Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

การจัดองค์การของพรรคการเมืองไทย

Posted By Plookpedia | 25 มิ.ย. 60
1,658 Views

  Favorite

การจัดองค์การของพรรคการเมืองไทย

      ในฐานะที่เป็นองค์กรอย่างหนึ่งในสังคมที่จัดตั้งขึ้นอย่างเป็นทางการพรรคการเมืองจึงจำเป็นต้องมีกระบวนการในการทำงานหรือกล่าวอีกอย่างหนึ่งก็ คือ ต้องมีการจัดองค์การเพื่อบรรลุเป้าหมายที่วางไว้  กระบวนการที่สำคัญอย่างยิ่งสำหรับการจัดองค์การของพรรคการเมืองก็  คือ การระดมทรัพยากรทั้งหลาย เช่น ตัวบุคคล วิธีการจัดการ และเงิน มาใช้ในการดำเนินการด้านต่าง ๆ และประสานงานระหว่างหน่วยงานของพรรคเพื่อให้ประสบความสำเร็จในการทำงานทางการเมืองไม่ว่าจะเป็นการรณรงค์หาเสียงในการเลือกตั้ง การทำงานด้านนิติบัญญัติ การบริหารประเทศในฐานะรัฐบาล หรือการดำเนินกิจกรรมทางการเมืองอื่น ๆ
      ดังนั้นการที่จะบรรลุเป้าหมายในการจัดองค์การดังกล่าวนี้ได้อย่างน้อยที่สุดพรรคการเมืองจะต้องดำเนินการรับบุคคลกลุ่มต่าง ๆ เข้ามาเป็นสมาชิก จัดตั้งสาขาพรรคกำหนดแบบแผนในการดำเนินงานหรือโครงสร้างพรรคและหารายได้จากแหล่งต่าง ๆ เข้าพรรค มิฉะนั้นพรรคจะไม่มีทั้งคนแบบแผนในการบริหารและทุนในการทำงานทางการเมือง

การรับสมาชิกของพรรคการเมือง

      การรับสมาชิกของพรรคการเมืองไทยในปัจจุบันจะต้องเป็นไปตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. ๒๕๔๑ กฎหมายพรรคการเมืองฉบับนี้ได้ระบุคุณสมบัติของผู้ที่จะสมัครเป็นสมาชิกของพรรคการเมืองไว้ว่าต้องเป็นผู้มีสัญชาติไทยโดยการเกิด มีอายุไม่ต่ำกว่า ๑๘ ปีบริบูรณ์ และไม่มีลักษณะที่ต้องห้าม  มิให้ใช้สิทธิเลือกตั้งตามรัฐธรรมนูญ  นอกจากนี้แล้ว กฎหมายดังกล่าวยังมีข้อบังคับให้พรรคการเมืองต้องดำเนินการจัดหาสมาชิกจากทุกภาคให้ได้ไม่ต่ำกว่า ๕,๐๐๐ คน ภายใน ๑๘๐ วัน  นับตั้งแต่จดทะเบียนก่อตั้งพรรค นอกจากคุณสมบัติและจำนวนสมาชิกที่จะต้องเป็นไปตามกฎหมายแล้วพรรคการเมืองไทยแต่ละพรรคมักวางระเบียบในการรับสมาชิกเพิ่มเติมเข้าไปด้วย  ดังที่เรามักจะเห็นในระเบียบของพรรคต่าง ๆ เกี่ยวกับประเภทของสมาชิก คุณสมบัติของผู้สมัครเป็นสมาชิก วิธีการรับสมาชิก ค่าลงทะเบียนสมาชิก และค่าบำรุงพรรค

