Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

ปาล์มน้ำมัน

Posted By Plookpedia | 08 ส.ค. 60
2,800 Views

  Favorite

ปาล์มน้ำมัน

      ปาล์มน้ำมันชนิดที่ปลูกเป็นการค้ามีถิ่นกำเนิดในทวีปแอฟริกาและได้นำเข้ามาปลูกในประเทศไทยโดยผ่านทางอินโดนีเซียและมาเลเซียเมื่อประมาณ พ.ศ. ๒๔๗๐ ที่สถานีทดลองยางคอหงษ์ จังหวัดสงขลาและสถานีกสิกรรมพลิ้ว จังหวัดจันทบุรี ส่วนการปลูกเพื่อเป็นการค้าเริ่มต้นภายหลังสงครามโลกครั้งที่ ๒ ที่จังหวัดสงขลาแต่ก็ได้ล้มเลิกกิจการไปจนกระทั่งในปี พ.ศ. ๒๕๑๑ ได้มีการส่งเสริมอีกครั้งหนึ่งและพื้นที่เพาะปลูกขยายตัวออกอย่างรวดเร็วในปี พ.ศ. ๒๕๓๐ มีเนื้อที่การปลูกน้ำมัน ๖๐๐,๐๐๐ ไร่ โดยแยกออกเป็นสวนปาล์มของบริษัทร้อยละ ๕๗ สวนของเอกชนร้อยละ ๒๘ และในสหกรณ์นิคมร้อยละ ๑๕ พื้นที่เพาะปลูกปาล์มยังขยายตัวออกไปอีกทุกปี  ปาล์มน้ำมันเจริญเติบโตและให้ผลิตผลดีในสภาพอากาศที่ร้อนและชื้นมีปริมาณน้ำฝนตั้งแต่ ๒,๐๐๐ มิลลิเมตรต่อปีขึ้นไปจึงปลูกกันมากในภาคใต้และชายฝั่งทะเลด้านตะวันออกของอ่าวไทย  

 

น้ำมันปาล์ม
สวนปาล์มน้ำมันขนาดใหญ่

 

น้ำมันปาล์มเกิดขึ้นจากผลปาล์ม ๒ ส่วน คือ จากเปลือกหุ้มภายนอก และจากเนื้อในของเมล็ด 
      น้ำมันจากเปลือกของปาล์ม ประกอบด้วยกรดไขมันที่อิ่มตัวประมาณร้อยละ ๕๒ และกรดไขมันไม่อิ่มตัวร้อยละ ๔๘ ดังนั้น จึงต้องนำน้ำมันดิบผ่านกรรมวิธีแยกกรดไขมันทั้งสองออกจากกัน นำน้ำมันไม่อิ่มตัวไปแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์อาหารหลายชนิด เช่น ใช้ปรุงอาหาร ทำเนยเทียมหรือมาการีน เนยขาว เป็นส่วนผสมของนมข้นหวาน ไอศกรีม และขนมอีกหลายชนิด ส่วนที่เป็นกรดไขมันอิ่มตัวก็นำไปทำสบู่ ผงซักฟอก และผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมอื่น ๆ 

      ส่วนน้ำมันเนื้อในของเมล็ดปาล์ม ประกอบด้วยน้ำมันชนิดอิ่มตัวสูงถึงร้อยละ ๘๕ - ๙๐ ทำให้ไม่เหมาะต่อการบริโภคจึงนำไปใช้ในอุตสาหกรรมทำสบู่ เครื่องสำอาง ผงซักฟอก อุตสาหกรรมสี และเรซิน เป็นต้น
ปาล์มน้ำมันมีอยู่หลายชนิด แต่ที่ปลูกเป็นการค้ามีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า Elaeis guineensis และจำแนกออกเป็น ๓ พันธุ์ คือ 

๑. พันธุ์ดูรา (Dura) 

      มีเปลือกหุ้มผลค่อนข้างบางและมีกะลาหนา มีปริมาณน้ำมันต่อทะลายต่ำเพียงร้อยละ ๑๘ - ๒๐ 

๒. พันธุ์ฟิสิเฟอรา (Pisifera) 

      มีเปลือกหุ้มผลค่อนข้างบางแต่ให้ผลขนาดเล็กและดอกตัวเมียเป็นหมันผลิตผลต่อต้นต่ำ

๓. พันธุ์เทนเนอรา (Tenera) 

      เป็นพันธุ์ลูกผสมโดยรวมลักษณะดีจากทั้งสองพันธุ์ดังกล่าวเข้าด้วยกันโดยใช้ดูราเป็นแม่และฟิสิเฟอราเป็นพ่อ   ให้น้ำหนักผลปาล์มต่อทะลายสูงเนื่องจากมีเปลือกหุ้มผลหนาและมีปริมาณ น้ำมันมาก

