Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

จารึกที่พบในประเทศไทย

Posted By Plookpedia | 30 มิ.ย. 60
11,008 Views

  Favorite

จารึกที่พบในประเทศไทย

 

อดีตกาลนานกว่า ๒,๕๐๐ ปีล่วงมาแล้ว ประเทศอินเดียมีความเจริญทางอารยธรรมสูงยิ่ง อีกทั้งยังได้เผยแพร่อารยธรรมสู่ประเทศข้างเคียง ทั้งโดยทางทะเล และทางบก ผู้เผยแพร่อารยธรรมเหล่านั้น ส่วนใหญ่จะเป็นพ่อค้าวาณิช ซึ่งเดินทางไปมาค้าขายในท้องถิ่นต่าง ๆ เมื่อมาถึงบ้านเมืองใด ก็หยุดพักอาศัย ปฏิบัติภารกิจของตนช่วงระยะเวลาหนึ่ง ในระหว่างนั้นก็ได้นำสิ่งแปลก ๆ ใหม่ ๆ อันมีอยู่ในประเทศของตน บอกเล่าถ่ายทอดสู่ชนพื้นเมืองต่าง ๆ ในแต่ละท้องถิ่นนั้น ๆ ทำให้สังคมในท้องถิ่นมีการพัฒนา เปลี่ยนแปลงไปสู่ความเจริญแบบอินเดีย 

 

อารยธรรมอินเดีย ซึ่งแพร่อิทธิพลไปสู่ประเทศใกล้เคียงดังกล่าวแล้ว มีหลักฐาน ทั้งในทางโบราณคดี และประวัติศาสตร์ รับรองว่า บริเวณเอเซียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งมีประเทศไทยรวมอยู่ด้วยนั้น เป็นแหล่งที่อารยธรรมของอินเดีย เข้ามามีบทบาทแล้ว ตั้งแต่พุทธศตวรรษ ที่ ๑๑ - ๑๒ เป็นต้นมา ซึ่งขณะนั้นอยู่ในช่วงสมัยราชวงศ์ปัลลวะของประเทศอินเดีย ด้วยเหตุนี้รูปแบบอักษรอินเดียสมัยราชวงศ์ปัลลวะ จึงได้แพร่หลายทั่วไปในกลุ่มประเทศต่าง ๆ ตลอดภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รูปแบบอักษรชนิดนี้ได้นามตามชื่อของราชวงศ์ผู้ครอบครองอาณาจักรว่า "รูปอักษรปัลลวะ"
 

จารึกรูปอักษรปัลลวะ พบที่ จ.ปราจีนบุรี แสดงถึงบทบาทของอารยธรรมอินเดียที่แพร่อิทธิพลสู่ประเทศไทยในสมัยราชวงค์ปัลลวะของอินเดีย

 

จารึกรุ่นแรกในประเทศไทย เป็นจารึกที่ได้รับอิทธิพลรูปอักษรจากประเทศอินเดีย สมัยราชวงศ์
ปัลลวะเช่นเดียวกัน ได้พบจารึกอักษรปัลลวะบันทึกเรื่องราวต่าง ๆ มีหลักธรรมในศาสนา ทั้งพระพุทธศาสนา และลัทธิศาสนาพราหมณ์ เป็นต้น ในพื้นที่ไม่เฉพาะแต่ในประเทศไทยเท่านั้น แม้ในประเทศใกล้เคียง ได้แก่ ประเทศพม่า กัมพูชา และมาเลเซีย เป็นต้น ก็ได้พบเห็นอักษรชนิดนี้ด้วย ย่อมแสดงว่าในดินแดนทั้ง ๔ ประเทศ คือ ไทย พม่า กัมพูชา และมาเลเซีย มีหลักฐานเกี่ยวกับรูปแบบอักษรปัลลวะอยู่ร่วมกันเหมือนกัน และถ้านำความสัมพันธ์ทางด้านภูมิศาสตร์ หรือภูมิสถาน
ในสมัยโบราณเข้ามาพิจารณาร่วมด้วย อาจจะทำให้ได้หลักฐานอันน่าสนใจศึกษาเพิ่มขึ้น 

