Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

ไทยกับสงครามโลกครั้งที่ ๒

Posted By Plookpedia | 05 ก.ค. 60
4,461 Views

  Favorite

ไทยกับสงครามโลกครั้งที่ ๒

สงครามโลกครั้งที่ ๒ เกิดขึ้นในยุโรปตั้งแต่ พ.ศ. ๒๔๘๒ เมื่ออังกฤษและฝรั่งเศสประกาศสงครามกับเยอรมนี แล้วเลยลุกลาม เป็นสงครามโลก ทางด้านเอเชีย ญี่ปุ่น ประกาศสงครามกับสัมพันธมิตร เมื่อวันที่ ๗ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๘๔ ต่อมาวันที่ ๘ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๘๔ กองทหารญี่ปุ่นก็เข้าเมืองไทยทางสงขลา ปัตตานี ประจวบคีรีขันธ์ นครศรีธรรมราช สุราษฎร์ธานี และสมุทรปราการ ขณะเดียวกัน ญี่ปุ่นก็เข้าโจมตีเกาะฮาวาย ฟิลิปปินส์ และส่งทหารขึ้นบกที่มลายู และโจมตีสิงคโปร์ทางเครื่องบิน เอกอัครราชทูตญี่ปุ่นได้ขอร้องรัฐบาลไทย ให้ทหารญี่ปุ่นเดินทัพผ่านไทย เพื่อไปโจมตีพม่า และมลายูของ อังกฤษ และขอให้ระงับการต่อต้านของคนไทยเสีย คณะรัฐมนตรีโดยมีจอมพลแปลก พิบูลสงคราม เป็นนายกรัฐมนตรี ก็อนุโลมตามความต้องการของญี่ปุ่น เพื่อรักษาชีวิตและเลือดเนื้อ ของคนไทย ไทยได้ทำกติกาสัมพันธไมตรีกับญี่ปุ่นเมื่อวันที่ ๒๑ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๘๔ สงครามที่เกิดขึ้นในเอเชียนี้เรียกกันว่า สงครามมหาเอเชียบูรพา ญี่ปุ่นมีวัตถุประสงค์ จะสร้างวงศ์ไพบูลย์มหาเอเชียบูรพา (The Greater East Asia Co-prosperity Sphere) ทั้งในทางวัฒนธรรม การเมือง และเศรษฐกิจ ซึ่งประกอบด้วยประเทศต่างๆ ในเอเชีย โดยมีญี่ปุ่นเป็นผู้นำ 

ในระยะเริ่มแรกของสงคราม กองทัพญี่ปุ่นมีชัยชนะทั้งทางบก ทางเรือ และทางอากาศ ทำให้รัฐมนตรีบางคน เห็นควรให้ไทยประกาศสงครามกับอังกฤษ และสหรัฐอเมริกา ด้วยคิดว่า ญี่ปุ่นจะชนะสงคราม ไทยจึงได้ประกาศสงคราม เมื่อวันที่ ๒๕ มกราคม พ.ศ. ๒๔๘๕ ระหว่างสงครามนั้น ญี่ปุ่นได้โอนดินแดนบางแห่ง ที่ยึดได้จากอังกฤษ คืนให้แก่ไทย คือ รัฐไทรบุรี กลันตัน ตรังกานู ปะลิส และสองรัฐในแคว้นไทยใหญ่ คือ เชียงตุง และเมืองพาน

