Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

ผลกระทบของสารมลพิษที่มีต่อร่างกายของคนและสัตว์

Posted By Plookpedia | 25 มิ.ย. 60
3,577 Views

  Favorite

ผลกระทบของสารมลพิษที่มีต่อร่างกายของคนและสัตว์

 

        อย่างไรก็ตามมลพิษทางอากาศมีผลกระทบต่อสุขภาพอนามัยได้หลายประการ ระบบทางเดินหายใจเป็นส่วนแรกที่สัมผัสกับมลพิษ และรับผลโดยตรง สารมลพิษหลายอย่างทำให้เนื้อเยื่อของอวัยวะเกิดระคายเคือง เนื่องจากขนาดหรือรูปร่าง ประกอบกับสมบัติทางเคมี ซึ่งอาจเสริมพิษภัยให้รุนแรงมากขึ้น ฝุ่นละอองขนาดเล็กพอควร จะผ่านขนจมูก และระบบป้องกันของร่างกาย เข้าสู่ชั้นในสุด คือ ถุงลมในปอด ส่วนที่มีขนาดใหญ่เกินไป ถูกจับ และขับออก จากร่างกายตั้งแต่ต้น สมรรถนะของระบบหายใจจึงอาจลดและเสื่อมลงมากน้อยเท่าใดนั้น ขึ้นอยู่กับชนิดของฝุ่น เพราะฝุ่นบางชนิด เป็นพิษมากกว่าชนิดอื่น เช่น ตะกั่ว แอสเบสทอส หรือบางกรณีฝุ่นทำหน้าที่เป็นแกนกลางให้ก๊าซจับ แล้วชักนำเอาก๊าซ ซึ่งปกติจะฟุ้งกระจายไม่มีทิศทาง ให้เข้าถึงปอด นอกจากนี้ฝุ่นบางชนิด เช่น วาเนเดียม และแมงกานีส ยังสามารถเร่งปฏิกิริยาก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ให้เป็นกรดกำมะถัน
ฤทธิ์กรดจึงทำอันตรายระบบหายใจได้มากยิ่งขึ้น

 

ระบบทางเดินหายใจ เป็นส่วนแรกที่สัมผัสกับมลพิษและรับผลโดยตรง

 

        ผลต่อผู้สูดหายใจเอาสารมลพิษเข้าไป จึงมีอย่างสลับซับซ้อน ทั้งยังอาจเกิดขึ้นได้อย่างฉับพลันทันที หรือค่อยสะสมทีละเล็กทีละน้อย แล้วจึงปรากฏอาการในภายหลัง นอกจากนี้คนบางกลุ่มยังรับอันตรายเร็วและมากกว่าคนทั่วไปเป็นพิเศษอีกด้วย ดังเช่น ในกรณีวิกฤติการณ์ในกรุงลอนดอน ในปี ค.ศ. ๑๙๕๒ และ ๑๙๖๒ (พ.ศ. ๒๔๙๕ และ ๒๕๐๕) นั้น เชื่อกันว่าสม็อกและก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ปกคลุมกรุงลอนดอนอยู่อย่างหนาทึบ เป็นระยะเวลา ๕ วัน เป็นเหตุให้มีผู้คนล้มตายเป็นจำนวน ๔,๐๐๐ คน และ ๓๔๐ คนตามลำดับ ส่วนใหญ่เป็นผู้สูงอายุ เด็ก และผู้เป็นโรคทางเดินหายใจ ปศุสัตว์ต่าง ๆ ในบริเวณนั้นก็ได้รับผลเช่นเดียวกัน 

 

        สารมลพิษอื่น ๆ คือ โอโซน ไนโตรเจนไดออกไซด์ และไฮโดรคาร์บอน ต่างมีผลต่อระบบทางเดินหายใจในลักษณะคล้ายคลึงกัน แต่โอโซนเป็นมลพิษที่ไวต่อปฏิกิริยา สามารถทำให้ตาระคายเคืองได้ฉับพลัน ชาวลอสแองเจลีสจึงมีอาการนี้ ในวันที่มีระดับของก๊าซโอโซนในบรรยากาศเกินกว่า ๒๐๐ ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตรขึ้นไป ครั้นเมื่อระดับก๊าซเพิ่มอีกสี่เท่า ระบบเอนไซม์อาจ เกิดความผิดปกติ และผนังเม็ดเลือดแดงเปราะ เมื่อเปรียบเทียบผลของโอโซนกับก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ และไนโตรเจนไดออกไซด์แล้ว โอโซน มีผลต่อคนและพืชมากกว่า พืชพันธุ์ธัญญาหาร จึงถูกทำลาย และเกิดความเสียหายอย่างมากมาย 

