Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

ขอบจักรวาลอยู่ตรงไหน

Posted By Plook Creator | 17 ก.ค. 60
23,799 Views

  Favorite

หากคุณเป็นจุดศูนย์กลางของจักรวาล แล้วคนอื่นหมุนรอบตัวของคุณ ที่สุดสายตาของคุณนั้นคืออะไร ดาวดวงไหนไกลที่สุด มันเป็นหลุมดำ กลุ่มดาวเคราะห์น้อย หรือว่าเป็นเพียงหมอกก๊าซ อันที่จริงมนุษย์เรามองเห็นได้ไกลถึงขอบของจักรวาลหรือไม่ ขอบทะเล ขอบฟ้าว่ามองเห็นยากแล้วแต่หากมีกล้องโทรทรรศน์ที่มีกำลังขยายดี ๆ ก็อาจจะมองเห็นได้ หากนั่งอยู่ริมหาดและใช้กล้องส่องทางไกลส่องไปยังขอบฟ้านั้น มันคือท้องฟ้ากับทะเล และก็ยังมีท้องฟ้ากับทะเลที่ไกลออกไปอีก ไกลจนสุดสายตาก็ยังเป็นฟ้ากับทะเล แต่จักรวาลที่มืดมิดอาจจะทำให้เราเห็นอะไรได้ยากกว่านั้น คุณจะรู้ได้อย่างไรว่าสิ่งที่คุณเห็นอยู่คือความว่างเปล่าจริง ๆ หรืออาจจะเป็นหลุมดำ

 

ขอบจักรวาล (Edge of Universe) เป็นหนึ่งในหัวข้อที่นักวิทยาศาสตร์กำลังขบคิด แม้เราจะยังเรียนรู้เกี่ยวกับตัวของเรา สิ่งที่อยู่รอบตัวของเรา โลกของเรา ระบบสุริยะของเรา กาแล็กซีของเราไม่หมด ยังไม่ถ้วนถี่ แต่เราก็คงมองออกไปโดยรอบ มีทฤษฎีมากมายอ้างอิงถึงการขยายตัวอันเป็นอนันต์ (Infinite) ของจักรวาลนับตั้งแต่การเกิดขึ้นของการระเบิดครั้งใหญ่ (Big Bang) จากข้อมูลและหลักฐานที่เก็บรวบรวมมาตั้งแต่กาลิเลโอเริ่มสำรวจจักรวาลด้วยกล้องโทรทรรศน์ชนิดหักเหแสง แนวคิดหนึ่งที่ค่อนข้างแน่นอนก็คือ จักรวาลของเราขยายตัวเรื่อยมานับตั้งแต่การระเบิดครั้งใหญ่ และยังไม่มีทีท่าว่าจะหยุดลง ไม่มีสัญญาณใด ๆ ที่บอกว่าการขยายตัวที่เกิดขึ้นอยู่นี้เกิดขึ้นช้าลง แต่กลับขยายออกไปในอัตราเร่งทวีคูณ ซึ่งเป็นเรื่องที่เข้าใจได้ยาก

 

หากเราเปรียบเทียบกับการระเบิดทั่วไปที่เรารู้จัก มันจะรุนแรงและค่อย ๆ ลดความรุนแรงลงจนสงบในที่สุด และนั่นทำให้มีสมมติฐานเรื่องสสารมืดและพลังงานมืดมาประกอบ อันที่จริงก็เหมือนกับการหาแพะมาเพื่ออธิบายข้อสงสัยว่ามันคงเป็นปัจจัยที่ทำให้พลังงานยังไม่หมดไป ซึ่งเราก็มองไม่เห็นหรือตรวจสอบมันไม่ได้เพราะว่ามันมืด แต่หากคิดอีกทีมันจะมีขอบจักรวาลได้อย่างไรหากมันกำลังขยายตัวอยู่ตลอดเวลาเป็นระยะอนันต์ ข้อสงสัยทั้งหลายจบลงที่ว่า ยังไม่มีใครทำการทดลอง ทดสอบ สมมติฐานที่กล่าวมาข้างต้นทั้งหมดได้เลย

ภาพ : Shutterstock

 

