Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

ประเภทของยาฆ่าแมลง

Posted By Plookpedia | 04 ก.ค. 60
19,132 Views

  Favorite

ประเภทของยาฆ่าแมลง

      อาจจะจำแนกได้ ๔ กลุ่มด้วยกัน คือ 

๑. พวก Halogenated Hydrocarbon หรือออร์กะโนคลอรีน (Organochlorine) 

      ได้แก่ ดีดีที ซึ่งเป็นที่รู้จักกันดี  ได้นำมาใช้เพื่อฆ่าแมลงได้นานประมาณ ๔๕ ปี หลังสงครามโลกครั้งที่ ๒ นอกจากดีดีทีซึ่งเป็นตัวแทนของกลุ่มนี้ ยังมีอื่น ๆ อีก เช่น อัลดริน (Aldrin) ดีลดริน (Dieldrin) และเอ็นดริน (Endrin) เป็นต้น  ยาฆ่าแมลงในกลุ่มนี้มีความคงทน ไม่สลายตัว ไม่ละลายน้ำ แต่ละลายได้ในน้ำมันลักษณะเป็นผลึกสีขาวไม่มีกลิ่นที่ผลิตใช้ในครัวเรือนมักจะละลายในน้ำมันก๊าดและน้ำมันเบนซิน
      การดูดซึมเข้าสู่ร่างกาย เข้าโดยการกินและหายใจ เมื่อเข้าสู่ร่างกายแล้วจะไปสะสมอยู่ในไขมันตามที่ต่าง ๆ 
      การออกฤทธิ์ เป็นการกระตุ้นสมองเกิดอาการกระตุกและชัก 
      อาการ พิษที่เกิดขึ้นโดยการกินเป็นชนิดเฉียบพลัน อาการจะปรากฏภายใน ๒-๓ ชั่วโมง

      อาการทั่วไป ได้แก่ ปวดศีรษะ ความคิดสับสน อาจมีอาเจียนอาการทางระบบประสาทมีอาการสั่น (Tremor) กระตุกที่หนังตา ใบหน้า และลำคอ มีอาการชักและหมดสติ ผู้ป่วยจะตายด้วยระบบการหายใจล้มเหลว 
      การรักษา ไม่มียาแก้พิษโดยเฉพาะ นอกจากรักษาตามอาการและใช้ยาป้องกันการชัก 
      การใช้สารพวกนี้มักใช้ในการแพทย์และการสาธารณสุขมากกว่าการใช้ในบ้านเรือน  ในปัจจุบันไม่นิยมใช้สารจำพวกนี้ เช่น ดีดีที เนื่องจากสลายตัวยากทำให้มีการสะสมอยู่ในภาวะแวดล้อมในคนและสัตว์รวมทั้งพืชด้วย  ดีดีทีที่อยู่ในดินอาจจะเข้าไปสะสมอยู่ในผลไม้ได้  ถ้าต้นไม้นั้นปลูกอยู่ในดินที่มีสารนี้ในหน้าฝนเมื่อมีฝนตกลงมาน้ำฝนจะชะล้างเอาดีดีทีในดินลงไปในแม่น้ำลำคลอง ปลาที่อยู่ในบริเวณนั้นอาจมีดีดีทีอยู่ด้วย  เมื่อนกกินปลาเข้าไปสารนี้ก็จะอยู่ในนกถ้าเรากินปลาหรือนกที่มีสารนี้อยู่ ดีดีทีจะเข้าไปในร่างกายของเราและจะไปสะสมอยู่ในไขมันซึ่งการศึกษาพบว่า มนุษย์เราภายหลังการใช้ดีดีทีมาเป็นเวลานานได้มีการสะสมอยู่ในไขมันภายในร่างกายเป็นจำนวนมากและมีหลายประเทศได้ห้ามใช้อย่างเด็ดขาด

 

ยาฆ่าแมลง กลุ่มออร์กะโนคลอรีน
ยาฆ่าแมลง กลุ่มออร์กะโนคลอรีน

 

๒. พวกออร์กะโนฟอสเฟต (Organophosphate) 