ญี่ปุ่นแพ้สงครามเมื่อวันที่ ๒๔ สิงหาคม พ.ศ. ๒๔๘๘ รัฐบาลไทยประกาศว่า การประกาศสงครามกับสัมพันธมิตรเป็นโมฆะ เพราะขัดต่อรัฐธรรมนูญ และความประสงค์ของประชาชนชาวไทย ไทยต้องปรับความเข้าใจกับสัมพันธมิตร สหรัฐอเมริกามิได้ถือไทยเป็นศัตรู ตามประกาศของรัฐบาลสหรัฐอเมริกา โดย นาย เจมส์ เบิรนส์ (James Byrnes) รัฐมนตรีต่างประเทศเป็นผู้ลงนาม แต่รัฐมนตรีต่างประเทศอังกฤษ นายเออร์เนสต์ เบวิน (Ernest Bevin) ไม่ยอมรับทราบการโมฆะของการประกาศสงครามง่ายๆ วันที่ ๑ มกราคม พ.ศ. ๒๔๘๙ (เวลานั้น ม.ร.ว. เสนีย์ ปราโมช เป็นหัวหน้ารัฐบาล) ผู้แทนไทยได้ลงนามกับผู้แทนอังกฤษ ที่สิงคโปร์ ความตกลงนี้เรียกว่า "ความตกลงสมบูรณ์แบบ เพื่อเลิกสถานะสงคราม ระหว่างประเทศไทยกับบริเตนใหญ่ และอินเดีย" ที่สำคัญคือ ไทยต้องคืนดินแดนของอังกฤษ ที่ได้มาระหว่างสงคราม ให้ข้าวสารโดยไม่คิดเงินถึง ๑.๕ ล้านตัน และต้องชดใช้ค่าเสียหายต่างๆ แต่ต่อมา ไทยเจรจาขอแก้ไข โดยฝ่ายอังกฤษสัญญาจะจ่ายเงินค่าข้าวสารให้บ้าง

ไทยสมัครเข้าเป็นสมาชิกสหประชาชาติ และได้เข้าเป็นสมาชิก เมื่อเดือนธันวาคม พ.ศ. ๒๔๘๙ โดยปฏิบัติตามเงื่อนไขบางประการ เช่น ทำสัญญาทางไมตรีกับจีน (หลังสงคราม จีนเป็นมหาอำนาจ เพราะเป็นฝ่ายชนะสงครามด้วย สัญญานี้ เป็นสัญญาฉบับแรก ระหว่างไทยกับจีน ทั้งๆ ที่ได้มีไมตรีกันมานานนับร้อยๆ ปี) ไทยยอมรับรองสหภาพสาธารณรัฐโซเวียตโซเชียลิสต์ และไทยยอมคืนดินแดนที่เราได้มาจากอนุสัญญากรุงโตเกียว หลังสงครามอินโดจีนให้แก่ฝรั่งเศส

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล ประทับคู่กับลอร์ด หลุยส์ เมาท์แบตแตนในพิธีสวนสนามของเสรีไทยที่สนามหลวง หลังสงครามโลกครั้งที่ ๒

 

การที่ไทยเอาตัวรอดได้ทั้งๆ ที่อยู่ในฝ่ายประเทศแพ้สงครามนี้ ขบวนการเสรีไทยมีส่วนช่วยเหลือเป็นอย่างมาก ทำให้ประเทศสัมพันธมิตร โดยเฉพาะสหรัฐอเมริกาเห็นใจเมืองไทย ม.ร.ว. เสนีย์ ปราโมช อัครราชทูตไทยประจำสหรัฐอเมริกา ได้ประท้วงการประกาศสงครามของรัฐบาลไทย และได้รวบรวมคนไทยในสหรัฐอเมริกาขึ้น เป็นขบวนการ เสรีไทยต่อต้านญี่ปุ่น ในอังกฤษก็มีขบวนการเสรีไทยเช่นเดียวกัน ติดต่อกับหน่วยพลพรรคใต้ในดินประเทศ ซึ่งมีนายปรีดี พนมยงค์ ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์เป็นหัวหน้า เสรีไทยทั้งหลายเตรียมที่จะจับอาวุธขึ้นต่อสู้กับญี่ปุ่น ตามวันเวลาที่นัดหมาย พร้อมๆ กับกำลังของสัมพันธมิตรที่จะรุกเข้ามาทางพม่า แต่ญี่ปุ่นได้ยอมแพ้เสียก่อน

สมเด็จพระนางเจ้าอลิซาเบธที่ ๒ แห่งสหราชอาณาจักร เสด็จเยือนเมืองไทย เมื่อ พ.ศ. ๒๕๑๕