 

        ความผิดปกติในร่างกาย เมื่อรับสารมลพิษบางอย่างเห็นได้ชัดในระยะเวลาอันสั้น กล่าวคือ คนและสัตว์แสดงอาการสนองตอบต่อก๊าซคาร์บอนมอนอกไซด์อย่างฉับพลัน เพราะทำให้ร่างกายขาดอากาศ เหตุนี้เกิดขึ้นได้หลายทางด้วยกัน ประการแรกก๊าซนี้จับตัวกับเม็ดเลือดแดงได้ดีกว่าออกซิเจน ดังนั้นนอกจากออกซิเจนไปเลี้ยงส่วนต่าง ๆ ของร่างกายได้น้อยลงแล้ว เมื่อเม็ดเลือดแดงซึ่งมีออกซิเจนไปถึงที่ กลับไม่แยกตัวออกจากกันได้ดีเหมือนเช่นเคย การจับตัวแน่นแฟ้นกว่าเดิมเป็นผลจากมลพิษ จึงทำให้อวัยวะนั้นได้รับออกซิเจนจำกัดมากยิ่งขึ้น ด้วยเหตุที่สมองเป็นอวัยวะ ซึ่งไวต่อการขาดออกซิเจนมากที่สุด ดังนั้น จึงเกิดผลต่อระบบประสาทรวมอย่างรวดเร็ว ทำให้ไม่สามารถควบคุมตนให้ระมัดระวัง และทำงานประณีตได้ รู้สึกปวดศีรษะเพิ่มมากขึ้น วิงเวียน คลื่นเหียนอาเจียน รู้สึกเปลี้ย หมดสติ ชัก และถึงตาย หากได้รับมลพิษนี้มากถึงขนาด 

 

        ร่างกายคนเรามิได้ยินยอมให้เกิดอันตรายแต่ถ่ายเดียว ในทางตรงกันข้าม กลับเร่งรัดให้เลือดหมุนเวียนเร็วขึ้น เพื่อชดเชยออกซิเจน ซึ่งขาดแคลน เช่น หายใจให้ถี่ขึ้น แต่ถ้าส่วนใดส่วนหนึ่งของระบบชำรุด หรือไม่สมบูรณ์ จนไม่อยู่ในสภาพที่จะหักโหมได้ แทนที่จะช่วยให้ทุเลาลง ซ้ำร้ายกลับทำให้เกิดอันตรายมากขึ้น ตัวอย่างของคนกลุ่มนี้ คือ ผู้ที่เป็นโรคหัวใจ โรคหลอดโลหิต โรคโลหิต โรคโลหิตจาง โรคปอด ช็อก รวมทั้งทารกในครรภ์ ทารกแรกเกิด ผู้หมดสติ หญิงมีครรภ์ เด็ก คนชรา และผู้ที่อาศัยอยู่ตามภูเขา ซึ่งมีออกซิเจนในบรรยากาศเจือจางกว่าบนพื้นที่ราบในระดับน้ำทะเล 

 

        เมื่อสูบบุหรี่ ร่างกายของผู้สูบ และผู้อยู่ใกล้เคียงได้รับก๊าซคาร์บอนมอนอกไซด์ และไนโตรเจนออกไซด์มากผิดปกติ จะมีผลทำให้ออกซิเจนไปเลี้ยงสมองน้อย ดังนั้นหากสตรีมีครรภ์สูบบุหรี่ หรือได้รับควันจากผู้สูบที่อยู่ใกล้ ๆ ทารกจะได้รับออกซิเจนไปเลี้ยงสมองน้อยลง เช่นเดียวกับแม่ ในกรณีเช่นนี้พบว่า ทารกที่คลอดมักตัวเล็ก 

 

