Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

การก่อตัวและการพัฒนาของพรรคการเมืองไทย

Posted By Plookpedia | 25 มิ.ย. 60
1,522 Views

  Favorite

การก่อตัวและการพัฒนาของพรรคการเมืองไทย

      เป็นที่เชื่อกันว่า "พรรค" ในความหมายของกลุ่มหรือองค์กรทางการเมืองเกิดขึ้นเป็นครั้งแรกในสังคมตะวันตก ทั้งนี้เพราะมีหลักฐานยืนยันว่า คำว่า "พรรค (party)"  ได้นำมาใช้ในวงการการเมืองของยุโรปมาตั้งแต่ตอนปลายของสมัยกลาง  แต่ในระยะนั้น คำ ๆ นี้มีความหมายที่ส่อไปในทางลบและไม่เป็นที่ยอมรับกันในหมู่คนส่วนใหญ่เนื่องจากองค์กรประเภทนี้มักเข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้องกับการก่อความวุ่นวายและการสร้างความขัดแย้งทางการเมืองอยู่เสมอ  อย่างไรก็ตามการเปลี่ยนแปลงในสังคมตะวันตกในระยะต่อมาได้ทำให้ผู้คนเห็นความสำคัญและยอมรับบทบาทของพรรคการเมืองในฐานะที่เป็นตัวแทนของประชาชนมากขึ้น

 

พรรคการเมือง

 

      ในบรรดาการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นทั้งหลาย  การพัฒนาระบอบประชาธิปไตยและการพัฒนาอุตสาหกรรมนับว่ามีส่วนสำคัญอย่างยิ่งต่อการก่อตัวของพรรคการเมืองสมัยใหม่ ทั้งนี้เพราะการพัฒนาระบอบประชาธิปไตยในสังคมตะวันตกโดยเฉพาะอย่างยิ่งการให้สิทธิออกเสียงเลือกตั้งแก่คนส่วนใหญ่และการปรับโครงสร้างของสภาทั้งหลายให้ทำหน้าที่เป็นปากเป็นเสียงแทนประชาชนในสังคมได้มากขึ้นได้เปิดโอกาสให้นักการเมืองและผู้คนทั่วไปจัดตั้งพรรคการเมืองขึ้นมาเพื่อทำหน้าที่เป็นตัวแทนของประชาชน  ส่วนการพัฒนาอุตสาหกรรมในสังคมตะวันตกก็มีส่วนช่วยกระตุ้นให้ประชาชนกลุ่มต่าง ๆ รวมตัวกันก่อตั้งพรรคการเมืองของตนเองขึ้นมา โดยมีเหตุผลสำคัญ คือ การเปลี่ยนแปลงด้านนี้ได้ก่อให้เกิดปัญหาการขัดแย้งทางด้านความคิดและผลประโยชน์ระหว่างคนหลายกลุ่ม อาทิ ระหว่างนายทุนกับกรรมกร ระหว่างเมืองกับชนบท และระหว่างภาคอุตสาหกรรมกับภาคเกษตรกรรม  ซึ่งข้อขัดแย้งเหล่านั้นเป็นพลังผลักดันให้เกิดการจัดตั้งพรรคการเมืองที่เป็นตัวแทนผลประโยชน์ของกลุ่มต่าง ๆ ขึ้น  หากพิจารณาถึงที่มาของพรรคการเมืองอย่างกว้าง ๆ แล้ว เราอาจแบ่งพรรคการเมืองตามแหล่งในการก่อตัวได้เป็น ๒ ลักษณะ คือ พรรคการเมืองที่ก่อตัวขึ้นในสภาและพรรคการเมืองที่ก่อตัวนอกสภา

