Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

ความสัมพันธ์ทางวัฒนธรรมกับอินเดียและจีน

Posted By Plookpedia | 30 มิ.ย. 60
6,128 Views

  Favorite

ความสัมพันธ์ทางวัฒนธรรมกับอินเดียและจีน

      วัฒนธรรมต่างชาติทั้งหลายที่เข้ามามีความสัมพันธ์กับไทยนั้นถือได้ว่าวัฒนธรรมอินเดียมีความสำคัญมากที่สุดและมีอิทธิพลต่อวัฒนธรรมไทยในหลายด้านโดยเฉพาะพุทธศาสนา ภาษา วรรณคดี กฎหมาย และประเพณีต่าง ๆ ดังจะได้กล่าวต่อไป 
      อินเดียมีการติดต่อกับภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มาเป็นเวลานานแล้ว  จากหลักฐานทางโบราณคดีแสดงให้เห็นร่องรอยวัฒนธรรมอินเดียในภูมิภาคนี้มีมาไม่เก่าไปกว่าพุทธศตวรรณที่ ๗ ในศตวรรษต่อมาก็ได้ปรากฏหลักฐานเป็นศิลาจารึกภาษาสันสกฤตและพระพุทรูปในภูมิภาคนี้ด้วย  ดังนั้นเมื่อไทยสถาปนากรุงสุโขทัยเป็นราชธานีในปลายพุทธศตวรรษที่ ๑๘ วัฒนธรรมอินเดียจึงได้แพร่หลายและมีอิทธิพลต่อผู้คนในดินแดนประเทศไทยอยู่อย่างกว้างขวางแล้ว  ในเวลาไม่นานต่อมาพระมหากษัตริย์และประชากรของอาณาจักรสุโขทัยจึงรับวัฒนธรรมอินเดียอีกหลายประการโดยผ่านอาณาจักรที่รุ่งเรืองในบริเวณนี้มาก่อนโดยเฉพาะขอมหรือเขมรตามพรลิงค์ (นครศรีธรรมราช) มอญ ต่อมาเมื่อกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานีก็ได้รับช่วงวัฒนธรรมอินเดียต่อมาวัฒนธรรมอินเดียซึ่งไทยรับมาที่นับว่าสำคัญ คือ 

๑. ศาสนา 

      ศาสนาจากอินเดียที่เข้ามาเผยแผ่ก่อน คือ ศาสนาพราหมณ์หรือฮินดูซึ่งเป็นศาสนาที่นับถือเทพเจ้าหลายองค์ เช่น พระศิวะ พระพรหม พระนารายณ์ พระอินทร์ เมื่อพุทธศาสนารุ่งเรืองในอินเดียโดยเฉพาะในสมัยพระเจ้าอโศกมหาราช (ครองราชย์ พ.ศ. ๒๖๙-๓๑๑) พระองค์ได้ส่งสมณทูตไปเผยแผ่พุทธศาสนาหลายแห่งรวมทั้งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จึงทำให้ผู้คนในอาณาจักรต่าง ๆ ยอมรับนับถือพุทธศาสนาแทนศาสนาพราหมณ์  อย่างไรก็ดีศาสนาพราหมณ์ยังคงมีอิทธิพลในราชสำนักและในพระราชพิธีบางอย่าง  พุทธศาสนาที่นับถือในสุโขทัยระระแรกเป็นนิกายมหายานต่อมาในสมัยพ่อขุนรามคำแหงมหาราช (พ.ศ. ๑๘๒๑-๑๘๔๒) ทรงนำพุทธศาสนานิกายเถรวาทแบบลังกาวงศ์หรือนิกายหินยานซึ่งเคร่งครัดในพระธรรมวินัยกว่ามาเผยแผ่ทรงนิมนต์พระสงฆ์จากตาม     พรลิงค์หรือนครศรีธรรมราชซึ่งมีความรู้แตกฉานในพระไตรปิฎกมาเทศน์สั่งสอนประชาชนทำให้พุทธศาสนานิกายเภรวาทเป็นที่นับถือกันโดยทั่วไปจนปัจจุบัน 