        ผู้ออกกำลังกายในที่ที่มลพิษทางอากาศ จะได้รับอิทธิพลจากมลพิษในอากาศเร็วขึ้น เช่น ในที่ที่มีก๊าซคาร์บอนมอนอกไซด์ ก๊าซนี้จะลดออกซิเจน ซึ่งหัวใจสูบฉีดไปพร้อมกับเลือด เพื่อเลี้ยงกล้ามเนื้อต่าง ๆ เมื่อขาดออกซิเจนจะรู้สึกเปลี้ยอ่อนแรง จนไม่อาจออกกำลังกายได้อีกต่อไป มีรายงานถึงโทษของโอโซนต่อผู้ออกกำลังกายมากกว่าผู้อื่นเช่นกัน ผลร้ายที่ร่างกายได้รับจากมลพิษเป็นพิเศษ ขณะออกกำลังกายนี้ อาจเกิดขึ้นเนื่องจากสาเหตุ ๒ ประการ คือ การออกกำลังต้องการอากาศเพิ่มมากขึ้น จึงสูดหายใจแรงและลึก จึงรับสารมลพิษปริมาณมากและลึกกว่าเวลาหายใจตามปกติ
บางครั้งหากรู้สึกเหนื่อย อาจอ้าปากหอบ เพื่อรับอากาศมากขึ้น ในกรณีนี้สารมลพิษจึงลัดผ่านระบบป้องกันขั้นต้นในโพรงจมูกอย่างสิ้นเชิง และเข้าสู่ระบบหายใจส่วนลึกโดยตรงได้มากขึ้น 

 

        สารตะกั่วจากไอเสียของรถยนต์ เป็นสารประกอบอนินทรีย์ในรูปฝุ่นขนาดเล็กเป็นส่วนใหญ่
ถึงแม้เมื่อแรกเติมลงในน้ำมันเชื้อเพลิงนั้น จะเป็นสารประกอบอินทรีย์ก็ตาม แต่ได้แตกตัว และกลายรูประหว่างการสันดาปในเครื่องยนต์ ก่อนออกสู่บรรยากาศทางท่อไอเสีย ปริมาณนี้เพิ่มขึ้น เมื่อรถวิ่งเร็ว แต่จะลดน้อยลง เมื่อเดินเครื่องอยู่กับที่ หรือไป ๆ หยุด ๆ 

 

        ฝุ่นตะกั่วเข้าสู่ระบบหายใจส่วนลึกได้ เพราะมีขนาดเล็ก พิษของตะกั่วทำให้เกิดความผิดปกติต่อระบบเลือด ไต และประสาท ทำให้เกิดโรคโลหิตจาง ไต และสมองฝ่อ ทั้งนี้ส่วนใหญ่เป็นผลเรื้องรังจากการสะสมในระยะยาว ถึงแม้ร่างกายจะสามารถขับถ่ายตะกั่วออกทางปัสสาวะ อุจจาระ ผม เล็บ และเหงื่อได้บ้างก็ตาม แต่ตะกั่วบางส่วน คงอยู่ในกระดูก และกินเวลานานนับปี กว่าจะถูกขับถ่ายออกได้หมด 

 

โดยสรุป สารมลพิษในอากาศสามารถทำอันตรายได้อย่างรุนแรง และฉับพลันทันที หรือค่อยสะสมทีละเล็กทีละน้อย จนปรากฏอันตรายต่อร่างกายในระยะยาว หรือเรียกว่า มีอาการแบบเรื้อรัง โดยปกติแล้วอันตรายจากมลพิษขึ้นอยู่กับระดับความเข้มข้นของสารมลพิษ ควบคู่กับระยะเวลาที่ร่างกายรับอยู่ แต่ยังมีเงื่อนไขอื่น ๆ เข้ามาประกอบอย่างสลับซับซ้อน ทำให้ไม่อาจคาดคะเนผลจากมลพิษได้อย่างแม่นยำ ตัวอย่างเช่น คนบางกลุ่มไวต่อพิษภัยเป็นพิเศษ และสารมลพิษต่าง ๆ อาจมีปฏิกิริยาต่อกัน จนก่อให้เกิดสารใหม่ หรือเปลี่ยนแปลงพิษภัยไปจากเดิม แต่อย่างไรก็ตาม ระบบหายใจ และระบบเลือด จัดเป็นด่านแรก ผลร้ายที่เกิดขึ้นอาจแก้ไขได้หรือไม่นั้น ขึ้นอยู่กับองค์ประกอบหลายอย่าง

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
Tags
  • Posted By
  • Plookpedia
  • 15 Followers
  • Follow