Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

ภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่อง หรือโรคเอดส์

Posted By Plookpedia | 02 ก.ค. 60
13,588 Views

  Favorite

ภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่อง หรือโรคเอดส์

      โรคเอดส์เป็นโรคที่เพิ่งพบใหม่เมื่อประมาณปี พ.ศ.2521 คำว่า "เอดส์" เป็นคำย่อภาษาอังกฤษ ซึ่งมีความหมายว่า ภูมิคุ้มกันของร่างกายเสื่อมลง  โรคเอดส์พบเป็นครั้งแรกในบุรุษรักร่วมเพศที่นครลอสแอลเจลิส ประเทศสหรัฐอเมริกา และสองปีต่อมาจึงได้พบว่าโรคนี้มีสาเหตุเกิดจากเชื้อไวรัสซึ่งในปัจจุบันเรียกชื่อว่า เชื้อฮิวแมน อิมมิวโนเด็พฟีเชนซีไวรัส หรือเรียกย่อ ๆ ว่า ไวรัสเอชไอวี

 

โรคเอดส์

 

ไวรัสเอชไอวีติดต่อได้หลายวิธี คือ 

  • การมีเพศสัมพันธ์กับผู้ติดเชื้อไม่ว่าจะเป็นเพศสัมพันธ์ชนิดรักร่วมเพศหรือรักต่างเพศ 
  • การใช้เข็มฉีดยาร่วมกับผู้ติดเชื้อพบในผู้ติดยาเสพติดชนิดฉีดเข้าเส้นที่นิยมใช้เข็มฉีดยาร่วมกัน
  • การรับเลือดหรือองค์ประกอบของเลือดที่ปนเปื้อนเชื้อการรับอวัยวะปลูกถ่ายชนิดต่าง ๆ รวมทั้งการปลูกถ่ายไขกระดูกและการผสมเทียม
  • ทารกติดเชื้อจากมารดา โดยทารกอาจได้รับเชื้อตั้งแต่อยู่ในครรภ์มารดาหรือติดเชื้อขณะคลอดหรือติดเชื้อในระยะเลี้ยงดูหลังคลอด 

 

โรคเอดส์

 

โรคเอดส์

 

      เชื้อเอชไอวีไม่ติดต่อโดยการใช้สระน้ำ ห้องน้ำ เรียนหนังสือ และทำงานร่วมกัน  เมื่อเชื้อเอชไอวีเข้าสู่ร่างกายจะเข้าไปติดเชื้อและเพิ่มจำนวนในเซลล์ได้หลายชนิดแต่ที่สำคัญที่สุด คือ ลิมโฟซัยท์ชนิดหนึ่งซึ่งเป็นเม็ดเลือดขาวที่มีความสำคัญในการสร้างภูมิคุ้มกันโรคให้แก่ร่างกาย เมื่อการติดเชื้อดำเนินไปได้ระยะหนึ่งเซลล์จะถูกทำลายลงอย่างมากจนร่างกายไม่สามารถสร้างชดเชยขึ้นใหม่ได้ทัน ภูมิคุ้มกันโรคของร่างกายจึงอ่อนแอ  

 

โรคเอดส์

 

โรคเอดส์

 

      เนื่องจากภูมิคุ้มกันโรคเสื่อมลงร่างกายไม่สามารถต่อสู้กับเชื้อโรคได้เหมือนเดิมจึงทำให้ติดเชื้อจุลชีพหลายชนิดทั้งเชื้อแบคทีเรีย รา และปรสิต และเป็นการติดเชื้อแบบฉวยโอกาสซึ่งหมายความว่าในคนทั่วไปที่มีภูมิคุ้มกันโรคเป็นปกติเชื้อเหล่านี้จะไม่สามารถทำอันตรายต่อร่างกายได้เลย  การที่ภูมิคุ้มกันโรคเสื่อมเป็นการเปิดโอกาสให้เชื้อจุลชีพเหล่านี้ก่อโรคขึ้นและผู้ป่วยเอดส์บางรายจะเป็นมะเร็งร่วมด้วย  ระยะเวลานับแต่เชื้อไวรัสเข้าสู่ร่างกายจนถึงแสดงอาการของโรคเอดส์ คือ มีการติดเชื้อฉวยโอกาสหรือเป็นมะเร็ง อาจกินเวลานานหลายปีในระหว่างที่ยังไม่แสดงอาการของโรคนั้น จะทราบว่าติดเชื้อเอชไอวีหรือไม่  โดยการตรวจเลือดซึ่งสามารถขอรับการบริการนี้ได้จากโรงพยาบาลทั่วไป  อาการของโรคเอดส์ ได้แก่ เป็นไข้เรื้อรัง ท้องร่วงเรื้อรัง น้ำหนักลดผิดปกติ ปอดบวม ต่อมน้ำเหลืองโตทั่วร่างกาย เป็นฝ้าขาวในปาก ความจำเสื่อม เป็นมะเร็ง และยังมีอาการอื่น ๆ ได้อีกมาก  ในปัจจุบันยังไม่มียาสำหรับรักษาผู้ป่วยโรคเอดส์ให้หายขาดได้ยาที่มีใช้เพียงแต่ยืดชีวิตผู้ป่วยออกไปเท่านั้น สำหรับวัคซีนยังอยู่ในระหว่างการศึกษาทดลองก่อนที่จะนำมาใช้ในการป้องกันโรคต่อไป

