Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

การดูแลรักษาผู้ป่วยที่เป็นโรคสะเก็ดเงิน

Posted By Plookpedia | 22 ก.พ. 60
4,308 Views

  Favorite

การดูแลรักษาผู้ป่วยที่เป็นโรคสะเก็ดเงิน

คำถามที่ผู้ป่วยและญาติมักถามแพทย์ผู้ให้การรักษาบ่อยที่สุด คือ โรคสะเก็ดเงินเป็นโรคที่รักษาให้หายขาดได้หรือไม่ คำตอบที่ผู้ป่วยและญาติ ได้รับคือ "โรคนี้ไม่หายขาด จะเป็นตลอดชีวิต หรือเป็นๆ หายๆ" ซึ่งเป็นคำตอบที่สร้างความทุกข์ทรมานจิตใจให้แก่ผู้ป่วยและญาติ เป็นอย่างมาก ผู้ป่วยที่ได้รับคำตอบเช่นนี้บางรายล้มเลิกการรักษา สิ้นหวังหมดอาลัยตายอยากต่อชีวิต บางรายเปลี่ยนแพทย์ผู้รักษา เพื่อหาคำตอบที่มีความหวังมากกว่า และบางราย เปลี่ยนไปใช้การแพทย์ทางเลือก สิ่งที่ผู้ป่วยและญาติต้องพิจารณาคือ การเป็นโรคสะเก็ดเงิน เกิดจากเหตุปัจจัยหลายประการ ทั้งลักษณะทางพันธุกรรม และสภาพแวดล้อมผู้ป่วยที่จะทำให้โรคสะเก็ดเงินกำเริบขึ้น หรือสงบลง รวมทั้งจิตใจของผู้ป่วย แต่ละปัจจัยดังที่กล่าวนี้ เมื่อดูในรายละเอียดแล้ว จะมีปัจจัยย่อยอีกมากมาย เช่น ลักษณะทางพันธุกรรมของผู้ป่วยโรคสะเก็ดเงินแต่ละคนก็แตกต่างกัน ปัจจุบันเป็นที่ทราบกันว่า มียีนที่มีแนวโน้ม ที่จะเกิดโรคสะเก็ดเงิน มากกว่า ๙ ยีน โดยปัจจัยด้านยีนเป็นสิ่งที่แก้ไขไม่ได้ ต้องยอมรับ นอกจากนี้ โรคสะเก็ดเงินจะเกิดอาการกำเริบ เมื่อมีปัจจัยแวดล้อมที่ไม่เหมาะสม มากระทบผู้ป่วย ดังนั้น ถ้าผู้ป่วยหลีกเลี่ยงปัจจัยดังกล่าวได้มากเท่าใด ผื่นผิวหนังอักเสบหรืออาการปวดกล้ามเนื้อ เอ็นและข้อจากโรคสะเก็ดเงิน ก็มีโอกาสหายหรือลดน้อยลง ผู้เกี่ยวข้องทั้งผู้ป่วย บิดามารดา ญาติพี่น้อง เพื่อนสนิท มิตรสหาย ผู้ร่วมงาน รวมทั้งแพทย์ผู้ดูแลผู้ป่วย จึงต้องเรียนรู้บทบาทของตัวเองว่า จะช่วยเหลือผู้ป่วยได้อย่างไร ดังนั้นคำถามที่ว่า โรคสะเก็ดเงินสามารถรักษาให้หายขาดได้หรือไม่ จึงไม่ใช่เพียงตอบว่า หายขาดหรือไม่ แต่เป็นคำตอบที่ขึ้นอยู่กับผู้ป่วย ญาติพี่น้อง และแพทย์ผู้ดูแลรักษาว่า มีความรู้เรื่องปัจจัยที่ทำให้โรคเกิดขึ้น หรือกำเริบ มากเพียงใด หากสามารถช่วยกันทำให้ปัจจัย ที่ทำให้เกิดโรค หมดไปอย่างต่อเนื่อง โรคสะเก็ดเงินก็จะหายไปได้ในที่สุด

 

ผู้ป่วยพบแพทย์ เพื่อตรวจวินิจฉัยในเบื้องต้น

 

 

แนวทางการดำเนินงานเบื้องต้นของแพทย์ในการวินิจฉัยโรค

เมื่อผู้ป่วยมีอาการผื่นผิวหนังอักเสบหรือปวดข้อที่สงสัยว่าจะเป็นโรคสะเก็ดเงินหรือไม่ แพทย์มีแนวทางในการดำเนินการเบื้องต้น ดังนี้

