Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

การฟื้นฟูสมรรถภาพเยาวชนผู้พิการด้านการศึกษา

Posted By Plookpedia | 01 ก.ค. 60
13,867 Views

  Favorite

การฟื้นฟูสมรรถภาพเยาวชนผู้พิการด้านการศึกษา 

 

เยาวชนเป็นประชากรกลุ่มใหญ่ มีจำนวนมากประมาณสองในสามของประชากรทั่วประเทศ จึงถือว่า เยาวชนเป็นพลังที่มีความสำคัญยิ่ง

 

 

เยาวชนของชาตินั้นย่อมมีทั้งผู้ที่มีความสมบูรณ์ทางร่างกาย จิตใจ สติปัญญา และผู้ที่ด้อยความสามารถทางร่างกาย สมอง จิตใจ ซึ่งเยาวชนกลุ่มนี้อาจแบ่งตามลักษณะของความบกพร่อง เป็น ๘ กลุ่ม คือ

 

 

๑. เด็กที่มีความบกพร่องทางสติปัญญา ได้แก่ เด็กเรียนช้า เด็กปัญญาอ่อน

๒. เด็กที่มีปัญหาทางการเรียนรู้ ได้แก่ เด็กที่มีความบกพร่องทางการอ่าน เด็กที่มีความบกพร่องทางเลขคณิต

 

 

๓. เด็กที่มีปัญหาทางอารมณ์ 

๔. เด็กที่มีความบกพร่องทางการพูดและภาษา เช่น เด็กที่มีเสียงสูงหรือต่ำผิดปกติ

 

 

๕. เด็กที่มีความบกพร่องทางการได้ยิน ได้แก่ เด็กหูหนวก หูตึง

๖. เด็กที่มีความบกพร่องทางการเห็น ได้แก่ เด็กตาบอด เด็กที่เห็นเลือนลาง

 

 

๗. เด็กที่มีความบกพร่องทางร่างกายและสุขภาพ ได้แก่ เด็กแขนขาพิการแต่กำเนิด เด็กเป็นโรคหัวใจ 

๘. เด็กพิการซ้อน ได้แก่ เด็กที่มีความพิการมากกว่าหนึ่งอย่างขึ้นไป

 

ทุกชีวิตไม่ว่าเกิดมาอยู่ในสภาพใดก็ตาม จะต้องต่อสู้ และดิ้นรน เพื่อความอยู่รอด ด้วยเหตุนี้เยาวชนผู้ที่มีความบกพร่องดังกล่าว จึงมีความต้องการเช่นเดียวกับบุคคลทั่วไป คือ 

   • ต้องการที่จะได้รับการศึกษา  

   • ต้องการมีอาชีพ

   • ต้องการความเสมอภาค เช่นบุคคลอื่น

 

ความต้องการเหล่านี้ใช่ว่าจะหมดโอกาสได้รับการตอบสนอง ในการจัดการศึกษาให้แก่ประชาชนในวัยเรียน รัฐได้เร่งขยายและพัฒนารูปแบบการจัดการศึกษาแก่ประชากรกลุ่มที่มีความบกพร่องทางร่างกาย สมอง และจิตใจ ให้มีโอกาสศึกษาเล่าเรียนตามความสามารถของบุคคลนั้น ๆ โดยจัดและสนับสนุนให้ผู้มีความพิการทางร่างกาย สมอง และจิตใจ ให้ได้รับการศึกษาโดยทั่วถึงกัน ด้วยเหตุนี้รัฐจึงได้จัด "การศึกษาพิเศษ" ให้แก่บุคคลกลุ่มนี้

 

 