      เป็นยาปราบศัตรูพืชที่ใช้กันมากในขณะนี้ซึ่งมีอยู่หลายอย่างด้วยกัน  ในจำพวกนี้ที่แพร่หลายและเป็นที่รู้จักกันดีทั่วไปก็ คือ พาราไธออน (Parathion) หรือในนามของยาโฟลิดอล (Folidol), E ๖๐๕ หรือยาเขียวฆ่าแมลง หรือยาฆ่าแมลงตราหัวกะโหลกไขว้ ยานี้ได้มีหลายบริษัทผลิตออกจำหน่ายซึ่งมีชื่อทางการค้าต่าง ๆ กันเช่น อีคาท็อกซ์ (Ekatox), เพอร์เฟคไธออน (Perfekthion), เมตาซีสต๊อกซ์ (Metasystox), โอโซ (OZo), ออร์โธฟอส (Orthophos), พาราเฟต (Paraphate) เป็นต้น  ห้างร้านหรือบริษัทในประเทศไทยบางรายได้นำสารนี้มาผสมและจำหน่ายมีชื่อในทางการค้าต่าง ๆ กัน เช่น ยาฆ่าแมลง ๑๐๐% บ้าง  ยาฆ่าแมลงตราหัวกะโหลกไขว้บ้าง และสูตรทางเคมีก็มีวิวัฒนาการเพิ่มมากขึ้นทำให้มีสารเพิ่มขึ้นอีกหลายอย่าง  แต่กลไกในการออกฤทธิ์ยังคงเหมือนเดิมฉะนั้นพาราไธออนจึงเป็นตัวแทนของสารกลุ่มนี้ 
      ในปัจจุบัน พาราไธออนกำลังเป็นต้นเหตุสำคัญอย่างหนึ่งในประเภท "อันตรายอันเกิดจากสิ่งมีพิษ"  พาราไธออนเป็นสารประกอบซึ่งมีชื่อทางเคมีว่า Diethyl-pnitrophenylthio-phosphate มีสูตรทางเคมีว่า C10H14NO5PS  มีลักษณะเป็นวัตถุเหลวข้นสีเหลืองหรือสีน้ำตาลแก่  สารชนิดนี้ละลายน้ำได้เพียงเล็กน้อยประมาณ ๑ : ๕๐,๐๐๐ แต่ละลายได้ดีในอีเธอร์และคลอโรฟอร์มและจะสลายตัวได้ง่ายเมื่อถูกกับกรดหรือด่างหรือถูกกับแสงแดด  มีกลิ่นเหม็นผู้ที่เคยดมกลิ่นเพียงครั้งเดียวก็จะจำได้เพราะมีกลิ่นเหม็นเป็นพิเศษ  โดยปกติร่างกายเมื่อมีการทำงานของระบบประสาทต่าง ๆ จะเกิดสารเคมีชนิดหนึ่ง เรียกว่า อเซตทิลโคลิน (Acetylcholine) ซึ่งจะทำหน้าที่เป็นสื่อนำกระแสประสาทผ่านไปยังอวัยวะที่เส้นประสาทนั้นไปเลี้ยงและจะถูกย่อยและสลายไปตามธรรมชาติในร่างกาย โดยเอนไซม์ที่เรียกว่า โคลินเอสเตอร์เรส (cholinesterase) และจะเกิดขึ้นมาใหม่อีกเมื่อมีการกระตุ้นของระบบประสาทดังกล่าว 
      การออกฤทธิ์ของยาฆ่าแมลงพวกนี้เมื่อเข้าไปในร่างกายจะไปจับกับเอนไซม์ โคลินเอสเตอร์เรส (cholinesterase) กลายเป็นสารคงทนถาวรสลายตัวได้ยากและกินเวลานานฉะนั้นจึงไม่มีเอนไซม์ไปย่อยหรือสลายอเซตทิลโคลิน (Acetylcholine) ที่เกิดขึ้นในร่างกายให้หมดไปตามธรรมชาติ  ดังนั้นร่างกายจะมี acetylcholine คั่งหรือเพิ่มมากขึ้นทุกทีจนเกิดเป็นพิษต่อร่างกาย ฉะนั้นพิษของพาราไธออนก็ คือ การที่มีอเซตทิลโคลินในร่างกายเพิ่มมากขึ้นซึ่งอาการที่เกิดจากพิษพาราไธออนก็เหมือนกับการกระตุ้นประสาทที่ไปเลี้ยงอวัยวะต่าง ๆ

