Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

การดูแลรักษาลูก

Posted By Plookpedia | 01 ส.ค. 60
3,720 Views

  Favorite
แมลงดาสวนตัวผู้มีไข่ติดอยู่บนหลัง
รังของปลวก (จอมปลวก)

 

การดูแลรักษาลูก 

ส่วนใหญ่พ่อแม่ของแมลงไม่มีการเลี้ยงดู ปล่อยให้ลูกหากินช่วยตัวเอง แมลงส่วนใหญ่จึงวางไข่ หรือออกลูก ที่แหล่งอาหาร หรือบริเวณที่มีอาหารให้ลูก แมลงส่วนน้อยที่มีการดูแลช่วยเหลือลูก เช่น แมลงดาสวน ตัวเมียจะวางไข่เป็นแผงติดแน่นบนหลังตัวผู้ เมื่อตัวผู้ว่ายน้ำไป ณ ที่ใด ก็เท่ากับพาไข่ติดไปด้วย ไข่จึงรอดพ้นจากศัตรู แมลงดานาจะคอยเฝ้ารักษากลุ่มไข่ ที่ตัวเมียวางติดไว้กับต้นพืชในน้ำ ไม่ยอมให้ศัตรูเข้ามาทำลาย รวมทั้งคอยไล่ตัวเมีย ที่อาจจะเข้ามากินไข่ของตัวเองด้วย จนกระทั่งตัวอ่อนฟักออกจากไข่แล้ว จึงละทิ้งไป แมลงหนีบจะฝ้าดูแลรักษาตัวอ่อนที่ฟักออกจากไข่ จนกระทั่งโตพอสมควรที่จะช่วยตัวเองได้แล้ว จึงจะแยก ตัวไป 

อย่างไรก็ตาม แมลงหลายพวกเสาะหาที่ทำรัง หรือสร้างรังอย่างแข็งแรง สำหรับป้องกันภัยให้ลูก และหาอาหารมาเก็บไว้ให้ ลูกกิน เช่น ผึ้งกรวย จะเที่ยวเสาะหารูขนาดพอเหมาะ เช่น รูที่แมลงอื่นเจาะทิ้งร้างไว้ หรือรูที่คนทำขึ้น เช่น รูกุญแจที่โต๊ะ หรือรูกลอนประตู รูท่อยางที่ถูกทิ้งไว้ เมื่อได้ที่แล้ว จะบินออกไปกัดใบไม้เป็นแผ่นเกือบกลม นำมาห่อเป็นกรวย รองกันหลายชั้นในรู เพื่อเป็นรัง นำเกสรดอกไม้มาบุรังจนเพียงพอ ที่จะเป็นอาหารให้ลูกอ่อน ซึ่งฟักออกจากไข่กิน จนเจริญเติบโตเต็มที่ได้ส่วน ผึ้งหลอดนั้นทำรังแบบเดียวกัน แต่จะกรุรังด้วยดินเหนียว หรือดินผสมยางไม้ ก่อนที่จะขนใบไม้มากรุรัง หมาร่าจะขนดินเหนียวมาสร้างรังให้แข็งแรง จนเสร็จเสียก่อนจะไปหาตัวหนอน ที่เป็นอาหารของลูกอ่อน โดยต่อยให้สลบ แล้วขนมาใส่ในรังที่เตรียมไว้ ก่อนที่จะวางไข่ลงไปบนตัวหนอนที่สลบนั้น แล้วจึงปิดรัง เพื่อให้ลูกน้อยที่ฟักออกจากไข่ได้กินตัวหนอนที่อยู่ในรัง จนเจริญเติบโตได้อย่างปลอดภัย แมลงเหล่านี้จึงมีชีวิตอย่างโดดเดี่ยว