 

ศิลาจารึกเก่าที่สุดพบในประเทศไทย เท่าที่มีหลักฐานทางศักราชปรากฏอยู่ด้วยคือ "จารึกเขาน้อย" พบที่เขาน้อย อำเภออรัญประเทศ จังหวัดปราจีนบุรี สร้างขึ้นในปีพุทธศักราช ๑๑๘๐ ศิลาจารึกชิ้นนี้เป็นหลักฐานเอกสารโบราณ ที่บ่งบอกถึงวัฒนธรรมทางด้านการใช้รูปอักษร ที่ปรากฏบนผืนแผ่นดินไทยครั้งแรก และเป็นยุคเริ่มต้นสมัยประวัติศาสตร์ของไทยด้วย นับว่าเป็นช่วงเวลาที่สอดคล้องตรงกัน กับหลักฐานทางด้านศิลปกรรมในประเทศไทย ซึ่งร่วมสมัยกับพุทธศิลปะสมัยทวารวดี ศิลปกรรมสมัยแรกของประเทศไทย

 

จารึกเขาน้อย จ.ปราจีนบุรี (เป็นจารึกที่ผนังข้างกรอบประตูปราสาทเขาน้อย) ปัจจุบันพบว่าเป็นศิลาจารึกที่ปรากฏศักราชเก่าที่สุดในประเทศไทย

 

กลุ่มจารึกที่ใช้อักษรปัลลวะ 

ในประเทศไทยมีพบอยู่ทั่วไป ในบริเวณภาคใต้พบที่จังหวัดนครศรีธรรมราช และพังงา ในบริเวณภาคกลางพบที่ลุ่มแม่น้ำกลอง ลุ่มน้ำเจ้าพระยา และลุ่มน้ำป่าสัก ได้แก่ จังหวัดราชบุรี สุพรรณบุรี นครปฐม ลพบุรี ชัยนาท อุทัยธา นี สระบุรี และเพชรบูรณ์ ในภาคตะวันออก และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ พบในบริเวณลุ่มน้ำบางปะกง ลุ่มน้ำมูล และลุ่มน้ำชี ที่จังหวัดปราจีนบุรี บุรีรัมย์ และอุบลราชธานี 

ในสมัยโบราณบริเวณอันเป็นที่ตั้งประเทศไทยปัจจุบัน เป็นดินแดนที่มีกลุ่มชนหลายเชื้อชาติอาศัยอยู่ จารึกที่คนพื้นเมืองทำขึ้นในสมัยหลังต่อมา จึงเป็นจารึกที่ใช้รูปอักษรอันเปลี่ยนแปลงมาจาก
รูปอักษรปัลลวะ ซึ่งนำมาจากประเทศอินเดีย ได้แก่ กลุ่มจารึกที่ใช้อักษรมอญโบราณ และอักษรขอมโบราณ 
 

 

กลุ่มจารึกที่ใช้อักษรมอญโบราณ

ปรากฏหลักฐานแน่ชัดในบริเวณภาคเหนือของประเทศไทยระหว่างพุทธศตวรรษที่ ๑๗ พบหลักฐานการใช้อักษรมอญโบราณ ภาษามอญโบราณ ในบริเวณลุ่มแม่น้ำปิงตอนบน คือ ดินแดนที่เป็นอาณาจักรหริภุญชัย ในเขตจังหวัดลำพูนปัจจุบัน โดยได้สืบทอดอารยธรรมกันมา ตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ ๑๗ ลงมาจนถึงพุทธศตวรรษที่ ๑๙ อารยธรรมมอญโบราณที่หริภุญชัยก็สิ้นสุดลง กษัตริย์องค์สุดท้ายแห่งอาณาจักรหริภุญชัย มีพระนามว่า พระยายีบา ได้เสียเมืองหริภุญชัย แก่พระยามังราย ในปีพุทธศักราช ๑๘๓๙ ตรงกับรัชสมัยพ่อขุนรามคำแหงมหาราชแห่งอาณาจักรสุโขทัย 