หลังสงครามโลกครั้งที่ ๒ ไทยได้ร่วมมือกับฝ่ายโลกเสรี อันมีสหรัฐอเมริกา และอังกฤษเป็นหัวหน้า ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๔๙๓ รัฐบาลไทยยอมรับความช่วยเหลือทางเศรษฐกิจ และทางทหาร จากสหรัฐอเมริกา และใน พ.ศ. ๒๔๙๘ ก็ได้ร่วมมือกับประเทศอื่นๆ รวม ๘ ประเทศ จัดตั้งองค์การป้องกันร่วมกันแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เรียกโดยย่อว่า องค์การซีโต หรือ สปอ. (SEATO-South East Asia Treaty Organization) นอกจากนั้น ไทยยังเป็นภาคีสมาชิกของแผนการโคลัมโบ (Columbo Plan) ของประเทศในเครือจักรภพอีกด้วย (แผนการโคลัมโบ เป็นโครงการ เพื่อการช่วยเหลือซึ่งกันและกัน ทางด้านเทคนิค และด้านเศรษฐกิจของประเทศ ในเครือจักรภพ เริ่มขึ้นเมื่อ พ.ศ. ๒๔๙๓ นอกจากประเทศ ในเครือจักรภพ ซึ่งมีอังกฤษ แคนนาดา ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ เป็นตัวตั้งตัวตี ที่จะช่วยเหลือประเทศที่เพิ่งได้รับเอกราช ได้แก่ อินเดีย ปากีสถาน และลังกาแล้ว ต่อมาได้มีประเทศต่างๆ เข้ามาสมทบอีก คือ เขมร ลาว เวียดนาม พม่า เนปาล อินโดนีเซีย ไทย ฟิลิปปินส์ ญี่ปุ่น เกาหลี ภูฏาน อัฟกานิสถาน หมู่เกาะมัลดีฟ และสหรัฐอเมริกา)

นอกจากความสัมพันธ์กับประเทศต่างๆ ดังกล่าวมาแล้ว ไทยยังได้ติดต่อกับประเทศเพื่อนบ้านอื่นๆ อีก เช่น ได้ติดต่อค้าขายกับจีน อินเดีย ชวา มลายู ลังกา เป็นต้น มาแล้วตั้งแต่สมัยสุโขทัยและสมัยกรุงศรีอยุธยา ชาวต่างประเทศเหล่านี้ ได้อพยพเข้ามาตั้งภูมิลำเนาอยู่ในเมืองไทยก็มีมาก สำหรับชาวจีนและชาวอินเดียนั้น ได้เข้ามามีบทบาทสำคัญในเมืองไทย ถึงกับมีตำแหน่งขุนนาง ที่เรียกว่า "กรมท่าซ้าย" หรือตำแหน่ง "โชฎึกราชเศรษฐี" หัวหน้าชาวจีน และ "กรมท่าขวา" หรือตำแหน่ง "จุฬาราชมนตรี" เป็นหัวหน้าชาวมุสลิมทั้งหลาย ตั้งแต่สมัยสุโขทัย จีนได้แต่งทูตพร้อมเครื่องบรรณาการ ติดต่อกับไทยเสมอมา จนเกิดการเข้าใจผิดกันในข้อที่ว่า จีนถือว่า ไทยเป็นเมืองขึ้นของตน ถึงรัชกาล พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระองค์ไม่โปรดวิธีการตีขลุมของจีน จึงเลิกส่งบรรณาการไปเมืองจีนแต่นั้นมา แต่ยังคงติดต่อค้าขายกันอยู่เป็นปกติ มีคนจีนอพยพมาตั้งรกรากทำมาหากินในเมืองไทยเป็นจำนวนมาก ที่ได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็นขุนนางก็มีไม่น้อย เมื่อพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกจะทรงสร้างกรุงเทพมหานคร ฯ นั้น โปรดให้สร้างพระมหามนเทียรขึ้นตรงที่เป็นที่อยู่อาศัยของพระยาราชาเศรษฐีและชาวจีนหมู่หนึ่งจึงโปรดให้ย้ายที่อยู่ ของพระยาราชาเศรษฐีและชาวจีนหมู่นั้น ไปตั้งบ้านเรือนอยู่แถบคลองวัดสามปลื้มจนถึงคลองวัดสามเพ็ง สำหรับอินเดียนั้น สภาพการณ์ทางการเมืองทำให้ต้องเกี่ยวข้องกับไทย สมัยมาควิส เฮสติงส์ ได้เป็นผู้สำเร็จราชการอินเดีย แล้วส่งทูตเข้ามาเมืองไทย ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยดังได้กล่าวแล้ว สำหรับลังกานั้น ก็ได้ติดต่อค้าขาย และแลกเปลี่ยนสมณทูตกับไทยมาตั้งแต่สมัยสุโขทัยจนถึงสมัยรัตนโกสินทร์