แมลงที่รวมตัวกันอยู่เป็นฝูงช่วยกันทำรัง หาอาหารเลี้ยงลูกอ่อน จัดเป็นแมลงที่มีความเป็นอยู่แบบสังคมชั้นสูงนั้น ได้แก่ ต่อ แตน ผึ้ง ชันโรง มด และปลวก ในรังๆ หนึ่ง จึงอาจจะพบแมลงเหล่านี้เป็นพัน เป็นหมื่น หรือนับแสนตัวก็มี แมลงเหล่านี้มีการแบ่งชั้นวรรณะ กล่าวคือ ในแต่ละรัง ตัวอ่อนเจริญเมื่อโตเต็มวัย มีรูปร่างไม่เหมือนกัน และทำหน้าที่ต่างกัน มีวรรณะตัวผู้ วรรณะตัวเมีย วรรณะกรรมกร และวรรณะทหาร พวกต่อหลวง ต่อหัวเสือ แตนลิ้นหมา ผึ้งโพรง ผึ้งหลวงผึ้งเลี้ยง และชันโรง เป็นต้น มีตัวผู้ขนาดย่อมกว่าตัวเมียทำหน้าที่ ผสมพันธุ์ ตัวเมียที่จะเป็นแม่รังเมื่อผสมพันธุ์ และวางไข่ซึ่งจะฟักเป็นตัวแพร่ลูกหลานต่อไป ส่วนพวกวรรณะกรรมกรหรือลูกรังนั้นคือตัวเมีย ที่เป็นหมัน มีขนาดตัวเล็กกว่าตัวผู้เล็กน้อย ทำหน้าที่สร้างรัง หาอาหารมาเลี้ยงตัวอ่อน และคอยเฝ้าระวังศัตรู โดยมีเหล็กในที่ต่อยให้เจ็บปวดถึงตายได้ ต่อ แตน และผึ้ง เหล่านี้ ไม่มีวรรณะทหารที่จะมีรูปร่างผิดแปลกออกไป เพราะพวกวรรณะกรรมกรทำหน้าที่นี้อยู่แล้ว โดยปรกติในรังแต่ละรังของต่อและผึ้งดังกล่าวข้างต้น จะมีตัวเมียตัวเดียว ซึ่งเป็นแม่รัง ที่เหลือเป็นลูกรัง ซึ่งเป็นวรรณะกรรมกร จะพบตัวผู้ก็ เฉพาะเมื่อถึงเวลาผสมพันธุ์หรือแยกรัง ต่อและ แตนชนิดที่กล่าวข้างต้นไม่มีการเก็บสำรองอาหาร ไว้ในรัง ฉะนั้น เมื่อแหล่งอาหารขาดแคลน ก็ จำเป็นที่จะต้องแยกรังออกไปหาแหล่งใหม่เพื่อ สร้างรังใหม่ต่อไป สำหรับผึ้งที่กล่าวข้างต้นและ ชันโรงมีการเก็บสำรองอาหารซึ่งเป็นน้ำผึ้งและ เกสรดอกไม้ไว้ในรวงรัง โดยแบ่งสัดส่วนเอา ไว้เป็นที่เก็บสำรองโดยเฉพาะ มนุษย์เราได้อาศัย น้ำผึ้งที่เก็บสำรองเหล่านี้มาเป็นอาหารอีกทีหนึ่ง ส่วนผึ้งมิ้มมีวรรณะและความเป็นอยู่เช่นเดียวกับ ผึ้งอื่น ๆ ที่กล่าวข้างต้น ผิดกันแต่ว่าผึ้งงานซึ่ง เป็นวรรณะกรรมกรไม่มีต่อมน้ำพิษ และเหล็กใน ที่จะใช้ป้องกันตัว ชอบทำรังตามกิ่งไม้ซึ่งค่อน ข้างเปิดเผย จึงมักจะถูกทำลายโดยมนุษย์และ ศัตรูอื่นๆ ได้ง่าย ต้องย้ายรังหลีกหนีบ่อยๆ

ในกรณีของมดและปลวก นอกจากจะมีวรรณะตัวผู้ ตัวเมีย กรรมกรแล้ว ยังมีวรรณะทหาร ซึ่งมักจะมีร่างกายใหญ่โตผิดสัดส่วน เมื่อเทียบกับวรรณะกรรมกร ซึ่งเป็นประชากรส่วนใหญ่ของรวงรัง ดังจะเห็นได้จากมดง่ามและปลวกโดยทั่วไป เป็นต้น พวกนี้มักจะมีหัวโต ผิดสัดส่วนกับอกและท้อง มีขากรรไกรหน้ารูปร่างคล้ายเขี้ยวใหญ่ เป็นที่น่าเกรงขามของศัตรู พวกวรรณะทหารเหล่านี้จะพบได้บ่อยๆ เมื่อเดินไปตามทางปะปนกับวรรณะกรรมกร ปลวกงาน มีความแตกต่างกับมด ผึ้ง ต่อ แตน และชันโรง ที่กล่าวข้างต้น ในแง่ที่ว่า สามารถช่วยทำงานตั้งแต่อายุเยาว์วัย โดยไม่ต้องรอให้เจริญเติบโตเต็มที่ 

โดยสรุปอาจจะกล่าวได้ว่า แมลงส่วนใหญ่ ที่วิวัฒนาการในการที่จะอยู่ร่วมกันในสังคมนั้น ยังน้อยอยู่ แต่ก็ยังมีแมลงหลายชนิดหลายพวก ที่มีวิวัฒนาการในทางสังคมสูงมาก ถึงขั้นแบ่งชั้นวรรณะในการทำหน้าที่ของแต่ละฝ่ายอย่างชัดเจน ซึ่งหลายสิ่งหลายอย่างที่มนุษย์เองก็ไม่สามารถจะทำได้ ทำให้แมลงเหล่านี้มีชีวิตอยู่รอดในโลกมาได้อย่างดี จนถึงสมัยปัจจุบัน

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
  • Posted By
  • Plookpedia
  • 15 Followers
  • Follow