Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

การแสดงผลตัวอักษรไทยบนจอภาพ

Posted By Plookpedia | 28 มี.ค. 60
2,265 Views

  Favorite

การแสดงผลตัวอักษรไทยบนจอภาพ 


ภาพหรือตัวอักษรที่ปรากฏบนจอภาพ อาศัยหลักการสร้างจุดเล็กๆ เรียงกัน โดยแต่ละจุดเล็กๆ นี้เรียกว่า พิกเซล (pixel-picture element) ความละ เอียดของการแสดงภาพหรือตัวอักษร ขึ้นอยู่กับจำนวนพิกเซลที่ปรากฏบนจอภาพ หากภาพหรือตัวอักษร ประกอบด้วยพิกเซลจำนวนมาก ก็จะได้ภาพที่ละเอียดมาก

 

การแสดงผลตัวอักษรไทย ขณะเรียงข้อความเป็นประโยคบนจอภาพ

 

การประกอบของพิกเซลเล็กๆ เพื่อเป็นตัวอักษรนี้ อยู่ในตารางที่เป็นเมทริกซ์ (matrix) ขนาด ๘ x ๘ หรือเท่าไรแล้วแต่ความสามารถในการกำหนดรายละเอียด การแสดงตัวอักษรไทยบนตารางขนาดกว้าง ๘ จุด สูง ๑๖ จุด จะได้ตัวอักษร ที่ค่อนข้างให้รายละเอียดได้มาก ทั้งนี้เพราะอักษรไทยมีรูปแบบรายละเอียดมาก เช่น ตัวอักษร ฎ และ ฏ จะต่างกันเพียงเล็กน้อยเท่านั้น 

การแสดงอักษรบนจอภาพ ที่ใช้กันในระบบ คอมพิวเตอร์จะมีจำนวนบรรทัด ๒๔ บรรทัด แต่ละบรรทัด แสดงได้ ๘๐ ตัวอักษร การบรรจุตัวอักษรใดลงไป สามารถ บรรจุลงในช่องเหล่านี้ เพื่อประกอบกันเป็นข้อความตาม ต้องการ อย่างไรก็ดี ตัวอักษรไทยประกอบด้วย ๔ ระดับ ดังได้กล่าวมาแล้ว จึงมีเทคนิควิธีการในการแสดงผลได้ หลายรูปแบบ ซึ่งขึ้นอยู่กับวิธีการ ที่ผู้พัฒนาได้จัดทำขึ้น

 

แบบที่ ๑ การแยกตัวอักษรลงในช่องต่างๆ

 

การแสดงตัวอักษร จะต้องอาศัยหน่วยความจำในการเก็บรหัสที่จะแสดง ณ ตำแหน่งต่างๆ เช่น ถ้าต้องการแสดงตัวอักษร ก ก็จะเก็บรหัส ก ไว้ในตำแหน่ง ที่ตรงกับช่องที่แสดง ดังนั้นการแสดงในแบบที่ ๑ จะใช้จำนวนรหัส ที่แทนตัวอักษรไทยแยกเป็นตัวๆ ซึ่งประกอบด้วย ก ข ค.....ฮ ะ......

 

แบบที่ ๒ การรวมสระระดับ ๓ และ ๔ เข้าด้วยกันเป็นการลดระดับเหลือ ๓ ระดับ

 

สำหรับในแบบที่ ๒ จะต้องมีการรวมรูปแบบการแสดง ซึ่งทำให้ต้องมีรหัสแทนตัวอักษรต่างๆ เหล่านั้น

 

แบบที่ ๓ การนำเอาสระระดับ ๑ ของอีกบรรทัดหนึ่งมารวมกับสระบนของบรรทัดล่าง

 

ในทำนองเดียวกัน หากแสดงตามแบบที่ ๓ จะต้องเพิ่มรหัสแทนอักษรอีก 

และถ้าเป็นแบบที่ ๔ จะต้องใช้รูปแบบการแสดงบนจอภาพมากมาย เช่น ก กิ กิ่...กุ้..... เป็นต้น การกำหนดตำแหน่งที่แสดงนี้ อาศัยหน่วยความจำ ซึ่งปกติจะเก็บรหัสตามที่ได้กำหนดไว้ว่า รหัสใดแทนตัวอักษรใด

