Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

การศาสนา

Posted By Plookpedia | 04 ก.ค. 60
11,875 Views

  Favorite

เด็กๆ เคยเห็นกรวด ทราย ตามแม่น้ำลำธารบ้างหรือไม่ 

ก้อนกรวดเหล่านั้น แต่เดิมก็คือ ก้อนหินขรุขระ เมื่อมันถูกกระแสน้ำพัดพา และขัดเกลาทีละน้อยๆ มันก็มีพื้นผิวเรียบ กลมมน เราเก็บมาถือไว้ได้ไม่บาดมือ

 

ก้อนหินหยาบขรุขระ ยังถูกขัดให้เรียบได้ จิตใจของคนที่หยาบกระด้าง ย่อมจะขัดเกลาให้เรียบ และละเอียดอ่อนได้
เมื่อเราเดินอยู่ในป่า เราเห็นต้นไม้ใหญ่ เราเห็นภูเขาสูง ซึ่งเป็นบ่อเกิดของแม่น้ำ แร่ หิน ดิน ทราย

เราได้รับแสงแดดอันอบอุ่นจากดวงอาทิตย์ 

ชีวิตของเราได้พึ่งพิง ป่า เขา ดิน น้ำ ลม ไฟ เรารู้สึกว่า ธรรมชาติเหล่านี้มีบุญคุณ และมีอำนาจผูกพันต่อคนเรา 

ถ้าเราต้องเดินคนเดียว กลางทุ่งโล่งที่มืดสนิท เราคงรู้สึกหวาดกลัว และเดินเปะปะไปไม่รู้จุดหมาย

เราต้องการแสงสว่าง และคนนำทาง ผู้ที่จะเป็นที่พึ่งของเรา 

เมื่อเรายังเป็นเด็กเล็กๆ เรามีพ่อแม่ เรามีครู ช่วยนำทางเราให้ประพฤติดี มีความเจริญ พ่อแม่และครูอบรมตักเตือนเราให้กระทำสิ่งที่ถูกต้อง แต่ท่านไม่สามารถอยู่ตักเตือนเราได้ตลอดชีวิต

เราจึงต้องมีหลักการที่ใช้เตือนตัวเราเองได้ 

เมื่อเราเติบโตขึ้น เราพบว่า ชีวิตนี้มีปัญหามาก เป็นต้นว่า เราอยากเป็นเศรษฐี แต่ไม่อยากทำงาน เราก็จนอยู่อย่างเดิม 

เรารักเขา เขาไม่รักเรา เราเศร้าโศกเสียใจ แต่ความเสียใจก็ไม่ช่วยให้เขารักเรา

เราโกรธใคร เราก็อยากไปตีหัวคนนั้น แต่ถ้าเราตีหัวเขา เราจะถูกลงโทษ 

เราอยากได้อะไร เราก็จะไปแย่งชิงเอามา แต่ถ้าเราแย่งชิง เราก็จะถูกลงโทษ 

เราจะทำตามใจเราทุกอย่างไม่ได้ ถ้าทุกคนเอาแต่ใจตนเอง สังคมก็จะเดือดร้อน และตัวเราเองก็เดือดร้อนด้วย

คนทุกคนจึงต้องมีหลักการในการแก้ปัญหาชีวิต มิให้ตนเอง และผู้อื่นเดือดร้อน 

เราจะเป็นคนดีได้ เมื่อได้รับการอบรม ขัดเกลา 

เราต้องการที่พึ่ง ต้องการความอบอุ่นใจ เราต้องการผู้แนะนำแนวทางที่ถูกต้อง

เราอยากมีหลักการ และเหตุผลที่เราเลื่อมใส สามารถยึดถือแล้วนำมาแก้ปัญหาชีวิตของเราได้ 