๑. พรรคการเมืองที่ก่อตัวขึ้นในสภา

       เป็นพรรคที่เกิดจากการรวมตัวของนักการเมืองที่ทำหน้าที่ด้านนิติบัญญัติอยู่ในสภา สมาชิกสภาผู้ที่มีแนวคิดทางการเมืองคล้ายกันหรือมีผลประโยชน์ร่วมกันจะรวมกลุ่มกันจัดตั้งเป็นพรรคการเมือง  เมื่อกฎหมายหรือรัฐธรรมนูญเปิดโอกาสให้มีพรรคการเมืองได้ ตัวอย่างของพรรคประเภทนี้ ได้แก่ พรรคเดโมแครตและพรรครีพับลิกันในสหรัฐอเมริกา พรรคคอนเซอร์เวทีฟและพรรคลิเบอรัลในประเทศอังกฤษ  ซึ่งพรรคการเมืองประเภทนี้มักเกิดขึ้นก่อนโดยเฉพาะในช่วงที่คนส่วนใหญ่เริ่มได้รับสิทธิออกเสียงเลือกตั้งและมีเสรีภาพทางการเมืองมากขึ้นรวมทั้งกฎหมายก็เริ่มเปิดโอกาสให้จัดตั้งพรรคการเมืองได้

๒. พรรคการเมืองที่ก่อตัวนอกสภา 

      เป็นพรรคที่เกิดจากการรวมตัวของผู้คนในสังคมที่ไม่เคยเป็นสมาชิกของสภานิติบัญญัติใด ๆ แต่คนเหล่านี้ต้องการเข้าไปมีบทบาทในสภาในฐานะเป็นตัวแทนของประชาชนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งหรือหลายกลุ่มและมุ่งที่จะเปลี่ยนแปลงนโยบายหรือท้าทายอำนาจของรัฐบาลที่พวกเขาเห็นว่าไม่ได้ตอบสนองความต้องการของกลุ่มตนเท่าที่ควร  ซึ่งตัวอย่างของพรรคลักษณะนี้ ได้แก่ พรรคแรงงาน ในประเทศอังกฤษ  พรรคโซเชียลเดโมแครตในประเทศเยอรมนี  พรรคคริสเตียนเดโมแครตในกลุ่มคนที่นับถือคริสต์ศาสนานิกายโรมันคาทอลิก และพรรคเกษตรกรในประเทศแถบคาบสมุทรสแกนดิเนเวียทางตอนเหนือของทวีปยุโรป  พรรคการเมืองเหล่านี้มักเติบโตและมีโอกาสจัดตั้งรัฐบาลหลังพรรคการเมืองลักษณะแรกในทวีปยุโรปพรรคที่ก่อตัวนอกสภาเพิ่งจะมีบทบาทในการจัดตั้งรัฐบาลเมื่อราว ๆ ต้นคริสต์ศตวรรษที่ ๒๐ นี้  สำหรับในสังคมไทยการก่อตัวและการพัฒนาของพรรคการเมืองดูเหมือนจะไม่แตกต่างไปจากพรรคการเมืองในสังคมตะวันตกมากนัก  กล่าวคือพรรคการเมืองไทยเกิดขึ้นและมีบทบาทอยู่ได้ด้วยผลจากการพัฒนาของระบอบประชาธิปไตยในสังคมไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งการมีรัฐธรรมนูญและกฎหมายที่ให้สิทธิและเสรีภาพในการจัดตั้งพรรคการเมือง

      อย่างไรก็ดีความไม่ต่อเนื่องและการชะงักงันของระบอบประชาธิปไตยในสังคมไทยอันเกิดจากการยึดอำนาจและการจำกัดสิทธิเสรีภาพทางการเมืองโดยรัฐบาลเผด็จการหลายครั้งทำให้พรรคการเมืองไทยไม่มีโอกาสในการพัฒนาตนเอง  จนกลายเป็นสถาบันทางการเมืองที่เข้มแข็งมั่นคงและไม่ได้มีบทบาทสำคัญในการปกครองประเทศเหมือนกับพรรคการเมืองในสังคมตะวันตก พรรคการเมืองไทยส่วนใหญ่จึงเป็นพรรคที่เกิดใหม่ ๆ และมักมีบทบาททางการเมืองเพียงช่วงเวลาสั้น ๆ