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถเสด็จเยือนสหรัฐอเมริกา เมื่อ พ.ศ. ๒๕๐๓

 

ทางด้านพม่า ความสัมพันธ์กับไทยเป็นไปในด้านการสงครามเป็นส่วนใหญ่ ไทยกับพม่าทำสงครามขับเคี่ยวกันมา ตั้งแต่สมัยศรีอยุธยา นับเป็นเวลาประมาณเกือบ ๓๐๐ ปี ในสมัยรัชกาลที่ ๑ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์นั้น ไทยได้ทำสงครามกับพม่าถึง ๘ ครั้งด้วย กัน ครั้งสำคัญก็คือสงครามเก้าทัพ เมื่อ พ.ศ. ๒๓๒๘ และสงครามที่สามสบ ท่าดิน แดง เมื่อ พ.ศ. ๒๓๒๙ สงครามไทย-พม่าเพิ่งจะมาสิ้นสุดลงในรัชกาลพระบาทสมเด็จ- พระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่ออังกฤษได้เข้ามาแทรกแซงในพม่า ได้ทำสงครามกับพม่าถึง ๓ ครั้ง จนพม่าต้องตกไปเป็นเมืองขึ้นของอังกฤษ กองทัพไทยยังได้ยกเข้าไปในเขตแดนพม่า ตามคำชักชวนของอังกฤษ ใน พ.ศ. ๒๓๖๗ นัยว่า เพื่อช่วยอังกฤษรบพม่า แต่เกิดผลประโยชน์ขัดกันขึ้น ไทยจึงถอนทหารกลับ อันเป็นสาเหตุหนึ่ง ที่ทำให้อังกฤษส่งนาย เฮนรี่ เบอร์นี มายังกรุงเทพฯ ดังกล่าวแล้ว

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช เสด็จเยือนพม่า เมื่อ พ.ศ. ๒๕๑๓

ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระองค์ได้เสด็จประพาส ประเทศใกล้เคียง เมื่อต้นรัชกาล คือ ได้เสด็จไปสิงคโปร์และชวา เมื่อ พ.ศ. ๒๔๑๔ เมื่อกลับมาแล้ว ก็ได้เสด็จอินเดียและพม่าต่อไปอีก นับเป็นพระมหากษัตริย์ไทยพระองค์แรก ที่เสด็จไปพม่า ในฐานะที่เป็นไมตรีกัน
เขมรมีความสัมพันธ์กับไทยมาแต่สมัยโบราณ อาณาจักรสุโขทัยซึ่งเดิมเรียกว่า "แคว้นสามเทศ" หรือ "สยามเทศ" นั้น ก็ขึ้นอยู่กับอาณาจักรเขมรมาก่อน ต่อมาคนไทยจึงได้รวบรวมกำลังยึดอำนาจการปกครองจากเขมร ขับไล่เขมรออกไป ตั้งอาณาจักรสุโขทัยขึ้น ราว พ.ศ. ๑๘๐๐ ไทยรับวัฒนธรรมหลายอย่างมาจากเขมร เช่น ขนบธรรมเนียมประเพณีและศาสนา ซึ่งเขมรรับมาจากอินเดียอีกทอดหนึ่ง สมัยกรุงศรีอยุธยา เขมรทำสงครามกับไทยหลายครั้ง และเคยตกอยู่ใต้อำนาจของไทย อีกประเทศหนึ่งที่เขมรติดต่อใกล้ชิด คือ เวียดนาม อันเป็นเหตุเกี่ยวโยงให้ไทยต้องไปมีความสัมพันธ์กับเวียดนามด้วย โดยเฉพาะต้นสมัยรัตนโกสินทร์ ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก กษัตริย์เขมรคือ สมเด็จพระนารายณ์ราชา (นักองเอง) นั้น ก็เป็นผู้ที่พระมหากษัตริย์ของไทยทรงแต่ตั้งไปครอง "อาณาจักรกัมพูชา" หรือเมืองเขมร เมื่อเวียดนามเกิดกบฏ ไตเซิน (Tay-Son) ขึ้น มีเชื้อสายราชวงศ์เวียดนาม ชื่อองเชียงสือ หนีเข้ามาพึ่งพระบรมโพธิสมภาร ในรัชกาล พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก เมื่อปลายปี พ.ศ. ๒๓๒๕ ต่อมาองเชียงสือออกไปกู้บ้านเมืองได้สำเร็จ ตั้งตัวเป็นจักรพรรดิ แห่งอาณาจักรเวียดนาม ทรงพระนามว่า ยาลอง (Gia-Long) ครั้นสิ้นสมัยรัชกาลที่ ๑ แล้ว เวียดนามแสดงท่าทีไม่เป็นมิตรต่อไทยเหมือนเดิม เช่น ขอเมืองบันทายมาศคืนจากไทย และเข้ามายุ่งเกี่ยวกับกิจการภายใน ของเขมรอยู่เสมอ ในที่สุดได้เกิดสงครามยืดเยื้อขึ้น ในรัชกาลที่ ๓ เป็นเวลาถึง ๑๓ ปี อาจเรียกได้ว่า เป็นสงครามชิงความเป็นใหญ่ ในดินแดนเขมรระหว่างไทยกับเวียดนาม แม่ทัพสำคัญของไทยในสงครามนี้ คือ เจ้าพระยาบดินทร์เดชา (ต้น สกุล สิงหเสนี) ในที่สุดเจ้าเขมรชื่อนักองด้วงที่ฝ่ายไทยสนับสนุนอยู่ ได้รับการสถาปนาเป็น สมเด็จพระหริรักษ์รามาธิบดี พระเจ้าแผ่นดินเขมร แต่ในขณะเดียวกัน เขมรก็ยังคงส่งเครื่องบรรณาการไปเวียดนาม ๓ ปีต่อครั้ง จนกระทั่งเวียดนามเป็นเมืองขึ้นของฝรั่งเศสใน พ.ศ. ๒๔๒๗ ทางกรุงกัมพูชา นักองราชาวดีซึ่งเข้ามาอยู่ในกรุงเทพ ฯ ได้กลับออกไปครองเมืองเขมรสืบต่อมาจากพระราชบิดา เมื่อ พ.ศ. ๒๔๐๓ ทรงพระนามว่า สมเด็จพระนโรดม แต่ครั้น พ.ศ. ๒๔๐๖ ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ไทยก็ต้องปล่อยให้เขมรตกอยู่ในความคุ้มครองของฝรั่งเศส ได้มีการลงนามในสนธิสัญญาระหว่างฝรั่งเศสของไทย เมื่อ พ.ศ. ๒๔๑๐

