Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

การประยุกต์ใช้งานเลเซอร์

Posted By Plookpedia | 01 ก.ค. 60
2,786 Views

  Favorite

การประยุกต์ใช้งานเลเซอร์

      เลเซอร์เป็นแหล่งกำเนิดแสงที่มีคุณสมบัติเด่น คือ เป็นคลื่นแสงที่มีระเบียบมีลักษณะเป็นลำแสงความเข้มแสงสูงจึงมีศักยภาพในด้านประยุกต์มากมาย ได้แก่ 

การใช้เลเซอร์เพื่อเจาะ ตัด เชื่อม

      เลเซอร์เป็นแสงที่มีความเข้มสูงและเป็นลำแสง  เมื่อโฟกัสมีขนาดเล็กจะสามารถเจาะ ตัด เชื่อม วัสดุต่าง ๆ ได้ รูปที่เจาะ รอยตัด รอยเชื่อม จะมีขนาดเล็กและคมชัดมากทำให้สามารถทำงานที่มีความละเอียดสูงได้ เลเซอร์ที่ใช้งานต้องมีกำลังสูง เช่น เลเซอร์คาร์บอนไดออกไซด์และเลเซอร์แย็ค 

 

การเจาะรูแผ่นเซรามิก
การเจาะรูแผ่นเซรามิกขนาดไมครอน

 

การเชื่อมตัวถังรถยนต์
การเชื่อมตัวถังรถยนต์ด้วยแสงเลเซอร์ 

 

การใช้เลเซอร์ด้านการแพทย์ 

      เลเซอร์ถูกนำมาใช้ในการผ่าตัดและรักษาทางด้านการแพทย์และจักษุแพทย์ เช่น การผ่าตัดที่มีขนาดเล็ก (Microsurgery) การผ่าตัดต้อ เป็นต้น เลเซอร์ที่ใช้ ได้แก่ เลเซอร์คาร์บอนไดออกไซด์ เลเซอร์อาร์กอน 

 

เลเซอร์ที่ใช้ด้านจักษุแพทย์
เลเซอร์ที่ใช้ด้านจักษุแพทย์ที่โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย

 

การใช้เลเซอร์ด้านสื่อสารโทรคมนาคม 

      เลเซอร์ไดโอดถูกนำมาใช้เป็นตัวส่งสัญญาณผ่านเส้นใยแก้วนำแสงเพื่อใช้ถ่ายทอดสัญญาณโทรทัศน์  โทรศัพท์  ข้อมูลคอมพิวเตอร์  อย่างกว้างขวางสื่อสารโทรคมนาคมด้วยแสงเลเซอร์นี้มีจุดเด่นที่จะไม่มีสัญญาณรบกวนเพราะเป็นคลื่นแสงมีความจุข้อมูลสูงมากเพราะมีความถี่สูงกว่าคลื่นวิทยุทำให้เส้นใยแก้วนำแสงเส้นหนึ่งสามารถจุคู่สายโทรศัพท์ได้เป็นพัน ๆ คู่สาย  ปัจจุบันประเทศไทยเริ่มใช้เส้นใยแก้วนำแสงในการสื่อสารโทรคมนาคมแล้ว  โดยการวางเครือข่ายเส้นใยแก้วนำแสงคู่ขนานไปกับทางรถไฟทั่วประเทศแล้วกว่า ๓,๐๐๐ กม. 

การใช้เลเซอร์ทางด้านสร้างภาพสามมิติ

      เลเซอร์มีความเป็นระเบียบของคลื่นแสง ดังนั้นจึงสามารถบันทึกข้อมูลของภาพสามมิติได้เพราะบันทึกทั้งความเข้มแสงและเฟส (หน้าคลื่น) ของแสงด้วยภาพที่บันทึกจึงมีข้อมูลเกี่ยวกับความลึกของภาพด้วย  ทำให้ได้ภาพสามมิติเรียกว่า โฮโลกราฟี (Holography) การบันทึกภาพสามมิตินี้ต้องกระทำบนโต๊ะแสง (Optical Bench) เพื่อขจัดปัญหาการสั่นสะเทือน คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้พัฒนาเทคนิคการบันทึกภาพสามมิติเชิงซ้อนและนำภาพสามมิติเชิงซ้อนดังกล่าวมาประยุกต์เป็นกุญแจแสง (Optical key) และบัตรประจำตัว (Holographic Identification) ซึ่งเป็นผลงานที่จดสิทธิบัตร  เลเซอร์ที่ใช้ในงานสร้างภาพสามมิตินี้ต้องมีคุณภาพดี เช่น เลเซอร์ฮีเลียม-นีออนและเลเซอร์อาร์กอนที่มีเสถียรภาพและโมดเดี่ยว (Single Mode) 