 

เราอาจแบ่งการพัฒนาของพรรคการเมืองไทยได้เป็น ๖ ช่วง ดังนี้

๑. ความพยายามที่จะก่อตั้งพรรคการเมืองหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. ๒๔๗๕

       การก่อตัวของพรรคการเมืองไทยเริ่มต้นจากการที่กลุ่มทหารและพลเรือนที่เรียกว่า  คณะราษฎร  ได้เปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาสู่ระบอบประชาธิปไตย     ในพ.ศ. ๒๔๗๕  สมาชิกจำนวนหนึ่งของคณะราษฎรพยายามเปลี่ยนสถานภาพของกลุ่มที่ตนเองสังกัดให้เป็นพรรคการเมืองอย่างเต็มตัวและเปิดรับสมาชิกจากประชาชนทั่วไปตั้งแต่ พ.ศ. ๒๔๗๕ นอกจากนั้นในปีถัดมาหลวงวิจิตรวาทการนักการเมืองในสมัยนั้นก็ขอจัดตั้งพรรคคณะชาติขึ้นมาบ้าง  แต่รัฐบาลของพระยามโนปกรณ์นิติธาดาในขณะนั้นไม่ยินยอมและห้ามไม่ให้มีพรรคการเมือง เพราะเกรงว่าจะก่อให้เกิดความขัดแย้งและความวุ่นวายทางการเมืองขึ้นความพยายามที่จะจัดตั้งพรรคการเมืองจึงถูกระงับไปชั่วคราว

๒. การเกิดพรรคการเมืองสมัยแรก

      ภายหลังสงครามโลกครั้งที่ ๒ เมื่อบรรยากาศทางการเมืองของไทยเป็นประชาธิปไตยมากขึ้นและมีการร่างรัฐธรรมนูญที่ให้สิทธิเสรีภาพทางการเมืองอย่างกว้างขวางแก่ประชาชน พรรคการเมืองไทยยุคแรกจึงก่อตัวขึ้น  โดยมีพรรคก้าวหน้าเป็นพรรคแรกที่จัดตั้งขึ้นในปลาย พ.ศ. ๒๔๘๘   หลังจากนั้นพรรคต่าง ๆ อีกหลายพรรคก็เกิดขึ้นตามมา อาทิ พรรคสหชีพ พรรคแนวร่วมรัฐธรรมนูญ พรรคประชาธิปัตย์ และ พรรคประชาชน พรรคการเมืองดังกล่าวเรียกได้ว่าเป็นพรรคที่ก่อตัวขึ้นในสภาเพราะพรรคการเมืองเหล่านี้เกิดจากการรวมตัวของกลุ่มนักการเมืองในรัฐสภาในขณะนั้นเป็นหลัก เช่น พรรคสหชีพก่อตั้งโดยกลุ่มสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่สนับสนุนแนวคิดของ นายปรีดี  พนมยงค์  พรรคแนวร่วมรัฐธรรมนูญก่อตั้งโดยกลุ่มสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรประเภทสองที่มี พลเรือตรี ถวัลย์  ธำรงนาวาสวัสดิ  เป็นผู้นำและพรรคประชาธิปัตย์ที่เกิดจากการรวมตัวของนักการเมืองคนสำคัญ อาทิ นายควง   อภัยวงศ์  หม่อมราชวงศ์เสนีย์  ปราโมช  หม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์  ปราโมช และนายเลียง ไชยกาล เพื่อทำหน้าที่เป็นฝ่ายค้านในรัฐสภา  พรรคการเมืองในสมัยนั้นดำเนินกิจกรรมทางการเมืองของตนเองได้อย่างเสรีโดยอาศัยบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญฉบับ พ.ศ. ๒๔๘๙ ที่ให้เสรีภาพแก่ประชาชนในการตั้งพรรคการเมืองแต่ไม่มีฐานะเป็นนิติบุคคลและไม่มีสินทรัพย์ของตนเองตามกฎหมาย  ทั้งนี้เพราะยังไม่มีกฎหมายพรรคการเมืองที่ออกมารองรับสถานภาพของพรรคเหล่านี้

