Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

ความสัมพันธ์ทางวัฒนธรรมกับต่างประเทศ

Posted By Plookpedia | 29 มิ.ย. 60
52,536 Views

  Favorite

ความสัมพันธ์ทางวัฒนธรรมกับต่างประเทศ

      ถ้าเด็ก ๆ มองไปรอบ ๆ บ้านก็จะเห็นว่ามีบ้านอื่นๆ อยู่รอบบ้านของนักเรียน บ้านที่อยู่รอบ ๆ บ้านของเด็ก ๆ เราเรียกว่า เพื่อนบ้าน ประเทศของเราก็เหมือนบ้านที่จะต้องมีประเทศเพื่อนบ้านซึ่งอยู่รอบ ๆ ประเทศของเรา บางประเทศก็อยู่ใกล้ติดชายแดน บางประเทศก็อยูไกลออกไป เด็ก ๆ ต้องมีเพื่อนไม่เช่นนั้นก็จะเหงาและว้าเหว่ประเทศก็ต้องมีเพื่อนไม่เช่นนั้นจะโดดเดี่ยว ประเทศไทยไม่ได้มีแต่ประเทศเพื่อนบ้านใกล้ ๆ ประเทศที่อยู่ห่างไกลก็เป็นเพื่อนกับประเทศไทยมากมาย  เมื่อเป็นเพื่อนกันบางครั้งก็อยากทำอะไรคล้าย ๆ กัน บางครั้งก็แลกเปลี่ยนสิ่งของกันและกัน บางครั้งก็มีความเห็นแตกต่างกัน  แต่ก็ยอมรับกันได้และยังคงเป็นเพื่อนที่ดีต่อกันเมื่อใครมีความทุกข์ก็ร่วมแสดงความเสียใจและช่วยเหลือกันเท่าที่จะทำได้

 

ความสัมพันธ์ทางวัฒนธรรมกับต่างประเทศ

 

ความสัมพันธ์ทางวัฒนธรรมกับต่างประเทศ


      ประเทศที่เป็นเพื่อนกับประเทศไทยเหล่านี้ เราเรียกว่า ต่างประเทศ ซึ่งหมายถึง ประเทศต่าง ๆ ที่เป็นเพื่อนกับประเทศไทยนั่นเองต่างประเทศที่เป็นเพื่อนกับเรามานานและมีการแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมกันตลอดมา คือ ประเทศอินเดียและจีน ประเทศอินเดียติดต่อกับประเทศไทยมานานมาก  ซึ่งทำให้มีผลต่อวัฒนธรรมไทยในหลายด้านโดยเฉพาะพุทธศาสนา ภาษา วรรณคดี และกฎหมาย ตลอดจนประเพณีต่าง ๆ ซึ่งเรารับมาและยังคงมีอยู่ในประเทศเรามาตราบจนทุกวันนี้  สำหรับประเทศจีนนั้นโดยมากการติดต่อกันจะเป็นในด้านการค้าขาย  คนจีนเป็นจำนวนมากได้ย้ายเข้ามาอยู่ในประเทศไทยจนกลายเป็นคนไทยเชื้อสายจีนและประกอบอาชีพค้าขายแต่ยังคงมีขนบธรรมเนียมประเพณีแบบจีนซึ่งคนจีนเหล่านี้ยอมรับนับถือและปฏิบัติเรื่อยมาเป็นประเพณีสืบต่อมาจนกระทั่งปัจจุบันเช่นเดียวกัน

      นอกจากนั้นประเทศไทยก็ยังมีความสัมพันธ์ทางวัฒนธรรมกับเปอร์เซียหรืออิหร่าน ลังกา เขมร พม่า มอญ และในปัจจุบันก็ขยายออกไปสู่ประเทศอื่น ๆ ที่ไกลออกไป เช่น ญี่ปุ่น สหรัฐอเมริกา และประเทศในยุโรป  วัฒนธรรมของต่างประเทศจึงเข้ามาแพร่หลายในบ้านเรามากขึ้น แต่อย่างไรก็ตามคนไทยก็ยังคงรักษาวัฒนธรรมตลอดจนขนบธรรมเนียมประเพณีของไทยไว้ได้เพราะคนไทยมีคุณลักษณะพิเศษ คือ มีความยืดหยุ่นและมีความสามารถปรับตัวสูงวัฒนธรรมต่างชาติจึงไม่สามารถครอบงำหรือมีอิทธิพลต่อไทยจนวัฒนธรรมไทยหมดความสำคัญหากมีความเจริญรุ่งเรืองตลอดมา