      ในด้านประเภทของสมาชิกพรรคการเมืองไทย ส่วนใหญ่มักวางระเบียบให้มีสมาชิกมากกว่า ๑ ประเภท กล่าว คือ ทุกพรรคจะรับสมาชิกสามัญจากประชาชนทั่วไปเหมือน ๆ กัน แต่จะมีสมาชิกพิเศษเพิ่มเติมเข้ามาอีกอย่างน้อย ๑ ประเภท สมาชิกประเภทนี้อาจมีชื่อและคุณสมบัติต่างกันไปตามที่แต่ละพรรคการเมืองกำหนด เช่น สมาชิกกิตติมศักดิ์ สมาชิกสมทบ สมาชิกวิสามัญ และสมาชิกผู้บริหารซึ่งสมาชิกสมทบและสมาชิกวิสามัญมักจะรับจากผู้ที่ขาดคุณสมบัติบางอย่างของสมาชิกสามัญ เช่น อายุต่ำกว่า ๑๘ ปี ส่วนสมาชิกกิตติมศักดิ์หรือสมาชิกผู้บริหารเป็นบุคคลที่พรรคเจาะจง เชิญเข้ามาเป็นสมาชิกในขณะที่การมีสมาชิกสมทบหรือสมาชิกวิสามัญแสดงถึงความพยายามของพรรคการเมืองไทยบางพรรคที่จะสร้างพรรคของมวลชน  การกำหนดให้มีสมาชิกกิตติมศักดิ์หรือสมาชิกผู้บริหารก็สะท้อนถึงแนวคิดแบบพรรคของชนชั้นนำที่มีอยู่ในพรรคการเมืองไทยเพราะสมาชิกประเภทนี้ มีสถานภาพบางอย่างเหนือกว่าสมาชิกสามัญทั่วไป อาทิ เป็นผู้มีอุปการคุณต่อพรรค เป็นผู้ที่กรรมการบริหารพรรคมีมติให้เชิญมาเป็นสมาชิกและเป็นผู้มีคุณสมบัติพิเศษ ที่พรรคเชิญให้เป็นสมาชิก

 

พรรคการเมืองไทย
การประชุมของพรรคการเมืองร่วมกับสมาชิกพรรค

 

      กรณีของการรับสมาชิกสามัญพรรคการเมืองไทยบางพรรคยังระบุคุณสมบัติของผู้สมัครเพิ่มเติมว่าต้องมีความเลื่อมใสในอุดมการณ์ของพรรค  บ้างก็วางระเบียบให้การอนุมัติให้ผู้ใดเป็นสมาชิกพรรคจะต้องเป็นมติของคณะกรรมการบริหารพรรค  ขณะที่บางพรรคไม่ได้กำหนดเงื่อนไขพิเศษใด ๆ  ไม่ว่าพรรคการเมืองจะมีทิศทางในการรับสมาชิกพรรคอย่างไร  แต่ส่วนใหญ่แล้วมักมีสมาชิกจำนวนจำกัด  การเติบโตของจำนวนสมาชิกเป็นไปอย่างเชื่องช้าพรรคการเมืองหลายพรรคพยายามหาสมาชิกเข้าพรรคเพื่อที่จะพัฒนาไปสู่การเป็นพรรคของมวลชนแต่ก็ไม่ประสบผลสำเร็จเท่าที่ควร ถึงแม้ว่าแต่ละพรรคการเมืองจะมีจำนวนของสมาชิกเป็นไปตามที่กฎหมายกำหนด  แต่คนเหล่านั้นส่วนใหญ่ก็มักจะเป็นสมาชิกพรรคเพียงในนามและไม่เคยมีบทบาทใด ๆ  ในพรรค หลายคนอาจเป็นสมาชิกพรรคการเมืองมากกว่า ๑ พรรค บางคนอาจมีชื่อเป็นสมาชิกพรรคการเมืองโดยไม่รู้ตัวเพราะมีผู้นำชื่อไปใส่เป็นสมาชิกพรรคการเมืองโดยที่ไม่ได้แจ้งให้ทราบ

