Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

อัญมณีและคุณสมบัติเฉพาะ

Posted By Plookpedia | 01 ก.ค. 60
4,993 Views

  Favorite

อัญมณีและคุณสมบัติเฉพาะ 

      อัญมณีอาจจะเรียกว่า รัตนชาติ หรือ เพชรพลอย ก็ได้  ปัจจุบันทั้งสามคำนี้ใช้สื่อความหมายเดียวกันต่างกันเล็กน้อยตรงที่อัญมณีและรัตนชาติมักจะใช้เรียกเป็นทางการ  ส่วนเพชรพลอยเป็นคำเรียกทั่วไป  สำหรับความแตกต่างของคำว่าอัญมณีและรัตนชาติ คือ รัตนชาติจะ หมายถึง แร่หรือหินมีค่าหรือกึ่งมีค่าซึ่งเมื่อผ่านการตกแต่ง เช่น ขัดมัน เจียระไน หรือแกะสลักแล้วจะมีคุณสมบัติเป็นอัญมณีเครื่องประดับหรือเครื่องเพชรพลอย (Jewelry) ได้  อัญมณีมักจะ หมายถึง รัตนชาติที่ผ่านการตกแต่งเรียบร้อยแล้ว  คำว่า อัญมณี รัตนชาติ และเพชรพลอย ตรงกับภาษาอังกฤษว่า Gemstones และ Gems ดังนั้น  ความหมายโดยรวมแล้วอัญมณีหรือรัตนชาติ คือ วัตถุธรรมชาติซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นสารอนินทรีย์ ได้แก่ แร่ชนิดต่าง ๆ หรือเป็นสารอินทรีย์บางชนิด เช่น ไข่มุก อำพัน ฯลฯ หรือเป็นหินบางชนิด เช่น ลาพิส - ลาซูลี โอนิกซ์มาร์เบิล ฯลฯ วัตถุเหล่านี้สามารนำมาตกแต่ง ขัดมัน เจียระไน แกะสลัก ใช้เป็นเครื่องประดับได้มีคุณสมบัติที่สำคัญ คือ ความสวยงาม ความคงทนถาวร และความหายาก

 

รัตนชาติที่ยังไม่ได้เจียระไน
รัตนชาติที่ยังไม่ได้เจียระไน 

 

ความสวยงาม (Beauty) 

      จัดเป็นคุณสมบัติที่สำคัญที่สุดในการพิจารณาถึงคุณค่าและราคาของอัญมณี  แต่ก็มีการเปลี่ยนแปลงได้ขึ้นอยู่กับสายตาของผู้พิจารณาและมักจะเป็นสิ่งที่ยากต่อการกำหนดเจาะจงตายตัวลงไปได้  บางคนอาจจะมองความสวยงามของอัญมณีอยู่ที่สี  ในขณะที่บางคนมองความสวยงามอยู่ที่ประกาย ความโปร่งใส ความใสสะอาด ประกายวาวหรือไฟที่เป็นผลส่วนใหญ่มาจากการเจียระไนที่ดี ได้สัดส่วน   โดยทั่วไปแล้วความสวยงามของอัญมณีส่วนใหญ่จะเป็นผลมาจากคุณสมบัติหลาย ๆ อย่างรวมกัน เช่น เพชรความสวยสดงดงามของเพชรจะพิจารณาตัดสินกันที่ความบริสุทธิ์ สดใส     ไร้มลทิน ความไม่มีสี ประกายวาว และการกระจายแสงสี (ไฟ) ในขณะที่คุณภาพและลักษณะของการเล่นสีจะเป็นปัจจัยสำคัญที่สุดในการตัดสินถึงความสวยงามของโอปอ  อย่างไรก็ตามสิ่งที่โดยทั่วไปถือกันว่าเป็นความสวยงามหรือเป็นที่ต้องการก็อาจจะมีการเปลี่ยนแปลงไปได้ตามกาลเวลาตามสภาพศิลปวัฒนธรรมหรือตามความนิยมจากระบบหนึ่งไปสู่อีกระบบหนึ่ง