การเข้าสู่ร่างกายของพาราไธออน 

พาราไธออน เข้าสู่ร่างกายได้ ๓ ทาง คือ 
      (๑) ทางการหายใจ โดยสูดเอาฝอยละอองของสารนี้เข้าไป 
      (๒) ทางปาก โดยการกินเข้าไป
      (๓) ทางผิวหนัง 


การเข้าสู่ร่างกายโดยการหายใจและการกินจะดูดซึมเข้าสู่ร่างกายได้ดีกว่าทางผิวหนัง แต่ส่วนมากเกษตรกรมักได้รับพาราไธออนเข้าไปในร่างกายทางผิวหนัง 
(๑) การเข้าของพาราไธออน ทางการหายใจ
      อาจจะเกิดขึ้นได้ดังนี้ คือ ผู้ที่ใช้พาราไธออนฉีดสำหรับฆ่าแมลงนั้นฉีดยาทวนกระแสลมขณะที่ฉีดไปลมก็จะพัดมาทางผู้ฉีด  ผู้ฉีดก็หายใจเอายาเข้าไปทีละน้อย ๆ จนในที่สุดยาเข้าไปสะสมในร่างกายมากเข้าก็เกิดอาการแพ้หรือขณะที่ฉีดอยู่เหนือลม แต่บังเอิญเกิดลมแรงและหวนกลับมาทำให้ผู้ฉีดสูดเอาฝอยละอองของยาเข้าไปมาก ในการฉีดยาขึ้นไปบนต้นไม้สูง ๆ ผู้ฉีดเข้าไปใกล้ต้นไม้นั้นเกินไปเมื่อฉีดแล้วฝอยละอองของยาตกลงมาเบื้องล่างก็ทำให้ผู้ฉีดต้องสูดเอาฝอยละอองของยาเข้าไปจนเกิดอาการแพ้ยาได้

 