สาขาของพรรคการเมือง

      ด้วยเหตุที่กฎหมายพรรคการเมืองฉบับปัจจุบันมีข้อบังคับให้พรรคการเมืองแต่ละพรรคต้องมีสาขาอย่างน้อยภาคละ ๑ สาขา ภายใน ๑๘๐ วัน นับตั้งแต่จดทะเบียนก่อตั้งพรรคทุกพรรคการเมืองจึงจำเป็นต้องจัดตั้งสาขาพรรคขึ้นในทุกภูมิภาค  อย่างไรก็ตามการขยายสาขาของพรรคการเมืองไทยก็ช้าพอ ๆ กับการเติบโตของสมาชิกพรรค  พรรคการเมืองส่วนใหญ่จึงไม่ค่อยมีสาขาพรรคแม้กระทั่งพรรคการเมืองเก่าแก่ เช่น พรรคประชาธิปัตย์ก็ยังมีสาขาพรรคไม่มากเท่าที่ควรจะเป็น จนถึง พ.ศ. ๒๕๔๙ พรรคนี้ยังมีสาขาอยู่เพียง ๑๙๔ แห่งทั่วประเทศ แต่ก็นับว่าเป็นพรรคการเมืองที่มีสาขาพรรคมาก ทั้งนี้เพราะ ใน พ.ศ. ๒๕๔๙ พรรคชาติไทยที่เก่าแก่รองลงมา มีสาขาพรรคเพียง ๙ แห่ง เท่านั้น

 

ที่ทำการพรรคประชาธิปัตย์
ที่ทำการพรรคประชาธิปัตย์
ที่ทำการพรรคไทยรักไทย
ที่ทำการพรรคไทยรักไทย

 

      อย่างไรก็ตามสิ่งที่พรรคการเมืองไทยอ้างว่าเป็นสาขาพรรคมักจะเป็นเพียงศูนย์ในการหาเสียงเลือกตั้งหรือที่ทำการของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของพรรคในเขตเลือกตั้งเท่านั้นศูนย์หรือที่ทำการเหล่านี้ไม่ได้ทำหน้าที่ของสาขาพรรคแต่อย่างใด  นอกจากรับข้อร้องเรียนของประชาชนเกี่ยวกับปัญหาต่าง ๆ และให้ความช่วยเหลือในบางเรื่องแทนนักการเมืองมากกว่าทำหน้าที่ของสาขาพรรคโดยตรง  แท้จริงแล้วสาขาพรรคของพรรคการเมืองมีบทบาทสำคัญในหลายด้านโดยเฉพาะอย่างยิ่งบทบาทในด้าน การโฆษณานโยบายและกิจกรรมของพรรค การให้การศึกษาแก่ประชาชน และรับสมาชิกพรรค ตลอดจนการคัดเลือกผู้สมัครรับเลือกตั้งของพรรค

 

ที่ทำการพรรคชาติไทย
ที่ทำการพรรคชาติไทย

 