 

แบบที่ ๔ การลด ๔ ระดับอักษร เหลือการแสดงเพียงระดับเดียว
ดังนั้นในแต่ละตารางจะต้องมีความละเอียดสูงขึ้น

 

บางเครื่องจะมีการกำกับด้วยแอตทริบิวต์ (attribute) เพื่อจะบอกว่าอักษรที่จะนำไปปรากฏบนจอภาพนี้มีสีอะไรอยู่ บนสีพื้นอะไร เช่น สีตัวอักษรใช้แอตทริบิวต์ ๔ บิต ก็จะ ได้สีสำหรับตัวอักษร ๑๖ สี และสีพื้นใช้แอตทริบิวต์ ๓ บิต ก็จะได้จำนวนสี ๘ สี และมีบิตบอกว่าตัวอักษรนี้กะพริบ หรือไม่อีก ๑ บิต ที่เรียกว่า บิตบลิงค์ (blink)

 

แผนภาพแสดงแอตทริบิวต์ หรือรหัสที่จะใช้ควบคู่กับรหัสตัวอักษร เพื่อจะบ่งบอกลักษณะต่าง ๆ
ของตัวอักษรที่แสดง เช่น สี การกะพริบ และการแสดงตัวอักษรในลักษณะสี

 

การกำเนิดตัวอักษรไทยบนจอภาพ มีรูปแบบการกำเนิดได้ ๒ วิธี คือ แบบการสร้างตัวอักษร ด้วยส่วนกำเนิดตัวอักษร (character generator) และแบบกราฟิก (graphic display) ในแบบส่วนกำเนิดตัวอักษร จะมีหน่วยความจำที่ทำหน้าที่จดจำรูปแบบ ของตัวอักษรไว้ โดยปกติจะจดจำเป็นการถาวรไว้ในรอม การกำหนดลักษณะของตัวอักษรนี้ ใช้วิธีการกำหนดจุดสว่าง ของการกวาดตรวจเส้นของลำอิเล็กตรอน

 

การแสดงตัวอักษรบนจอภาพ ที่กำเนิด พร้อมกับการกำกับของแอตทริบิวต์

 

ข้อมูลในรอมนี้ จะเก็บรูปแบบของตัวอักษรครบทุกตัว กรณีที่ขนาดของตัวอักษร มีขนาดช่อง ๘ x ๘ และ การแสดงตัวอักษรได้ครบ ทั้ง ๒๕๖ ตัว ตามตารางรหัสแล้ว จะต้องใช้ข้อมูลเก็บรูปแบบตัวอักษรเป็น ๘ x ๒๕๖ = ๒,๐๔๘ ตำแหน่ง หรือไบต์ หากให้ความละเอียดของตัว อักษรมีมากขึ้น เช่น รูปแบบของตัวอักษรเป็นขนาดกว้าง x สูง เป็น ๘ x ๑๖ ก็ต้องใช้หน่วยความจำรอม ในการเก็บข้อมูลขนาด ๔,๐๙๖ ไบต์

ในการแสดงผลบนจอภาพนั้น เราจะใส่รหัสตัวอักษร ลงในหน่วยความจำวีดิทัศน์ และจากหน่วยความจำวีดิทัศน์นี้ จะกำหนดเป็นตำแหน่งให้กับวงจรกำเนิดตัวอักษร เพื่อส่งข้อมูลการกวาดตรวจตัวอักษรออก โดยจะทำการกวาดตรวจตัวอักษรออกทีละแถว ตามการกวาดตรวจของลำอิเล็กตรอนของโทรทัศน์

 

ตัวอักษรที่ประกอบขึ้นจากจุดเล็ก ๆ ในหน่วยความจำ 1 หมายถึงจุดสว่าง 0 หมายถึงจุดมืด

 