สำหรับลาว อาจกล่าวได้ว่าลาวมีประวัติศาสตร์ร่วมกันมากับไทย เพราะเป็นคนไทย ที่ได้อพยพลงมาทางลุ่มแม่น้ำโขงด้วยกัน แต่ได้แยกกันไปตั้งอาณาจักร สมัยขุนบรม ครองอาณาจักรอยู่ที่เมืองแถง โอรสองค์หนึ่งชื่อขุนลอหรือขุนซัว ได้แยกออกไปตั้งอาณาจักรลานช้าง มีหลักฐานในศิลาจารึกว่า ลาวขึ้นอยู่กับไทยมาตั้งแต่สมัยพ่อขุนรามคำแหง บางครั้งที่ลาวมีประมุขที่เข้มแข็ง ลาวก็เป็นอิสระ เช่น สมัยพระเจ้าฟ้างุ้ม ซึ่งปกครองลาว อยู่ระหว่าง พ.ศ. ๑๘๙๖-๑๙๑๖ สมัยกรุงศรีอยุธยาลาวกับไทยมีความสัมพันธ์อันดีต่อกัน เป็นส่วนใหญ่ บางครั้งเป็นอิสระ บางครั้งขึ้นกับไทย เมื่อไทยรบพม่า สมัยสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ พระไชยเชษฐาแห่งอาณาจักรลานช้างก็เป็นมิตรกับอยุธยา โดยการส่งกองทัพ ลานช้างมาช่วย อาณาจักรลาวได้รวมอยู่ในความปกครองของไทยโดยเด็ดขาดในสมัยสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี เมื่อสมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึก ยกทัพไปตีเมืองเวียงจันทน์ เมื่อ พ.ศ. ๒๓๑๙ ครั้งไทยได้หัวเมืองลาวทั้งหมดมาขึ้นกับไทย คือ รวมทั้งหลวงพระบาง จัมปาศักดิ์ สิบสองจุไทย และหัวพันทั้งห้าทั้งหก ในครั้งนั้น ไทยได้นำพระแก้วมรกต ซึ่งพระเจ้าไชยเชษฐาแห่งหลวงพระบาง ได้อัญเชิญไปจากเชียงใหม่ ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๐๙๕ กลับคืนมาประดิษฐานไว้ที่กรุงธนบุรี สมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว เจ้าอนุวงศ์เมืองเวียงจันทร์เป็นกบฏ ยกทัพลงมากวาดต้อนผู้คนถึงสระบุรี กองทัพไทย ปราบกบฏได้ ขณะที่กำลังทหารเมืองจัมปาศักดิ์ของลาวเข้ามากวาดต้อนผู้คนไปจากเมืองนครราชสีมานั้น คุณหญิงโม ภรรยาพระยาปลัดเมืองนครราชสีมาได้เป็นหัวหน้ารวบรวม สตรีและครอบครัวเมืองนครราชสีมาที่ถูกกวาดต้อนไปนั้น จับอาวุธขึ้นต่อสู้จนทัพลาวแตกหนี เสร็จศึกแล้ว พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงแต่งตั้งคุณหญิงโมให้เป็นท้าวสุรนารี ครั้งนั้นโปรดให้ทำลายเมืองเวียงจันทร์เสีย แล้วจัดการปกครองหัวเมืองลาวใหม่ มาถึงสมัย พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อฝรั่งเศสได้เขมรและเวียดนาม หมดแล้วก็เริ่มแผ่อำนาจเข้ามาในอาณาจักรลาว เริ่มตั้งแต่ครั้งปราบศึกฮ่อเป็นต้นมา จนไทยเสียดินแดนอาณาจักรลาวทั้งหมดให้แก่ฝรั่งเศสในรัชกาลนี้ดังกล่าวแล้ว

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช และสมเด็จพระเจ้ามหาชีวิตแห่งราชอาณาจักรลาว
 ในงานพิธีเปิดสายส่งไฟฟ้าแรงสูงเชื่อมโยงระหว่างประเทศไทยกับราชอาณาจักรลาว กลางแม่น้ำโขง เมื่อ พ.ศ. ๒๕๑๑

 

ทางมลายู เป็นที่เข้าใจกันว่าเมืองสำคัญในแหลมมลายู เช่น ไทรบุรี ปัตตานี นั้น อยู่ในครอบครองของไทยมาแต่สมัยสุโขทัย ตามจารึกของพ่อขุนรามคำแหง ไทรบุรีเคยขึ้นกับอาณาจักรศรีวิชัย (อาณาจักรโบราณทางใต้) มาก่อน ต่อมาเมื่อมะละกามีอำนาจ ก็ขึ้นกับมะละกาบ้าง ขึ้นกับไทยบ้าง เมื่อมะละกาตกไปเป็นของโปรตุเกสก็ขึ้นกับไทยตลอดมา ส่วนปัตตานีนั้นขึ้นกับไทย มาตั้งแต่สมัยกรุงสุโขทัย เมื่อกรุงศรีอยุธยาเสียแก่พม่า หัวเมืองทางแหลมมลายูนี้ต่างก็ตั้งตัวเป็นอิสระใน พ.ศ. ๒๓๒๘ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกโปรดให้กองทัพไทยไปตีไทรบุรี ปัตตานี คืนมาเป็นเมืองขึ้นของไทย ส่วนกลันตัน และตรังกานูนั้น ก็พากันมาอ่อนน้อม ไทยได้จัดการปกครองหัวเมืองมลายูใหม่ เช่น ในรัชสมัย พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยได้แบ่งเมืองปัตตานีออกเป็น ๗ หัวเมือง ให้เมืองนครศรีธรรมราชเป็นผู้ดูแลไทรบุรี ส่วนปัตตานี ตรังกานู ขึ้นกับเมืองสงขลา กลันตันซึ่งเคยขึ้นกับตรังกานูขอมาขึ้นตรงต่อกรุงเทพฯ อังกฤษเองขยายอำนาจมาทางมลายู เพื่อหาเมืองท่าทำการค้า เริ่มแต่ฟรานซิส ไลท์ (Francis Light) แห่งบริษัทอินเดียตะวันออก มาขอเช่าเกาะหมาก (ปีนัง) จากไทรบุรี เมื่อ พ.ศ. ๒๓๒๙ และอังกฤษได้โอกาสเข้าแทรกแซงหัวเมืองในมลายูแต่นั้นมา ครั้งหนึ่งเคยส่ง จอห์น ครอว์เฟิร์ด เข้ามาเจรจาขอให้เมืองไทรบุรีเป็นอิสระจากไทยในสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ในที่สุดความพยายามของอังกฤษก็เป็นผลสำเร็จ ไทยต้องเสียเมืองขึ้นในมลายูให้แก่อังกฤษ ในรัชกาล พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ดังกล่าวแล้ว