      ผลปาล์มน้ำมันเป็นรูปเรียวรีหรือรูปไข่  มีขนาดกว้าง ๓ เซนติเมตรและยาว ๕ เซนติเมตร มีน้ำหนักผลละ ๑๐ - ๑๕ กรัม เปลือกผิวนอกของผลปาล์มเป็นสีเขียวหรือดำเมื่ออ่อน และเปลี่ยนเป็นสีส้มแดงเมื่อสุกแก่ ภายใต้เปลือกเป็นเมล็ดประกอบด้วยกะลาและเนื้อในซึ่งมีต้นอ่อนฝังอยู่ เมื่อนำไปเพาะให้งอกจะเห็นรากและยอดอ่อนโผล่ออกมาจากช่องของกะลารากของปาล์มน้ำมันเป็นระบบรากฝอยแตกออกจากโคนด้านเพื่อทำหน้าที่ยึดลำต้นดูดน้ำและแร่ธาตุ ต้นปาล์มที่เจริญเติบโตเต็มที่จะมีรากจำนวนมากประสานกันอยู่อย่างหนาแน่นในบริเวณใต้ผิวดิน ๓๐ - ๕๐ เซนติเมตร รากมีขนาดใหญ่อาจยาวถึง ๕ เมตร และแตกออกเป็นรากที่สองและที่สามซึ่งมีความยาวและขนาดเล็กลงแต่มีจำนวนเพิ่มมากขึ้น

 

น้ำมันปาล์ม
ทะลายผลปาล์มน้ำมัน


      ลำต้นปาล์มตั้งตรง เปลือกภายนอกแข็งภายในเนื้อเยื่อและเส้นใยต้นปาล์มมียอดอยู่ยอดเดียว ถ้าถูกทำลายต้นปาล์มก็จะตาย ในช่วง ๓ ปีแรกลำต้นจะเจริญเติบโตขยายตัวออกทางด้านข้างมีโคนอวบใหญ่ หลังจากนั้นจึงยึดตัวเติบโตทางยอด ปล้องบนลำต้นเห็นได้อย่างชัดเจน ต้นปาล์มอาจสูงถึง ๓๐ เมตรและมีอายุนานถึง ๑๐๐ ปี แต่พันธุ์ที่ปลูกเป็นการค้ามีความสูงเพียง ๑๕ - ๑๘ เมตรและตกผลดกในช่วงอายุ ๒๕ ปี หลังจากนั้นตกผลน้อยลง
      ใบปาล์มเป็นใบประกอบมีความยาว ๖ - ๘ เมตร มีใบเล็กหรือทางใบยาวประมาณ ๑ เมตร แตกออกจากก้านใบทั้งสองด้านเป็นรูปขนนกจำนวนประมาณ ๑๐๐ - ๑๖๐ คู่ ก้านใบมีหนามแหลมเรียงอยู่ ๒ แถว ทางใบแตกออกจากยอดประมาณปีละ ๒๐ - ๔๐ ทาง และมีอายุประมาณ ๒ ปี  ช่อดอกแยกเป็นช่อดอกตัวผู้และตัวเมียแต่อยู่บนต้นเดียวกันออกสลับกันจากมุมก้านใบแต่มีช่อดอกตัวเมียมากกว่า การพัฒนาตั้งแต่ตาดอกจนถึงดอกบานและรับการผสมเกสรใช้เวลา ๓๐ เดือน หลังจากนั้นอีก ๖ เดือน ผลบนทะลายจึงสุกแก่  ช่อดอกตัวเมียประกอบด้วยช่อดอกย่อยประมาณ ๑๐๐ - ๑๑๐ ช่อ และแต่ละช่อย่อยมีดอกตัวเมีย ๑๕ - ๓๐ ดอก ดังนั้นในหนึ่งทะลายมีดอกตัวเมียประมาณ ๔,๐๐๐ ดอก

 

