Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

เรือพระราชพิธีลำใหม่ "เรือพระที่นั่งนารายณ์ ทรงสุบรรณ รัชกาลที่ ๙"

Posted By Plookpedia | 26 ส.ค. 60
1,219 Views

  Favorite

เรือพระราชพิธีลำใหม่ "เรือพระที่นั่งนารายณ์ ทรงสุบรรณ รัชกาลที่ ๙"

      นับเป็นเรื่องที่น่ายินดีที่ประเทศไทยจะมีเรือพระราชพิธีลำใหม่เพิ่มอีก ๑ ลำ คือ เรือพระที่นั่งนารายณ์ทรงสุบรรณ รัชกาลที่ ๙ ทั้งนี้เนื่องด้วยกองทัพเรือและกรมศิลปากรจะสร้างขึ้นน้อมเกล้าน้อมกระหม่อม ถวายพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช เพื่อฉลองในมหาวโรกาสงานพระราชพิธีกาญจนาภิเษกที่พระองค์เสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติครบ ๕๐ ปี เรือพระราชพิธีลำใหม่นี้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้พระราชทานนามว่า "เรือพระที่นั่งนารายณ์ทรงสุบรรณ รัชกาลที่ ๙"  ลักษณะของเรือเป็นการนำรูปแบบโขนเรือพระที่นั่งนารายณ์ทรงสุบรรณเดิมซึ่งเป็นไม้จำหลัก ซึ่งพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯ ให้สร้างเฉพาะโขนเรือรูปครุฑยุดนาค (พญาสุบรรณ) เท่านั้น ต่อมาพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าฯ ให้สร้างรูปพระนารายณ์ประทับยืนบนหลังพญาสุบรรณทำให้เรือมีความสง่างามมากขึ้น  เรือพระที่นั่งองค์เดิมได้ชำรุดทรุดโทรมเสื่อมสภาพไปเหลือเพียงโขนเรือเท่านั้นและจัดแสดงอยู่ในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพระนคร กองทัพเรือจึงร่วมกับกรมศิลปากรนำโขนเรือดังกล่าวมาเป็นแบบในการสร้างเรือพระที่นั่งองค์ใหม่ซึ่งจะเป็นเรือพระที่นั่งรองทอดบัลลังก์กัญญาเทียบเท่าเรือพระที่นั่งอนันตนาคราชและเรือพระที่นั่งอเนกชาติภุชงค์ใช้ ฝีพาย ๕๐ นาย เพื่อให้มีความหมายสอดคล้องกับโอกาสอันเป็นมหามงคลนั้นและกำหนดว่าจะสร้างแล้วเสร็จในราววันที่ ๓๐ เมษายน พ.ศ. ๒๕๓๙

 

โขนเรือพระที่นั่งนารายณ์ทรงสุบรรณ  รัชกาลที่ ๙
โขนเรือพระที่นั่งนารายณ์ทรงสุบรรณรัชกาลที่ ๙ 


      เมื่อวันจันทร์ที่ ๕ กันยายน พ.ศ. ๒๕๓๗ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ภูมิพลอดุลยเดช และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ได้เสด็จพระราชดำเนินไปทรงวางกระดูกงูเรือพระที่นั่งลำใหม่ ณ กรมอู่ทหารเรือ กรุงเทพมหานคร เมื่อเวลา ๑๗.๑๕ นาฬิกา ทั้งนี้เนื่องด้วยกองทัพเรือและกรมศิลปากรจะสร้างขึ้นน้อมเกล้าน้อมกระหม่อมถวายพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเพื่อเฉลิมฉลอง นับเป็นเรื่องที่น่ายินดีที่ประเทศไทยจะมีเรือพระราชพิธีลำใหม่เพิ่มอีก ๑ ลำคือ เรือพระที่นั่งนารายณ์ทรงสุบรรณ รัชกาลที่ ๙ พร้อมกับการซ่อมเรือพระราชพิธี อีก ๕๓ ลำ เรือพระราชพิธีลำใหม่นี้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ทรงมีพระมหากรุณาธิคุณ พระราชทานนามว่า "เรือพระที่นั่งนารายณ์ทรงสุบรรณ รัชกาลที่ ๙" ตามหนังสือสำนักราชเลขาธิการ ลงวันที่ ๖ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๓๗

 

พิธีวางกระดูกงู
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนินทรงประกอบพิธีวางกระดูกงูเรือพระที่นั่งนารายณ์ทรงสุบรรณ รัชกาลที่ ๙ 
เมื่อวันที่ ๕ กันยายน พ.ศ. ๒๕๓๗

 