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช เสด็จต่างประเทศ

 

ระหว่างสงครามโลกครั้งที่ ๒ ญี่ปุ่นได้เข้ายึดครองประเทศต่างๆ ที่เป็นอาณานิคม ของมหาอำนาจตะวันตกในเอเซีย อันได้แก่ มลายู สิงคโปร์ อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ ตลอดจนพม่าและอินโดจีนของฝรั่งเศส คือ เวียดนาม ลาว และเขมร เมื่อสงครามสงบ ลงใน พ.ศ. ๒๔๘๘ แล้ว มหาอำนาจต่างๆ กลับเข้าไปจัดการกิจการภายในประเทศเหล่านี้ ใหม่ แต่ปรากฏว่า ประชาชนในประเทศเหล่านี้ ต่างพากันเคลื่อนไหวเรียกร้องอิสรภาพ และในระยะนั้น มหาอำนาจก็ได้แบ่งออกเป็นสองค่าย คือ ค่ายเสรีประชาธิปไตย ซึ่งมีสหรัฐอเมริกาเป็นผู้นำ และค่ายคอมมิวนิสต์ ซึ่งมีสหภาพโซเวียตเป็นผู้นำ

หลังจาก พ.ศ. ๒๔๙๓ เป็นต้นมา ประเทศต่างๆ ที่เคยเป็นอาณานิคมก็ได้รับ เอกราชกันโดยลำดับ แต่บางประเทศ ก็ประสบปัญหายุ่งยากต่อมา เช่น เวียดนาม ซึ่งได้ แบ่งประเทศออกเป็นสองฝ่าย คือ สาธารณรัฐประชาธิปไตยแห่งเวียดนามเหนือ ซึ่งมีโฮจิมินห์เป็นประมุข และมีสาธารณรัฐประชาชนจีนรับรอง และเวียดนามใต้ ซึ่งมีอดีตจักรพรรดิเบาได๋เป็นประมุข และมีอังกฤษและสหรัฐอเมริการับรอง ถึง พ.ศ. ๒๔๙๘ เมื่อเวียดนามใต้ได้เปลี่ยนฐานะไปเป็นสาธารณรัฐเวียดนาม มีโงดินเดียมเป็นประธานาธิบดี สงครามระหว่างสองฝ่าย ก็ยังคงดำเนินไป จนฝ่ายเวียดนามเหนือได้เข้าครอบครองเวียดนาม ทั้งประเทศเมื่อ พ.ศ. ๒๕๑๘ หลังจากที่สหรัฐอเมริกาได้ถอนตัวออกจากสงครามไปแล้ว 

ในลาวและเขมร มีการต่อสู้ระหว่างสองค่ายนี้เช่นเดียวกัน เช่น ในลาวมีขบวนการปะเทดลาว ซึ่งร่วมมืออย่างใกล้ชิดกับเวียดนามเหนือ ในที่สุดประเทศทั้งสองก็ได้กลายเป็นสาธารณรัฐภายหลังชัยชนะของค่ายคอมมิวนิสต์ใน พ.ศ. ๒๕๑๘ 

ในมลายู หลังจากขั้นตอนต่างๆ ของการรวมรัฐทั้งหลายเข้าด้วยกันในที่สุด ใน พ.ศ. ๒๕๐๖ ได้มีการจัดตั้งสหพันธ์มาเลเซียขึ้น โดยรวมสิงคโปร์ ซาราวัก และซาบาห์ (บอร์เนียวเหนือ) เข้าด้วย แต่ต่อมาอีก ๒ ปี สิงคโปร์ก็แยกตัวออกไปเป็นประเทศอิสระ 