ในประเทศไทยได้มีการจัดให้เด็กพิการกลุ่มแรกคือ เด็กตาบอด เรียนหนังสือเป็นครั้งแรกเมื่อ ๕๒ ปีมาแล้ว คือ ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๔๘๒ การสอนให้เด็กพิการเรียนได้นั้น เราต้องใช้วิธีพิเศษช่วย เช่น ฝึกหัดให้เด็กตาบอดใช้นิ้วมือสัมผัสอ่านอักษร ที่แทนด้วยจุดนูน แทนการอ่านหนังสือปกติด้วยตา หรือฝึกให้เด็กหูหนวก ใช้ภาษามือในการพูดคุย และเรียนรู้

 

----------------------------------------------------------------

 

การศึกษาพิเศษเป็นการจัดการศึกษาให้แก่บุคคลที่มีลักษณะพิเศษ ที่มีความพิการทางร่างกาย สติปัญญา และจิตใจ จัดในโรงเรียนการศึกษาพิเศษเฉพาะ หรือจัดในโรงเรียนธรรมดาก็ได้ (แผนการศึกษาของชาติ พ.ศ. ๒๕๒๐ หมวด ๓ ข้อ ๓๘)

 

การจัดการศึกษาพิเศษเป็นการบริการพิเศษที่หน่วยงานเอกชน และรัฐบาล หรือโดยการร่วมมือกันหลายฝ่าย จัดให้แก่เด็กหรือบุคคลที่มีลักษณะพิเศษ เพื่อให้เขาได้รับประโยชน์จากการศึกษาอย่างเต็มที่ หรือสูงสุด การจัดการพิเศษนั้น จะต้องมีบุคลากรหลายฝ่ายร่วมกันดำเนินการ มีทั้งด้านการศึกษา การแพทย์ และการสังคมสงเคราะห์

 

การวัดระดับสติปัญญาของเด็กโดยใช้แบบทดสอบ

 

การจัดการเรียนการสอน
 
การจัดการเรียนการสอนแก่เด็กที่มีความบกพร่องทางการเห็น ทางการได้ยิน ทางร่างกาย ทางสติปัญญา ทางการเรียนรู้ ทางอารมณ์ ทางการพูด และภาษา ย่อมจัดแตกต่างกันไปตามความบกพร่องของแต่ละประเภท อย่างไรก็ตามครูผู้ปฏิบัติการสอนแก่เด็กประเภทต่าง ๆ นี้ จะต้องมีความรู้ความชำนาญในการสอนเด็กแต่ละประเภทนั้น ตลอดจนมีความอดทน และมีจิตวิทยาในการสอน นอกจากนั้นยังต้องมีความเมตตาต่อเด็กเหล่านั้นเป็นพิเศษอีกด้วย

 

คุณครูกำลังให้เด็กปัญญาอ่อนดูหนังสือนิทานต่าง ๆ

 

๑. เด็กที่มีความบกพร่องทางสติปัญญา 

เด็กที่มีความบกพร่องทางสติปัญญา แบ่งออกได้ ๒ ประเภท คือ 

เด็กเรียนช้า 

หมายถึง เด็กที่มีปัญหาในการเรียน อันเป็นผลเนื่องมาจากระดับสติปัญญา หรือเชาวน์ปัญญา อยู่ในระดับประมาณ ๗๐ - ๙๐ ซึ่งสาเหตุของการมีเชาวน์ปัญญาอยู่ในระดับดังกล่าว อาจเป็นผลมาจากความด้อยโอกาสอย่างมากทางสังคม เศรษฐกิจ และการศึกษา

เด็กปัญญาอ่อน 

หมายถึง เด็กที่มีความสามารถทางสติปัญญา หรือเชาวน์ปัญญาต่ำกว่าเกณฑ์เฉลี่ย มีปัญหาการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม เด็กปัญญาอ่อนอาจแบ่งออกเป็น ๓ ประเภท คือ ปัญญาอ่อนประเภทเรียนได้ หรือปัญญาอ่อนขนาดน้อย ปัญญาอ่อนประเภทฝึกได้ หรือปัญญาอ่อนขนาดปานกลาง และปัญญาอ่อนมาก และรุนแรง