โครงสร้างของพรรคการเมือง

      ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. ๒๕๔๑ โครงสร้างพรรคการเมืองไทยจะต้องมีองค์ประกอบอย่างน้อยที่สุด ๓ ส่วน คือ ที่ประชุมใหญ่ของพรรค           คณะกรรมการบริหารพรรค และคณะกรรมการบริหารสาขาพรรค โดยกฎหมายพรรคการเมืองฉบับนี้ระบุให้องค์ประกอบดังกล่าวเป็นกลไกพื้นฐานในการดำเนินงานของพรรคการเมืองไทย
๑) ที่ประชุมใหญ่ของพรรค
      ประกอบด้วยคณะกรรมการบริหารพรรคผู้แทนของสาขาพรรคและสมาชิกพรรคที่ประชุมใหญ่ของพรรคแต่ละพรรคเป็นที่ประชุมสำหรับลงมติในเรื่องการเปลี่ยนแปลงแก้ไขนโยบายและข้อบังคับของพรรค การเลือกตั้งหัวหน้าพรรค รองหัวหน้าพรรค เลขาธิการพรรค รองเลขาธิการพรรค เหรัญญิกพรรค โฆษกพรรค และกรรมการบริหารอื่น ๆ ของพรรค นอกจากนั้นที่ประชุมนี้ยังมีหน้าที่ดำเนินการด้านอื่น ๆ ตามที่คณะกรรมการการเลือกตั้งกำหนดอีกด้วย
๒) คณะกรรมการบริหารพรรคการเมือง
      ประกอบด้วยหัวหน้าพรรค รองหัวหน้าพรรค เลขาธิการพรรค รองเลขาธิการพรรค เหรัญญิกพรรค โฆษกพรรค และกรรมการบริหารอื่น ๆ ที่เลือกตั้งจากสมาชิกพรรคซึ่งมีอายุไม่ต่ำกว่า ๒๐ ปีบริบูรณ์ กฎหมายพรรคการเมืองฉบับปัจจุบันระบุให้คณะกรรมการบริหารพรรคมีอำนาจหน้าที่ในการดำเนินกิจการของพรรคให้เป็นไปตามนโยบาย  ข้อบังคับและมติของที่ประชุมใหญ่ของพรรค และให้หัวหน้าพรรคหรือคณะกรรมการบริหารพรรคที่หัวหน้าพรรคมอบหมายเป็นผู้แทนของพรรคในกิจการที่เกี่ยวกับบุคคลภายนอก
๓) คณะกรรมการบริหารสาขาพรรค
      ประกอบด้วยประธานสาขา รองประธานสาขา เลขานุการสาขาพรรค รองเลขานุการสาขาพรรค เหรัญญิกสาขาพรรค โฆษกสาขาพรรค และกรรมการอื่นของสาขาพรรค มีหน้าที่ดำเนินกิจการให้เป็นไปตามนโยบายและข้อบังคับพรรค

      อย่างไรก็ตามพรรคการเมืองแต่ละพรรคสามารถมีองค์ประกอบเพิ่มเติมไปจากโครงสร้างพื้นฐานได้หากการจัดตั้งองค์ประกอบนั้น ๆ ไม่ขัดแย้งกับหลักการของกฎหมายพรรคการเมือง  ดังจะเห็นได้ว่าทุกพรรคการเมืองจะมีหน่วยงานด้านการบริหารภายในพรรคหรือสำนักงานพรรคและแบ่งหน่วยงานภายในพรรคออกเป็นฝ่ายต่าง ๆ อาทิ ฝ่ายบริหาร ฝ่ายวิชาการ ฝ่ายการเมือง และฝ่ายนโยบาย และการวางแผน เพื่อช่วยให้การทำงานของพรรคได้ผลมากยิ่งขึ้น  นอกเหนือจากคณะกรรมการบริหารพรรคแล้วพรรคการเมืองจำนวนหนึ่ง เช่น พรรคชาติไทย พรรคชาติพัฒนา และพรรคไทยรักไทย ยังมีคณะผู้บริหารพรรคเป็นองค์ประกอบในการบริหารเพิ่มเติมเข้าไปในโครงสร้างพรรค พรรคการเมืองบางพรรค เช่น พรรคชาติไทย และพรรคชาติพัฒนา มีคณะที่ปรึกษาพรรคเป็นองค์ประกอบส่วนหนึ่งในโครงสร้างพรรคในขณะที่พรรคไทยรักไทยไม่มีองค์ประกอบดังกล่าว

 

พรรคการเมืองไทย
การประชุมใหญ่ของพรรคการเมืองซึ่งประกอบด้วย คณะกรรมการบริหารพรรค ผู้แทนของสาขาพรรค และสมาชิกพรรค
เป็นกลไกพื้นฐานในการดำเนินงานของพรรคการเมืองไทยตามกฎหมายพรรคการเมือง

 