 

ความสัมพันธ์ทางวัฒนธรรมกับต่างประเทศ

 

 

 

 

      ประเทศไทยตั้งอยู่ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ซึ่งเป็นภูมิภาคที่มีความสำคัญจากสภาพที่ตั้งและทรัพยากรธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์จนดินแดนบางส่วนได้รับการขนานนามว่า "สุวรรณภูมิ"  หรือแดนทองซึ่งหมายถึง ดินแดนที่มีค่ามหาศาลเปรียบเหมือนทอง ประเทศต่าง ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเทศในยุโรปสมัยหนึ่งจึงพากันแสวงหาเส้นทางเดินเรือมาสู่ดินแดนแห่งนี้ บ้างก็มาเพื่อติดต่อค้าขาย  บ้างก็มาเพื่อยึดครองเป็นส่วนหนึ่งของอาณาจักรตน เมื่อการค้าขายขยายตัวหลังการปฏิวัติอุตสาหกรรมในยุโรปภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้นอกจากจะเป็นตลาดการค้าที่สำคัญแล้วยังเป็นเส้นทางผ่านจากอินเดียไปยังจีน  ความสำคัญของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้แต่ละยุคแต่ละสมัยในลักษณะต่าง ๆ ทำให้ภูมิภาคส่วนนี้รวมทั้งประเทศไทยมีความสัมพันธ์ทางวัฒนธรรมกับต่างประเทศตั้งแต่สมัยโบราณจนถึงปัจจุบัน  วัฒนธรรมจากต่างแดนทั้งใกล้และไกลได้เข้ามาผสมผสานและมีอิทธิพลต่อวัฒนธรรมไทยในช่วงเวลาที่แตกต่างกัน  ช่วงแรกวัฒนธรรมอินเดียและจีน จะมีความสำคัญมากซึ่งยังคงปรากฎอยู่ตราบเท่าทุกวันนี้  ต่อมาวัฒนธรรมจากยุโรปเข้ามามีอิทธิพลในประเทศไทยก็ยังมีให้เป็นอยู่เช่นเดียวกันและล่าสุดวัฒนธรรมของโลกอุตสาหกรรมโดยเฉพาะวัฒนธรรมอเมริกันและญี่ปุ่นเริ่มมีความสำคัญเด่นชัดขึ้นแต่คนไทยก็ยังสามารถผสมผสานและปรับวัฒนธรรมเหล่านั้นโดยผนวกความเป็นไทย ๆ เข้าไป ตามลักษณะเด่นของคนไทย คือ มีความยืดหยุ่นและความสามารถในการปรับตัวสูง  ประกอบกับมีคนไทยจำนวนมากที่ยังช่วยกันถนอมอนุรักษ์วัฒนธรรมอันดีงามซึ่งเป็นมรดกตกทอดมาจากบรรพบุรุษวัฒนธรรมไทยจึงยังคงมีความโดดเด่น และรุ่งเรืองตลอดมา

ความสัมพันธ์ทางวัฒนธรรมกับอินเดียและจีน 

      ในบรรดาประเทศที่มีความสัมพันธ์กับไทย  ประเทศอินเดียมีความสำคัญมากที่สุดและมีอิทธิพลต่อวัฒนธรรมไทยในหลายด้านดังนี้ 