การฉีดยาฆ่าแมลง ควรยืนเหนือลม
การฉีดยาฆ่าแมลง ควรยืนเหนือลม


(๒) การเข้าของพาราไธออนทางปาก 
      โดยวิธีนี้อาจเกิดขึ้นได้  คือ โดยอุบัติเหตุคือไม่ทราบว่าเป็นยาสำหรับรับประทาน เช่น ยาธาตุหรืออื่น ๆ หยิบยาผิดรับประทานเข้าไปมักจะเกิดแก่คนที่ชราซึ่งสายตาไม่ค่อยดีหรือเกิดแก่เด็ก ๆ ที่ซุกซนหยิบยากินเข้าไปโดยไม่ทราบว่าเป็นอะไรหรือในบางรายที่ใช้ภาชนะผสมยาฆ่าแมลงแล้วทิ้งไว้ไม่ทำลายให้หมดไป เช่น ใช้กระป๋องนมข้นที่ใช้แล้วผสมยาเสร็จแล้วทิ้งไว้ที่กองขยะหรือตามบ้าน มีคนเก็บเอาไปขายและในที่สุดนำมาใส่กาแฟกิน คนที่กินเข้าไปอาจเกิดอาการแพ้ได้
      ผลไม้บางอย่าง เช่น พุทรา ซึ่งเพิ่งฉีดยาฆ่าแมลงมาแล้วเพียง ๒-๓ วัน ยังมียาฆ่าแมลงเหลือค้างอยู่กินเข้าไปก็อาจทำให้เกิดพิษได้เพราะยาฆ่าแมลงจะค้างอยู่ถึง ๗ วันจึงจะหมดไป  แม้ว่าจะล้างให้สะอาดก็ไม่สามารถทำให้หมดไปได้เพราะพาราไธออนจะถูกดูดซึมเข้าไปในเนื้อของผลไม้ด้วยและกว่าจะสลายตัวไปหมดก็กินเวลาประมาณ ๗ วัน  การสลายตัวของสารนี้จำเป็นต้องใช้แสงแดด และผลไม้นั้นต้องติดอยู่กับต้นไม้การสลายตัวจึงจะดำเนินไปได้ด้วยดี  หากเราใช้ยานี้ฉีดผลไม้แล้ว ๒-๓ วัน จากนั้นเก็บผลไม้มายาจะยังสลายตัวไม่หมดถึงแม้ว่าจะเก็บผลไม้นั้นไว้ยังไม่รับประทานแต่การสลายตัวของยาก็จะช้าลงใช้เวลานานกว่าเมื่อผลไม้นั้นยังติดอยู่กับต้นไม้ผักก็เช่นเดียวกัน  ฉะนั้นควรเก็บผักหรือผลไม้หลังจากฉีดยาไปแล้วประมาณ ๗ วัน จึงจะปลอดภัยเมื่อรับประทาน
(๓) การเข้าของพาราไธออนทางผิวหนัง 
      จะเกิดขึ้นได้ง่ายเพราะยาเมื่อถูกกับผิวหนังก็จะซึมเข้าสู่ร่างกายได้โดยเราไม่รู้ตัวเพราะไม่ก่อให้เกิดอาการระคายเคืองหรืออักเสบแก่ผิวหนังแต่ประการใดเลย  ที่เราพบได้บ่อย ๆ ก็ คือ ผู้ที่ใช้ยานี้ เวลาผสมยาใช้มือของตัวเองกวนกับน้ำที่ผสมยาโดยไม่ใช้ไม้หรือสิ่งอื่นและโดยเฉพาะเวลาฉีดยา เกษตรกรมักใช้ยาฆ่าแมลงละลายน้ำแล้วใส่ในเครื่องพ่นสะพายข้างหลังภาชนะที่ใส่ยาไม่ดีเก่าเกินไป อาจจะรั่วทำให้น้ำยาหกเปรอะเปื้อนตัวเองซึ่งผู้ใช้ก็ไม่ทราบว่ายาสามารถซึมเข้าทางผิวหนังได้  เมื่อทิ้งไว้นานโดยไม่ล้างน้ำยาออกจากตัวเสียด้วยสบู่ก็อาจจะเกิดอาการแพ้ได้ง่าย รายที่เป็นโรคผิวหนัง ผื่นคันหรือมีแผลจะดูดซึมเข้าดียิ่งขึ้นหรือถ้าอากาศร้อนรูเหงื่อจะเปิดกว้างทำให้ยาฆ่าแมลงซึมเข้าสู่ร่างกายได้ดี

 

การล้างมือหลังจากใช้ยาฆ่าแมลงเสร็จ
หลังจากสัมผัสยาฆ่าแมลงแล้ว ควรล้างมือให้สะอาดทุกครั้งด้วยสบู่