การหารายได้ของพรรคการเมือง

      ประเด็นสำคัญอีกส่วนหนึ่งของการจัดองค์การของพรรคการเมือง คือ การระดมทรัพยากรในรูปรายได้เข้าสู่พรรคเพื่อนำไปใช้ในการดำเนินงานด้านต่าง ๆ โดยทั่วไป พรรคการเมืองไทยมีรายได้มาจาก ๔ แหล่ง คือ ค่าบำรุงพรรค การบริจาค การสนับสนุนทางการเงินของรัฐ และการดำเนินกิจกรรมของพรรค
๑) ค่าบำรุงพรรค
      เป็นรายได้ที่พรรคการเมืองสามารถเรียกเก็บจากสมาชิกพรรคทุกคนแต่พรรคการเมืองบางพรรคอาจไม่สนใจที่จะหารายได้จากแหล่งนี้  เนื่องจากรายได้จากค่าบำรุงพรรคเป็นจำนวนเงินที่เล็กน้อยมากจนไม่มีความสำคัญต่อการดำเนินงานของพรรค  นอกจากนี้ยังมีปัญหาในการจัดเก็บจากสมาชิกของพรรคอีกด้วย เช่น จะเรียกเก็บโดยวิธีใด รายได้จะคุ้มทุนในการจัดเก็บหรือไม่ และการเรียกเก็บจะมีผลให้สมาชิกพรรคลดลงหรือเปล่าพรรคการเมืองไทยจึงมักตัดรายได้ส่วนนี้ออกไปจากแหล่งที่มาของรายได้
๒) การบริจาค
      นับเป็นที่มาของรายได้ที่สำคัญที่สุดของพรรคการเมือง รายได้ของพรรคจากแหล่งนี้อาจมาจากการบริจาคของบุคคลทั่วไป สมาชิกพรรค ผู้บริหารพรรค หรือผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองในสังกัดของพรรค กฎหมายพรรคการเมืองระบุให้การรับบริจาคของพรรคการเมืองจะต้องทำโดยเปิดเผยนั่น คือ พรรคการเมืองจะต้องออกหลักฐานการรับบริจาคให้แก่ผู้บริจาคและเปิดเผยรายชื่อของผู้บริจาคและจำนวนเงินที่บริจาคตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่คณะกรรมการการเลือกตั้งกำหนด  นอกจากนี้หัวหน้าพรรคยังต้องมีบัญชีแสดงรายรับจากการบริจาคที่ระบุชื่อ ที่อยู่ จำนวนเงิน และรายการทรัพย์สินของผู้บริจาครวมทั้งการบริจาคผ่านสมาชิกพรรค วัน เดือน ปี ที่รับบริจาค และสำเนาหลักฐานการบริจาคไว้อย่างชัดเจนอีกด้วย  รายได้ของพรรคการเมืองจากแหล่งนี้มักขึ้นอยู่กับขนาดและบทบาทของพรรค พรรคการเมืองขนาดใหญ่ที่มีบทบาทอยู่ในรัฐบาลหรือสภาผู้แทนราษฎรมักจะมีรายได้จากการบริจาคสูงกว่าพรรคเล็ก ๆ และพรรคที่ไม่มีสมาชิกอยู่ในสภาผู้แทนราษฎร ในพ.ศ. ๒๕๔๕ ปรากฏว่าพรรคไทยรักไทยมีรายได้จากการบริจาค ๒๑ ล้านบาท พรรคประชาธิปัตย์มี ๑๒ ล้านบาท พรรคชาติไทย มี ๑๑ ล้านบาท พรรคชาติพัฒนามี ๖ ล้านบาท ในขณะที่พรรคเล็ก ๆ เช่น พรรคเผ่าไทยมีผู้บริจาคเงินเพียง ๑,๒๐๐ บาท เท่านั้น
๓) รายได้จากการสนับสนุนทางการเงินของรัฐ

