Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

บทบาทและหน้าที่ของพรรคการเมือง

Posted By Plookpedia | 25 มิ.ย. 60
2,175 Views

  Favorite

บทบาทและหน้าที่ของพรรคการเมือง

      การมองบทบาทหน้าที่ของพรรคการเมืองเป็นการพิจารณาถึงกิจกรรมหลัก ๆ ที่พรรคการเมืองกระทำอยู่ในสังคม  บทบาทหน้าที่ดังกล่าวเป็นกิจกรรมที่พรรคการเมืองแต่ละพรรคกระทำไปตามเป้าหมายทางการเมืองของตนแต่ในเวลาเดียวกันก็ก่อให้เกิดประโยชน์ในด้านต่าง ๆ ต่อสังคมตามมาด้วย  ถึงแม้ว่าผลดีที่ตามมานั้นอาจจะไม่ใช่วัตถุประสงค์เบื้องต้นในการทำกิจกรรมของพรรคการเมืองก็ตาม  บทบาทและหน้าที่ซึ่งพรรคการเมืองกระทำมีอยู่มากมายแต่ที่สำคัญ ได้แก่ การจัดตั้งรัฐบาลขึ้นทำหน้าที่บริหารประเทศ  การทำหน้าที่เป็นตัวเชื่อมระหว่างสังคมกับรัฐ         การสรรหาผู้นำและบุคลากรทางการเมืองและการนำเสนอประเด็นปัญหาและแนวทางแก้ไขให้แก่สังคม  โดยทั่วไปบทบาทหน้าที่เหล่านี้ของพรรคการเมืองเป็นผลมาจากการแสดงบทบาททางการเมืองในรูปของการเสนอตัวบุคคลลงสมัครรับเลือกตั้งในตำแหน่งต่าง ๆ การรณรงค์หาเสียงเลือกตั้งและการทำหน้าที่ของพรรคการเมืองในฐานะที่เป็นรัฐบาลหรือฝ่ายค้าน

 

พรรคการเมือง
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้นายกรัฐมนตรีนำคณะรัฐมนตรีเข้าเฝ้าฯ ถวายสัตย์ปฏิญาณก่อนเข้ารับหน้าที่

 

๑. การจัดตั้งรัฐบาลขึ้นทำหน้าที่บริหารประเทศ

      นับเป็นบทบาทหน้าที่ลำดับแรกของพรรคการเมืองเนื่องจากรัฐบาลในสังคมสมัยใหม่มีภารกิจที่ต้องปฏิบัติมากมายทั้งภายในและภายนอกประเทศ  ดังนั้นจึงจำเป็นต้องอาศัยคณะบุคคลหรือองค์กรที่มีความรู้และความสามารถเข้ามารับผิดชอบในการกำหนดนโยบายและควบคุมดูแลการบริหารงานด้านต่าง ๆ  โดยปกติพรรคการเมืองมักมีความพร้อมในการทำหน้าที่ด้านนี้มากกว่าคณะบุคคลหรือองค์กรอื่น ๆ เพราะเป็นองค์กรที่มีเป้าหมายในการบริหารประเทศมีบุคลากรตลอดจนแนวทางในการจัดการกับภารกิจด้านต่าง ๆ โดยตรง

 

พรรคการเมือง
การอภิปรายของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่พระที่นั่งอนันตสมาคม เมื่อ พ.ศ. ๒๕๑๒


      อย่างไรก็ดีในประเทศประชาธิปไตยวิธีการจัดตั้งรัฐบาลของพรรคการเมืองอาจแตกต่างกันไปตามรูปแบบการปกครองในประเทศที่ปกครองโดยระบบรัฐสภา  การจัดตั้งรัฐบาลอาจจัดตั้งในรูปของรัฐบาลโดยพรรคเดียวหรือรัฐบาลผสมที่มีพรรคการเมืองมากกว่า ๑ พรรคเข้าร่วมในการจัดตั้งรัฐบาล  ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับพรรคที่มีโอกาสในการจัดตั้งรัฐบาลว่ามีเสียงข้างมากในสภามากน้อยเพียงใด และต้องการเสียงสนับสนุนจากพรรคอื่นหรือไม่ และเพียงใด ส่วนในประเทศที่ปกครองโดยระบบประธานาธิบดี เช่น สหรัฐอเมริกาอำนาจหน้าที่ในการจัดตั้งรัฐบาลขึ้นบริหารประเทศเป็นของประธานาธิบดีที่มาจากพรรคที่ชนะการเลือกตั้งไม่ว่าพรรคการเมืองนั้นจะมีเสียงข้างมากในรัฐสภาหรือไม่ก็ตาม