๑. ด้านศาสนา 

      ศาสนาจากอินเดียที่เผยแพร่เข้ามาก่อน คือ ศาสนาพราหมณ์หรือฮินดูซึ่งนับถือเทพเจ้าหลายองค์ เช่น พระศิวะ พระพรหม พระนารายณ์ พระอินทร์ ต่อมาเมื่อพุทธศาสนารุ่งเรืองในอินเดียสมัยพระเจ้าอโศกมหาราช (พ.ศ. ๒๖๙-๓๑๑) ซึ่งได้ส่งสมณทูตออกไปเผยแผ่พุทธศาสนาในหลายแห่งรวมทั้งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้  ระยะแรกพุทธศาสนาที่เข้ามาเป็นนิกายมหายานต่อมาในสมัยพ่อขุนรามคำแหงมหาราชได้นิมนต์พระสงฆ์จากจังหวัดนครศรีธรรมราช (ชื่อเมืองเดิมว่า ตามพรลิงค์) ซึ่งเป็นพระนิกายเถรวาทและมีความรู้แตกฉานในพระไตรปิฎกมาสั่งสอนประชาชนทำให้พุทธศาสนานิกายนี้เป็นที่ยอมรับนับถือตลอดมาจนถึงปัจจุบัน 

๒. ด้านภาษาและวรรณคดี 

      เมื่อพุทธศาสนาแพร่หลายเข้ามาในราชอาณาจักรไทย  ภาษาบาลีก็แพร่หลายเข้ามาด้วยเพราะเป็นภาษาในพระไตรปิฎกพร้อม ๆ กับภาษาสันสกฤตซึ่งเป็นภาษาของนักปราชญ์ในอินเดีย อิทธิพลของภาษาบาลีและสันสกฤตยังมีปรากฎในชื่อนามสกุลของคนไทยมาจนทุกวันนี้ ส่วนวรรณคดีที่แพร่หลาย คือ มหากาพย์ ๒ เรื่อง ได้แก่ รามายณะหรือรามเกียรติ์และมหาภารตะและนิทานชาดกต่าง ๆ 

๓. ด้านกฎหมายและระบบการปกครอง 

      กฎหมายฉบับเดิมของไทยมีชื่อว่า กฎหมายตราสามดวง ดัดแปลงมาจากคัมภีร์พระธรรมศาสตร์ของอินเดีย นอกจากนั้นยังมคัมภีร์อรรถศาสตร์ซึ่งเป็นตำราทางด้านการปกครองราชนีติหรือความประพฤติของพระราชาและหลักทศพิธราชธรรมหรือธรรม ๑๐ ประการของพระราชาซึ่งล้วนแต่มาจากอินเดียและเข้ามามีส่วนในบทบัญญัติการปกครองของไทยตั้งแต่อดีต 

๔. ด้านศิลปกรรม 

      ศิลปกรรมของอินเดียที่มีอิทธิพลต่อศิลปกรรมของไทยทั้งในด้านปฏิมากรรม ได้แก่ พระพุทธรูป พระโพธิสัตว์ ด้านสถาปัตยกรรม ได้แก่ เจดีย์ และด้านจิตรกรรม ได้แก่ ภาพฝาผนัง นอกนั้นอิทธิพลของเรื่องรามเกียรติ์ก็ทำให้นาฏศิลป์ของไทยรับนาฏศิลป์ของอินเดียมาบางส่วนดังปรากฏในการแต่งกายและท่าร่ายรำ

 

การปลูกฝังวัฒนธรรมไทยให้แก่อนุชนรุ่นหลัง
การปลูกฝังวัฒนธรรมไทยให้แก่อนุชนรุ่นหลัง

 