 

โรคเอดส์

 

 

 

      คำว่า "เอดส์" มีที่มาจากภาษาอังกฤษ AIDS เป็นคำย่อจากชื่อเต็ม คือ Acquired Immunodeficiency Syndrome ซึ่งหมายถึง กลุ่มอาการภูมิคุ้มกันเสื่อมหรือเรียกง่าย ๆ ว่า โรคเอดส์ โดยโรคนี้เกิดขึ้นในผู้ที่เคยมีภูมิคุ้มกันแข็งแรงมาก่อนแต่เมื่อติดเชื้อไวรัสชนิดหนึ่งแล้วทำให้ภูมิคุ้มกันอ่อนแอลงจึงเกิดเป็นโรคขึ้นและเนื่องจากมีรอยโรคและอาการหลายประการและเกิดขึ้นกับอวัยวะหลายระบบ จึงเรียกว่า กลุ่มอาการภูมิคุ้มกันเสื่อม 
      โรคเอดส์เป็นโรคที่พบใหม่ เชื่อว่าเกิดขึ้นในประเทศสหรัฐอเมริกาตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๒๑-๒๕๒๒ แต่ที่รายงานและรู้จักกันแพร่หลายเริ่มขึ้นในปี พ.ศ. ๒๕๒๔ ต่อมานักวิทยาศาสตร์ฝรั่งเศสสามารถแยกเชื้อไวรัสสาเหตุของโรคได้ในปี พ.ศ. ๒๕๒๖ และให้ชื่อว่า Lymphadenopathy Associated Virus หรือย่อ ๆ ว่า LAV ซึ่งหมายถึง เชื้อไวรัสที่เกี่ยวข้องกับโรคต่อมน้ำเหลืองโต ทั้งนี้เนื่องจากแยกเชื้อได้เป็นครั้งแรกจากผู้ป่วยชายที่มีต่อมน้ำเหลืองโตทั่วตัว ( อาการต่อมน้ำเหลืองโตนี้ จะดำเนินต่อไป จนถึงขั้นเป็นโรคเอดส์ )  ในปี พ.ศ. ๒๕๒๗ นักวิทยาศาสตร์ชาวอเมริกันแยกเชื้อไวรัสได้จากผู้ป่วยโรคเอดส์และให้ชื่อเชื้อไวรัสว่า Human T Lymphotropic Virus type III หรือเรียกย่อ ๆ ว่า HTLV-III  ชื่อนี้มีความหมายว่าเป็นไวรัสของคนและชอบเพิ่มจำนวนในลิมโฟซัยท์ชนิดที่มีชื่อว่า ที-ลิมโฟซัยท์ ทั้งนี้เนื่องจากเซลล์ที่ทำหน้าที่เป็นโฮสต์ให้เชื้อไวรัสชนิดนี้เข้าไปเจริญเพิ่มจำนวน คือ ที-ลิมโฟซัยท์ และได้มีการพบไวรัสอื่นที่ชอบเซลล์นี้มาก่อนแล้วสองชนิดและไวรัสก่อโรคเอดส์เป็นเชื้อชนิดที่สามที่พบ  ต่อมาจึงทราบว่าไวรัสที่นักวิทยาศาสตร์ฝรั่งเศสและนักวิทยาศาสตร์อเมริกันพบนั้นเป็นเชื้อไวรัสชนิดเดียวกันจึงเรียกชื่อว่า เชื้อ HTLV-III/LAV หรือ LAV/HTLV-III และในขั้นสุดท้ายก็ตกลงเรียกชื่อเชื้อไวรัสว่า human immunodeficiency virus และเรียกย่อว่า HIV (เอชไอวี) ซึ่งมีความหมายว่า เป็นเชื้อไวรัสของคนที่เป็นสาเหตุทำให้ภูมิคุ้มกันเสื่อม