การสอนเด็กปัญญาอ่อนประเภทเรียนได้ หรือปัญญาอ่อนขนาดน้อย ซึ่งมีระดับเชาวน์ปัญญาระหว่างประมาณ ๕๐ - ๗๐ เด็กปัญญาอ่อนพวกนี้จะเรียนในระดับประถมศึกษา ในชั้นเรียนที่จัดให้เป็นพิเศษ และสามารถร่วมกิจกรรมทางสังคมกับเด็กนักเรียนปกติได้ ใช้หลักสูตรพิเศษ ที่ปรับจากหลักสูตรเด็กปกติ ในระดับมัธยมศึกษาจะเน้นทักษะทางอาชีพ สามารถฝึกอาชีพ หรืองานง่าย ๆ ได้

 

สำหรับเด็กปัญญาอ่อนประเภทฝึกได้ หรือปัญญาอ่อนขนาดปานกลาง ซึ่งมีระดับเชาวน์ปัญญาระหว่างประมาณ ๒๕ - ๕๐ เป็นพวกที่พอจะฝึกอบรม และเรียนทักษะเบื้องต้นง่าย ๆ ใช้หลักสูตรพิเศษที่เน้นทักษะการช่วยเหลือตนเอง และทักษะทางอาชีพ

 

เด็กปัญญาอ่อนขณะกำลังเรียนดนตรี

 

เด็กปัญญาอ่อนมาก และรุนแรง มีระดับเชาน์ปัญญาต่ำกว่า ๒๕ ต้องการการฝึกหัด หรือการช่วยเหลือตนเองในกิจวัตรประจำวันเบื้องต้นง่าย ๆ บางคนต้องการการเลี้ยงด ูและการรักษาพยาบาลด้วย 

 

เด็กปัญญาอ่อนสามารถเข้าร่วมกิจกรรมกับเด็กปกติได้เช่น กีฬาบางชนิด

 

 

๒. เด็กที่มีปัญหาทางการเรียนรู้ 

เด็กที่มีปัญหาทางการเรียนรู้ หมายถึง เด็กที่มีความบกพร่องอย่างใดอย่างหนึ่ง หรือหลายอย่าง ที่เกี่ยวกับความเข้าใจ หรือการใช้ภาษา อาจมีปัญหาในการฟัง การพูด การคิด การอ่าน การเขียน การสะกด หรือการคิดคำนวณ ไม่รวมเด็กที่มีปัญหาทางการเรียน เนื่องจากความบกพร่องทางการเห็น การได้ยิน การเคลื่อนไหว ปัญญาอ่อน ปัญหาทางอารมณ์ หรือการด้อยโอกาส

การสอนเด็กประเภทนี้ มักใช้วิธีการหลายๆ วิธี ได้แก่ การฝึกกระบวนการที่เกี่ยวข้องกับการเรียนรู้ เช่น กระบวนการทางจิตวิทยา ภาษาทักษะทางการเห็น และทางการเห็นกับการเคลื่อนไหว การฝึกใช้ประสาทสัมผัสหลายระบบรวมกันในการเรียนรู้ เช่น การสอนให้อ่านคำ ขั้นแรกให้เห็นคำ (การเห็น) แล้วครูอ่านให้ฟัง (การได้ยิน) ต่อไปเด็กออกเสียงคำ (การได้ยิน) และขั้นสุดท้าย เด็กใช้นิ้วลากไปตามเส้น (การเคลื่อนไหว และการสัมผัส)

 

เด็กตาบอดเรียนร่วมกับเด็กปกติ

 