๒. ภาษาและวรรณคดี

      การแพร่หลายของพุทธศาสนาในราชอาณาจักรไทยจนกลายมาเป็นศาสนาประจำชาติทำให้คำในภาษาบาลีซึ่งใช้ในพุทธศาสนานิกายหินยานมีหลายคำปรากฏในภาษาซึ่งใช้กันโดยทั่วไปในหมู่คนไทย  ส่วนภาษาสันสกฤตซึ่งเป็นภาษาของนักปราชญ์ในอินเดียก็มีอิทธิพลอยู่มากแต่น้อยกว่าภาษาบาลี  ในด้านวรรณคดีมหากาพย์ที่ยิ่งใหญ่ของอินเดีย ๒ เรื่อง คือ รามายณะหรือรามเกียรติ์และมหาภารตะเป็นที่รู้จักกันดีของคนไทยเรื่องรามายณะมาเล่นโขน หนังใหญ่ และหนังตะลุง ยังมีวรรณคดีของอินเดียอีกหลายเรื่องที่คนไทยคุ้นเคยที่รู้จักกันดีอีกเรื่องหนึ่ง คือ นิทานชาดกในพุทธศาสนาซึ่งมีอิทธิพลต่อคนไทยในเรื่องการทำคุณงามความดีละเว้นความชั่ว 

๓. กฎหมายและระบอบการปกครอง 

     กฎหมายเดิมของไทยที่เรียกกันโดยทั่วไปว่ากฎหมายตราสามดวงได้รับอิทธิพลจากอินเดียเช่นกัน (โดยผ่านทางมอญ) คือ จากคัมภีร์พระธรรมศาสตร์ในการตรากฎหมายหรือที่เรียกว่าพระไอยการลักษณะต่าง ๆ จะมีการอ้างอิงถึงคัมภีร์พระธรรมศาสตร์ในเบื้องต้นก่อนกล่าวถึงเนื้อหาสาระของกฎหมาย นอกจากนี้คัมภีร์อรรถศาสตร์ซึ่งเป็นตำราทางด้านการปกครองของอินเดียราชนีติ หรือ "ความประพฤติของพระราชา" และหลักทศพิธราชธรรม หรือ "ธรรม ๑๐ ประการ ของพระราชา" ล้วนแล้วแต่มีกำเนิดในอินเดียและมีอิทธิพลต่อระบอบการปกครองของไทยในสมัยก่อน 

๔. ศิลปกรรม 

      ศิลปกรรมของอินเดียที่เกี่ยวข้องกับพุทธศาสนาทางด้านปฏิมากรรม เช่น พระพุทธรูป พระโพธิสัตว์ ด้านสถาปัตยกรรม เช่น สถูป เจดีย์ ด้านจิตรกรรม เช่น ภาพฝาผนัง มีอิทธิพลอย่างลึกซึ้งต่อศิลปกรรมของไทย  อิทธิพลของเรื่องรามายณะหรือรามเกียรติ์ทำให้นาฏศิลป์ของอินเดียมีอิทธิพลต่อนาฏศิลป์ไทยเช่นกันทั้งการแต่งตัวและท่าร่ายรำ อิทธิพลของวัฒนธรรมอินเดียดังที่กล่าวมา ไทยไม่ได้รับโดยตรงจากอินเดียหากแต่รับผ่านเพื่อนบ้านของไทย คือ ขอม (เขมร) มอญ ลังกา สำหรับขอมยังมีอิทธิพลทางด้านภาษาต่อไทยเราด้วยนั่น คือ คำในภาษาเขมรหลายคำกลายเป็นภาษาที่ใช้สำหรับพระมหากษัตริย์และพระบรมวงศานุวงศ์หรือราชาศัพท์

 

พระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ
พระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญได้รับอิทธิพลจากศาสนาฮินดู

 