หลักฐานการใช้จารึกภาษามอญนั้น จำกัดบริเวณอยู่เฉพาะตัว ไม่อาจวิเคราะห์ได้ว่า กลุ่มชนซึ่งใช้ภาษามอญในอาณาจักรหริภุญชัย จะเป็นกลุ่มชน ที่สืบต่อการใช้ภาษามอญ มาจากกลุ่มชนทางแถบภาคกลางของประเทศไทยด้วยหรือไม่ เพราะยังไม่เคยพบจารึกบ่งบอกไว้อย่างชัดเจน

 

 

กลุ่มจารึกที่ใช้อักษรขอมโบราณ 

พบอยู่ในบริเวณภาคกลาง ภาคอีสานและภาคใต้ของประเทศไทยปัจจุบัน มีอายุระหว่างพุทธศตวรรษ ที่ ๑๔ - ๑๖ แต่ยังไม่พบจารึกอักษรขอมโบราณ ในแถบภาคเหนือ ตั้งแต่จังหวัดตากขึ้นไป ทั้งนี้ อาจเป็นได้ว่า กระแสอิทธิพลวัฒนธรรมแบบขอมโบราณนี้ ไม่แพร่หลายขึ้นไปสู่ภาคเหนือของประเทศไทย หลักฐานทำนองนี้รวมไปถึงโบราณสถานที่เรียกกันว่า ปราสาทหิน ปราสาทอิฐ และปรางค์แบบกัมพูชา หรือลพบุรี ที่มีอยู่ทั่วไปในภาคอีสาน ภาคกลาง ภาคใต้ แต่ไม่เคยปรากฏอยู่ทางภาคเหนือ 

 

จารึกวัดตาพระยา จ.ปราจีนบุรี เป็นจารึกอักษรขอมโบราณกระแสอิทธิพลวัฒนธรรมขอมโบราณนี้แพร่หลายสู่ภาคอีสานภาคกลาง และภาคใต้ แต่ไม่มีในภาคเหนือ

 

 

จารึกที่ใช้อักษรขอมในสมัยต่อจากจารึกที่ใช้อักษรขอมโบราณ

คือ จารึกที่ใช้อักษรขอม ที่มีอายุอยู่ในระหว่างพุทธศตวรรษที่ ๑๗ - ๑๘ โดยเฉพาะจารึกที่ปราสาทพระขรรค์ ประเทศกัมพูชา จะบอกให้ทราบว่า ในช่วงรัชสมัยของ พระเจ้าชัยวรมันที่ ๗ ซึ่งครองราชย์อยู่ระหว่าง พุทธศตวรรษที่ ๑๘ นั้น ได้ขยายอาณาเขตของอาณาจักรออกไปกว้างขวางมาก ส่วนหนึ่งของอาณาจักร ได้เข้ามาอยู่ในบริเวณที่เป็นประเทศไทยปัจจุบัน กล่าวคือ ตลอดภาคตะวันออก ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคเหนือ ถึงจังหวัดสุโขทัย ภาคใต้ที่จังหวัดสุราษฎร์ธานี ภาคกลางที่จังหวัดกาญจนบุรี และเพชรบุรี กลุ่มเมืองที่อยู่ภายใต้การปกครองของอาณาจักรกัมพูชา ในช่วงเวลาที่กล่าวถึงนี้ ได้รับอารยธรรมของกัมพูชา ทั้งทางด้านศิลปกรรม รูปแบบอักษร และภาษาไว้ทั้งหมด ปรากฏหลักฐานแพร่กระจาย อยู่ในพื้นที่ดังกล่าวดังนี้ ทางด้านศิลปกรรม ได้แก่ วัดศรีสวาย จังหวัดสุโขทัย พระปรางค์สามยอด จังหวัดลพบุรี ปราสาทหินวัดกำแพงแลง จังหวัดเพชรบุรี และปราสาทเมืองสิงห์ จังหวัดกาญจนบุรี เป็นต้น 