นอกจากปัญหาทางการเรียนรู้แล้ว เด็กกลุ่มนี้อาจจะมีปัญหาอื่นร่วมด้วย เช่น อยู่นิ่งไม่ได้ ความตั้งใจสั้น หรือถูกเบี่ยงเบนได้ง่าย มีความบกพร่องทางความจำ อารมณ์ปรวนแปรง่าย ไม่ยั้งคิด เป็นต้น ฉะนั้นจึงมีการใช้ยากับเด็กที่อยู่ไม่นิ่ง หรือเด็กที่ไม่มีความตั้งใจอย่างมากเป็นบางกรณี รวมทั้งใช้วิธีการปรับพฤติกรรม วิธีการสอนโดยตรง เพื่อแก้ไขปัญหาเฉพาะทางการเรียน

การจัดการเรียนการสอนแก่เด็ก ที่มีปัญหาทางการเรียนรู้ นิยมจัดให้เรียนร่วมกับเด็กปกติ แต่มีบริการสอนเสริมจากครูการศึกษาพิเศษ ทั้งนี้เพราะเด็กเหล่านี้ โดยทั่วไปจะมีสติปัญญาอยู่ในระดับปกติ และมักจะมีปัญหาทางวิชาการเพียง ๒ หรือ ๓ ด้านเท่านั้น แต่อย่างไรก็ตาม เด็กบางคนก็ยังต้องเรียนในชั้นเรียนพิเศษ หรือโรงเรียนพิเศษที่จัดให้โดยเฉพาะ โดยครูพยายามส่งไปเรียนร่วมกับเด็กปกติ เมื่อเด็กพร้อม

 

 

๓. เด็กที่มีปัญหาทางอารมณ์หรือเด็กที่มีปัญหาทางพฤติกรรม 

เด็กที่มีปัญหาทางอารมณ์ หรือเด็กที่มีปัญหาทางพฤติกรรม หมายถึง เด็กที่มีพฤติกรรมเบี่ยงเบนไปจากปกติเป็นอย่างมาก คือ ไม่ใช่พฤติกรรมที่แตกต่างไปจากปกติเพียงเล็กน้อย ปัญหาทางพฤติกรรมนั้นเป็นไปอย่างต่อเนื่อง กล่าวคือ พฤติกรรมนั้นไม่หายไปอย่างรวดเร็ว และนอกจากนี้พฤติกรรมนั้น ไม่เป็นที่ยอมรับของสังคม หรือทางวัฒนธรรม พฤติกรรมที่เป็นปัญหานี้ ส่งผลกระทบต่อการเรียนรู้ของเด็กเอง และของผู้อื่น อันอาจเกิดขึ้นจากความขัดแย้งระหว่างเด็กกับสิ่งแวดล้อมรอบตัวเด็ก และ/หรือจากความขัดแย้งที่เกิดขึ้นภายในตัวเด็กเอง

ลักษณะพฤติกรรมที่เป็นปัญหา 

ได้แก่ 

๑. ความก้าวร้าวที่แสดงออก เช่น ทำร้ายผู้อื่น ทำร้ายตนเอง ทำลายข้าวของ ขู่คุกคามผู้อื่น ฯลฯ 

๒. การปรับตัวทางสังคมมีปัญหา เช่น ลักขโมย ชกต่อยทะเลาะเบาะแว้ง ทำลายสาธารณสมบัติ ทำผิดระเบียบฝ่าฝืนกฎหมาย หนีเรียน เป็นต้น 

๓. การแยกตัวออกจากสังคม เช่น ไม่พูดคุย หรือพบปะกับเพื่อน หรือผู้ใกล้ชิด 

๔. ผลการเรียนต่ำลง 

๕. ความวิตกกังวลมีมาก ขาดความเชื่อมั่นในตนเอง ร้องไห้บ่อยมาก 

๖. การเคลื่อนไหวผิดปกติ เช่น อยู่นิ่งไม่ได้ มีการเคลื่อนไหวแปลก ๆ และซ้ำ ๆ

 