๑) ซักถามประวัติผู้ป่วยว่ามีประวัติเป็นผื่นเช่นนี้มาก่อนหรือไม่ หรือมีบุคคลในครอบครัวของผู้ป่วยเป็นโรคสะเก็ดเงินบ้างหรือไม่ ถ้ามีประวัติการเป็นโรคสะเก็ดเงินภายในครอบครัว หรือผู้ป่วยเป็นผื่นผิวหนังอักเสบเป็นๆ หายๆ มานาน ก็เป็นข้อมูลสนับสนุนว่า ผู้ป่วยน่าจะเป็นโรคสะเก็ดเงิน อย่างไรก็ตาม การติดตามผู้ป่วยในระยะยาวจะช่วยให้สามารถวินิจฉัยโรคสะเก็ดเงินได้แน่นอนขึ้น

๒) การตรวจดูผื่นผิวหนังอักเสบว่ามีลักษณะของผื่นโรคสะเก็ดเงินอยู่หรือไม่ ดังที่ได้กล่าวแล้ว

การตรวจทางห้องปฏิบัติการ

ในกรณีผู้ป่วยโรคสะเก็ดเงินที่ไม่รุนแรงและไม่พบโรคอื่นๆ ร่วมด้วยไม่จำเป็นต้องได้รับการตรวจทางห้องปฏิบัติการใดๆ ส่วนผู้ป่วยที่มีอาการของโรครุนแรงควรได้รับการตรวจทางห้องปฏิบัติการ เช่น ตรวจดูจำนวนเม็ดเลือดแดง เม็ดเลือดขาว เกล็ดเลือด ตรวจปัสสาวะ อุจจาระ หน้าที่ของไต ตับ ระดับของกรดยูริก (uric acid) โซเดียม โพแทสเซียม ไบคาร์บอเนต คลอไรด์ แคลเซียม และฟอสฟอรัส เพื่อดูว่า มีความผิดปกติอะไรซ่อนอยู่บ้าง เพราะภาวะผิดปกติของเม็ดเลือดและเกลือแร่ในเลือด ทำให้ผื่นสะเก็ดเงินกำเริบได้ จึงต้องมีการแก้ไข เป็นการลดปัจจัยกระตุ้นที่ทำให้โรคกำเริบ และยังเป็นการเตรียมผู้ป่วยให้พร้อม ก่อนจะให้ยาตามระบบการรักษา เช่น ยากดภูมิคุ้มกัน การตรวจทางห้องปฏิบัติการที่สำคัญอีกอย่างคือ การถ่ายภาพรังสีทรวงอก เพราะผู้ป่วยอาจมีวัณโรคปอดซ่อนอยู่ ควรได้รับการรักษา ก่อนเริ่มให้ยากดภูมิคุ้มกัน และต้องให้ความระมัดระวังเป็นพิเศษ ถ้าจำเป็นต้องใช้ยากดภูมิคุ้มกัน