      นับเป็นแหล่งรายได้ใหม่ของพรรคการเมืองไทยที่เกิดขึ้นจากการบังคับใช้พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. ๒๕๔๑ กฎหมายพรรคการเมืองฉบับนี้กำหนดให้คณะกรรมการการเลือกตั้งจัดสรรเงินสนับสนุนจากกองทุนเพื่อการพัฒนาพรรคการเมืองให้แก่พรรคต่าง ๆ เป็นรายปี ตามโครงการและแผนงานในการดำเนินกิจการของแต่ละพรรค  อย่างไรก็ดีรายได้ที่พรรคการเมืองได้รับจากการสนับสนุนของรัฐจะมากหรือน้อยเพียงใดขึ้นอยู่กับขนาดของพรรคการเมืองเป็นหลัก  ทั้งนี้เพราะคณะกรรมการการเลือกตั้งจะต้องนำเอาจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของพรรคจำนวนคะแนนเสียงจากบัญชีรายชื่อของพรรคการเมืองที่พรรคได้รับมาจากการเลือกตั้งทั่วไปครั้งหลังสุด  จำนวนสมาชิกของพรรคและจำนวนสาขาของพรรคตามลำดับมาพิจารณาในการกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการในการจัดสรรเงินให้แก่พรรคการเมือง ด้วยเหตุนี้พรรคการเมืองใหญ่จึงได้รับเงินสนับสนุนจากรัฐมากกว่าพรรคเล็ก ๆ
๔)  รายได้จากกิจกรรมของพรรค
      มาจากการดำเนินการหรือจัดงานบางอย่างเพื่อหาทุนสนับสนุนพรรค เช่น การจัดปาฐกถาหรืออภิปราย การจำหน่ายสินค้าและการประมูลผลงานด้านศิลปะหรือของใช้ของนักการเมือง รายได้ที่เกิดจากการจัดกิจกรรมเหล่านี้เป็นเพียงรายได้เสริมของพรรคการเมืองที่ได้มาเป็นครั้งคราวเท่านั้น  แต่ก็มีความสำคัญในแง่ที่เป็นตัวชี้ให้เห็นระดับความนิยมที่ประชาชนมีต่อพรรค  ในบรรดารายได้ทั้งหมดของพรรคการเมืองแหล่งรายได้ใหญ่ที่สุดมาจากการบริจาคและรองลงมาเป็นรายได้จากเงินสนับสนุนของรัฐ  ในขณะที่รายได้จากค่าบำรุงพรรคและกิจกรรมของพรรคเป็นเพียงส่วนประกอบเล็ก ๆ ของรายได้ทั้งหมดที่พรรคหามาได้ในแต่ละปี  อย่างไรก็ตามไม่ว่ารายได้เหล่านี้จะมากหรือน้อยเพียงใดพรรคการเมืองก็จะต้องแสดงหลักฐานการได้มาและการใช้จ่ายไปของรายได้เหล่านี้รวมไว้ในบัญชีของพรรคซึ่งประกอบด้วย  บัญชีรายรับและรายจ่าย  บัญชีรายรับจากการบริจาค บัญชีแยกประเภท และบัญชีสินทรัพย์และหนี้สิน  ต่อจากนั้นพรรคการเมืองยังจะต้องจัดทำงบการเงินให้ผู้สอบบัญชีรับอนุญาตทำการตรวจสอบและรับรองก่อนที่จะให้ที่ประชุมใหญ่ของพรรคอนุมัติ  โดยหัวหน้าพรรคและเหรัญญิกพรรคเป็นผู้รับรองความถูกต้องแล้วให้นายทะเบียนเสนอต่อคณะกรรมการการเลือกตั้งเพื่อตรวจสอบและประกาศให้สาธารณชนทราบ  กระบวนการตรวจสอบและควบคุมด้านการเงินดังกล่าวเป็นความพยายามที่จะทำให้การบริหารการเงินของพรรคการเมืองไทยเป็นไปอย่างโปร่งใสไม่มีการรับเงินและใช้จ่ายเงินในทางที่ไม่ถูกต้องรวมทั้งการรับเงินจากแหล่งที่ผิดกฎหมาย

 

พรรคาการเมือง
การจัดกิจกรรมของพรรคการเมือง เพื่อหาทุนสนับสนุนพรรค

 

 

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
  • Posted By
  • Plookpedia
  • 15 Followers
  • Follow