      หลังจากการก่อตัวขึ้นมาได้เพียงไม่กี่ปีพรรคการเมืองไทยเริ่มเผชิญกับปัญหาความอยู่รอดเป็นครั้งแรกเมื่อทหารกลุ่มหนึ่งที่เรียกตัวเองว่า คณะรัฐประหาร ได้ยึดอำนาจใน พ.ศ. ๒๔๙๐ การเปลี่ยนแปลงทางการเมืองที่เกิดขึ้นมีผลให้กิจกรรมทางการเมืองของพรรคต่าง ๆ หยุดชะงักไปบ้าง  แต่ยังไม่ได้ทำให้พรรคการเมืองไทยในสมัยแรกต้องยุบเลิกไปทั้งหมด  หลายพรรคที่ไม่ต่อต้านฝ่ายทหารหรือร่วมมือกับฝ่ายทหารยังคงแสดงบทบาทอยู่ในรัฐสภาได้  โดยที่บางพรรค เช่น พรรคประชาธิปัตย์มีโอกาสเข้าไปจัดตั้งรัฐบาลขึ้นปกครองประเทศในระยะสั้น ๆ อีกด้วย และในช่วงเวลานั้นยังมีการจัดตั้งพรรคการเมืองใหม่ ๆ  ขึ้นมาสนับสนุนผู้นำทางทหารอีกหลายพรรค เช่น พรรคธรรมาธิปัตย์ พรรคชาติสังคมประชาธิปไตย สำหรับพรรคการเมืองที่สนับสนุนรัฐบาลเดิม คือ พรรคสหชีพและพรรคแนวร่วมรัฐธรรมนูญต้องเผชิญกับการคุกคามอย่างต่อเนื่องของคณะรัฐประหารจนทั้งสองพรรคต้องยุบเลิกไปในที่สุด

      ปัญหาความอยู่รอดของพรรคการเมืองมาปรากฏให้เห็นอย่างชัดเจนหลังจากที่คณะรัฐประหารบีบบังคับให้รัฐบาลของนายควง  อภัยวงศ์ แห่งพรรคประชาธิปัตย์ลาออกแล้วสนับสนุนให้ จอมพล ป.พิบูลสงคราม ขึ้นดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี  ต่อมาเมื่อรัฐบาลของ จอมพล ป. พิบูลสงคราม ไม่สามารถควบคุมเสียงสนับสนุนของพรรคการเมืองในรัฐสภาได้คณะรัฐประหารจึงยึดอำนาจอีกครั้งหนึ่งและยุบเลิกพรรคการเมืองที่มีอยู่ทั้งหมดในปลาย พ.ศ. ๒๔๙๔