 

รูปเชื้อ เอชไอวี
รูปเชื้อ เอชไอวี

 

      ในปัจจุบันพบเชื้อเอชไอวีสองชนิด  คือ เอชไอวี-๑ และ เอชไอวี-๒ เชื้อแรก คือ เชื้อที่พบดั้งเดิมระบาดทั่วไปในอเมริกา ยุโรป และเอเชีย ส่วนเชื้อเอชไอวี-๒ พบระบาดในแอฟริกา นอกจากนี้เชื้อเอชไอวี-๑ ยังแบ่งออกเป็นหลายกลุ่มย่อยอย่างน้อย ๙ กลุ่ม คือ เอ บี ซี ดี อี เอฟ จี เอช โอ ทั้งนี้เนื่องจากมีความแปรปรวนในลักษณะทางพันธุกรรมของเชื้อ  เชื้อแต่ละกลุ่มมีการระบาดแตกต่างกันไปตามภูมิภาค เชื้อที่ระบาดในประเทศไทยเป็นกลุ่มย่อยชนิด บี และ อี โดยผู้ป่วยที่ได้รับเชื้อทางเพศสัมพันธ์มากกว่าร้อยละ ๘๐ เป็นชนิดอีและผู้ป่วยที่เป็นผู้ติดยาเสพติดชนิดฉีดเข้าเส้นมากกว่าร้อยละ ๗๐ เป็นชนิด บี

      เชื้อไวรัสเอชไอวีพบในเลือดและสารคัดหลั่งหลายชนิดของร่างกายได้แก่ น้ำอสุจิ เมือกในช่องคลอดสตรี น้ำนม และอาจพบได้ในปริมาณน้อย ๆ  ในน้ำลาย น้ำตา และปัสสาวะ เมื่อพิจารณาจากแหล่งเชื้อแล้วจะพบว่าเชื้อเอชไอวีติดต่อได้หลายวิธี คือ

  • การมีเพศสัมพันธ์กับผู้ติดเชื้อ เกิดขึ้นได้ทั้งในรักร่วมเพศและรักต่างเพศ 
  • การรับเลือดและองค์ประกอบของเลือด การปลูกถ่ายอวัยวะรวมทั้งไขกระดูกและน้ำอสุจิที่ใช้ผสมเทียมซึ่งมีเชื้อ แต่ในปัจจุบันปัญหานี้ได้ลดลงไปจนเกือบหมดเนื่องจากมีการตรวจเลือดหาการติดเชื้อเอชไอวีในผู้บริจาคเหล่านี้  รวมทั้งคัดเลือกกลุ่มผู้บริจาคซึ่งไม่มีพฤติกรรมเสี่ยงต่อการติดเชื้อ เช่น ไม่รับบริจาคเลือดจากผู้ติดยาเสพติดชนิดฉีดเข้าเส้น เป็นต้น 
  • ทารกติดเชื้อจากมารดา ทารกมีโอกาสรับเชื้อได้หลายระยะ ได้แก่ เชื้อไวรัสแพร่มาตามเลือด สายสะดือสู่ทารกในครรภ์ ติดเชื้อขณะคลอดจากเลือดและเมือกในช่องคลอด ติดเชื้อในระยะเลี้ยงดู โดยได้รับเชื้อจากน้ำนม

 

การให้ความรู้แก่ผู้ประกอบอาชีพที่เสี่ยงต่อการติดเชื้อโรคเอดส์
การให้ความรู้แก่ผู้ประกอบอาชีพที่เสี่ยงต่อการติดเชื้อโรคเอดส์

 

การได้รับเลือดของผู้ป่วยซึ่งเป็นสาเหตุของการติดเชื้อเอชไอวี
การได้รับเลือดของผู้ป่วยซึ่งเป็นสาเหตุของการติดเชื้อเอชไอวี

 