 

ปราสาทหินวัดกำแพงแลง จ.เพชรบุรี แสดงถึงการได้รับอารยธรรมของกัมพูชา ทั้งทางด้านศิลปกรรม รูปแบบอักษรและภาษาไว

 

 

กลุ่มจารึกที่ใช้อักษรขอม 

ที่มีอายุอยู่ ในระหว่างพุทธศตวรรษที่ ๑๘ ได้แก่ จารึกดงแม่นางเมือง จังหวัดนครสวรรค์ พุทธศักราช ๑๗๑๐ ซึ่งจารึกด้วยอักษรขอม ภาษาเขมร และภาษาไทย จารึกหลังพระพุทธรูปนาคปรก
จังหวัดลพบุรี พุทธศักราช ๑๗๕๖ ซึ่งจารึกด้วยอักษรขอม ภาษาเขมร และภาษาไทย และกลุ่มจารึก
พระเจ้าชัยวรมันที่ ๗ ทรงสร้าง เพื่อประกาศเรื่องการสร้างโรงพยาบาล ได้แก่ จารึกเมืองพิมาย
จังหวัดนครราชสีมา จารึกด่านประคำ จังหวัดบุรีรีมย์ และจารึกปราสาทตาเมียนโตจ จังหวัดสุรินทร์
ซึ่งจารึกด้วยอักษรขอม ภาษาสันสกฤต เป็นต้น 

 

จารึกด่านประคำ จ.บุรีรัมย์ เป็นกลุ่มจารึกอักษรขอมที่พระเจ้าชัยวรมันที่ ๗ ทรงสร้างเพื่อประกาศเรื่องการสร้างโรงพยาบาล

 


จารึกที่คนไทยทำขึ้น ปรากฏหลักฐานใน ต้นพุทธศตวรรษที่ ๑๙ เมื่อคนไทยก่อตั้งอาณาจักรสุโขทัยขึ้นในแถบแม่น้ำยม พ่อขุนรามคำแหงมหาราช กษัตริย์พระองค์ที่ ๓ แห่ง อาณาจักรสุโขทัย ได้ประดิษฐ์ลายสือไทยขึ้น ในปีพุทธศักราช ๑๘๒๖ ปรากฏหลักฐานลายสือไทยดังกล่าว ในจารึกพ่อขุนรามคำแหง ซึ่ง เป็นจารึกอักษรไทยที่เก่าที่สุด และไม่มีลักษณะของรูปอักษรไทยในที่แห่งไหนจะเก่าเท่า ถึงแม้ว่าจะได้พบจารึกอักษรไทย ที่คนไทยได้ทำขึ้นจำนวนมาก ในทุกภาคของประเทศไทย แต่หลักฐานการค้นพบปรากฏว่า จารึกเหล่านั้น มีอายุอยู่ในระหว่างพุทธศตวรรษที่ ๒๐ ลงมา ทั้งสิ้น
รูปอักษรไทยในอาณาจักรสุโขทัย ซึ่งเรียกว่า อักษรไทยสุโขทัยนั้น ได้เป็นแม่แบบ ของรูปอักษรไทยทั่วไปในสมัยต่อมา

 

จารึกที่ใช้รูปอักษร ซึ่งวิวัฒนาการมาจากรูปอักษรไทยในจารึกพ่อขุนรามคำแหงมี ดังนี้ 

 

จารึกอักษรไทยสุโขทัย 

เป็นจารึกที่ใช้ รูปอักษรซึ่งมีกำเนิดขึ้นในอาณาจักรสุโขทัย ระหว่างพุทธศตวรรษที่ ๑๙ และมีใช้ต่อมาจนถึงพุทธศตวรรษที่ ๒๐ เช่น จารึกพ่อขุนรามคำแหง จังหวัดสุโขทัย จารึกวัดพระยืน จังหวัดลำพูน และจารึกวัดเขากบ จังหวัดนครสวรรค์ เป็นต้น 