๓. การเกิดพรรคการเมืองตามกฎหมาย พรรคการเมือง พ.ศ. ๒๔๙๘

      พรรคการเมืองไทยเกิดขึ้นเป็นครั้งที่ ๒ เมื่อรัฐสภาได้ผ่านกฎหมายพรรคการเมืองฉบับแรกใน พ.ศ. ๒๔๙๘ พระราชบัญญัติพรรคการเมืองฉบับนี้เปิดโอกาสให้ผู้ที่มีสิทธิออกเสียงเลือกตั้งจำนวนตั้งแต่ ๕๐๐ คน หรือสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ตั้งแต่ ๑๐ คนขึ้นไป สามารถร้องขอจดทะเบียนจัดตั้งพรรคการเมืองต่อสำนักงานปลัดกระทรวง กระทรวงมหาดไทย โดยจะต้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ที่ระบุให้มีชื่อพรรคการเมือง นโยบายของพรรค ที่ตั้งสำนักงานใหญ่ของพรรค ชื่อของหัวหน้าและเลขาธิการของพรรค และลายมือชื่อของผู้ตั้งพรรคอยู่ในหนังสือขอจดทะเบียนดังกล่าว
      การรื้อฟื้นพรรคการเมืองในครั้งนี้  กล่าวได้ว่าเกิดจากการที่ จอมพล ป. พิบูลสงครามนายกรัฐมนตรีต้องการให้สังคมไทยมีสิทธิเสรีภาพทางการเมืองและเป็นประชาธิปไตยมากขึ้น  ภายหลังจากที่ได้เดินทางไปดูงานในประเทศประชาธิปไตยทั่วโลก ผลจากการออกพระราชบัญญัติพรรคการเมือง พ.ศ. ๒๔๙๘ ทำให้มีผู้ขอจดทะเบียนตั้งพรรคการเมืองเป็นจำนวนมากมีทั้งพรรคที่เกิดจากการรวมตัวของนักการเมืองในสภาผู้แทนราษฎรและพรรคที่เกิดจากการจัดตั้งโดยคนกลุ่มต่าง ๆ นอกรัฐสภา  พรรคการเมืองที่โดดเด่นอยู่ในขณะนั้น ได้แก่ พรรคเสรีมนังคศิลา พรรคประชาธิปัตย์ พรรคเศรษฐกร พรรคธรรมาธิปัตย์ และ พรรคชาตินิยม พรรคการเมืองบางพรรค เช่น พรรคประชาธิปัตย์เป็นพรรคเก่าที่จัดตั้งขึ้นใหม่แต่ส่วนใหญ่เป็นพรรคที่ตั้งขึ้นใหม่โดยสิ้นเชิง  

      อย่างไรก็ดีพรรคการเมืองเหล่านี้มีโอกาสดำเนินกิจกรรมทางการเมืองได้เพียง ๓  ปี ก็ถูกยุบเลิกไปเมื่อคณะปฏิวัติซึ่งมี จอมพล สฤษดิ์  ธนะรัชต์ เป็นผู้นำได้ยึดอำนาจรัฐบาลของจอมพล ป.พิบูลสงคราม ใน พ.ศ. ๒๕๐๑ พร้อมกับยกเลิกรัฐธรรมนูญและสิทธิเสรีภาพทางการเมืองที่มีอยู่ทั้งหมด

 

พรรคการเมือง
พระราชบัญญัติพรรคการเมืองฉบับแรก พ.ศ. ๒๔๙๘ ประกาศใช้ในสมัยที่จอมพล ป. พิบูลสงคราม เป็นนายกรัฐมนตรี

 

๔. การเกิดพรรคการเมืองหลังการประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับ พ.ศ. ๒๕๑๑

      พรรคการเมืองไทยมีโอกาสเกิดขึ้นและแสดงบทบาททางการเมืองเป็นครั้งที่ ๓ หลังจากรัฐบาลทหารได้ประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับ พ.ศ. ๒๕๑๑ และออกกฎหมายพรรคการเมืองตามมา การฟื้นตัวของระบอบประชาธิปไตยดังกล่าวทำให้มีพรรคการเมืองทั้งเก่าและใหม่จดทะเบียนก่อตั้งพรรคและส่งสมาชิกของตนลงสมัครรับเลือกตั้งเป็นจำนวนถึง ๑๔ พรรค  ปรากฏว่ามีพรรคการเมืองที่ได้รับเลือกเข้าสู่สภาผู้แทนเพียง ๗ พรรคเท่านั้น  พรรคการเมืองที่สำคัญก็ คือ พรรคสหประชาไทยที่ก่อตั้งโดย จอมพล ถนอม  กิตติขจร นายกรัฐมนตรีผู้นำทางทหารและพรรคประชาธิปัตย์ นอกจากนั้นเป็นพรรคขนาดเล็ก เช่น พรรคแนวร่วมเศรษฐกร พรรคเสรีประชาธิปไตย และพรรคประชาชน พรรคการเมืองเหล่านี้ถูกยุบเลิกไปในปลาย พ.ศ. ๒๕๑๔ เมื่อรัฐบาลฝ่ายทหารได้ยึดอำนาจตนเอง และประกาศยกเลิกรัฐธรรมนูญและพรรคการเมือง