      จะเห็นได้ว่าวิธีการติดต่อเหล่านี้เหมือนกับไวรัสตับอักเสบบีทุกประการ ดังนั้นถ้าไม่มีพฤติกรรมเสี่ยงต่อการติดเชื้อเอชไอวีก็จะไม่เสี่ยงต่อการติดเชื้อตับอักเสบบีด้วย  เชื้อเอชไอวีถูกทำลายได้ง่าย การต้มเดือดนาน ๑๐ นาที จะทำลายเชื้อไวรัสได้ทั้งหมด นอกจากนี้ยังถูกทำลายได้โดยแอลกอฮอล์ ผงซักฟอก และน้ำยาฟอกผ้าขาว (คลอร็อกซ์) ที่เจือจางหนึ่งต่อเก้า ดังนั้นเชื้อเอชไอวีจึงติดต่อได้ โดยการสัมผัสที่ใกล้ชิดเท่านั้นการใช้ห้องน้ำสาธารณะและสระน้ำร่วมกันไม่ทำให้ติดเชื้อ
      เมื่อเชื้อเอชไอวีเข้าสู่ร่างกายจะเพิ่มจำนวนได้ในเซลล์หลายชนิด เช่น เซลล์เม็ดเลือดขาวที่มีบทบาทในการสร้างภูมิคุ้มกันโรค โดยเฉพาะเซลล์ที่เชื้อเจริญได้ดี คือ ลิมโฟซัยท์ ชนิดทีส่วนเซลล์อื่น ๆ ที่เชื้อเจริญได้ เช่น โมโนซัยท์และแมคโครฟาจ ลิมโฟซัยท์ ชนิดบี ตลอดจนเซลล์ประสาท เชื่อว่ายังมีเซลล์อีกหลายชนิดที่ไวรัสเอชไอวีสามารถเข้าไปเจริญเพิ่มจำนวนได้ เมื่อเชื้อเอชไอวีเข้าสู่เซลล์จะมีการแทรกเอายีโนมของไวรัสเข้าไปรวมอยู่กับโครโมโซมของเซลล์แล้วจึงมีการเพิ่มจำนวนหรืออาจแฝงตัวสงบอยู่โดยไม่มีการเพิ่มจำนวนจนกว่าจะมีสิ่งกระตุ้น  ในปัจจุบันยังไม่มียาหรือสารต้านไวรัสชนิดใดที่สามารถกำจัดเอายีโนมของเชื้อไวรัสที่แฝงอยู่นี้ให้หมดไป เมื่อติดเชื้อเอชไอวีแล้วก็จะมีเชื้อนี้แฝงอยู่ในร่างกายไปจนตลอดชีวิต  

 

การติดเชื้อราที่เล็บ
การติดเชื้อราที่เล็บ

 

ทารกที่ติดเชื้อเอชไอวีจากมารดา
ทารกที่ติดเชื้อเอชไอวีจากมารดา

 