 

จารึกวัดพระยืน จ.ลำพูน จารึกอักษรสุโขทัยที่วิวัฒนาการมาจากรูปอักษรไทยในจารึกพ่อขุนรามคำแหง


 

จารึกอักษรไทยอยุธยา 

เป็นจารึกที่ใช้รูปอักษรที่วิวัฒนาการมาจากรูปอักษรไทยสุโขทัย ปรากฏใช้อยู่ทั่วไป ในบริเวณภาคกลางของประเทศไทย ระหว่างพุทธศตวรรษที่ ๒๐ - ๒๔ เช่น จารึกแผ่นดีบุกวัดมหาธาตุ
จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เป็นต้น

 

จารึกอักษรไทยล้านนา 

เป็นจารึกที่พบ ในอาณาจักรล้านนาบริเวณภาคเหนือของประเทศไทยปัจจุบัน ลักษณะเป็นรูปอักษร ที่วิวัฒนาการมาจากรูปอักษรไทยสุโขทัย มีอายุระหว่างพุทธศตวรรษที่ ๒๐ และตัวอักษรอย่างนี้ ได้พัฒนาไปเป็นรูปอักษรอีกแบบหนึ่ง เรียกกันในปัจจุบันว่า อักษรไทยล้านนา หรืออักษรฝักขาม เช่น จารึกวัดปราสาท จังหวัดเชียงราย เป็นต้น 

 

จารึกอักษรไทยอีสาน 

จารึกที่ใช้ตัวอักษรแบบนี้ พบเฉพาะในภาคอีสานของประเทศไทยเท่านั้น ลักษณะเป็นรูปอักษรที่วิวัฒนาการมาจากรูปอักษรไทยล้านนา ซึ่งได้แพร่อิทธิพลผ่านไปในอาณาจักรล้านช้าง แล้วย้อนกลับข้ามฝั่งแม่น้ำโขงมาทางฝั่งตะวันตก เข้าสู่ภาคอีสาน และในสมัยหลังต่อมา ตัวอักษรอย่างนี้ ได้พัฒนาไปเป็นรูปอักษรอีกแบบหนึ่ง เรียกกันในปัจจุบันว่า อักษรไทยน้อย ซึ่งปรากฏใช้ในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์เท่านั้น ตัวอย่างจารึกอักษรไทยอีสาน เช่น จารึกวัดแดนเมือง จังหวัดหนองคาย เป็นต้น

 

จารึกอักษรธรรม 

จารึกที่ใช้อักษรชนิดนี้ มีทั้งภาคเหนือ และภาคอีสานของประเทศไทย แต่ลักษณะตัวอักษรแตกต่างกัน ในภาคเหนือเรียกว่า อักษรธรรมล้านนา หรือตัวเมือง หรือตัวธรรม มีลักษณะใกล้เคียงกับตัวอักษรมอญ พม่า ปรากฏการใช้ครั้งแรกในระหว่างพุทธศตวรรษที่ ๒๐ เช่น จารึกวัดช้างค้ำ จังหวัดน่าน เป็นต้น ในภาคอีสานเรียกอักษรธรรมอีสาน หรือหนังสือธรรม อักษรชนิดนี้มีลักษณะใกล้เคียงกับอักษรธรรมล้านนา โดยได้รับอิทธิพลของรูปอักษรธรรมล้านนา ผ่านมาทางอาณาจักรล้านช้าง เช่นเดียวกับรูปอักษรไทยอีสาน ตัวอย่างจารึกที่ใช้รูปอักษรธรรมอีสาน เช่น จารึกวัดถ้ำสุวรรณคูหา จังหวัดอุดรธานี เป็นต้น

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
Tags
  • Posted By
  • Plookpedia
  • 15 Followers
  • Follow