      ในกรณีของพรรคการเมืองไทยในช่วงที่รัฐธรรมนูญและกฎหมายที่เกี่ยวข้องเปิดโอกาสให้มีพรรคการเมืองได้  เราจะเห็นพรรคการเมืองต่าง ๆ เข้าไปมีส่วนร่วมในการจัดตั้งรัฐบาลเสมออย่างไรก็ดีในการแสดงบทบาทดังกล่าว  บางครั้งพรรคการเมืองมีฐานะเป็นเพียงเครื่องมือในการจัดตั้งรัฐบาลมากกว่าที่จะเป็นผู้ดำเนินการจัดตั้งรัฐบาลด้วยตนเองนั่น คือ กรณีที่ผู้นำทางทหารจัดตั้งพรรคการเมืองของตนขึ้นมาเพื่อเป็นฐานในการจัดตั้งรัฐบาลหรือผู้นำทางทหารดึงพรรคการเมืองต่าง ๆ มาสนับสนุนการจัดตั้งรัฐบาลโดยมีตนเป็นนายกรัฐมนตรี  การจัดตั้งรัฐบาลในลักษณะนี้จะเห็นได้จากตัวอย่าง เช่น รัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม ในระหว่าง พ.ศ. ๒๔๙๒ - ๒๔๙๔ ช่วงหนึ่งและระหว่าง พ.ศ. ๒๔๙๘ - ๒๕๐๐ อีกช่วงหนึ่ง รัฐบาลพลเอก เปรม  ติณสูลานนท์ ระหว่าง พ.ศ. ๒๕๒๓  -  ๒๕๓๑ และรัฐบาลพลเอก สุจินดา  คราประยูร  ใน พ.ศ. ๒๕๓๕ พรรคการเมืองไทยเพิ่งมีโอกาสจัดตั้งรัฐบาลได้อย่างต่อเนื่องนับตั้งแต่ พ.ศ. ๒๕๓๕ เป็นต้นมา เมื่อทหารลดบทบาททางการเมืองลง

๒. การทำหน้าที่เป็นตัวเชื่อมระหว่างสังคมกับรัฐ

      เป็นกรณีที่พรรคการเมืองแสดงบทบาทคนกลางระหว่างประชาชนหรือกลุ่มคนในสังคมกับรัฐบาลและหน่วยงานของรัฐกล่าว คือ ด้านหนึ่งพรรคการเมืองจะรับเอาข้อเรียกร้องต่าง ๆ ของประชาชนมาแจ้งให้รัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทราบเพื่อให้ดำเนินการตอบสนองต่อข้อเรียกร้องนั้นหรือแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น  ทั้งนี้พรรคการเมืองอาจจะทำหนังสือถึงรัฐบาลหรือติดต่อกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องโดยตรงหรืออาจใช้วิธีการตั้งกระทู้ถามหรือการอภิปรายของสมาชิกของพรรคในรัฐสภาหรือวิธีการอื่นผ่านระบบการทำงานของรัฐสภาก็ได้

      ส่วนอีกด้านหนึ่งพรรคการเมืองจะทำหน้าที่รายงานให้ประชาชนรับทราบเกี่ยวกับนโยบายและมาตรการด้านต่าง ๆ ของรัฐบาลที่มีผลกระทบต่อประชาชน  ในแง่นี้พรรคการเมืองมักจะใช้วิธีเผยแพร่ข่าวสารดังกล่าว ผ่านทางสาขาพรรค ตัวแทนพรรค หรือสมาชิกรัฐสภา จากพรรคของตนในแต่ละเขตเลือกตั้ง ในบางครั้งประชาชนอาจจะได้รับข่าวสารที่สำคัญจากการหาเสียงหรือแม้แต่จากการอภิปรายนอกสภาของพรรคการเมือง

 