      สำหรับความสัมพันธ์ทางวัฒนธรรมกับจีนนั้นจะเป็นในด้านการค้าขายเพราะไทยต้องการสินค้าของจีนทั้งที่นำมาใช้เองและขายต่อให้ต่างชาติ  จีนมีการติดต่อกับภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เป็นเวลานานในสมัยสุโขทัยเมื่อพ่อขุนรามคำแหงมหาราชขึ้นครองราชย์ใหม่ ๆ พวกมองดกลสามารถโค่นราชวงศ์ซ่งลงได้และเข้าครอบครองจีนจากนั้นได้ส่งทูตไปยังอาณาจักรต่าง ๆ เรียกร้องให้ส่งคณะทูตนำบรรณาการไปถวายพ่อขุนรามคำแหงมหาราชทรงเฝ้าติดตามดูเหตุการณ์อยู่ระยะหนึ่งทรงเล็งเห็นการณ์ไกลว่าควรจะสานไมตรีไว้จึงส่งคณะทูตนำบรรณาการไปถวาย  จีนกับไทยจึงมีความสัมพันธ์ต่อเนื่องกันมาในลักษณะรัฐบรรณาการตลอดสมัยกรุงศรีอยุธยาและสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้นจนกระทั่งต้นรัชกาลที่ ๔ ความสัมพันธ์ในลักษณะนี้จึงยุติลง
      นอกจากไทยจะมีความสัมพันธ์แบบรัฐบรรณาการกับจีนแล้ว คนจีนยังได้อพยพเข้ามาพึ่งพระบรมโพธิสมภารของกษัตริย์ไทยเรื่อยมา ระยะแรก ๆ มาเป็นการชั่วคราวแต่ระยะหลังตั้งแต่สมัยธนบุรีและสมัยกรุงรัตนโกสินทร์คนจีนก็เริ่มลงหลักปักฐานตั้งรกรากในเมืองไทยและเข้ารับราชการกับทางการไทยมากขึ้นกอปรกับในระยะนั้นการค้ากับจีนเพิ่มปริมาณมากขึ้นวัฒนธรรมจีนจึงได้รับความนิยมไปด้วยไม่เฉพาะแต่ทางการค้าทางด้านศิลปะก็มีมากขึ้นซึ่งจะเห็นได้จากภาพจิตรกรรม การสร้างสวนหิน การประดับลวดลายด้วยเครื่องกระเบื้อง ตุ๊กตาจีน เก๋งจีน เป็นต้น ทางด้านวรรณคดีก็มีการแปลพงศาวดารจีนและวรรณคดีหลายเรื่องแต่เรื่องที่คนไทยรู้จักมากที่สุด คือ สามก๊ก  

      นอกจากไทยจะมีความสัมพันธ์กับอินเดียและจีนแล้วก็ยังมีความสัมพันธ์ทางวัฒนธรรมกับเปอร์เซีย หรืออิหร่าน ขอม (เขมร) พม่า มอญ ไทยมีการทำสงครามกับเขมรและพม่าหลายครั้งแต่กระนั้นก็รับวัฒนธรรมทางภาษา ศิลปะ สถาปัตยกรรม และนาฎศิลป์ของทั้งสองชาติเข้ามาผสมผสานกับของไทยซึ่งยังพอมองเห็นได้โดยเฉพาะด้านสถาปัตยกรรมและนาฏศิลป์ ตัวอย่างเช่น วัดทางภาคเหนือรับวัฒนธรรมจากพม่า  โบราณสถานทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือรับวัฒนธรรมจากเขมร บทเพลงและท่าร่ายรำจากทั้งพม่าและเขมร เป็นต้น  ความสัมพันธ์ทางวัฒนธรรมนี้ยังดำเนินต่อมาแม้เมื่อชาติตะวันตกเข้ามาเจริญสัมพันธไมตรีและมีความสัมพันธ์ทางวัฒนธรรมกับไทยแล้วเพียงแต่ลดความสำคัญลงไปบ้าง

 

ศิลปกรรมของวัดพระศรีอุมาเทวี (วัดแขก) ถ.สีลม กรุงเทพมหานคร
ศิลปกรรมของวัดพระศรีอุมาเทวี (วัดแขก) ถ.สีลม กรุงเทพมหานคร

 

ภาพฝาผนังเรื่องรามเกียรติ์ในวัดพระศรีรัตนศาสดาราม
ภาพฝาผนังเรื่องรามเกียรติ์ในวัดพระศรีรัตนศาสดาราม

 

