Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

การรักษาความปลอดภัยในระบบอินเทอร์เน็ตแบงกิ้ง

Posted By Plookpedia | 11 เม.ย. 60
5,237 Views

  Favorite

การรักษาความปลอดภัยในระบบอินเทอร์เน็ตแบงกิ้ง

ธนาคารทุกแห่งจะต้องมีระบบรักษาความปลอดภัยสำหรับระบบอินเทอร์เน็ตแบงกิ้ง โดยทั่วไปแล้วมีระบบป้องกันหลักๆ ดังนี้

  • ไม่ให้บุคคลอื่นทดลองเดารหัสเพื่อเข้ามาใช้ระบบแทนลูกค้าตัวจริง ถ้าผู้ใช้พิมพ์รหัสผิดเกิน ๒ - ๓ ครั้ง ระบบจะล็อก ไม่ให้เข้าระบบได้ แบบเดียวกับที่ตู้เอทีเอ็มจะอายัดบัตรเอทีเอ็ม ถ้าลูกค้าใส่รหัสผิดเกิน ๓ ครั้ง
  • ไม่ให้บุคคลอื่นบุกรุกเข้ามาในคอมพิวเตอร์ของธนาคาร และทำลายหรือปรับแก้ข้อมูลในธนาคาร อาทิ มีระบบกำแพงไฟ (Firewall) ป้องกัน
  • ไม่ให้บุคคลอื่นดักขโมยข้อมูลที่กำลังสื่อสารผ่านอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์จากเครื่องหนึ่งไปยังอีกเครื่องหนึ่ง
  • มีอุปกรณ์เสริมอื่นๆ ให้ลูกค้า เพื่อใช้ในการยืนยันความเป็นตัวบุคคลของตนเอง

อนึ่ง ระบบรักษาความปลอดภัยของธนาคารต้องได้รับการตรวจสอบทั้งจากภายในธนาคาร องค์กรภายนอก และธนาคารแห่งประเทศไทย เพื่อให้ระบบดังกล่าวได้มาตรฐานความปลอดภัย ทั้งภายในชาติและระดับนานาชาติ

ตัวอย่างอุปกรณ์เสริม เพื่อเพิ่มความปลอดภัยในการใช้บริการธนาคารผ่านอินเทอร์เน็ต อุปกรณ์นี้สามารถออกรหัสเพิ่มเติมที่เปลี่ยนแปลงอยู่เสมอๆ เช่น ทุก ๑ - ๒ นาที สำหรับการเข้าใช้บริการเฉพาะเวลาและเฉพาะบุคคล

 

แม้ว่าแต่ละธนาคารจะมีระบบรักษาความปลอดภัยที่ดีมากเพียงใดก็ตาม ลูกค้าก็ต้องไม่ประมาท และรู้จักรักษาความปลอดภัยด้วย เพื่อไม่ให้บุคคลอื่นสวมรอยเข้ามาทำธุรกรรมแทนตนได้ ได้แก่

  • เก็บรักษารหัสส่วนบุคคลและรหัสผ่านเป็นความลับ ไม่ควรจดทิ้งไว้ในกระดาษ หรือบอกให้เพื่อนและบุคคลอื่นทราบ
  • เปลี่ยนรหัสส่วนบุคคลและรหัสผ่านเป็นระยะๆ เมื่อใช้บริการไปได้สักระยะหนึ่งแล้ว ควรเปลี่ยนรหัสส่วนบุคคลและรหัสผ่าน รหัสที่ใช้ไม่ควรให้บุคคลอื่นเดาได้ง่าย เช่น ไม่ควรเป็นชื่อของผู้ใช้เอง ไม่ควรเป็นคำที่อยู่ในพจนานุกรม ไม่ควรเป็นเลขที่บ้าน เลขวันเกิด เลขบัตรประจำตัวประชาชน หรือเลขอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับตนเองที่บุคคลอื่นรู้ ถ้าเป็นไปได้ ควรผสมตัวอักษรและตัวเลขลงในรหัสที่ใช้
  • อย่าเปิดหน้าจอระบบอินเทอร์เน็ตแบงกิ้งค้างไว้ โดยตนเองไม่อยู่ที่คอมพิวเตอร์ การลุกขึ้นจากคอมพิวเตอร์ โดยเปิดหน้าจอระบบอินเทอร์เน็ตแบงกิ้งค้างไว้ มีอันตรายพอๆ กับการเปิดตู้นิรภัยทิ้งไว้ เพราะอาจมีบุคคลอื่นมานั่งที่เครื่องคอมพิวเตอร์นั้น แล้วสวมรอยเข้ามาทำธุรกรรมกับบัญชีของเราแทนเราได้ เพราะฉะนั้นเมื่อทำธุรกรรมที่ต้องการเสร็จแล้ว ควรออกจากระบบทันที

 

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
  • Posted By
  • Plookpedia
  • 15 Followers
  • Follow