๕. พรรคการเมืองหลังการประกาศใช้รัฐธรรมนูญ ฉบับ พ.ศ. ๒๕๑๗

      พรรคการเมืองไทยกลับมามีบทบาทในช่วงสั้น ๆ อีกครั้งหนึ่งระหว่าง พ.ศ. ๒๕๑๗  -  ๒๕๑๙  ผลจากการชุมนุมเรียกร้องรัฐธรรมนูญและต่อต้านรัฐบาลทหารของนิสิตนักศึกษาและประชาชน ในปลาย พ.ศ. ๒๕๑๖ ทำให้รัฐบาลทหารสิ้นสุดอำนาจลง  หลังจากมีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญและกฎหมายพรรคการเมืองฉบับใหม่ ใน พ.ศ. ๒๕๑๗ แล้ว พรรคการเมืองไทยก็ก่อตัวขึ้นมาใหม่ เนื่องจากรัฐธรรมนูญและกฎหมายพรรคการเมืองฉบับนี้ระบุให้ผู้สมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรต้องสังกัดพรรคการเมืองจำนวนพรรคการเมืองที่ขอจดทะเบียนจัดตั้งพรรคในคราวนี้ จึงเพิ่มมากขึ้นถึง ๕๐ พรรค แต่ก็มีพรรคการเมืองเพียงไม่กี่พรรค อาทิ พรรคประชาธิปัตย์ พรรคชาติไทย พรรคกิจสังคม และพรรคธรรมสังคม เท่านั้นที่มีบทบาทสำคัญในการทำงานทางรัฐสภา และในการจัดตั้งรัฐบาล  ต่อมากลุ่มทหารที่เรียกตนเองว่า คณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน ได้ยึดอำนาจ ใน พ.ศ. ๒๕๑๙ และยุบเลิกรัฐธรรมนูญ พรรคการเมืองไทยจึงต้องสลายตัวไปเช่นเดียวกับคราวก่อน ๆ

 

สัญลักษณ์พรรคประชาธิปัตย์
สัญลักษณ์พรรคประชาธิปัตย์

 

สัญลักษณ์พรรคชาติไทย
สัญลักษณ์พรรคชาติไทย

 

สัญลักษณ์พรรคไทยรักไทย
สัญลักษณ์พรรคไทยรักไทย

 

โปสเตอร์หาเสียงของผู้สมัครรับเลือกตั้ง เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร
โปสเตอร์หาเสียงของผู้สมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร

 

