Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

ไทยกับสงครามโลกครั้งที่ ๑

Posted By Plookpedia | 05 ก.ค. 60
3,517 Views

  Favorite

ไทยกับสงครามโลกครั้งที่ ๑

เมื่อเกิดสงครามโลกครั้งที่ ๑ ขึ้นในยุโรปใน พ.ศ. ๒๔๕๗ นั้น ประเทศไทยยังคงยึดมั่นอยู่ในความเป็นกลาง แต่ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงสังเกตความเคลื่อนไหวของคู่สงครามอย่างใกล้ชิด การสงครามได้รุนแรงขึ้นเป็นลำดับ ทรงเห็นว่า ฝ่ายเยอรมนีเป็นฝ่ายรุกราน จึงทรงตัดสินพระทัยประกาศสงครามกับเยอรมนี และออสเตรีย-ฮังการี เมื่อวันที่ ๒๒ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๖๐ แล้วประกาศเรียกพลทหารอาสา สำหรับกองบิน และกองยานยนต์ทหารบก เพื่อส่งไปช่วยสงครามในยุโรป การส่งทหารไปรบครั้งนี้นับว่า เป็นประโยชน์ เพราะเท่ากับได้ไปเรียนรู้วิชาการทางเทคนิคการรบ และการช่าง ในสมรภูมิจริงๆ เมื่อเสร็จสงครามสัมพันธมิตรเป็นฝ่ายชนะ ประเทศไทยได้ส่งผู้แทนเข้าประชุม ณ พระราชวังแวร์ซายส์ด้วย ผลพลอยได้จากการเข้าสงครามนี้ก็คือ สัญญาต่างๆ ที่ไทยทำกับเยอรมนี และออสเตรีย-ฮังการี ย่อมสิ้นสุดลงตั้งแต่ไทยประกาศสงครามกับประเทศนั้น และไทยก็ได้พยายามขอเจรจาแก้ไขสนธิสัญญาฉบับเก่า ซึ่งทำไว้กับอังกฤษ ฝรั่งเศส และชาติอื่นๆ แต่ก็ประสบความยากลำบากอย่างมาก อาศัยที่ไทยได้ความช่วยเหลือจาก ดร. ฟรานซิส บี แซยร์ (Dr. Francis B. Sayre) ชาวอเมริกัน ซึ่งเคยเป็นที่ปรึกษาต่างประเทศ จนได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็นพระยากัลยาณไมตรี ในที่สุดประเทศต่างๆ ๑๓ ประเทศ รวมทั้งอังกฤษ ตามสนธิสัญญา พ.ศ. ๒๔๖๘ และฝรั่งเศส ตามสนธิสัญญา พ.ศ. ๒๔๖๗ ตกลงยอมแก้ไขสัญญา โดยมีเงื่อนไขบางประการ เช่น จะยอมยกเลิกอำนาจศาลกงสุล เมื่อไทยมีประมวลกฎหมายครบถ้วน และยอมให้อิสรภาพ ในการเก็บภาษีอากร ยกเว้นบางอย่างที่อังกฤษขอลดหย่อนต่อไปอีก ๑๐ ปี เช่น ภาษีสินค้าฝ้าย และเหล็ก

ดร. ฟรานซิส บี แซยร์

ไทยพยายามเร่งชำระประมวลกฎหมายต่างๆ ต่อมาจนแล้วเสร็จ และเปิดการเจรจาอีกครั้งหนึ่ง ในที่สุดประเทศต่างๆ ก็ยอมทำสัญญาใหม่กับไทย เมื่อ พ.ศ. ๒๔๘๐ ไทยได้อิสรภาพทางอำนาจศาล ละภาษีอากรคืนมาโดยสมบูรณ์

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
  • Posted By
  • Plookpedia
  • 15 Followers
  • Follow