ฮก ลก ซิ่ว
ฮก ลก ซิ่ว


      ในด้านความสัมพันธ์ทางวัฒนธรรมกับจีนแม้ว่าประเทศไทยกับจีนจะตั้งอยู่ใกล้กันมากกว่าไทยกับอินเดีย  คนจีนหรือลูกหลานจีนที่อยู่ในไทยปัจจุบันมีจำนวนมากกว่าลูกหลานอินเดียแต่มีข้อที่น่าสังเกตว่าอิทธิพลทางศิลปวัฒนธรรมของจีนที่มีต่อไทยจะมีน้อยกว่าของอินเดีย  ที่เป็นเช่นนี้อาจเป็นเพราะว่าลักษณะความสัมพันธ์กับอินเดียเข้ามาในลักษณะเป็นที่ปรึกษา เช่น พราหมณ์ปุโรหิต   แต่จีนมักจะเข้ามาในสุวรรณภูมิพร้อมกับอำนาจ เช่น การรุกราน การส่งข้าหลวงมาปกครอง (ในกรณีของเวียดนาม) การเรียกร้องบรรณาธิการและรัฐในแถบนี้ถูกมองว่าเป็นรัฐบรรณาการจึงทำให้อาณาจักรต่าง ๆ รวมทั้งไทยมีความระแวงจีนมาก  อย่างไรก็ดีไทยมีความสัมพันธ์กับจีนในด้านการค้าขายมากเพราะไทยต้องการสินค้าของจีนทั้งที่นำมาใช้เองและการขายต่อให้กับพ่อค้าต่างชาติ
      จีนมีการติดต่อกับภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เป็นเวลานานเมื่อไทยสถาปนาอาณาจักรสุโขทัยจีนอยู่ในราชวงศ์ซ่ง (ซ้อง) และกำลังถูกรุกรานจากพวงมองโกลในสมัยพ่อขุนรามคำแหงมหาราชขึ้นครองราชย์ใหม่ ๆ พวกมองโกลก็สามารถโค่นราชวงศ์ซ่งลงได้และยึดครองจีนได้ทั้งหมด  ต่อจากนั้นได้ส่งทูตไปยังอาณาจักรต่าง ๆ เรียกร้องให้ส่งคณะทูตนำบรรณาการไปถวาย หลังจากติดตามดูเหตุการณ์ระยะหนึ่งพ่อขุนรามคำแหงมหาราชจึงส่งทูตนำบรรณาการไปถวายแต่พระองค์ไม่ได้เสด็จไป  ความสัมพันธ์ในลักษณะรัฐบรรณาการมีความสำคัญเรื่อยมาตลอดสมัยกรุงสุโขทัย สมัยกรุงศรีอยุธยาและสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้นจนกระทั่งต้นรัชกาลที่ ๔ ความสัมพันธ์ในลักษณะนี้จึงยุติลง 


นอกจากความสัมพันธ์แบบรัฐบรรณาการที่ทำให้วัฒนธรรมจีนเผยแพร่เข้ามาในไทย ผู้ที่เผยแพร่วัฒนธรรมจีนอีกกลุ่มหนึ่งที่สำคัญ คือ คนจีนที่เข้ามาในประเทศไทยซึ่งเข้ามามีหลายกรณี คือ
(๑) การเปลี่ยนแปลงทางการเมืองในจีน 
      เนื่องจากถูกต่างชาติเข้ามาปกครอง คือ ราชวงศ์หยวน (หงวน) ของพวกมองโกลและราชวงศ์ชิง (เช็ง) ของพวกแมนจู ทำให้คนจีนบางส่วนอพยพออกนอกประเทศ 
(๒) การค้าขาย 
      โดยชาวจีนออกมาค้าขายกับไทยนอกเหนือจากการที่ไทยไปค้าขายกับจีน 
(๓) การแสวงโชค 
      เนื่องจากปัญหาความอดอยากในประเทศจึงทำให้ชาวจีนอพยพออกนอกประเทศเพื่อหาเงินระยะหนึ่งแล้วจึงกลับประเทศ การแสวงโชคมีหลายลักษณะ เช่น รับจ้าง เดินเรือค้าขาย รับราชการ เป็นช่างฝีมือค้าขาย ทำไร่ เป็นเจ้าภาษี ฝากตัวกับเจ้านาย ฯลฯ 
(๔) การแสดงแสนยานุภาพ 
      โดยในครึ่งหลังพุทธศตวรรษที่ ๒๐ จีนในสมัยต้นราชวงศ์หมิง (เหม็ง) ได้ส่งกองเรือขนาดใหญ่ภายใต้การนำของขันที เจิ้งเหอ (เดิมชื่อ ซำเป่า ไทยรู้จักในชื่อ ซำปอกง) สำรวจทางทะเลถึง ๗ ครั้ง และกองเรือได้แวะมาที่อยุธยา ๒ ครั้ง  ซึ่งทำให้คนไทยในช่วงเวลานั้นได้ตระหนักถึงความยิ่งใหญ่และอำนาจของจีนดียิ่งขึ้น