พรรคการเมือง
การอภิปรายของหัวหน้าพรรคฝ่ายค้าน ใน พ.ศ. ๒๕๔๘


      นอกจากนั้นบางครั้งพรรคการเมืองยังอาจแสดงบทบาทคนกลางในกรณีที่เป็นข้อขัดแย้งด้านผลประโยชน์ระหว่างรัฐบาลกับประชาชน  ดังที่จะเห็นได้จากกรณีปัญหาการเวนคืนที่ดินในโครงการต่าง ๆ ของรัฐบาล หรือปัญหาที่เกิดจากการบังคับใช้มาตรการบางด้านของรัฐบาลซึ่งมีผลกระทบต่อคนบางกลุ่ม  ในกรณีนี้พรรคการเมืองอาจเสนอตัวเป็นคนกลางในการเจรจาต่อรองระหว่างคู่กรณี เพื่อหาทางออกในการแก้ปัญหาที่ทั้งสองฝ่ายยอมรับได้

๓. การสรรหาผู้นำและบุคลากรทางการเมือง

      เป็นผลที่ตามมาจากการส่งตัวแทนของพรรคการเมืองลงสมัครรับเลือกตั้งในตำแหน่งทางการเมืองตั้งแต่ระดับท้องถิ่นจนถึงระดับชาติ อาทิ สมาชิกสภาเทศบาลผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร และสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ทั้งนี้พรรคการเมืองจะคัดเลือกตัวแทนจากสมาชิกพรรคหรือบุคคลที่พรรคเห็นว่ามีคุณสมบัติที่เหมาะสมกับตำแหน่งทางการเมืองนั้นและสนใจที่จะทำงานทางการเมืองแล้วเสนอชื่อเป็นผู้สมัครรับเลือกตั้งในนามของพรรคผู้ที่ได้รับเลือกก็จะเข้ารับตำแหน่งและปฏิบัติหน้าที่ทางการเมืองในตำแหน่งนั้น ๆ ต่อไป  การแสดงบทบาทเช่นนี้ของพรรคการเมืองเท่ากับเป็นการทำหน้าที่สรรหาบุคลากรและผู้นำทางการเมืองให้แก่สังคม  ถึงแม้ตำแหน่งทางการเมืองที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งโดยตรง เช่น ตำแหน่ง นายกรัฐมนตรี รัฐมนตรี ประธานสภาผู้แทนราษฎร และตำแหน่งอื่น ๆ ในฝ่ายบริหารและฝ่ายนิติบัญญัติ  พรรคการเมืองก็มีบทบาทในการคัดเลือกและเสนอชื่อตัวบุคคลที่จะเข้ารับตำแหน่งเหล่านี้ซึ่งบุคคลดังกล่าวจะได้รับเลือกเข้าดำรงตำแหน่งนั้นหรือไม่ขึ้นอยู่กับจำนวนที่นั่งในสภาผู้แทนราษฎรของพรรคที่ได้รับจากการเลือกตั้งและการต่อรองระหว่างพรรคการเมือง โดยทั่วไปแล้วผู้นำทางการเมือง เช่น นายกรัฐมนตรี ประธานสภาผู้แทนราษฎรและรัฐมนตรีในกระทรวงสำคัญมักจะมาจากพรรคที่ได้รับเสียงข้างมากในการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและในกรณีที่พรรคการเมืองเพียงพรรคเดียวมีเสียงข้างมากเด็ดขาดและเป็นผู้จัดตั้งรัฐบาล  พรรคการเมืองนั้นก็จะผูกขาดในการสรรหาผู้นำทางการเมืองแต่เพียงผู้เดียว

 

พรรคการเมือง
สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจากพรรคการเมืองต่าง ๆ เข้าร่วมในการประชุมรัฐสภา


      อย่างไรก็ดีในกรณีของประเทศไทยหลายครั้งที่พรรคการเมืองไม่ได้มีบทบาทในการสรรหาผู้นำทางการเมืองระดับสูงโดยตรง  โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้นำในตำแหน่งนายกรัฐมนตรีผู้นำในตำแหน่งนี้ อาจถูกกำหนดล่วงหน้าไว้แล้วว่าจะเป็นของผู้ใด  ดังนั้นในกรณีเช่นนี้ไม่ว่าพรรคการเมืองจะมีเสียงข้างมากเพียงใดก็ไม่มีโอกาสที่จะทำหน้าที่สรรหานายกรัฐมนตรี  แต่อาจเป็นเพียงผู้สนับสนุนบุคคลที่เลือกไว้แล้วให้เป็นนายกรัฐมนตรีดังจะเห็นได้จากการเสนอชื่อ พลเอก เปรม  ติณสูลานนท์ เป็นนายกรัฐมนตรีระหว่าง พ.ศ. ๒๕๒๔ - ๒๕๒๙