อาการสำคัญที่เกิดขึ้นจากการแพ้พิษพาราไธออน อาจแบ่งได้ดังนี้ 
      (๑) อาการที่เนื่องจากการกระตุ้นปลายประสาทพาราซิมพาเธติกซึ่งมักจะเกิดขึ้นในระยะแรก เช่น คลื่นไส้ อาเจียน ปวดท้อง เหงื่อออกมาก หัวใจเต้นช้า แน่น และเจ็บบริเวณทรวงอก ถ้าอาการรุนแรงมากขึ้นม่านตาจะหรี่เล็กลง มีอาการท้องเดิน ถ่ายอุจจาระและปัสสาวะโดยกลั้นไม่อยู่ หลอดลมมีเสมหะมาก น้ำลายออกมาก หลอดลมตีบ หน้าเขียวคล้ำ 
      (๒) อาการที่เกิดขึ้นจากการกระตุ้นกล้ามเนื้อจะพบว่ามีการเกร็งของกล้ามเนื้อ  กล้ามเนื้อตามร่างกายเต้นและสั่นกระตุกเป็นแห่ง ๆ เป็นหย่อม ๆ จะพบได้ที่ลิ้น ตามหน้าตา ต่อไปจะเป็นทั่วร่างกาย ถ้ามากขึ้นจะมีอาการคล้ายตะคริวถ้ามีอาการกระตุ้นมากขึ้นในที่สุดจะเกิดอาการเพลียขึ้นตามกล้ามเนื้อทั่วไปและอาจมีอัมพาตของกล้ามเนื้อเกิดขึ้น  ในรายที่รุนแรงมากจะทำให้กล้ามเนื้อที่ ใช้ในการหายใจเกิดเพลียลงและเป็นสาเหตุที่ช่วยทำให้หายใจไม่ได้ด้วย 
      (๓) อาการทางสมอง ได้แก่ มึนศีรษะ ปวดศีรษะ งง กระสับกระส่าย ตื่นตกใจง่าย และอารมณ์พลุ่งพล่าน ถ้าอาการรุนแรงมากอาจมีอาการชักและหมดสติได้  อาการของผู้ป่วยจะเริ่มต้นด้วยคลื่นไส้ อาเจียน วิงเวียน อ่อนเพลีย กล้ามเนื้อหดตัวเป็นหย่อม ๆ แน่นหน้าอก ท้องเดิน ตาพร่า น้ำลายออกมาก และซึม ถ้าอาการรุนแรงทำให้หมดสติ น้ำลายฟูมปาก อุจจาระปัสสาวะราด กล้ามเนื้อทั่วตัวกระตุก ชัก หายใจลำบาก เขียว และหยุดหายใจ  ขนาดของพาราไธออนที่ทำให้ตายเฉลี่ยเพียง ๓๐๐ มิลลิกรัม หรือเท่ากับพาราไธออนชนิดเข้มข้นร้อยละ ๕๐ ไม่เกิน ๑๕ หยด

ระยะเวลาและความรุนแรงของอาการ 

ขึ้นอยู่กับปริมาณของสารพิษที่เข้าไปในร่างกาย

       การกินสารพิษเข้าไปถ้ากินชนิดที่มีความเข้มข้นสูงจะเกิดอาการผิดปกติภายใน ๑๕ นาที เกิดอาการวิงเวียน คลื่นไส้ อาเจียน เหงื่อออกมาก กล้ามเนื้อกระตุกเป็นหย่อม ๆ น้ำลายฟูมปาก ชัก และหมดสติ  ถ้าไม่ได้รับการรักษาอย่างถูกต้องและทันท่วงทีจะตายภายใน ๒๔ ชั่วโมงเนื่องจากการหายใจล้มเหลว ถ้าดื่มเหล้าหรือยานอนหลับร่วมด้วยอาการจะรวดเร็วและรุนแรงมากขึ้น
       การเข้าทางการหายใจและผิวหนัง  อาการมักไม่รุนแรง เกิดขึ้นอย่างช้า ๆ โดยมากเกิดขึ้นจากบุคคลที่ประกอบอาชีพทางเกษตรกรรมดังได้กล่าวมาแล้ว อาการที่เกิดมีวิงเวียน คลื่นไส้ อาเจียน และมีเหงื่อออกมาก ถ้าอาการมากขึ้น จะมีการกระตุกของกล้ามเนื้อเป็นหย่อม ๆ

การปฏิบัติเบื้องต้น 

      ๑. พิษเข้าทางผิวหนังล้างด้วยน้ำและฟอกด้วยสบู่ให้สะอาด ถ้าเข้าตาใช้น้ำสะอาดล้างตา 
      ๒. ถ้ากินสารพิษเข้าไปหากผู้ป่วยยังมีสติดีให้ดื่มน้ำมาก ๆ และใช้นิ้วมือล้วงคอให้อาเจียน อย่างไรก็ตามต้องรีบพาผู้ป่วยไปพบแพทย์โดยด่วนเพราะยาฆ่าแมลงกลุ่มนี้มีฤทธิ์รุนแรงอาจถึงตายได้ง่ายถึงแม้จะไปถึงโรงพยาบาลแล้วก็ตาม ถ้ากินเข้าไปเป็นจำนวนมากและมาถึงโรงพยาบาลช้าเกินไปมียาแก้พิษโดยเฉพาะสำหรับยาฆ่าแมลงจำพวกนี้ คือ 2-พี.เอ.เอ็ม และอะโตรปีน