ความสัมพันธ์ทางด้านวัฒนธรรมกับชาติตะวันตก

      ประเทศไทยเริ่มมีความสัมพันธ์ทางด้านวัฒนธรรมกับชาติตะวันตกตั้งแต่ พ.ศ. ๒๐๕๔ ซึ่งตรงกับสมัยของสมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๒ ชาติที่เข้ามาติดต่อเป็นชาติแรก คือ โปรตุเกสซึ่งไม่เพียงแต่มาติดต่อค้าขายกับคนไทยในกรุงศรีอยุธยาเท่านั้นยังมีจุดมุ่งหมายที่จะเผยแพร่วัฒนธรรมสำคัญ คือ คริสต์ศาสนา สมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๒ ทรงมีพระทัยกว้างโดยทรงให้คนไทยมีเสรีภาพในการเลือกนับถือศาสนา  มีการสร้างโบสถ์คริสต์และมีบาทหลวงคาทอลิกหลายคณะเข้ามาเผยแผ่ศาสนาแต่ไม่ค่อยจะประสบความสำเร็จเพราะคนไทย ลาว มอญ ญวน จีน ซึ่งอยู่ในกรุงศรีอยุธยาขณะนั้นยึดมั่นในพุทธศาสนาไม่สนใจศาสนาอื่น  ต่อมาในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราชความสัมพันธ์กับชาติตะวันตกเจริญสูงสุดคณะบาทหลวงชาวฝรั่งเศสได้นำศิลปวิทยาการต่าง ๆ ซึ่งเป็นวัฒนธรรมสำคัญ ๆ ของตะวันตกมาสู่สังคมไทย เช่น ระบบการศึกษาในโรงเรียน การแพทย์ สถาปัตยกรรม และวิชาภูมิศาสตร์ ดาราศาสตร์และวิทยาศาสตร์  ต่อมาสัมพันธไมตรีระหว่างไทยกับชาติตะวันตกเสื่อมลง ศิลปวิทยาการต่าง ๆ  มิได้สืบทอดแพร่หลายในหมู่ราษฎรนอกจากคริสต์ศาสนาซึ่งยังเป็นที่ยอมรับเลื่อมใสในหมู่ชาวต่างชาติและชาวไทยบางส่วนตลอดมาจนถึงสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ ตัวอย่างของวัฒนธรรมตะวันตกที่ปรากฏในสมัยกรุงศรีอยุธยา ได้แก่ เทคโนโลยีด้านการก่อสร้าง เช่น การต่อเรือ การสร้างป้อมปราการ การสร้างบ้านพักอาศัยโดยใช้รูปแบบสถาปัตยกรรมตะวันตก การหล่อปืนใหญ่และการสร้างหอดูดาว

 

เจดีย์แบบพม่าที่อำเภอป่าซาง จังหวัดลำพูน
เจดีย์แบบพม่าที่อำเภอป่าซาง จังหวัดลำพูน

 

      ในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์วัฒนธรรมตะวันตกได้แพร่หลายมากขึ้น  รัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ ๓) ทรงมีพระบรมราชานุญาตให้มิชชันนารีชาวยุโรปเข้ามาเผยแผ่ศาสนาคริสต์นิกายโปรเตสแตนต์เป็นครั้งแรก  ต่อมาได้มีมิชชันนารีชาวอเมริกัน เช่น หมอบรัดเลย์ หมอสมิธ เข้ามามีบทบาทสำคัญในการเผยแพร่วัฒนธรรมตะวันตกและเทคโนโลยีใหม่ ๆ ให้กับประเทศไทยต่อมาในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รับกาลที่ ๔) ทรงเปิดโรงเรียนขึ้นในพระบรมมหาราชวังและทรงจ้างผู้หญิงชาวอังกฤษมาสอน  การเรียนภาษาอังกฤษจึงได้เริ่มขึ้นเป็นครั้งแรกในประเทศไทย 
      ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ประเทศไทยได้มีสัมพันธไมตรีกับนานาชาติเพิ่มมากขึ้นประเทศอังกฤษได้ส่ง เซอร์ จอห์น บาวริง เป็นราชทูตเข้ามาเจริญสัมพันธไมตรีและได้ทำสนธิสัญญาชื่อว่า สนธิสัญญาบาวริง  โดยอนุญาตให้ชาวต่างประเทศเข้ามาติดต่อค้าขายกับราษฎรโดยเสรี  นอกจากสนธิสัญญาบาวริงแล้วไทยก็ได้ทำสนธิสัญญาทำนองเดียวกันนี้กับประเทศอื่นด้วย เนื่องจากสนธิสัญญานี้ทำให้ชาวต่างประเทศเดินทางเข้ามาอาศัยอยู่ในประเทศไทยมากขึ้นจำนวนมิชชันนารีทั้งจากนิกายคาทอลิกและโปรเตสแตนต์ก็เพิ่มมากขึ้นและกระจายกันเผยแผ่ศาสนาทั้งในพระนครและหัวเมืองต่าง ๆ  ทำให้วัฒนธรรมตะวันตกแพร่เข้าไปในชนบท  นอกจากนี้พระองค์ท่านยังทรงปฏิรูปประเทศและสนับสนุนให้นำศิลปวิทยาการตะวันตกแขนงต่าง ๆ เข้ามาเผยแพร่โดยเฉพาะการศึกษา การแพทย์ การคมนาคม และการสื่อสาร เป็นต้น ทั้งยังทรงจ้างชาวต่างประเทศมาเป็นที่ปรึกษาในการพัฒนาความเจริญด้านต่าง ๆ ได้พระราชทานเงินทุนให้นักเรียนไทยไปศึกษา ณ ต่างประเทศเพื่อนำความรู้และวิทยาการใหม่ ๆ มาช่วยสร้างความเจริญให้บ้านเมือง ด้วยเหตุนี้วัฒนธรรมตะวันตกจึงได้เข้ามาผสมผสานอยู่ในสังคมไทยแต่ยังไม่มากเท่าหลังปี พ.ศ. ๒๔๘๐ ซึ่งเป็นปีที่ยกเลิกสนธิสัญญาบาวริงวัฒนธรรมตะวันตกเริ่มหลั่งไหลเข้ามาสู่สังคมไทยมากขึ้นและได้ผสมปนเปจนกลายเป็นส่วนหนึ่งในวิถีชีวิตของสังคมไทยในปัจจุบัน
      การเผยแพร่วัฒนธรรมตะวันตกในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ก่อน พ.ศ. ๒๔๘๐  ส่วนใหญ่เกิดจากความเห็นชอบและการสนับสนุนของรัฐบาลเนื่องจากได้พิจารณาแล้วว่าวัฒนธรรมเหล่านั้นล้วนมีส่วนช่วยพัฒนาประเทศให้เจริญก้าวหน้าทัดเทียมนานาประเทศ  นอกจากนี้แล้วเจ้านายในพระราชวงศ์และขุนนางรวมทั้งนักเรียนไทยที่จบการศึกษาจากต่างประเทศเมื่อกลับสู่บ้านเมืองยังเป็นผู้นำในการรับวัฒนธรรมตะวันตกโดยเฉพาะรูปลักษณ์ภายนอก  เป็นต้นว่าการแต่งกาย การกีฬา นันทนาการ กลายเป็นความทันสมัยที่ผู้คนในสังคมถือเอาเป็นแบบอย่าง  จึงกล่าวได้ว่า การรับวัฒนธรรมตะวันตกเกิดจากเหตุผล ๒ ประการ คือ เพื่อพัฒนาบ้านเมืองให้เจริญก้าวหน้าและเพื่อความทันสมัยของผู้ประพฤติปฏิบัติ 

ความสัมพันธ์กับต่างประเทศยุคอุตสาหกรรมใหม่ 

      รูปแบบของวัฒนธรรมจากต่างประเทศไม่ว่าจะเป็นประเทศในทวีปยุโรป อเมริกาหรือเอเชีย เช่น ญี่ปุ่น เป็นรูปแบบมาตรฐานของสังคมอุตสาหกรรมซึ่งมีแกนหลัก ๖ ประการ ดังนี้ 