ความคงทนถาวร (Durability)

      เป็นคุณสมบัติที่สำคัญในการพิจารณาถึงความเป็นอัญมณีแต่ไม่ได้เป็นสิ่งที่มีความสำคัญมากในการพิจารณาตัดสินถึงคุณค่าและราคาของอัญมณี  ความคงทนถาวรของอัญมณีจะขึ้นอยู่กับคุณสมบัติทางกายภาพ ๓ ประการ คือ ความแข็ง ความเหนียว และความมีเสถียรภาพทางเคมี  ดังนั้นความคงทนถาวรเป็นสิ่งที่จะแสดงให้เห็นว่าอัญมณีชนิดใดเหมาะสมเพียงใดสำหรับการสวมใส่ในชีวิตประจำวันและเป็นคุณสมบัติที่สำคัญในมุมมองของผู้สวมใส่อัญมณี  

ความหายาก (Rarity) 

      เป็นคุณสมบัติที่สำคัญอีกประการหนึ่งในการพิจารณากำหนดคุณค่าและราคาของอัญมณีเพราะคุณค่าและราคาของอัญมณีโดยส่วนใหญ่เป็นผลมาจากความหายากหรือความมีจำกัด  ดังนั้นถ้าอัญมณีชนิดใดที่มีปริมาณจำกัดเข้าสู่ตลาดการค้าจะมีคนเพียงส่วนน้อยเท่านั้นที่สามารถเป็นเจ้าของอัญมณีนั้น ๆ ได้  เมื่อคนที่ต้องการมีมากจึงทำให้มีค่ามีราคาสูงขึ้นนอกจากนี้แล้วความหายากของอัญมณีใด ๆ อาจจะเนื่องมาจากขนาด ความโปร่งใส คุณสมบัติ ลักษณะทางแสงที่พิเศษ หรือมีสีที่สุดสวย เป็นต้น เมื่อเปรียบเทียบกับความสวยงามและความคงทนถาวรแล้วความหายากไม่ได้เป็นคุณสมบัติเฉพาะตัวภายในตัวอัญมณีเองแต่เป็นสิ่งที่ขึ้นอยู่กับอารมณ์ ความนิยม และความต้องการของมนุษย์ 


แร่ที่จัดเป็นอัญมณี ได้มีอยู่ประมาณ ๙๐ ชนิด แต่มีประมาณ ๒๐ ชนิด ที่มีความสำคัญและได้รับความนิยมโดยทั่วไป เช่น เพชร ทับทิม ไพลิน มรกต โอปอ หยก ไพฑูรย์ ฯลฯ 

 

ทับทิม
ทับทิม


หินที่จัดเป็นอัญมณี ได้ เช่น ลาพิส-ลาซูลี (มณีสีคราม) ออบซิเดียน (แก้วภูเขาไฟ) ยูนาไคต์ (แกรนิตชนิดหนึ่ง) โมลดาไวต์ (อุลกมณี-ดาวตกชนิดหนึ่ง) โอนิกซ์มาร์เบิล (หินอ่อน) ฯลฯ 
สารอินทรีย์ที่จัดเป็นอัญมณี เช่น ไข่มุก กัลปังหา อำพัน งา เปลือกหอย (หอยมุกไฟ โอเพอร์คูลัม หอยสังข์ หอยงวงช้าง) ถ่านหิน (เจต) ฯลฯ 

 

อำพัน
อำพัน

 

การแบ่งกลุ่มอัญมณี

ปกติแบ่งออกเป็น ๒ กลุ่มใหญ่ๆ ได้แก่
      ๑. เพชร (Diamonds) ทั้งชนิดใสไม่มีสีและชนิดที่มีสีต่าง ๆ 
      ๒. พลอย (Colored stones) หมายถึง อัญมณีต่าง ๆ เช่น ทับทิม ไพลิน มรกต ควอตซ์ หยก ฯลฯ แต่ไม่รวมถึงเพชร

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
  • Posted By
  • Plookpedia
  • 15 Followers
  • Follow