Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

ศาสนาอิสลสาม

Posted By Plookpedia | 29 มิ.ย. 60
1,678 Views

  Favorite

ศาสนาอิสลสาม

      ศาสนาอิสลสามเกิดขึ้นในปี พ.ศ. ๑๑๕๔ ในคาบสมุทรอาหรับแล้วเผยแพร่ไปสู่ทวีปยุโรปมาที่อินเดียและหมู่เกาะชวาเข้ามาประเทศไทยทางทิศตะวันตกผ่านบังคลาเทศ พม่า จากทิศเหนือเข้ามาทางภาคใต้ของจีนและทางทิศใต้ผ่านมาเลเซีย โดยเฉพาะในสมัยกรุงศรีอยุธยาและเข้ามาอีกจำนวนมากตั้งแต่ยุคต้นกรุงรัตนโกสินทร์ที่กรุงเทพฯ พระนครศรีอยุธยา ฉะเชิงเทรา นครนายก และปทุมธานี ที่ทราบกันดีว่าเป็นเขตที่มีชาวมุสลิมมากที่สุด คือ สี่จังหวัดทางภาคใต้ คือ ปัตตานี ยะลา นราธิวาส และสตูล นอกนั้นส่วนหนึ่งอยู่ในจังหวัดใกล้เคียง คือ สงขลา นครศรีธรรมราช และภูเก็ต เป็นต้น 

 

มัสยิดกลางนราธิวาส
มัสยิดกลางนราธิวาส


      ชาวมุสลิมส่วนใหญ่ในประเทศไทยนับถือศาสนาอิสลามนิกายสุหนี่  ประมุขสูงสุดของชาวมุสลิมในประเทศไทยเรียกว่า จุฬาราชมนตรี ซึ่งรัฐบาลเป็นผู้แต่งตั้ง ในชุมชนชาวมุสลิมจะมีผู้นำศาสนา มีโรงเรียนสอนศาสนาสำหรับเด็กมีสถานที่ประกอบพิธีทางศาสนา เรียกว่า สุเหร่า หรือ มัสยิด  ศาสนาอิสลามถือว่ากฎเกณฑ์ทางศาสนาเป็นแนวทางปฏิบัติในการดำเนินชีวิตไม่ได้แยกชีวิตทางศาสนาออกจากทางโลกจึงมีกฎระเบียบต่าง ๆ อย่างละเอียด  มีข้อห้ามจำนวนมาก เช่น ห้ามรับประทานเนื้อสัตว์ที่ตายเองหรือถูกสัตว์อื่นกัดตาย ห้ามรับประทานเลือดทุกชนิด เนื้อสุกรห้ามกินสัตว์ที่จับสัตว์อื่นเป็นอาหาร เช่น เสือ หมา ลิง หรือจับด้วยอุ้งเล็บ เช่น นกอินทรี เหยี่ยว นกเค้าแมว อีกา นอกนั้นยังรังเกียจอาหารประเภทดองต่าง ๆ เช่น ปลาร้า ปลาเจ่า กะปิ บูดู ห้ามดื่มของเมาทุกชนิดรวมทั้งยาเสพติด เช่น ฝิ่น เฮโรอีน ห้ามเล่นการพนันทุกรูปแบบ ซื้อขายสลากกินแบ่งหรือหวย ในเรื่องการค้าขายศาสนาอิสลามห้ามการคดโกงทุกชนิด ให้ค้าขายอย่างเปิดเผย ห้ามผูกขาด กดราคา โกงราคา กักตุนสินค้า ห้ามเอาดอกเบี้ยเงินกู้ ห้ามสบถสาบานหรือกล่าวเท็จ เป็นต้น 

 

มัสยิดในชุมชนมุสลิม
มัสยิดในชุมชนมุสลิม 


      อาจกล่าวได้ว่า ศาสนาอิสลามมีบทบัญญัติ ข้อห้ามและหลักปฏิบัติสำหรับการดำเนินชีวิตให้ชาวมุสลิมใช้เป็นแนวทางตั้งแต่เกิดจนตาย ตั้งแต่ตื่นนอนจนถึงเข้านอนเลยทีเดียว การปฏิบัติศาสนกิจเป็นส่วนหนึ่งของการดำเนินชีวิตประจำวัน ศาสนกิจสำคัญมีอยู่ ๕ ข้อ ดังนี้ 

๑. การนมาซ (ละหมาด) 