๑. มีการกำหนดมาตรฐาน 

      เพื่อให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน เช่น มาตรฐานสินค้า มาตรฐานค่าครองชีพ มาตรฐานการกำหนดตารางการทำงาน การเรียนและมาตรฐานของภาษาที่จะสื่อให้เข้าใจตรงกัน เป็นต้น เป็นการรวมทุกสิ่งทุกอย่างให้อยู่ในกรอบเดียวกัน นับตั้งแต่วิถีการดำเนินชีวิตประจำวันตั้งแต่ตื่นนอนตอนเช้าจนเข้านอน การประพฤติปฏิบัติตัวทั้งการแต่งกาย การทำงานและการพักผ่อน รวมทั้งกิจกรรมนันทนาการต่าง ๆ สิ่งเหล่านี้ปรากฏให้เห็นในสภาพสังคมไทยมากขึ้นซึ่งเป็นผลมาจากความสัมพันธ์ทางวัฒนธรรมที่ประเทศไทยติดต่อกับประเทศอุตสาหกรรมนั่นเอง

๒. ส่งเสริมการผลิตผู้มีความชำนาญเฉพาะด้าน

      เพื่อควบคุมและดูแลให้ทุกอย่างเป็นไปตามมาตรฐานที่กำหนดไว้ตามความเชื่อที่ว่าผู้มีความเชี่ยวชาญย่อมสามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ  ความชำนาญเฉพาะด้านนี้อาจแยกย่อยออกไปได้อีก เช่น ในวงการแพทย์อาจแยกออกเป็นผู้ชำนาญเฉพาะอย่าง เป็นต้นว่า จักษุแพทย์ วิสัญญีแพทย์ ทันตแพทย์ ศัลยแพทย์ ซึ่งต้องใช้เวลาในการศึกษาและฝึกฝนจนเกิดความชำนาญ  ในปัจจุบันความต้องการผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านมีมากมายจนบางสาขาวิชาผลิตบุคลากรไม่ทันการขยายตัวของแรงงาน  โดยเฉพาะด้านวิศวกรรมและการจัดการซึ่งก็เป็นผลของความสัมพันธ์ทางวัฒนธรรมของไทยกับต่างประเทศ 

๓. สร้างความพร้อมเพรียง

      เพื่อความเป็นหนึ่งเดียวและมีประสิทธิภาพสูงสุด  โดยมีเวลาเป็นตัวกำหนดในการเริ่มทำงานและหยุดทำงานซึ่งแนวปฏิบัตินี้ก็เป็นผลมาจากการที่คนไทยได้แลกเปลี่ยนข้อคิดและแนวทางการทำงานกับชาวต่างประเทศ 

๔. รวมหน่วยย่อยเข้าเป็นหน่วยใหญ่ 

      เพื่อให้เกิดพลังงานมหาศาลซึ่งปรากฏมากในด้านประชากรและกระแสเงินทุน 

๕. สร้างคุณค่าสูงสุดในสิ่งต่างๆ 

      เพื่อความภูมิใจเป็นค่านิยมที่ฝังรากลึกอยู่ในจิตใจมนุษย์ในสังคมอุตสาหกรรมที่ชื่นชมกับความเป็นที่สุดในด้านต่าง ๆ เช่น ตึกสูงที่สุด แม่น้ำสายยาวที่สุด ขนมที่ใหญ่ที่สุด เป็นต้น ความเป็นที่สุดไม่ใช่เพียงสิ่งก่อสร้างหรือทรัพยากรธรรมชาติเท่านั้นแต่รวมไปถึงความยิ่งใหญ่ทางธุรกิจด้วย เช่น จำนวนผู้เข้ามารับบริการ ปริมาณการจ้างพนักงาน จำนวนขอบข่ายสาขา เป็นต้น ประเทศไทยซึ่งได้หันมาพัฒนาอุตสาหกรรมตั้งแต่ พ.ศ. ๒๔๘๐ เป็นต้นมา ก็รับวัฒนธรรมความเป็นที่สุดมาจากประเทศอุตสาหกรรมอย่างเต็มที่และวัฒนธรรมดังกล่าวนี้ก็ได้รับการสนับสนุนอย่างกว้างขวางจากทุกฝ่ายทั้งจากคณะผู้บริหารประเทศและจากภาคธุรกิจต่าง ๆ 