 

การออกแบบระบบอ่านข้อมูลสามมิติ
การออกแบบระบบอ่านข้อมูลสามมิติใช้แทนบัตรประจำตัว

 

การใช้เลเซอร์ในการทำภาพสามมิติ
การใช้เลเซอร์ในการทำภาพสามมิติที่คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

 

การใช้เลเซอร์ในด้านการวัด 

      เลเซอร์มีค่าความยาวคลื่นคงที่และเป็นลำแสงขนานจึงถูกนำมาใช้เป็นมาตรฐานการวัดที่ละเอียดแม่นยำ เช่น การวัดขนาดของสิ่งของการวัดระยะทางทั้งใกล้และไกล  โดยอาศัยหลักการของการสอดแทรก เช่น อินเทอเฟโรเมตรี (Interferometry) หลักการการสะท้อนของคลื่นแสงที่เป็นพัลส์และหลักการเกิดการเคลื่อนของเฟส (Phase Shift) ของคลื่นแสงที่ถูกโมดูเลตแล้ว 

การใช้เลเซอร์ในอุปกรณ์ สำนักงาน และใช้ในบ้าน

   เลเซอร์ไดโอดเป็นเลเซอร์ที่มีขนาดเล็กจิ๋วไม่กินไฟจึงเหมาะนำมาประยุกต์กับอุปกรณ์สำนักงานและใช้ในบ้าน ได้แก่ การใช้เลเซอร์เป็นเลเซอร์พอยนท์เตอร์  ใช้ในเครื่องถ่ายเอกสารและเครื่องพิมพ์เอกสารแบบเลเซอร์พริ้นเตอร์  ใช้ในเครื่องเสียงคอมแพคดิสก์  ใช้ในเครื่องวิดีโอ เลเซอร์ดิสก์ ฯลฯ 

 

เครื่องเล่นเลเซอร์ดิสก์
เครื่องเล่นเลเซอร์ดิสก์

 

การใช้เลเซอร์ในงานด้านนิทรรศการ 

      แสงเลเซอร์มีลักษณะเด่น  คือ มีลำแสงที่ระยิบระยับเนื่องจากการเกิดการสอดแทรกของแสงเลเซอร์  เมื่อฉายกระทบฝุ่นละอองในอากาศที่แขวนลอยทำให้การแสดงนิทรรศการมีชีวิตชีวา เราจึงเห็นมีการนำเลเซอร์ไปใช้ในงานโฆษณา งานแสดงละคร งานบนเวทีคอนเสิร์ตด้วย 

การใช้เลเซอร์ในด้านเลเซอร์ ฟิวชั่น (Laser Fusion)

      ฟิวชั่นเป็นปฏิกิริยานิวเคลียร์ที่เกิดจากการหลอมธาตุเบา เช่น ไฮโดรเจนหรือไอโซโทปของไฮโดรเจนให้กลายเป็นธาตุหนัก เช่น ฮีเลียมและมีพลังงานความร้อนเป็นผลพลอยได้จำนวนมากจึงสามารถนำพลังงานดังกล่าวไปผลิตกระแสไฟฟ้าได้  ปฏิกิริยาฟิวชั่นนี้สามารถชักนำให้เกิดและควบคุมด้วยแสงเลเซอร์ที่มีกำลังสูงมาก ๆ (มีขนาดเทราวัตต์ : TW หรือ 1012 วัตต์) เลเซอร์ที่มีกำลังสูงนี้  ได้แก่ เลเซอร์แก้วและเลเซอร์เอกไซเมอร์เป็นเทคโนโลยีการประยุกต์  เลเซอร์ที่กำลังวิจัยพัฒนาและหากทำได้สำเร็จจะทำให้สังคมโลกเรามีพลังงานที่สะอาดใช้เพราะปฏิกิริยาฟิวชั่นนี้มีกัมมันตภาพรังสีน้อยมาก  

      เลเซอร์เป็นแหล่งกำเนิดแสงประเภทโคฮีเร้นท์มีค่าความยาวคลื่นแน่นอนมีระเบียบเป็นลำแสงและมีความเข้มสูง  เลเซอร์ทำขึ้นจากของแข็ง ก๊าซ ของเหลว และสารกึ่งตัวนำจึงให้แสงเลเซอร์ที่มีกำลังแสงและลักษณะของแสงเลเซอร์ที่แตกต่างกัน  เลเซอร์มีประโยชน์นานัปการในศาสตร์หลายด้าน ทั้งทางด้านวิศวกรรมศาสตร์ แพทยศาสตร์ วิทยาศาสตร์ การทหาร และการผลิตพลังงานสำหรับอนาคต

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
  • Posted By
  • Plookpedia
  • 15 Followers
  • Follow