น้ำมันปาล์ม
ใบปาล์มน้ำมัน


      การปลูกปาล์มน้ำมันเริ่มต้นด้วยการนำเมล็ดมาเพาะในถุงให้งอกเป็นต้นกล้า (ซึ่งใช้เวลาประมาณ ๖ - ๙ สัปดาห์) หลังจากนั้นจึงย้ายลงปลูกในถุงบรรจุดิน ขนาด ๑๕ x ๒๐ เซนติเมตร ต้นละถุง เก็บไว้ในเรือนเพาะชำ (อีก ๑ - ๓ เดือน) เพื่อสะดวกต่อการให้น้ำและดูแลรักษา  ต่อจากนั้นจึงย้ายต้นกล้าลงปลูกในถุงขนาดใหญ่ (ขนาด ๕๐ x ๗๕ เซนติเมตร) นำไปเก็บรวมในแปลงเพาะเลี้ยงเพื่อให้ต้นกล้าเจริญเติบโตสมบูรณ์เต็มที่ (ประมาณ ๑ ปี) จึงย้ายไปปลูกในแปลงใหญ่ช่วงต้นฤดูฝน  ต้นปาล์มขึ้นได้ดีในที่ที่มีหน้าดินลึก ๗๕ เซนติเมตรและเป็นดินร่วนซุย ระบายน้ำได้เร็ว การปลูกในพื้นที่ขนาดใหญ่ ควรแบ่งแปลงออกเป็นแปลงย่อยโดยตัดถนนผ่านระหว่างแปลงเพื่อสะดวกต่อการเข้าไปดูแลรักษาและขนส่ง  ทะลายปาล์มจากสวนสู่โรงงานควรปลูกต้นปาล์มเป็นแถวโดยมีระยะระหว่างแถว ๘ - ๑๐ เมตร ระหว่างต้น ๗ - ๘ เมตร จะมีต้นปาล์ม ๒๐ - ๓๐ ต้นต่อไร่  หลังจากปลูกแล้วควรเข้าไปตรวจสวนทุกเดือนและทำการปลูกซ่อมต้นตาย กำจัดวัชพืชที่ขึ้นคลุมต้นปาล์มตลอดจนทำการป้องกัน กำจัดแมลงและศัตรูพืชชนิดต่าง ๆ บางแห่งมีการปลูกพืชคลุมหน้าดินเพื่อป้องกันการชะล้างพังทลายและรักษาความชุ่มชื้นในดินให้ปุ๋ยเคมีตามที่กำหนดในคำแนะนำ
      ต้นปาล์มเริ่มออกช่อดอกเมื่อมีอายุประมาณ ๑ ๑/๒  - ๒ ปี แต่เป็นช่อดอกขนาดเล็กและให้ผลิตผลไม่มากพอจึงควรตัดดอกชุดแรกออกทิ้งเพื่อให้ต้นเจริญและสมบูรณ์ได้เต็มที่ การเก็บเกี่ยวผลิตผลอาจเริ่มจากปีที่สามเป็นต้นไป ผลิตผลของปาล์มเพิ่มมากขึ้นตามอายุและให้ผลิตผลสูงเมื่อย่างเข้าสู่ปีที่ ๘ โดยเฉลี่ยให้ผลิตผลตั้งแต่ ๘ - ๑๕ ทะลาย/ต้น/ปี ทะลายหนึ่งมีผลปาล์ม ๑,๐๐๐ - ๒,๐๐๐ ผล และหนักทะลายละ ๑๐ - ๑๕ กิโลกรัม ต้นปาล์มจะให้ผลิตผลสูงไปจนถึงอายุ ๒๕ - ๓๐ ปี หลังจากนั้นเริ่มลดลงซึ่งเป็นเวลาที่ต้องรื้อสวนเก่าออกเพื่อปลูกใหม่  เมื่อผลปาล์มสุกแก่เปลือกนอกจะเปลี่ยนเป็นสีส้มและเริ่มร่วงหล่นเป็นระยะที่เปลือกมีน้ำมันสะสมมากที่สุด  ควรทำการเก็บเกี่ยวทันทีโดยใช้เสียมหรือมีดตัดที่ก้านของทะลายรวบรวมนำส่งโรงงานหีบน้ำมันโดยให้ได้รับการกระเทือนน้อยที่สุดภายในเวลา ๒๔ ชั่วโมง จึงจะได้น้ำมันคุณภาพสูง

 

น้ำมันปาล์ม
การเก็บเกี่ยวทะลายปาล์มน้ำมัน 

 

      โรงงานจะนำผลปาล์มสดทั้งทะลายไปอบไอน้ำเพื่อยับยั้งการเปลี่ยนแปลงของน้ำมันและช่วยให้ผลปาล์มหลุดออกจากทะลายและแยกเปลือกออกจากกะลาได้ง่ายขึ้น จากนั้นจึงนำไปย่อยอีกครั้งเพื่อแยกเอาเปลือกไปสกัดน้ำมันออก นำน้ำมันไปทำความสะอาดและลดความชื้นแล้วจึงส่งน้ำมันดิบเข้าโรงกลั่นเพื่อแยกน้ำมันบริสุทธิ์ อีกครั้งหนึ่ง นำกากเส้นใยและเศษของทะลายที่แยกออกกลับไปใช้เป็นเชื้อเพลิง ส่วนเมล็ดปาล์มที่แยกมาจากเปลือกนำไปกะเทาะอีกครั้งเพื่อแยกเอาเนื้อในออกจากกะลานำเนื้อไปอบให้แห้งส่งไปยังโรงงานที่กลั่นน้ำมันจากเนื้อของเมล็ดปาล์มโดยเฉพาะ ส่วนกะลาที่เหลือนำกลับไปใช้เป็นเชื้อเพลิง

 

น้ำมันปาล์ม
การขนส่งทะลายปาล์มน้ำมันสู่โรงงาน

 

น้ำมันปาล์ม
สภาพภายในโรงงานสกัดน้ำมันปาล์ม

 

 

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
  • Posted By
  • Plookpedia
  • 15 Followers
  • Follow