เมื่อต้องการจะแสดงข้อมูลตัวอักษรใด ณ ตำแหน่งใดสิ่งที่เกิดขึ้นในวงจรอิเล็กทรอนิกส์ส่วนนี้คือ การนำเอาข้อมูลรหัส จากหน่วยความจำวีดิทัศน์มากำหนดตำแหน่งในวงจรกำเนิดตัวอักษร เพื่อให้เกิดการสว่างเป็นจุดที่ต้องการ เช่น รหัสอักษร ก คือ 10100001 (A1) อักษร ข คือ 10100010 ฯลฯ เมื่อต้องการแสดงผลตัวอักษร ก ข ค ง เรียงลำดับกันตั้งแต่ตำแหน่งแรก การเริ่มต้นก็คือ การกวาดตรวจของลำอิเล็กตรอนมาที่แถวแรกของตัวอักษร ก ก็จะอ่านค่ารหัสจากหน่วยความจำวีดีทัศน์ ส่งมาเป็นตำแหน่งของวงจรกำเนิดตัวอักษร โดยรหัสบอกแถว ในวงจรกำเนิดตัวอักษรเป็น 001 เมื่อรวมกันจะได้ 10100001001 ซึ่งคือ ตำแหน่งแถวบนของ ก ส่งไปแสดงในการกวาดตรวจของลำอิเล็กตรอนเส้นแรก หากในแต่ละเส้นมีการแสดงตัวอักษรได้ ๘๐ ตัว ก็จะต้องกำหนดจุดสว่าง-มืด ถึง ๘๐ x ๘ หรือ ๖๔๐ จุด ดังนั้นความสัมพันธ์ของส่วนที่จะไปกำหนดวงจรกำเนิดตัวอักษร จึงประกอบด้วยการบอกถึงรหัสตัวอักษรใด และการแสดงในแถวใดของรหัสนั้น ถ้าหากวงจรกำเนิดตัวอักษรให้รูปแบบตัวอักษรแต่ละตัวได้ ๘ เส้น จะต้องใช้รหัสบอกเส้น ๓ บิต

 

ตัวอักษรที่ประกอบขึ้นจากจุดเล็กๆ ในหน่วยความจำ ๑ หมายถึงจุดสว่าง ๐ หมายถึงจุดมืด

 

การวนกวาดตรวจของแต่ละเส้นของลำอิเล็กตรอน ที่กวาดเหมือนการกวาดตรวจแสดงภาพบนจอโทรทัศน์นี้ จะวนอย่างต่อเนื่อง เช่น ถ้ามีการแสดงตัวอักษรในแต่ละ บรรทัดใช้ ๘ เส้น และแสดงตัวอักษรได้ ๒๔ บรรทัด จำนวน เส้นของการกวาดตรวจของลำอิเล็กตรอนจะมีเท่ากับ ๑๙๒ เส้น การกวาดตรวจจะกวาดตั้งแต่เส้นแรกถึงเส้นสุดท้ายแล้ววน กลับมาเส้นแรกใหม่ หรือบางแบบจะกวาดตามเส้นเลขคู่ และเลขคี่สลับกัน

 

การกวาดตรวจของลำอิเล็กตรอนทีละเส้นเพื่อกำเนิดตัวอักษรเป็นจุด

 

สำหรับการแสดงตัวอักษรด้วยระบบกราฟิกนั้น จะ ไม่มีส่วนหน่วยความจำรอม ที่ทำหน้าที่ในการกำเนิดตัว อักษร แต่จะใช้ระบบคำสั่งของซอฟต์แวร์ เพื่อกำหนดจุด ต่างๆ บนจอภาพให้สว่างตามความต้องการ ดังนั้นการมองจอภาพ จึงเสมือนมีจุดเล็กๆ ประหนึ่งการแปรอักษรบน อัฒจันทร์ ถ้าจะให้สว่างที่จุดใดก็ใช้คำสั่งกำหนดให้จุดนั้นๆ สว่างขึ้น ตามความต้องการ

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
Tags
  • Posted By
  • Plookpedia
  • 15 Followers
  • Follow