๓. คาร์บาเมต (CARBAMATE) 

       ยาฆ่าแมลงที่จัดอยู่ในกลุ่มนี้มีมากที่นำมาใช้ ชนิดแรก คือ คาร์บารีล (Carbaryl) นิยมใช้กันอย่างแพร่หลายเป็นเวลานานแล้วส่วนใหญ่ใช้ในทางเกษตรกรรมที่ใช้ในบ้าน ได้แก่ โพรพ็อกเซอร์ (Propoxur) เหมาะสำหรับปราบยุง ชื่อทางเคมี คือ 
      Carbaryl : 1-Naphthyl N-methyl carbamate 
      Propoxur : 2-Isopropoxyphenyl methyl carbamate 

      เป็นผลึก ไม่มีสี เกือบไม่ละลายในน้ำ แต่ละลายได้ดีในแอลกอฮอล์  การดูดซึมเข้าสู่ร่างกายได้ทั้งการกิน ทางหายใจ และทางผิวหนังที่ไม่มีบาดแผล เช่นเดียวกับออร์กะโนฟอสเฟต (Organophosphate)  กลไกการออกฤทธิ์ยับยั้งการทำงานของเอนไซม์โคลินเอสเตอร์เรสเช่นเดียวกับออร์กะโนฟอสเฟตแต่ระยะเวลาที่ออกฤทธิ์สั้น  ขณะเดียวกันสารนี้สลายตัวได้รวดเร็วจึงมีฤทธิ์อ่อนฉะนั้นพิษที่เกิดขึ้นจึงไม่รุนแรง  อาการที่เกิดขึ้นเช่นเดียวกันกับพวกออร์กะโนฟอสเฟตแต่ไม่รุนแรง  มีคลื่นไส้ อาเจียน อ่อนเพลีย ไม่มีแรง เหงื่อออกมาก โดยมากไม่ถึงตายถ้ามาโรงพยาบาลทันท่วงที ยาแก้พิษพวกนี้ใช้ อะโตรปีน

๔. พัยรีธรัม (Pyrethrum) 

      ยาฆ่าแมลงจำพวกนี้ทำมาจากดอกไม้พวกดอกเบญจมาศ  เมื่อสกัดออกมาจากส่วนที่เป็นดอกจะได้สารที่เรียกว่า พัยรีธริน (Pyrethrins) อาจจะสกัดด้วยแอลกอฮอล์หรือน้ำมันก๊าดประกอบด้วยสารเคมีหลายชนิดและต่อมาสามารถสังเคราะห์ขึ้นได้  มีโครงสร้างเลียนแบบพัยรีธริน (Pyrethrins) เรียกว่า พัยรีธรอยด์ (Pyrethroids) มีคุณสมบัติฆ่าแมลงเช่นเดียวกัน  แต่ประสิทธิภาพสูงกว่ามีหลายชนิด ได้แก่ ออลเลตธริน (Allethrin) โพรธริน (Prothrin) โพรพาทธริน (Proparthrin) และไซฟลูธริน (Cyfluthrin) เป็นต้น มีพิษต่อแมลงสูงแต่ความเป็นพิษต่อสัตว์เลือดอุ่นต่ำ
      ทั้งพัยรีธรินและพัยรีธรอยด์รวมเรียกว่า พัยรีธรัม มีทั้งชนิดเป็นผงและเป็นน้ำ  ชนิดเป็นน้ำละลายอยู่ในตัวทำละลาย เช่น น้ำมันก๊าด ออกฤทธิ์ได้รวดเร็วได้ผลทันใจ โดยมีปฏิกิริยาอย่างรวดเร็ว และรุนแรงที่เซลล์ประสาททำให้แมลงตายได้ง่ายอันตรายจากยาฆ่าแมลงพวกนี้มีน้อย นอกจากกินเข้าไปก็จะมีอาการทางประสาท ตื่นเต้น กระสับกระส่าย ถ้าอาการรุนแรงอาจชัก หมดสติ ไม่มียาแก้พิษโดยเฉพาะต้องรักษาตามอาการ  

