Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

เทเลพอร์ต (Teleport) ปฏิวัติการเดินทาง

Posted By Plook Creator | 20 ส.ค. 60
14,208 Views

  Favorite

ข่าวหน้าหนึ่งซึ่งสะเทือนวงการวิทยาศาสตร์ของโลกในช่วงกลางปีที่ผ่านมา ไม่ใช่ผลงานการทำงานของขีปนาวุธระยะไกลของประเทศ ไม่ใช่การซ่อมเครื่อง CERN เป็นผลสำเร็จ และการกลับมาทำงานของมัน และก็ไม่ใช่การค้นพบอนุภาคในระดับควอนตัมใหม่อีก 5 อนุภาค แต่เป็นการที่เราสามารถถ่ายโอนข้อมูลในระดับควอนตัม (ขนาดที่เล็กระดับอะตอมลงไป) จากพื้นผิวโลกขึ้นไปอยู่บนอวกาศได้เป็นผลสำเร็จ

 

ประเทศที่สามารถถ่ายโอนข้อมูลในระดับควอนตัมจากพื้นผิวโลกขึ้นไปอยู่บนอวกาศได้เป็นผลสำเร็จประเทศแรกคือ จีน และนั่นสร้างความสั่นสะเทือนไปทั่วโลก เพราะก้าวแรกนี้ไม่เพียงแต่เป็นการแสดงแสนยานุภาพของมังกรที่เพิ่งตื่นเท่านั้น แต่ยังเป็นใบเบิกทางของมนุษยชาติถึงความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีที่จะทำลายทุกขีดจำกัดในการเดินทางจากนี้และตลอดไป


ความสำเร็จนี้เริ่มต้นขึ้นที่ทะเลทรายโกบี เมื่อดาวเทียมดวงหนึ่งชื่อว่า ม่อจื๊อ (Micius) ซึ่งตั้งชื่อตามนักปราชญ์โบราณของจีน ถูกส่งขึ้นไปโคจรรอบโลก โดยมีตำแหน่งวงโคจรอยู่ตรงกับโลกในตำแหน่งเดิมในช่วงเวลาเดิมของทุกวัน ความพิเศษของดาวเทียมม่อจื๊ออยู่ที่เครื่องรับโฟตอนที่มีความละเอียดสูง ซึ่งสามารถรับการเปลี่ยนแปลงของสถานะควอนตัมของโฟตอนตัวใด ๆ ที่ถูกส่งมาจากโลกได้ และก้าวแรกแห่งการเทเลพอร์ต (Teleport-การเคลื่อนย้ายสสารในพริบตา) ก็เกิดขึ้น นักวิทยาศาสตร์ซึ่งทำงานในทีมดาวเทียมนี้ได้ทำการทดลองสร้างโครงข่ายควอนตัมระหว่างภาคพื้นและดาวเทียม ซึ่งเป็นระยะทางที่ยาวที่สุดเท่าที่เคยทำมา พวกเขาได้ทำการถ่ายโอนข้อมูลสถานะของอนุภาคโฟตอนจากพื้นโลกขึ้นไปยังดาวเทียมในอวกาศในชั่วพริบตาได้เป็นผลสำเร็จ แม้ว่าการถ่ายโอนข้อมูลนี้จะเป็นเพียงสถานะเล็ก ๆ ของโฟตอนตัวหนึ่ง และเป็นเหมือนการส่งแฟกซ์ซึ่งข้อมูลจะถูกอ่านจากต้นทางและไปเขียนที่ปลายทางโดยเอกสารที่แท้จริงไม่ได้ถูกส่งไปด้วยก็ตาม แต่การถ่ายโอนข้อมูลสถานะในระดับที่เล็กที่สุดเท่าที่มนุษย์เราและเทคโนโลยีปัจจุบันสามารถรับรู้และวัดได้นั้นก็เป็นก้าวที่สำคัญของมนุษยชาติ

ภาพ : Shutterstock

 

แม้ว่าการเทเลพอร์ตหรือการเคลื่อนย้ายสสาร ไม่ว่าจะสิ่งของหรือสิ่งมีชีวิตแบบที่เกิดขึ้นในนิยายวิทยาศาสตร์จะยังไม่เกิดขึ้นในอนาคตอันใกล้ แต่ความสำเร็จที่เกิดขึ้นสามารถนำมาประยุกต์ใช้กับเรื่องสำคัญอื่น ๆ ได้ เนื่องจากความสามารถที่เกิดขึ้นนี้อ้างอิงคุณสมบัติความพัวพันที่เกิดขึ้นระหว่างอนุภาคโฟตอนสองอนุภาคที่เป็นคู่กัน หากเกิดการเปลี่ยนแปลงจากการทำปฏิกิริยากับอนุภาคใด ๆ ข้อมูลจะถูกส่งผลไปยังคู่โฟตอนอีกตัวหนึ่งทันที และทำให้คู่อนุภาคโฟตอนซึ่งแม้แยกกันอยู่ห่างหลายร้อยกิโลเมตรก็ยังสามารถรับส่งข้อมูลกันได้อย่างมีประสิทธิภาพ

 

หลักการที่ใช้นี้สามารถนำมาพัฒนาให้เข้ากับระบบรักษาความปลอดภัยของข้อมูล เพื่อป้องกันการโจรกรรมหรือการเจาะข้อมูลได้ อย่างไรก็ตามการศึกษาเรื่องควอนตัมเผยให้เห็นว่าข้อมูลของอนุภาคระดับจิ๋วเหล่านี้เปราะบาง การเปลี่ยนแปลงสถานะแต่ละอย่างของอนุภาคไม่สามารถวัดค่าที่แน่นอนได้โดยง่าย เพราะแม้แต่การวัดค่าโดยการยิงโฟตอนเข้าไปเพื่อสะท้อนอิเล็กตรอนและให้ได้ค่าออกมา ยังสามารถเปลี่ยนแปลงตำแหน่งและสถานะต่าง ๆ ของอนุภาคได้ ในตอนนี้เราสามารถทำได้เพียงแค่ถ่ายโอนอิเล็กตรอนอนุภาคเดี่ยว ๆ หรืออย่างมากก็อะตอมหนึ่งเท่านั้น การตรวจสอบหรือถ่ายโอนข้อมูลของอนุภาคแม้เพียงขนาดเล็กยังต้องใช้อุปกรณ์ขนาดใหญ่และพลังงานมหาศาล ดังนั้น จึงจำเป็นต้องมีการศึกษาและพัฒนาอีกมาก กว่าจะสามารถถ่ายโอนหรือย้ายสิ่งมีชีวิตที่มีขนาดใหญ่อย่างคนเราไปยังตำแหน่งปลายทางได้ มนุษยชาติคงต้องรอไปอีกพักใหญ่

 

 

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
Tags
  • Posted By
  • Plook Creator
  • 15 Followers
  • Follow