เราอยากมีความสุขความเจริญ ด้วยวิธีที่บริสุทธิ์ และยุติธรรม 

หลักการที่ถูกต้อง อันจะนำชีวิตให้มีความเจริญ และสงบสุขนี้คือ ศาสนา

ผู้ที่สร้าง และเผยแพร่หลักการเช่นนี้ จนเป็นที่นับถือกันแพร่หลาย เรียกว่า ศาสดา 

ศาสนา มีศาสดาเป็นบุคคลตัวอย่างที่เรายกย่องบูชา 

ศาสนา มีหลักการที่ถูกต้องอันจะนำไปสู่การแก้ปัญหาของชีวิต 

ศาสนา มีพิธีการต่างๆ ที่เป็นบ่อเกิดของประเพณีอันดีงาม 

ศาสนา ช่วยให้เรามีที่พึ่งทางจิตใจ

ศาสนา เป็นสิ่งจำเป็นสำหรับชีวิตเช่นเดียวกับอาหารเหมือนกัน ทั้งนี้เพราะคนเราประกอบด้วยร่างกาย และจิตใจ ส่วนที่เป็นร่างกายต้องมีข้าวปลาอาหารเป็นเครื่องบำรุงเลี้ยงฉันใด ส่วนที่เป็นจิตใจก็ต้องมีธรรมะ หรือศาสนา เป็นเครื่องบำรุงเลี้ยงฉันนั้น ถ้าหากคนเราเจริญเติบโตแต่เพียงร่างกายเท่านั้น คนเราก็ไม่แตกต่างอะไรไปจากสัตว์อื่นๆ  การที่คนเราได้ชื่อว่า เป็นสัตว์ที่ประเสริฐนั้น ก็เพราะคนเรามีจิตใจสูง มีเหตุผลเหนือสัตว์อื่นๆ ทุกประเภท แต่การที่คนเราจะชื่อว่า มีจิตใจสูง หรือมีเหตุผลนั้น ก็จำเป็นจะต้องมีธรรมะ หรือศาสนาเป็นเครื่องขัดเกลา ยิ่งในโลกปัจจุบัน ที่มีความเจริญก้าวหน้าทางด้านวัตถุอย่างมากมายด้วยแล้ว ถ้าหากจิตใจของเราไม่มีหลักยึดให้มั่นคงพอ อาจต้องประสบกับความยุ่งยากในชีวิตได้มากที่สุด ศาสนาเท่านั้นที่จะช่วยให้เรามีจิตใจมั่นคง และเป็นระเบียบ พร้อมที่จะเผชิญกับความเปลี่ยนแปลงของโลกได้

พระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม เป็นที่ประดิษฐานพระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากร

 

ประเทศไทยมีพระพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติ พลเมืองประมาณ ๙๕% นับถือพระพุทธศาสนา พระมหากษัตริย์ก็จะต้องทรงเป็นพุทธมามกะด้วย แต่รัฐบาลไทยก็ได้ให้สิทธิ และเสรีภาพในการนับถือศาสนา นิกายของศาสนา หรือลัทธินิยมในทางศาสนา และให้เสรีภาพ ในอันที่จะประกอบพิธีกรรมตามความเชื่อถือของตน โดยที่จะไม่เป็นการขัดขวางต่อความสงบเรียบร้อย หรือศีลธรรมอันดีงามของประชาชน ทุกศาสนาจึงอยู่ร่วมกันโดยสันติ ไม่ก้าวก่ายกัน ในประเทศไทย นอกจากพระพุทธศาสนาแล้ว ก็มีศาสนาอื่นๆ ที่สำคัญๆ คือ ศาสนาอิสลาม ศาสนาคริสต์ ศาสนาฮินดู ศาสนาสิกข์ และศาสนาขงจื๊อ เป็นต้น กรมการศาสนา กระทรวงศึกษาธิการมีหน้าที่รับสนองงาน ในด้านการให้ความอุปถัมภ์แก่พระพุทธศาสนา และศาสนาอื่นๆ ให้เป็นไปตามนโยบายของรัฐบาล และทางการคณะสงฆ์ทุกกรณี และเป็นศูนย์กลางการติดต่อประสานงานระหว่างรัฐบาล คณะสงฆ์ องค์กร หรือสมาคมทางศาสนา และประชาชนไห้ดำเนินไปด้วยดี

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
  • Posted By
  • Plookpedia
  • 15 Followers
  • Follow