      ยาฆ่าแมลงดังได้กล่าวมาแล้วทั้งหมดเมื่อนำออกมาจำหน่ายบางบริษัทอาจจะนำมาผสมกัน ๒ ชนิด หรือ ๓ ชนิด รวมกันก็ได้ เช่น ยาฆ่าแมลง ไบกอนเขียว นำเอาพวกออร์กะโนฟอสเฟตผสมกับพวกคาร์บาเมตและผสมกับพวกพัยรีธรัม (dichlorvos + propoxur + cyfluthrin) เพื่อทำให้มีประสิทธิภาพดีขึ้นและพิษน้อยลง  วิธีการที่จะนำยาฆ่าแมลงไปใช้ส่วนใหญ่ใช้วิธีพ่น เช่น ในการปราบยุงซึ่งนำไข้มาลาเรีย ใช้ ดีดีที พ่นแบบตกค้างดังที่ได้กล่าวมาแล้ว  แต่สำหรับยุงที่นำไข้เลือดออกจะพ่นแบบนั้นไม่ได้เพราะยุงลายมีนิสัยแตกต่างกันออกไปจากยุงก้นปล่องเกาะไม่เป็นที่เป็นทางแน่นอนจึงต้องพ่นสารเคมีให้สัมผัสกับยุงโดยตรง เลือกสารเคมีที่ปลอดภัยและพ่นให้ลอยฟุ้งอยู่ในบรรยากาศ เมื่อยุงบินมาสัมผัสถูกสารเคมีนั้น ๆ ก็ตายไป วิธีการนี้เรียก พ่นไปในอากาศ (Space Spray) จะปฏิบัติงานในช่วงเวลาหากินของยุงที่เป็นพาหะ 


วิธีการพ่นที่ใช้กันทั่วไปมี ๒ วิธี คือ 
๑. การพ่นฝอยละออง (Ultra Low Volume)
      เป็นการใช้ยาฆ่าแมลงที่มีความเข้มข้นสูงจำนวนน้อย เช่น คลุมพื้นที่ขนาดใหญ่ด้วยแรงลมที่มีความเร็วสูง เม็ดน้ำยามีขนาดเล็กกว่า ๕๐ ไมครอน จะฟุ้งกระจายไปในบรรยากาศเป็นฝอยละออง เครื่องพ่นมีทั้งแบบติดรถยนต์และแบบสะพายหลัง
๒. การพ่นหมอกควัน (Fogging Spray) 
      การพ่นน้ำยาโดยอากาศร้อนจากเครื่องพ่นกลายเป็นหมอกควันฟุ้งกระจาย เครื่องพ่นหมอกควันมีทั้งแบบติดรถยนต์และแบบหิ้วโดยเจ้าหน้าที่ 

 

การพ่นยุง
การปราบยุงโดยใช้วิธีพ่นหมอกควันแบบหิ้ว

 