การสอนเด็กที่มีปัญหาทางอารมณ์ หรือเด็กที่มีปัญหาทางพฤติกรรมนั้น ครูจำเป็นต้องนำกลวิธีในการปรับพฤติกรรมมาใช้กับเด็ก เพื่อเปลี่ยนแปลงให้เด็ก มีพฤติกรรมที่พึงประสงค์ และในขณะเดียวกันครูจำเป็นต้องจัดกิจกรรมการเรียนการสอน ให้เด็กมีโอกาสประสบความสำเร็จในการเรียน จัดให้เด็กมีโอกาสฝึกและพัฒนาทักษะทางสังคม เช่น การทำงานร่วมกัน การผูกมิตร และรักษามิตรภาพ การรอคอย เป็นต้น

 

การจัดการเรียนการสอนให้กับเด็กประเภทนี้ อาจทำได้ในลักษณะชั้นเรียนพิเศษ หรือในลักษณะเรียนร่วมกับเด็กปกติ ซึ่งหลักสูตรที่ใช้ในชั้นเรียนพิเศษจะมีเนื้อหา และวิธีการที่จะขจัดปัญหาทางพฤติกรรมของเด็ก โดยเน้นทักษะทางสังคม เช่น ทักษะในการติดต่อกับผู้อื่น ในการคบเพื่อน ในการรักษามิตรภาพ ทักษะที่จำเป็นต้องใช้ในชั้นเรียน เช่น ทักษะในการวางแผน และในการแก้ปัญหา รวมถึงทักษะในการจัดการกับความเครียด ความก้าวร้าวของตนเอง

 

สำหรับเด็กที่สามารถเรียนร่วมกับเด็กปกติได้ ก็จะใช้หลักสูตรเดียวกันกับหลักสูตรสำหรับเด็กปกติ แต่เด็กที่มีปัญหาทางพฤติกรรม ก็ยังควรได้รับการช่วยเหลือในการแก้ไขความบกพร่อง หากยังมีอยู่

 

 

๔. เด็กที่มีความบกพร่องทางการพูดและภาษา 

เด็กที่มีความบกพร่องทางการพูด และภาษา อาจแบ่งเป็น ๒ กลุ่ม คือ เด็กที่มีความบกพร่องทางการพูด หมายถึง เด็กที่มีความบกพร่องในการออกเสียงพูด เนื่องจากอวัยวะที่ใช้ในการออกเสียงพูดบกพร่อง หรือผิดปกติ เช่น ปากแหว่ง และเพดานโหว่ การหายใจไม่ปกติ รวมทั้งเด็กที่พูดไม่ชัด และติดอ่าง

เด็กที่มีความบกพร่องทางภาษา หมายถึง เด็กที่มีปัญหาในการเข้าใจภาษา และการแสดงออกทางภาษา เช่น ภาษาพูด ภาษาเขียน และสัญลักษณ์อื่น ๆ

การสอนเด็กเหล่านี้ ครูทำหน้าที่สอนตามปกติ และควรทำหน้าที่เป็นผู้ช่วยนักแก้ไขการพูด คือ ช่วยตรวจประเมินความบกพร่องทางการพูดของเด็ก ช่วยแก้ไขความบกพร่องเบื้องต้น และช่วยป้องกันความบกพร่อง เช่น ครูฟังการพูดของเด็กในโอกาสต่าง ๆ กัน แล้วบอกว่า เด็กมีปัญหาอะไร ครูช่วยเป็นแม่แบบการพูด และการใช้ ภาษาที่ถูกต้อง และสนับสนุนให้เด็กใช้ทักษะการติดต่อสื่อสาร ที่เหมาะสมตามโอกาสต่าง ๆ โดยครูใช้กิจกรรม ที่สนุกสนาน การให้รางวัล และการเป็นผู้ฟังที่ดี เพื่อส่งเสริม การฟัง และการพูดของเด็ก

 

เด็กหูตึงที่ใช้เครื่องช่วยฟังแบบทัดหลังหู
เด็กหูตึงใช้เครื่องช่วยฟังแบบกล่อง

 