ไทยเข้าร่วมอยู่ในค่ายเสรีประชาธิปไตย เพราะหลังสงครามโลกครั้งที่ ๒ ไทยได้มีความสัมพันธ์อันหลีกเลี่ยงไม่ได้กับสหรัฐอเมริกา ซึ่งได้ช่วยเหลือให้ไทยหลุดพ้นจากภาระอันหนักของประเทศแพ้สงคราม และสนับสนุนให้การประกาศสงครามของไทย ต่อสัมพันธมิตร เป็นโมฆะ ใน พ.ศ. ๒๔๙๒ รัฐบาลจีนคอมมิวนิสต์มีชัยชนะต่อรัฐบาลก๊ก มินตั๋งของจอมพลเจียงไคเช็ค ซึ่งถอยมาตั้งเป็นอิสระอยู่ที่เกาะไต้หวัน ไทยก็ได้มีสัมพันธภาพทางการทูตกับรัฐบาลที่ไต้หวันเป็นลำดับมา เมื่อเกิดสงครามเกาหลีขึ้น ใน พ.ศ. ๒๔๙๓ รัฐบาลไทยก็ได้ส่งกองทหารไปร่วมรบกับทหารชาติอื่นๆ ของสหประชาชาติ และไทยยังได้เป็นสมาชิกขององค์การ สปอ. ดังได้กล่าวแล้ว 

ในพ.ศ. ๒๕๐๔ ฟิลิปปินส์ มาเลเซีย และไทยร่วมกันจัดตั้งสมาคมเอเชียตะวันออก เฉียงใต้ (The Association of Southeast Asia) หรือเรียกย่อๆ ว่า สมาคมอาสา (ASA) ขึ้น และเมื่อมีการประชุมสมาคมอาสาใน พ.ศ. ๒๕๑๐ ได้ตกลงขยายเขตอาสาออกไป เปลี่ยนชื่อใหม่เป็น The Association of Southeast Asian Nations หรือเรียกย่อๆ ว่า สมาคมอาเซี่ยน (ASEAN) ประกอบด้วย อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ มาเลเซีย สิงคโปร์ และไทย มีวัตถุประสงค์จะร่วมมือกันพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรมของประเทศสมาชิก

รัฐมนตรีต่างประเทศของประเทศในกลุ่มอาเซี่ยน ในการประชุมสมาคมอาเซี่ยนที่ประเทศอินโดนีเซีย เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๒๐

สหรัฐอเมริกาถอนตัวออกจากอินโดจีนใน พ.ศ. ๒๕๑๖ การสู้รบระหว่างสองค่าย ในเวียดนาม ลาว และเขมรสิ้นสุดลง เมื่อรัฐบาลคอมมิวนิสต์ได้เข้ายึดอำนาจในประเทศทั้งหมดไว้ได้ใน พ.ศ. ๒๕๑๘ ไทยต้องปรับปรุงนโยบายต่างประเทศใหม่ และได้มีการสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างไทยกับจีนคอมมิวนิสต์ขึ้น เมื่อวันที่ ๑ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๑๘ สำหรับเวียดนามได้สถาปนาสัมพันธภาพทางการทูตขึ้นใหม่ แล้วมีการแลกเปลี่ยนทูตซึ่งกันและกัน เอกอัครรัฐทูตเวียดนามได้เดินทางมารับตำแหน่งในประเทศไทย เมื่อวันที่ ๑๙ เมษายน พ.ศ. ๒๕๒๑ อนึ่ง กิจการขององค์การ สปอ. นั้น ได้มีการตกลงกัน ในกรุงวอชิงตัน เมื่อ พ.ศ. ๒๕๑๘ ว่าจะล้มเลิกและก็ได้ค่อยๆ สลายตัวลงไป ในที่สุด สำนักงานใหญ่ขององค์การในกรุงเทพ ฯ ก็ได้ปิดกิจการ เมื่อวันที่ ๑ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๒๐

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
  • Posted By
  • Plookpedia
  • 15 Followers
  • Follow