๖. สร้างศูนย์กลางของหน่วย 

เพื่อควบคุมการดำเนินงานให้มีประสิทธิภาพและมีระบบอันเป็นวัฒนธรรมจากประเทศอุตสาหกรรมซึ่งประเทศไทยได้รับมา มี ๒ ลักษณะ คือ 
      ๑. ศูนย์กลางทางเศรษฐกิจ โดยมีศูนย์กลางเป็นหน่วยงานแม่และมีเครือข่ายมากมายทั่วประเทศหรือทั่วโลกมีการแบ่งพนักงานเป็นระดับต่าง ๆ ตั้งแต่ระดับผู้บริหารสูงสุดลดหลั่นลงมาจนถึงระดับพนักงาน การติดต่อสั่งงานหรือเสนอความเห็นจะเป็นในรูปการสื่อสารเป็นทอด ๆ ขึ้นถึงระดับสูงและย้อนกลับลงมา วิธีการนี้ประเทศอุตสาหกรรมถือว่ามีประสิทธิภาพสูงสุดสามารถดำเนินการต่าง ๆ ได้โดยรวดเร็วและผิดพลาดน้อย 
      ๒. ศูนย์กลางทางการเมือง คล้ายคลึงกับศูนย์กลางเศรษฐกิจต่างกันในแง่ที่รวมสารนิเทศและคำสั่งไว้ที่ศูนย์กลางการปกครองซึ่งไทยใช้มาตั้งแต่รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวอำนาจทุกอย่างอยู่ที่กรุงเทพฯ

 

ความหลากหลายของกรุงเทพมหานคร
ความหลากหลายของกรุงเทพมหานครซึ่งเป็นศูนย์กลางของประเทศไทย

 

      ความสัมพันธ์ทางวัฒนธรรมของไทยกับต่างประเทศโดยส่วนใหญ่แล้วยังเป็นการรับอิทธิพลแนวความคิดและวิถีการดำรงชีวิตจากประเทศอุตสาหกรรมอื่น ๆ มาปรับและประยุกต์ใช้ในประเทศ จึงยังคงเป็นความสัมพันธ์ทางเดียวมากกว่า  การเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตและวัฒนธรรมดั้งเดิมของชาวไทยตามแนวของวัฒนธรรมตะวันตกนั้นมีทั้งผลดีและผลเสีย

      ผลดี คือ ประชากรมีคุณภาพมากขึ้น จากการได้ศึกษาและดูงานในต่างประเทศ  บ้านเมืองเกิดความเจริญรุ่งเรืองจากการนำความรู้และเทคโนโลยีเข้ามาปรับใช้โดยเฉพาะทางด้านเกษตรกรรม อุตสาหกรรม การคมนาคม และระบบเศรษฐกิจ ทั้งยังเป็นแนวทางในการพัฒนาโครงสร้างทางการเมืองการปกครองทำให้ประเทศไทยมีความเจริญรุ่งเรืองและยืนหยัดมาได้จนตราบเท่าทุกวันนี้
      ผลเสีย คือ เกิดค่านิยมแนวใหม่ในหมู่คนไทยบางกลุ่มที่มองเห็นว่าวัฒนธรร ดั้งเดิมเป็นสิ่งคร่ำครึล้าสมัย  วัฒนธรรมตะวันตกกลับเป็นสิ่งดีงามน่าชื่นชมมากกว่าค่านิยมนี้ทำให้เกิดการหลงผิด และดูถูกวัฒนธรรมของตนเองบางครั้งยังยึดค่านิยมผิด ๆ เช่น ยึดในวัตถุจนละเลยทางด้านจิตใจและคุณธรรม
      อย่างไรก็ตามนับว่าเป็นโชคดีของชาติไทยที่ยังมีคนไทยอีกเป็นจำนวนมากที่พยายามรักษาวัฒนธรรมดั้งเดิมไว้และในขณะเดียวกันก็นำความรู้และเทคโนโลยีใหม่ ๆ จากต่างประเทศมาปรับใช้ให้เกิดความเจริญและเป็นประโยชน์ต่อชาติบ้านเมือง

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
  • Posted By
  • Plookpedia
  • 15 Followers
  • Follow