      นอกจากนี้ยาฆ่าแมลงพวกออร์กะโนฟอสเฟตยังใช้กำจัดลูกน้ำของยุงลายที่นำไข้เลือดออก  โดยการใช้เนื้อยาเคลือบบนเม็ดทรายเรียกว่า ทรายอะเบท (ABATE Sand granules) มีความเข้มข้น ๑% ซึ่งองค์การอนามัยโลกแนะนำให้ใช้และรับรองความปลอดภัยใส่ลงไปในตุ่มน้ำที่เก็บน้ำใช้ ขนาด ๑ กรัมต่อน้ำ ๑๐ ลิตร หรือ ๒๐ กรัม (๑ ช้อนโต๊ะพูน) ต่อโอ่งประมาณ ๑๐ ปี๊บ สามารถกำจัดลูกน้ำของยุงลายได้และอยู่ได้นาน ๑- ๒ เดือน
      สารเคมีบางชนิดใช้ไล่ยุง แมลง (Insect re- pellent) ป้องกันมิให้ยุงมากัดหรือไรมากัดได้  ตัวไรอ่อนนำโรคสครับไทฟัสซึ่งกำลังเป็นปัญหาของประเทศไทยใช้ทาตามตัว เช่น ที่แขนหรือขาโดยมากที่นำมาจำหน่ายเป็นครีม สารเคมีพวกนี้มี ๒ กลุ่ม คือ
      ๑. ไดเมธิลธาเลต (Dimethylphthalate) 
      ๒. ไดเอธิลโทลูอะมีด (Diethyltoluamide) 

 

การใช้ยาทาเพื่อไล่ยุงและแมลง
การใช้ยาทาเพื่อไล่ยุงและแมลง



ยาฆ่าแมลงนับว่ามีอันตรายมาก ควรมีมาตรการเพื่อป้องกันอันตรายเหล่านี้ คือ 
      ๑. เก็บย่าฆ่าแมลงไว้ในที่มิดชิดแยกออกจากของประเภทอื่นและมีฉลากเห็นชัดเจนเพื่อป้องกันการหยิบผิดควรเก็บไว้ในตู้หรือห้องที่สามารถใส่กุญแจได้ 
      ๒. เก็บไว้ห่างจากเด็กมิให้เอาไปเล่นได้ 
      ๓. เก็บไว้ให้ห่างจากอาหารที่มนุษย์และสัตว์ใช้บริโภค 
      ๔. ควรเก็บไว้ในถุงและภาชนะเดิม  ไม่ควรจะถ่ายใส่ถุงและภาชนะอื่นเพราะจะทำให้ไม่ทราบว่าเป็นสารชนิดใด 
      ๕. อ่านคำแนะนำที่ติดมากับภาชนะที่ใช้บรรจุสารเคมีให้เข้าใจดีเสียก่อนรวมทั้งวิธีป้องกันและแก้พิษ 
      ๖. อย่ารับประทานอาหารหรือสูบบุหรี่ในขณะที่ทำการฉีดหรือพ่นหรือผสมยาฆ่าแมลง ควรจะล้างมือ ล้างหน้า และเปลี่ยนเสื้อผ้าทันทีหลังสิ้นสุดการพ่น 
      ๗. อย่าใช้เคมีภัณฑ์จำนวนมากกว่าที่แนะนำไว้ในฉลาก 
      ๘. อย่าหายใจเอาฝุ่นละอองของยาฆ่าแมลงขณะที่ทำการพ่นป้องกันโดยการสวมหน้ากาก 
      ๙. ระวังอย่าให้สารเคมีกระเด็นถูกตัว ถ้าถูกตัวต้องรีบไปล้างด้วยน้ำและสบู่ทันที 
     ๑๐. ทำลายภาชนะที่ใช้บรรจุสารเคมีด้วยวิธีฝังหรือเผาเสียเมื่อใช้สารนั้นหมดแล้ว 
      ผักหรือผลไม้หากสงสัยว่ามียาฆ่าแมลงติดค้างอยู่ควรล้างน้ำหลาย ๆ ครั้ง อาจช่วยลดปริมาณที่ติดค้างอยู่ได้บ้าง  ถ้าเป็นผักทำให้ร้อนโดยการต้มหรือทำให้สุก เช่น ทอดหรือผัดยาฆ่าแมลงที่ติดค้างอยู่จะถูกทำลายหมดไป

 

การทำลายสารเคมี
การทำลายภาชนะที่บรรจุยาฆ่าแมลงโดยวิธีการฝังดิน

 

การกำจัดสารเคทีตกค้าง
ผักควรทำให้สุกก่อนนำมารับประทานเพื่อทำลายยาฆ่าแมลงที่ตกค้างให้หมดไป  

 

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
  • Posted By
  • Plookpedia
  • 15 Followers
  • Follow