Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

จำนวนเล่มของพระไตรปิฎกและพระภิกษุชาวเยอรมันกล่าวถึงพระไตรปิฎกฉบับไทย

Posted By Plookpedia | 28 มิ.ย. 60
2,919 Views

  Favorite

จำนวนเล่มของพระไตรปิฎก

 

พระไตรปิฎกฉบับภาษาบาลี ที่จัดพิมพ์ขึ้นในประเทศต่าง ๆ นั้น แม้จะมีข้อความเป็นอย่างเดียวกัน ต่างกันแต่ในบางประเทศ เช่น พม่า ได้เพิ่มหนังสือบางเรื่องที่แต่งขึ้นในสมัยหลังเข้าชุดไปด้วย อาจจะมีจำนวนเล่มแตกต่างกันบ้าง เช่น ประเทศไทยจัดพิมพ์ครั้งแรกในสมัยรัชกาลที่ ๕ มี ๓๙ เล่ม แต่การพิมพ์ตั้งแต่ในสมัยรัชกาลที่ ๗ เป็นต้นมา ได้กำหนดให้มี ๔๕ เล่ม เพื่อให้สอดคล้องกับจำนวน ๔๕ ปี ที่พระพุทธเจ้าทรงประกาศพระพุทธศาสนา ภายหลังที่ตรัสรู้แล้ว จนถึงปรินิพพาน ข้อความในพระไตรปิฎกภาษาบาลีที่จัดพิมพ์ขึ้นในประเทศต่าง ๆ นั้น ตรงกันเป็นส่วนมาก จะมีผิดเพี้ยนเล็ก ๆ น้อย ๆ แต่ในการจัดพิมพ์ของฉบับอักษรไทย จะอ้างอิงไว้ตลอดว่า คำที่อาจผิดเพี้ยนกันเล็ก ๆ น้อยๆ นั้น ในฉบับอักษรลังกา พม่า ยุโรป เป็นอย่างไร เพราะในการจัดพิมพ์ได้มีการนำพระไตรปิฎกฉบับอักษรต่าง ๆ แต่อ่านเป็นภาษาบาลีได้ตรงกันนั้น มาสอบทาน และบันทึกว่า อักษรตัวไหน ผิดแผกไปอย่างไรบ้าง 

 

 

พระภิกษุชาวเยอรมันกล่าวถึงพระไตรปิฎกฉบับไทย

 

ภิกษุชาวเยอรมันรูปหนึ่ง ผู้แปลพระไตรปิฎกภาษาบาลีเป็นภาษาอังกฤษ และภาษาเยอรมันไว้บางตอน และได้เขียนหนังสืออธิบายความรู้ เรื่องพระพุทธศาสนาไว้มาก ทั้งในภาษาอังกฤษ และภาษาเยอรมันคือ พระภิกษุญาณติโลกะ ผู้ล่วงลับไปแล้ว ได้เขียนหนังสือนำเที่ยวพระอภิธรรมปิฎกขึ้น ให้ชื่อในภาษาอังกฤษว่า Guide Through the Abhidhamma-pitaka เปรียบเทียบ พระไตรปิฎกฉบับไทยกับฉบับที่พิมพ์ด้วยอักษรโรมันในประเทศอังกฤษไว้ ๒ ตอน ตอนแรก ในหนังสือเล่มที่กล่าวหน้า ๒ บทนำ แสดงความรู้สึกเป็นหนี้บุญคุณอย่างลึกซึ้งต่อบาลี พระอภิธรรมปิฎกฉบับไทย ซึ่งพระราชทานไปประเทศต่าง ๆ ว่ามีถึง ๖,๒๙๔ หน้า ขนาด ๘ หน้ายก แต่ได้แปลเป็นภาษาอังกฤษไปแล้ว เพียง ๑,๑๕๒ หน้า ตอนที่ ๒ กล่าวไว้ในหน้า ๑๑๔ ของหนังสือเล่มเดียวกันว่า คัมภีร์ปัฏฐาน ฉบับพระไตรปิฎกอักษรไทยมีถึง ๖ เล่ม รวม ๓,๑๒๐ หน้า แต่ฉบับของสมาคมบาลีปกรณ์ ประเทศอังกฤษมีพิมพ์ไว้เพียง ๕๔๙ หน้า แสดงให้เห็นความสมบูรณ์แห่งพระไตรปิฎกฉบับของประเทศไทยอย่างชัดเจน หนังสือเล่มนี้พิมพ์แล้ว ๒ ครั้ง ครั้งแรก พ.ศ. ๒๔๘๑ ครั้งหลัง พ.ศ. ๒๔๙๖

 

พระพุทธเจ้า ผู้ทรงให้กำเนิดศาสนาพุทธ

 

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
Tags
  • Posted By
  • Plookpedia
  • 15 Followers
  • Follow