 

การรณรงค์หาเสียงของพรรคการเมืองในรูปแบบต่างๆ
การรณรงค์หาเสียงของพรรคการเมืองในรูปแบบต่างๆ

 

การรณรงค์หาเสียงของพรรคการเมืองในรูปแบบต่างๆ
การรณรงค์หาเสียงของพรรคการเมืองในรูปแบบต่าง ๆ

 

๔. การนำเสนอประเด็นปัญหาและแนวทางแก้ไขแก่สังคม

      เป็นกิจกรรมของพรรคการเมืองที่พบเห็นได้ทั่วไปไม่ว่าในการรณรงค์หาเสียงเลือกตั้ง การอภิปรายของสมาชิกพรรคการเมืองในรัฐสภาหรือนอกรัฐสภา การให้สัมภาษณ์หรือแสดงความคิดเห็นต่อสื่อมวลชนในวาระต่าง ๆ หรือการเสนอแนวนโยบาย และมาตรการในการแก้ไขปัญหาโดยพรรคการเมืองฝ่ายรัฐบาล และฝ่ายค้าน  บทบาทด้านนี้ของพรรคการเมืองนับเป็นหน้าที่โดยตรงที่ทุกพรรคจำเป็นต้องกระทำเพื่อเตือนให้สังคมได้รับรู้และตระหนักถึงปัญหาด้านต่าง ๆ ที่มีอยู่และในเวลาเดียวกันก็เสนอทางออกและทางเลือกในการแก้ไขปัญหาดังกล่าวไปพร้อม ๆ กันด้วย

      พรรคการเมืองในระบอบประชาธิปไตยจะมีโอกาสได้จัดตั้งรัฐบาลทำหน้าที่บริหารประเทศหรือไม่ขึ้นอยู่กับบทบาทด้านนี้เป็นอย่างมาก  ทั้งนี้เพราะแนวนโยบายของพรรคการเมืองในประเด็นปัญหาต่าง ๆ และแนวทางแก้ไขนับเป็นเงื่อนไขสำคัญ  ประการแรก ๆ ในการชี้ขาดชัยชนะของพรรคในการเลือกตั้งแต่ละครั้งการออกเสียงเลือกตั้งในสังคมสมัยใหม่มักจะเป็นการเลือกตั้งแนวนโยบายของพรรคมากกว่าตัวบุคคลที่ลงสมัครรับเลือกตั้ง  พรรคการเมืองจึงให้น้ำหนักกับการนำเสนอประเด็นปัญหาและแนวทางในการแก้ไขแก่สังคมมากกว่าบทบาทหน้าที่ด้านอื่นในสังคมไทย แนวโน้มเช่นนี้เริ่มปรากฏชัดขึ้นในการเลือกตั้งครั้งหลัง ๆ นั่น คือ นโยบายของพรรคมีส่วนทำให้พรรคการเมืองไทยประสบความสำเร็จในการเลือกตั้งมากขึ้นและพรรคการเมืองต่าง ๆ ก็ให้ความสำคัญต่อการเสนอแนวนโยบายในการหาเสียงมากขึ้นกว่าเดิม
      นอกจากบทบาทหน้าที่ของพรรคการเมืองที่กล่าวมาแล้วกิจกรรมที่พรรคการเมืองแต่ละพรรคทำในวาระต่าง ๆ ก็อาจสะท้อนให้เห็นบทบาทหน้าที่ด้านอื่น ๆ ของพรรคการเมืองอีกด้วย กิจกรรมบางอย่างของพรรคการเมืองอาจเป็นการระดมพลังประชาชนเพื่อร่วมมือกันแก้ปัญหาของส่วนรวม เช่น การรณรงค์เพื่อแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมหรือการให้การศึกษาแก่ประชาชนในปัญหาบางด้าน อาทิ ปัญหาเศรษฐกิจถดถอย สิ่งเหล่านี้ถือได้ว่าเป็นบทบาทหน้าที่ของพรรคการเมืองได้เช่นกัน

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
  • Posted By
  • Plookpedia
  • 15 Followers
  • Follow