      ประมาณ ๒-๓ สัปดาห์ ภายหลังได้รับเชื้อผู้ติดเชื้อบางรายมีอาการไข้และมีต่อมน้ำเหลืองโตตามซอกคอและซอกรักแร้อาการเหล่านี้เป็นอยู่ไม่นานก็จะหายไปได้เอง  การติดเชื้อดำเนินต่อไปอีกหลายปี  ผู้ป่วยมีภูมิคุ้มกันเสื่อมลงเนื่องจากเซลล์ของระบบภูมิคุ้มกันถูกทำลายไปอย่างมาก ต่อมน้ำเหลืองโตทั่วร่างกาย ต่อมาเริ่มมีอาการไข้เรื้อรังหรือท้องร่วงเรื้อรังนานกว่า ๑ เดือน  มีฝ้าขาวในปาก ฯลฯ จนถึงระยะเป็นโรคเอดส์เต็มขั้นผู้ป่วยจะมีการติดเชื้อฉวยโอกาส จุลชีพที่พบบ่อยที่สุดในรายงานจากต่างประเทศ คือ เชื้อปรสิตนิวโมซิสติส คารินิไอ ในประเทศไทยจุลชีพที่พบบ่อยที่สุด คือ เชื้อวัณโรค การติดเชื้อราไวรัสและแบคทีเรียพบได้บ่อยนอกจากนี้ผู้ป่วยเอดส์เต็มขั้นจะเป็นมะเร็งชนิดที่ไม่ค่อยพบในคนทั่วไป ได้แก่ มะเร็งแคโปสิ ซาร์โคมา (เป็นมะเร็งของหลอดเลือด) และมะเร็งในกลุ่มลิมโฟมา อาการอื่น ๆ คือ อาการทางระบบประสาทอันเนื่องมาจากเชื้อเอชไอวี เช่น เฉื่อยชา ความจำเสื่อม ชักกระตุก ฯลฯ ผู้ป่วยจะมีน้ำหนักลดรวดเร็วตั้งแต่เชื้อเอชไอวีเข้าสู่ร่างกาย จนถึงระยะแสดงอาการโรคเอดส์เต็มขั้นกินเวลานาน ๕-๑๐ ปี โดยเฉลี่ย   ทารกที่ติดเชื้อไวรัสเอชไอวีจากมารดาจะมีการดำเนินโรคไปสู่การเป็นเอดส์เต็มขั้นในเวลารวดเร็วกว่าผู้ใหญ่มาก  ทารกจะมีน้ำ หนักลด ไม่เติบโตตามปกติ ท้องร่วงเรื้อรัง ไข้เรื้อรัง มีการติดเชื้อระบบทางเดินหายใจและมีอาการอื่น ๆ ร่วมด้วย เช่น มีต่อมน้ำเหลืองโตทั่วตัว มีฝ้าขาวในปาก เป็นต้น  การวินิจฉัยการติดเชื้อเอชไอวี วิธีที่ใช้ทั่วไปสำหรับตรวจผู้ใหญ่  คือ การทดสอบหาแอนติบอดีที่จำเพาะต่อตัวเชื้อ ปัจจุบันธนาคารเลือดทุกแห่งตรวจกรองเลือดที่ติดเชื้อเอชไอวีทิ้ง นักศึกษาที่เดินทางไปศึกษาต่อหรือผู้ที่ไปทำงานต่างประเทศบางประเทศจะต้องผ่านการตรวจเลือดเช่นกันว่าไม่เป็นผู้ติดเชื้อเอชไอวี  ในทารกที่อายุต่ำกว่า ๑๕ เดือน ไม่สามารถให้การวินิจฉัยว่าทารกติดเชื้อเอชไอวีจากมารดา โดยการตรวจหาแอนติบอดีทั่วไปเพราะไม่สามารถบอกได้ว่าแอนติบอดีที่ตรวจพบเป็นแอนติบอดีที่ข้ามรกมาจากมารดาหรือเป็นแอนติบอดีที่ทารกสร้างขึ้นเองเนื่องจากทารกติดเชื้อ  การพิสูจน์การติดเชื้อในเด็กจำเป็นต้องอาศัยการแยกเชื้อ การตรวจหายีโนมและแอนติเจนของเชื้อไวรัส

      การดูแลรักษาผู้ป่วยเอดส์จะเป็นการดูแลทั่วไปรักษาตามอาการและรักษาโรคติดเชื้อฉวยโอกาส  ส่วนยาที่ออกฤทธิ์ต่อไวรัสเอชไอวีโดยตรงที่ใช้กันในปัจจุบัน คือ อะซิโดไธมิดีน  หรือ AZT     หรือซิโดวูดีน ยาที่เพิ่งออกมาใหม่ เช่น ดีดีไอและดีดีซี ยาเหล่านี้ยับยั้งการเพิ่มจำนวนของไวรัสแต่ไม่สามารถกำจัดยีโนมของไวรัสที่แอบแฝงอยู่ออกไปจากเซลล์ของร่างกาย  วัคซีนสำหรับป้องกันโรคเอดส์ในปัจจุบันกำลังอยู่ในขั้นศึกษาทดลองในอาสาสมัคร  มีอยู่ด้วยกันหลายรูปแบบแต่เกือบทั้งหมดเตรียมขึ้นจากวิธีพันธุวิศวกรรม วัคซีนจะประกอบด้วยโปรตีนโครงสร้างชั้นนอกสุดที่เป็นส่วนเยื่อหุ้มไขมันของเชื้อไวรัสและจุดมุ่งหวังที่สำคัญ  คือ การเลือกวัคซีนที่มีความปลอดภัยและสามารถคุ้มกันการติดเชื้อเอชไอวีได้ไม่ว่าจะเป็นไวรัสสายพันธุ์ใดจากที่ใดในโลกก็ตาม

 

ยาดีดีไอ
ยาดีดีไอ ที่ใช้ยับยั้งการเพิ่มจำนวนของไวรัสเอชไอวี

 

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
  • Posted By
  • Plookpedia
  • 15 Followers
  • Follow