จักรวาลของเรามีขนาดเท่าไร นักดาราศาสตร์ระบุว่าจักรวาลของเรามีความกว้าง 93 ล้านปีแสง ซึ่งความกว้างที่ระบุได้นี้เป็นความกว้างหรือเส้นผ่านศูนย์กลางของ Observable Universe นั่นคือ จักรวาลที่มองเห็น หรือรัศมีของจักรวาลที่กำลังขยายและมองเห็นได้โดยนับจากจุดศูนย์กลางคือ 46 ล้านปีแสง ขอบของจักรวาลที่เรามองเห็นได้เรียกว่า Particle Horizon โดยระยะทาง 46 ล้านปีแสงนี้คือ ระยะทางที่แสงเดินทางได้เป็นเวลา 46 ล้านปีไปจนถึง Particle Horizon ที่จักรวาลถูกหยุดเวลาไว้ไม่ให้ขยายตัวออกไปอีก ซึ่งความเป็นจริงมันก็ยังคงขยายตัวอยู่ตลอดเวลา และอย่าลืมว่า 1 ปีแสง คือ ระยะทาง 9,460,730,220,120 กิโลเมตร แต่การเดินทางที่แท้จริงของเราจากจุดใด ๆ ไปยัง Particle Horizon เกิดขึ้นเมื่อจักรวาลขยายตัวอย่างต่อเนื่อง ยิ่งเราเดินทางใกล้จุดหมายเข้าไปมากเท่าไร ระยะก็จะยิ่งขยายตัวออกไปมากขึ้นเท่านั้น แม้ว่าคุณสามารถนั่งกระสวยอวกาศซึ่งทำความเร็วได้เทียบเท่าความเร็วแสงก็ตาม มันแปลว่าคุณต้องเดินทางเป็นระยะอนันต์ และไม่มีทางไปถึงขอบได้ แนวคิดนี้เหมือนกับที่เกิดขึ้นกับหลุมดำ และ Event Horizon ของหลุมดำ คือเมื่อคุณเดินทางไปถึงบริเวณขอบของหลุมดำแล้วคุณก็จะไม่ได้รับข้อมูลอะไรอีกเนื่องจากแสงทั้งหมดถูกดูดเข้าไปภายใน ทุกสิ่งถูกหยุดไว้ที่จุดนั้น

 

การเรียนรู้เกี่ยวกับจักรวาลของเราเกิดขึ้นโดยอ้างอิงจากสิ่งที่เร็วที่สุดที่เรารู้จัก นั่นคือ แสง แต่ความจริงก็คือจะเราจะไม่มีทางรู้จัก หรือไปถึงสุดขอบจักรวาลได้เลย เพราะไม่ว่าสัญญาณใด ๆ ที่ถูกส่งออกจากขอบจักรวาลกลับมายังโลก ก็ไม่มีทางมาถึงโลกของเราได้เพราะว่ามันไม่มีทางที่จะเดินทางได้เร็วกว่าแสง และต่อให้มันสามารถเดินทางได้เร็วเท่าแสง กว่ามันจะเดินทางมาถึงโลกก็อาจจะไม่มีโลกนี้อยู่รอรับแล้ว และหากพิจารณาเรื่องการขยายตัวอันเป็นอนันต์ของจักรวาลเพิ่มเข้าไป ระยะทางจากสุดขอบจักรวาลนั้นเพิ่มขึ้นเร็วพอ ๆ หรืออาจจะมากกว่าความเร็วของแสง ซึ่งนั่นทำให้สัญญาณไม่มีทางที่จะเดินทางมาถึงโลกของเราอยู่ดี

 

ตอนนี้นักวิทยาศาสตร์จึงยังได้แต่คิดแล้วก็สงสัยว่าขอบจักรวาลนั้นมีอยู่จริงหรือไม่ ถ้าหากมี แล้วการส่งยานอวกาศเดินทางออกไป โดยหวังว่ามันจะเดินทางไปได้ไกลจนถึงสุดขอบจักรวาลและส่งข้อมูลกลับมาว่ามีอะไรอยู่ตรงนั้น อาจจะเป็นการค้นหาคำตอบที่ตรงไปตรงมาที่สุด แต่เป็นสิ่งที่ไม่น่าเกิดขึ้นได้มากที่สุด

 

 

 

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
Tags
  • Posted By
  • Plook Creator
  • 15 Followers
  • Follow