 

๕. เด็กที่มีความบกพร่องทางการได้ยิน

การสอนภาษาเด็กพวกนี้มีความลำบากมากกว่าเด็กพิการประเภทอื่น เพราะเด็กที่บกพร่องทางการได้ยินนั้น มีข้อเสียเปรียบทางภาษา เพราะภาษา ซึ่งเป็นเครื่องมือสำคัญในการเรียนรู้ถูกจำกัดลง เด็กหูหนวก และเด็กหูตึง สอนไม่เหมือนกัน โดยทั่วไปเด็กหูตึงจะใส่เครื่องช่วยฟัง และสามารถเรียนรู้ภาษา โดยการได้ยิน วิธีการสอนจึงไม่แตกต่างจากเด็กปกติเท่าใดนัก ส่วนเด็กหูหนวกนั้น มีเทคนิคในการสอนผิดแปลกออกไป ครูจะต้องมีเทคนิคในการสอน

การสอนเด็กหูหนวก มุ่งในการพัฒนาความรู้ทางภาษา และความสามารถใน การที่จะติดต่อสื่อความหมายกับคนอื่นได้ ในการสอนเด็กหูหนวกนั้น จะใช้ภาษามือ ซึ่งใช้มือบอกความหมายแทนภาษา และใช้การสะกดคำด้วยนิ้วมือ (Finger spelling) ประกอบเข้ากับการอ่านปาก (Speech reading) ซึ่งทั้งหมดนี้รวมเข้าด้วยกันเรียกว่า ระบบรวม (Total communication) เด็กหูหนวกสามารถเรียนรู้ได้ โดยใช้ระบบรวมนี้ นำเด็กเข้าสู่ภาษาอ่าน และภาษาเขียน

 

เครื่องช่วยฟังแบบทัดหลังหู
เครื่องช่วยฟังแบบกล่อง

 

 

๖. เด็กที่มีความบกพร่องทางการเห็น 

เด็กที่มีความบกพร่องทางการเห็น ประกอบด้วยเด็กตาบอด ซึ่งมองไม่เห็น และเด็กที่มองเห็นบ้าง แต่ไม่มากนัก ไม่สามารถใช้การเห็นข้างที่ดีที่สุดหลังจากการปรับสภาพแล้ว การเรียนการสอนสำหรับเด็กเหล่านี้ ต้องเป็นวิธีที่ไม่อาศัยการเห็นเป็นหลัก 

เด็กเห็นเลือนลาง เป็นเด็กที่สามารถมองเห็นบ้าง จะมีปัญหาในการเรียนรู้ หากใช้วิธีการเรียนการสอนที่ใช้กับเด็กปกติ ฉะนั้นจึงต้องการเครื่องมือ และอุปกรณ์พิเศษบางอย่าง ที่ช่วยให้เด็กสามารถใช้การเห็นได้ดีขึ้น

 

บน: ตัวอย่างตัวอักษรสำหรับเด็กที่เห็นเลือนลาง ที่พิมพ์ขยายใหญ่๓๖ พอยต์ไทป์ เปรียบเทียบกับตัวพิมพ์ขนาดปกติ ล่าง: คำว่า "ไก่" ที่สะกดด้วยอักษรเบรลล์

 

ก่อนที่จะสอนบุคคลประเภทนี้ ครูผู้สอนจะต้องตระหนักว่า ผู้ที่บกพร่องทางการเห็นนั้น เมื่อเรียนรู้อักษรเบรลล์ หรือสามารถใช้เครื่องมืออุปกรณ์พิเศษแล้ว จะพัฒนาการเรียนรู้ได้เหมือนคนปกติ 

