว่าความสัมพันธ์เหล่านี้มิได้อยู่ในระดับเดียวกัน (จากซ้ายขวา) ทั้งหมดแต่สูงต่ำลดหลั่นกัน ดังเช่น

 

ประโยค

 

      นักภาษาศาสตร์ใช้วิธีแยกแยะคำในประโยคออกมาเป็นกลุ่มในลักษณะนี้เพื่อแสดงความสัมพันธ์ของกลุ่มคำและระดับของความสัมพันธ์ว่าอยู่ระดับเดียวกันหรือไม่ แง่ของการเรียงคำนักภาษา ศาสตร์ได้ศึกษาประโยคในภาษาต่าง ๆ และสรุปว่าการเรียงคำในประโยคของภาษาต่าง ๆ ในโลก มี ๒ แบบใหญ่ ๆ คือ การวางคำกริยาไว้หน้ากรรมและการวางคำกริยาไว้หลังกรรมหรือกริยา+กรรม และกรรม+กริยา ตัวอย่างเช่น ภาษาไทย ภาษาเขมร ภาษาเวียดนาม ภาษาอังกฤษ โดยทั่วไปวางคำกริยาไว้หน้ากรรม ส่วนภาษาพม่า ภาษาญี่ปุ่น ภาษาฮินดี โดยทั่วไปวางกรรมไว้หน้ากริยาหรือกริยาไว้ท้ายประโยค เช่น ภาษาพม่า เรียงคำดังนี้ "อูถิ่น-ซองจดหมาย-ซื้อ" "เขา-ตลาด-ไป" และการเรียงคำ ๒ แบบนี้ผูกพันกับการเรียงคำอื่น ๆ ด้วย เป็นต้นว่าคำวิเศษณ์อยู่หน้าหรือหลังคำนาม คำบุพบทอยู่หน้าหรือหลังคำนาม คำเปรียบเทียบอยู่หน้าหรือหลังคำเปรียบ เช่น ภาษาไทยวางคำเปรียบเทียบไว้หลังคำวิเศษณ์ เช่น ใหญ่กว่า ดีกว่า แต่ภาษาพม่าเรียงคำเป็น กว่าใหญ่กว่าดี หรือภาษาอังกฤษเรียงคำขยายไว้หน้าคำนาม เช่น ใหญ่ บ้าน ดีเด็ก แต่ภาษาไทยเรียงแบบตรงข้าม เช่น บ้านใหญ่ เด็กดี เป็นต้น  อย่างไรก็ตามเนื่องจากภาษาทุกภาษาเปลี่ยนแปลงไปตามกาลเวลาและสภาพแวดล้อมประกอบกับผู้พูดภาษาต่างกันมีโอกาสได้หยิบยืมภาษาของกันและกันด้วยจึงทำให้ภาษาโดยทั่วไปมีลักษณะผสม คือ ภาษาหนึ่งอาจวางกรรมไว้หน้ากริยาแต่อาจวางคำขยายไว้หลังคำนามก็ได้ เช่น ภาษาไทยอาจเรียงประโยคแบบ "ประธาน-กรรม-กริยา" คือ มันน่ะ ข้าวกินแล้ว

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
  • Posted By
  • Plookpedia
  • 15 Followers
  • Follow