      เป็นการแสดงความคารวะต่อพระผู้เป็นเจ้าวันละ ๕ เวลา คือ เวลาย่ำรุ่งก่อนตะวันทอแสง (อัลซุบฮิ) เวลาตะวันคล้อย (อัลดุฮ์ริ) เวลาบ่าย (อัลอัซริ) เวลาพลบค่ำ (อัลมักริบ) และเวลากลางคืน (อัลอิชาอฺ) 

 

การละหมาดของชาวมุสลิม
การละหมาดของชาวมุสลิมเพื่อเป็นการแสดงความคารวะต่อพระผู้เป็นเจ้า

 

๒. การถือศีลอด 

      คือ การเว้นจากการดื่ม กิน และการร่วมสังวาส ตั้งแต่รุ่งสางจนพลบค่ำตลอดจนละเว้นความคิดร้าย วาจาหยาบคาย นินทาผู้อื่น การแสดงความโกรธ ความโลภ ความหลงต่าง ๆ เป็นการฝึกจิตใจให้มีความอดทนและรู้จักเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ การถือศีลอดนี้กระทำในเดือนรอมฎอนโดยนับเดือนตามจันทรคติ (พ.ศ.2538 ตรงกับเดือนกุมภาพันธ์) เป็นเวลาหนึ่งเดือน ผู้ที่ได้รับการยกเว้น คือ ผู้ทำงานหนัก คนชรา คนเจ็บ เด็ก หญิงมีครรภ์ แม่ลูกอ่อน 

๓. การบำเพ็ญฮัจญ์ 

      คือ การเดินทางไปบำเพ็ญศาสนกิจที่นครมักกะฮ์ ประเทศซาอุดิอาระเบีย 

๔. การจ่ายซะกาต

      หรือการจ่ายทาน เป็นการจ่ายตามศาสนบัญญัติจากที่มีเกินจำเป็นในครอบครัวทั้งทรัพย์สินเงินทองและอาหารเพื่อให้แก่คนยากจน คนขัดสนต่าง ๆ ซึ่งมีกำหนดไว้อย่างชัดเจนว่าจะต้องจ่ายในอัตราเท่าใดของรายได้ของแต่ละคน 

๕. วัฒนธรรมการดำเนินชีวิตของมุสลิม 

      จะต้องผูกพันอยู่กับความศรัทธาในพระผู้เป็นเจ้าและปฏิบัติตามบทบัญญัติของศาสนา ตั้งแต่การทำพิธีนมาซในตอนรุ่งเช้าเมื่อตื่นนอนจนนมาซครั้งที่ ๕ เมื่อก่อนเข้านอนในการรับประทานอาหารหรือปฏิบัติงาน การปฏิบัติตนต่อสมาชิกในครอบครัวหรือเพื่อนฝูงต้องทำตามกฎเกณฑ์ที่ศาสนาได้กำหนดไว้

      ชาวมุสลิมเชื่อว่า อิสลามเป็นศาสนาที่พระผู้เป็นเจ้า (อัลลอฮฺ) ทรงบัญญัติแก่นบี (ศาสดา) เพื่อสั่งสอนมนุษย์ตั้งแต่มีโลกมนุษย์มา โดยมี นบีมูฮัมมัด เป็นนบีองค์สุดท้าย อิสลาม มีความหมายว่า การนอบน้อมตนตามพระประสงค์พระผู้เป็นเจ้าที่มุ่งให้มนุษย์ทำความดีและละเว้นความชั่วตามหลักการที่พระองค์ทรงสั่งสอนทางศาสดา

อัล-กุรอาน คือ คัมภีร์ของอิสลาม ศรัทธาของอิสลามมี ๖ ประการ คือ 
๑. ศรัทธาในความเป็นเอกของพระผู้เป็นเจ้า 
๒. ศรัทธาในเทวดา (อัลมาลาอิกะฮ์) ของพระผู้เป็นเจ้า 
๓. ศรัทธาในคัมภีร์ (อัล-กุรอาน) ของพระผู้เป็นเจ้า 
๔. ศรัทธาในนบี (นบีมูฮัมมัด) (ผู้ ประกาศข่าว) และผู้สื่อสารของพระผู้เป็นเจ้า 
๕. ศรัทธาในวันสิ้นโลก 
๖. ศรัทธาในกฎกำหนดสภาวะที่พระผู้เป็นเจ้าทรงกำหนดไว้

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
  • Posted By
  • Plookpedia
  • 15 Followers
  • Follow