โขนหัวเรือพระที่นั่งนารายณ์ทรงสุบรรณ
สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร ทรงพระสุหร่ายและทรงเจิมโขนหัวเรือพระที่นั่งนารายณ์ทรงสุบรรณ รัชกาลที่ ๙ 
เมื่อวันที่ ๕ เมษายน พ.ศ. 2539


      ในการเสด็จพระราชดำเนินไปทรงวางกระดูกงูเรือพระที่นั่งนารายณ์ทรงสุบรรณ รัชกาลที่ ๙ การพระราชพิธีประกอบขึ้นระหว่างเวลา ๑๗.๑๕-๑๗.๔๙ นาฬิกา เมื่อเสด็จพระราชดำเนินถึงบริเวณพิธีพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงจุดธูปเทียนเครื่องนมัสการบูชาพระรัตนตรัยและทรงศีลผู้บัญชาการทหารเรือพลเรือเอก ประเจตน์ ศิริเดช กราบบังคมทูลรายงานการสร้างเรือพระที่นั่งฯ แล้วพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระสุหร่าย ทรงเจิมหัวเรือ ทรงผูกผ้าสีชมพู สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถทรงคล้องพวงมาลัย พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงตอกหมุดตอนกระดูกงูเรือแล้วทรงประเคนจตุปัจจัยไทยธรรมถวายพระสงฆ์และทรงหลั่งทักษิโณทก ในระหว่างที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงประกอบพิธีพระสงฆ์เจริญชัยมงคลคาถาโหรพราหมณ์ทำพิธีบูชาฤกษ์ เจ้าพนักงานลั่นฆ้องชัย เป่าสังข์และแกว่งบัณเฑาะว์ พิณพาทย์ทำเพลงมหาฤกษ์ซึ่งเป็นเพลงหน้าพาทย์สำหรับประกอบพิธีมงคล  สำหรับการสร้างเรือพระที่นั่งนารายณ์ทรงสุบรรณ รัชกาลที่ ๙ นี้ กองทัพเรือร่วมกับกรมศิลปากรได้นำเอาโขนเรือพระที่นั่งนารายณ์ทรงสุบรรณที่สร้างในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระรามาธิบดีศรีสินทรมหาเจษฎาบดินทร์พระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๓ และพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหามงกุฎพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔ มาเป็นแม่แบบ โดยกองทัพเรือจะดำเนินการสร้างในส่วนที่เป็นโครงสร้างของตัวเรือพายและคัดฉากส่วนกรมศิลปากรจะดำเนินการในงานที่เกี่ยวกับศิลปกรรมของเรือทั้งหมด 

ลักษณะของเรือ 
      จากการพิจารณาโขนเรือพระที่นั่งนารายณ์ทรงสุบรรณเดิมซึ่งเป็นโขนเรือแกะสลักจากไม้ ลงรักปิดทองประดับกระจกตลอดทั้งลำ ลวดลาย เขียนลายดอกพุดตานพื้น ส่วนท้ายเรือมีลักษณะคล้ายเรือพระที่นั่งอนันตนาคราชแต่ส่วนเหนือมาลัยท้ายเป็นสร้อยหางครุฑ ปลายหางสุดของท้ายเรือเป็นกนกหางครุฑ ท้องลายของท่อนหางเป็นขนครุฑ สีพื้นเรือหรือสีท้องเรือเป็นสีแดงชาดใช้กัญญาเรือเช่นเดียวกับเรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์ คือ ตัวบัลลังก์กัญญาเรือเป็นลวดลายแกะสลักลงรักปิดทองประดับกระจก แผงพนักพิงแกะสลักลวดลายเป็นรูปครุฑยุดนาค ลงรักปิดทองประดับ กระจกภายในเหมือนเรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์ ลูกแก้วรับขื่อเป็นไม้แกะสลักลงรักปิดทอง ประดับกระจกเสาสองต้นทาสีดำ ส่วนพายกับฉากลงรักปิดทอง การวางฉัตร ให้เว้น ๒ กระทง ต่อ ๑ ฉัตร ผ้าดาดหลังคากัญญาเรือเป็นทองแผ่ ลวด ลายโคมแย่ง ลงรักปิดทองประดับกระจกพื้นแดงลายจั่วและลายผ้าม่านโดยรอบประดับด้วยทองแผ่ลวด มีฝีพาย ๕๐ นาย สิ้นค่าใช้จ่ายประมาณ ๑๑.๗ ล้านบาท เรือพระที่นั่งนารายณ์ทรงสุบรรณ รัชกาลที่ ๙ สร้างเพื่อน้อมเกล้าฯ ถวายพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในวโรกาสทรงครองสิริราชสมบัติครบ ๕๐ ปี ในวันที่ ๙ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๓๙

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
  • Posted By
  • Plookpedia
  • 15 Followers
  • Follow