นอกจากอักษรเบรลล์ ซึ่งใช้สอนแล้ว ครูยังจะต้องคำนึงสื่อการเรียนการสอนที่เป็นรูปธรรม ให้เด็กสามารถใช้ประสาทสัมผัสทางกาย จับต้อง ดม ชิม ได้อีกด้วย นอกจากนั้นก็เป็นประเภทเสียง ซึ่งสามารถรับฟังได้ชัดเจนเหมือนเด็กปกติ 

การจัดการเรียนการสอนให้แก่เด็กที่บกพร่องทางการเห็น จะใช้หลักสูตรเหมือนเด็กปกติ เพียงแต่ปรับปรุงเนื้อหาต่าง ๆ ที่เป็นอุปสรรคต่อการใช้การเห็นออกไป เช่น ไม่สอนวิชาคัดไทย วาดภาพระบายสี แต่จะสอนวิชาอื่น ที่ไม่ใช้การเห็นทดแทน ครูจะต้องพยายามสอนให้รู้สภาพสิ่งแวดล้อม และฝึกการเคลื่อนไหวด้วยตนเอง เพื่อให้สามารถดำรงชีวิตได้อย่างอิสระ

 

 

๗. เด็กที่มีความบกพร่องทางร่างกายและสุขภาพ

เด็กที่มีความบกพร่องทางร่างกาย และสุขภาพ หมายถึง เด็กที่มีความบกพร่องอย่างถาวร ที่อวัยวะส่วนใดส่วนหนึ่งของร่างกาย อันเป็นมูลเหตุให้ไม่สามารถเคลื่อนไหวได้ดีเท่ากับคนปกติ เช่น เด็กที่มีแขนขาเป็นอัมพาต เด็กที่มีอวัยวะไม่สมส่วน อวัยวะส่วนใดส่วนหนึ่งขาดหายไป กระดูกกล้ามเนื้อพิการ เจ็บป่วยเรื้อรัง มีความพิการของระบบประสาท เด็กพวกนี้มีความลำบากในการเคลื่อนไหว ซึ่งเป็นอุปสรรคต่อการเรียน ในสภาพปกติ

 

โต๊ะ สำหรับเด็กพิการ
อุปกรณ์พิเศษที่ช่วยในการหัดเดินของเด็กพิการ

 

 

เด็กที่มีความบกพร่องทางร่างกาย และสุขภาพ มีสภาพร่างกายที่ผิดปกติ บางคนจึงต้องการอุปกรณ์พิเศษ หรือบางคนก็ต้องการบริการพิเศษทางด้านการแพทย์ และฟื้นฟูสมรรถภาพทางกายควบคู่กันไป ดังนั้นการจัดการเรียนการสอนให้แก่เด็กพิการทางร่างกาย และสุขภาพ จึงจำเป็นต้องมีตารางสอนที่ยืดหยุ่น สำหรับเด็กที่มีความพิการไม่รุนแรงมากนัก สามารถเรียนร่วมกับเด็กปกติ โดยใช้หลักสูตรปกติ แต่อาจจำเป็นต้องมีการปรับปรุงอาคารสถานที่ เพื่อให้เด็กสามารถเคลื่อนไหวได้

 

๘. เด็กพิการซ้อน

เด็กพิการซ้อน หมายถึง เด็กที่มีความพิการมากกว่าหนึ่งอย่างขึ้นไปในคน ๆ เดียวกัน เช่น เด็กที่ทั้งตาบอด และหูหนวก เด็กที่ทั้งตาบอด หูหนวก และปัญญาอ่อน เป็นต้น

 

อุปกรณ์พิเศษที่เด็กพิการใช้ช่วยในการเคลื่อนไหว

 

การสอนเด็กประเภทนี้ จำเป็นต้องใช้วิธีการพิเศษเฉพาะหลาย ๆ วิธี ซึ่งการสอนเด็กเหล่านี้ จะเป็นหน้าที่ของครูการศึกษาพิเศษ ที่ได้รับการฝึกมาโดยเฉพาะ

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
Tags
  • Posted By
  • Plookpedia
  • 15 Followers
  • Follow