การดูแลรักษาผู้ป่วยโรคสะเก็ดเงินแบบองค์รวม

ดังที่ได้กล่าวมาแล้วว่า โรคสะเก็ดเงินไม่ได้เกิดจากสาเหตุเพียงอย่างเดียว แต่เป็นผลจากเหตุและปัจจัยหลายๆ อย่างมากระทบกัน แล้วทำให้อาการของโรคปรากฏขึ้น ซึ่งอาการของโรคมีอยู่หลายรูปแบบ ยาหรือวิธีการรักษาโรคนี้ที่ใช้กันในปัจจุบัน ไม่สามารถแก้ไขที่ต้นเหตุของโรค คือ ความผิดปกติทางพันธุกรรมที่ผู้ป่วยแต่ละคนมีอยู่ และไม่ได้แก้ไขปัจจัย ที่กระตุ้นให้โรคกำเริบ การรักษาที่ใช้อยู่จึงเป็นเพียงการควบคุมอาการของโรค และรอเวลาให้ปัจจัยที่กระตุ้นให้โรคกำเริบ ผ่านพ้นไป หรือแพทย์และผู้ป่วยสามารถหาปัจจัยที่กระตุ้นให้โรคกำเริบได้ แล้วกำจัดปัจจัยกระตุ้นเหล่านั้น ตัวอย่างเช่น เมื่อแพทย์ตรวจพบว่า โรคสะเก็ดเงินที่กำเริบ เพราะมีการติดเชื้อแบคทีเรียชนิดสเตร็ปโตค็อกคัสที่คอ แพทย์ก็จะให้ยาปฏิชีวนะ ทำลายเชื้อสเตร็ปโตค็อกคัสที่คอ พร้อมๆ กับการให้ยาทาควบคุมผื่นผิวหนังอักเสบของผู้ป่วยร่วมไปด้วย ผู้ป่วยก็จะหายจากอาการของโรคได้ เป็นที่น่าเสียใจว่าส่วนใหญ่ผู้ป่วยโรคสะเก็ดเงินมักไม่พบปัจจัยที่กระตุ้นให้โรคกำเริบ หรือบางครั้งหาพบ แต่ผู้ป่วยและแพทย์ไม่สามารถกำจัดปัจจัย ที่เป็นตัวกระตุ้นให้โรคกำเริบไปได้อย่างถาวร เช่น ความเครียด หรือความวิตกกังวลเกี่ยวกับโรคที่เป็นอยู่ ปัญหาทางด้านครอบครัว อาชีพ การงาน รวมทั้งสิ่งแวดล้อมรอบตัวอื่นๆ ดังนั้น การควบคุมโรคสะเก็ดเงินให้ได้ผลดี จึงไม่ใช่การใช้ยาหรือพึ่งแพทย์แต่เพียงอย่างเดียว ผู้ป่วยและญาติต้องร่วมมือกับแพทย์ สังเกตสิ่งแวดล้อมหรือปัจจัยแวดล้อมรอบตัวที่ทำให้โรคกำเริบ และให้การดูแลรักษาแบบองค์รวม

หลักในการดูแลรักษาควบคุมโรคสะเก็ดเงินแบบองค์รวม ประกอบด้วยวิธีการต่างๆ ดังนี้

๑. หลีกเลี่ยงหรือกำจัดปัจจัยที่กระตุ้นหรือสนับสนุนให้โรคกำเริบ อาจเป็นปัจจัยที่แวดล้อมตัวผู้ป่วย หรืออยู่ในตัวผู้ป่วย

๒. ป้องกันผิวหนังไม่ให้ถูกกระทบกระแทก แกะเกา หรือสัมผัสสารที่ระคายเคืองต่อผิวหนัง เช่น สวมเสื้อผ้าปกปิด เคลือบผิวหนังด้วยสารเพิ่มความชุ่มชื้นให้ผิวหนัง

 ๓. การดูแลรักษาสุขภาพตัวเองให้แข็งแรงอยู่เสมอ ด้วยการออกกำลังกายเป็นประจำอย่างต่อเนื่อง ซึ่งวิธีการออกกำลังกายมีหลายวิธี ตามความสนใจและความชอบของผู้ป่วย รับประทานอาหารให้ถูกส่วนตามหลักอาหาร ๖ หมู่ ได้แก่ โปรตีน คาร์โบไฮเดรต ไขมัน วิตามิน เกลือแร่ และน้ำ งดเว้นสุรา บุหรี่ และสิ่งเสพติดทั้งหลาย

 

การรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ เป็นการควบคุมโรควิธีหนึ่ง

 

 

๔. การประคับประคองจิตใจ ผู้ป่วยและญาติมีบทบาทสำคัญอย่างมากในการดูแลรักษาผื่นผิวหนังอักเสบของโรคสะเก็ดเงิน กล่าวคือ การทำจิตใจให้สงบเย็นไม่เร่าร้อน และศึกษาหาความรู้เรื่องโรคที่เป็นอยู่ แพทย์ผู้ดูแลรักษามีหน้าที่ให้คำแนะนำ ให้ยาที่ถูกต้องเหมาะสม หรือใช้แสงอัลตราไวโอเลตควบคุมโรค แพทย์ควรให้ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับโรค แนะนำวิธีการใช้ยาที่ถูกต้องแก่ผู้ป่วยและญาติ ตลอดจนให้กำลังใจ และให้ความเห็นอกเห็นใจ ทั้งนี้ เพื่อให้ผู้ป่วยและญาติ ได้ทราบวิธีการปฏิบัติตัว และวิธีการใช้ยาอย่างถูกต้อง อันจะทำให้ผลของการรักษาบรรลุวัตถุประสงค์ตามที่มุ่งหวังไว้ 

๕. การควบคุมรักษาผื่นหรือปื้นของโรคสะเก็ดเงินด้วยยาทา ยารับประทาน หรือการใช้แสงอัลตราไวโอเลต หรืออาจใช้ทั้ง ๓ วิธี ร่วมกัน

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
  • Posted By
  • Plookpedia
  • 15 Followers
  • Follow