 

พระปรางค์วัดอรุณราชวราราม
พระปรางค์วัดอรุณราชวราราม ประดับตกแต่งด้วยกระเบื้องจีน


      ในระยะแรกคนจีนที่เข้ามาติดต่อกับไทยในลักษณะต่าง ๆ ดังกล่าวมาแล้ว  โดยส่วนใหญ่จะมาชั่วคราวเพราะมีความเชื่อว่าถ้าตายในต่างแดนวิญญาณจะไม่มีความสุขเพราะกลับบ้านไม่ได้สภาพเป็นเช่นนี้เรื่อยมาแม้ในปลายสมัยกรุงศรีอยุธยาและสมัยกรุงธนบุรีที่มีคนจีนเข้ามาในไทยเป็นจำนวนที่มากขึ้นก็ตาม  ในสมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์คนจีนที่เข้ามาเมืองไทยยังมีจำนวนมากขึ้นอยู่เรื่อย ๆ เพราะปัญหาความอดอยากในประเทศจีนในช่วงนั้นคนจีนบางส่วนเริ่มตั้งรกรากในเมืองไทยและเข้ารับราชการกับทางการไทยมากขึ้นกอปรกับในระยะนั้นการค้ากับจีนก็เพิ่มปริมาณมากขึ้นจึงทำให้วัฒนธรรมจีนได้รับความนิยมมากขึ้นแม้ในราชสำนักความสัมพันธ์กับจีนในลักษณะต่าง ๆ ดังที่กล่าวมา  ส่วนที่มีความสำคัญต่อไทยเรามากที่สุด คือ ผลประโยชน์ทางการค้าแต่ก็มีความสัมพันธ์ทางวัฒนธรรมรวมอยู่ด้วย เช่น ทางด้านศิลปะ  เราจะเห็นภาพจิตรกรรม การสร้างสวนหิน การประดับลวดลายด้วยเครื่องกระเบื้องจีน ตุ๊กตาจีน เก๋งจีน ฯลฯ ทางด้านวรรณคดีมีการแปลพงศาวดารจีนสมัยต่าง ๆ เรื่องที่คนไทยรู้จักดีที่สุด คือ สามก๊ก ข้อที่น่าสังเกต คือ แก่นวัฒนธรรมจีนบางอย่างไม่มีความสำคัญต่อไทยมากนัก เช่น ลัทธิขงจื๊อการคัดเลือกคนโดยเน้นความสามารถทางวิชาการดังที่เราเรียกกันโดยทั่วไปว่าการสอบจอหงวน 
      นอกจากจะมีความสัมพันธ์ทางวัฒนธรรมกับสองชาติดังที่กล่าวมาแล้ว  ในระยะแรกนี้ไทยยังมีความสัมพันธ์ทางวัฒนธรรมกับเปอร์เซียหรืออิหร่าน ลังกา ขอม (เขมร) มอญ พม่า สำหรับขอม (เขมร) และพม่าแม้ส่วนใหญ่จะเป็นการทำสงครามแต่ก็มีความสัมพันธ์ทางวัฒนธรรมปนอยู่ เช่น ภาษา ศิลปะ สถาปัตยกรรม นาฏศิลป์ ความสัมพันธ์ทางวัฒนธรรมยังดำเนินต่อมาแม้ชาติตะวันตกเข้ามาเจริญสัมพันธไมตรีและเริ่มมีอิทธิพลต่อวัฒนธรรมไทยก็ตามเพียงแต่ว่าวัฒนธรรมบางลักษณะจะลดความสำคัญลงไปบ้าง อนึ่ง ก่อนหน้าการเข้ามาของชาติตะวันตกได้มีการเผยแผ่ศาสนาอิสลามในหมู่เกาะของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ คาบ สมุทรมลายู จนถึงตอนใต้ของไทยจึงทำให้บริเวณดังกล่าวกลายเป็นดินแดนของผู้นับถือศาสนาอิสลาม

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
  • Posted By
  • Plookpedia
  • 15 Followers
  • Follow