๖. พรรคการเมืองปัจจุบัน

      พรรคการเมืองไทยเพิ่งมีโอกาสพัฒนาตนเองอย่างต่อเนื่องนับตั้งแต่ พ.ศ. ๒๕๒๒ เป็นต้นมา  การยึดอำนาจอีกครั้งหนึ่งของทหารกลุ่มเดิมในปลาย พ.ศ. ๒๕๒๐ พร้อมกับพยายามรื้อฟื้นระบอบประชาธิปไตยโดยการประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับ พ.ศ. ๒๕๒๑ และจัดให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในปีถัดมาทำให้เกิดการรวมตัวกันจัดตั้งพรรคการเมืองขึ้นมาอีกครั้งหนึ่ง  อย่างไรก็ตามในระยะแรกพรรคการเมืองต่าง ๆ เป็นเพียงกลุ่มทางการเมืองเท่านั้นเพราะยังไม่มีกฎหมายพรรคการเมืองออกมารับรองฐานะตามกฎหมายของพรรคการเมืองแต่อย่างใด  เมื่อรัฐสภาได้ผ่านพระราชบัญญัติพรรคการเมือง ใน พ.ศ. ๒๕๒๔ พรรคการเมืองจำนวนมากได้จดทะเบียนก่อตั้งพรรคอย่างเป็นทางการ นอกจากพรรคการเมืองเก่าที่จัดตั้งขึ้นใหม่ เช่น พรรคประชาธิปัตย์ พรรคชาติไทย และพรรคกิจสังคม ยังมีพรรคใหม่ ๆ อีกหลายพรรคเกิดขึ้นมาเป็นระยะ ๆ บางพรรคประสบความสำเร็จในการเลือกตั้งจนกลายเป็นพรรคการเมืองใหญ่ในช่วงใดช่วงหนึ่ง ตัวอย่าง เช่น พรรคประชากรไทย พรรคพลังธรรม และพรรคความหวังใหม่

 

พรรคการเมือง
การปราศรัยหาเสียงและการพบปะประชาชนของพรรคการเมืองต่าง ๆ

 

พรรคการเมือง
การปราศรัยหาเสียงและการพบปะประชาชนของพรรคการเมืองต่าง ๆ

 

      การเติบโตของระบอบประชาธิปไตยในช่วงนี้ได้เปิดทางให้พรรคการเมืองไทยได้เข้าไปมีส่วนร่วมในการปกครองรัฐมากขึ้น  โดยเริ่มจากการเข้าไปเป็นพรรคร่วมรัฐบาลที่จัดตั้งขึ้นโดยผู้นำทางทหารในระยะแรก  ต่อมาพรรคการเมืองไทยก็มีโอกาสจัดตั้งรัฐบาลขึ้นเองดังจะเห็นได้จากการจัดตั้งรัฐบาลโดยพรรคชาติไทย ใน พ.ศ. ๒๕๓๑ ถึงแม้ว่าจะมีการยึดอำนาจและการยุบเลิกรัฐธรรมนูญโดยกลุ่มทหารที่เรียกตนเองว่า คณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ หรือ ร.ส.ช. ในพ.ศ. ๒๕๓๔ ก็ตาม  การพัฒนาของพรรคการเมืองไทยก็ไม่ได้หยุดชะงักไปเพราะไม่มีการประกาศยกเลิกพรรคการเมืองแต่อย่างใด  นอกจากนั้นการเปลี่ยนแปลงรัฐธรรมนูญและกฎหมายพรรคการเมืองในระยะเวลาต่อมาไม่ว่าจะเป็นการประกาศใช้รัฐธรรมนูญใหม่และการแก้ไขกฎหมายพรรคการเมือง ในพ.ศ. ๒๕๓๔ การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญที่ตามมาหรือการประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับ พ.ศ. ๒๕๔๐ พระราชบัญญัติพรรคการเมืองและกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญที่เกี่ยวข้องก็ไม่ได้เป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาของพรรคการเมืองแต่อย่างใดแต่กลับมีส่วนช่วยปรับปรุงคุณภาพของพรรคการเมืองให้ดีขึ้น  การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นกับพรรคการเมืองแต่ละพรรคในระยะนี้ เช่น       ความสำเร็จหรือความล้มเหลวในการส่งสมาชิกเข้าสมัครรับเลือกตั้ง การยุบเลิกพรรค และการควบรวมกับพรรคอื่น จึงขึ้นอยู่กับความสามารถของพรรคการเมืองเองเป็นหลัก

 

พรรคการเมือง
การปราศรัยหาเสียงและการพบปะประชาชนของพรรคการเมืองต่าง ๆ

 

พรรคการเมือง
การปราศรัยหาเสียงและการพบปะประชาชนของพรรคการเมืองต่าง ๆ

 

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
  • Posted By
  • Plookpedia
  • 15 Followers
  • Follow