Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

ชุมชนโบราณในเมืองไทยจากหลักฐานภาพถ่ายทางอากาศ

Posted By Plookpedia | 23 มิ.ย. 60
24,984 Views

  Favorite

ชุมชนโบราณในเมืองไทยจากหลักฐานภาพถ่ายทางอากาศ

 

        แผ่นดินไทยเป็นบริเวณที่มีผู้คนอยู่อาศัยมานมนาน เพราะเรามีหลักฐานทางประวัติศาสตร์โบราณคดี ย้อนอดีตได้หลายพันปี ผู้คนรู้จักสร้างที่อยู่อาศัยรวมกันเป็นชุมชน ค้นพบได้ในหลายแห่งทั่วประเทศ ทั้งในบริเวณที่ราบเจ้าพระยา บริเวณใกล้ชายฝั่งทะเล และบริเวณที่อยู่ลึกเข้าไปใน
แผ่นดินภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศ

 

 

        เราเห็นหลักฐานชุมชนโบราณได้จากภาพถ่ายทางอากาศ จะเห็นว่า ทั่วประเทศไทยมีชุมชนโบราณถึง ๑,๒๐๘ แห่ง เป็นแหล่งที่ผู้คนในสมัยโบราณอาศัยอยู่รวมกันเป็นบ้านเป็นเมือง

 

 

ชุมชนบางแห่งเล็ก ชุมชนบางแห่งใหญ่ 

ชุมชนที่ใหญ่มักมีความสำคัญ เช่น เมืองนครชัยศรีโบราณ ที่เป็นจังหวัดนครปฐม

จากภาพถ่ายทางอากาศนั้น เราทราบได้อย่างไรว่า บริเวณใด เป็นชุมชนโบราณ 

คำถามนี้ดีมาก 

คำตอบก็คือ เราสังเกตจากแนวคูคันดิน 

คูคันดินที่ล้อมรอบชุมชนโบราณ อาจใช้เป็นแนวกำหนดขอบเขต หรือเพื่อป้องกันศัตรูจากภายนอก เพื่อให้เป็นเส้นทางคมนาคมเชื่อมต่อกับแม่น้ำ หรือทะเล หรือเพื่อเก็บกักน้ำไว้ใช้ สำหรับชุมชน

 

        ร่องรอยที่แสดงถึงชุมชนโบราณทั้งหลาย ล้วนแต่เป็นหลักฐานสำคัญทางประวัติศาสตร์โบราณคดี ควรรักษาให้คงไว้เป็นสมบัติทางวัฒนธรรมของชาติ

 

 

----------------------------------------------------------------------

 

        ชุมชนโบราณ คือ แหล่งที่เคยมีผู้คนอาศัยอยู่รวมกันในอดีต ไม่ว่าจะเป็นชุมชนขนาดใหญ่เป็นบ้านเป็นเมือง หรือเป็นชุมชนขนาดเล็ก ๆ ล้วนแต่เป็นหลักฐานสำคัญทางประวัติศาสตร์โบราณคดี
ที่ควรรักษาให้คงไว้เป็นสมบัติทางวัฒนธรรมของชาติ

 

ภาพถ่ายทางอากาศ ของเมืองพระรถ อ.พนัสนิคม จ.ชลบุรี

 

 

คู่คันดินรอบชุมชนโบราณ 
        จากการใช้ภาพถ่ายทางอากาศช่วยสำรวจแหล่งชุมชนโบราณ เราได้ทราบว่า ทั่วประเทศไทยมีชุมชนโบราณถึง ๑,๒๐๘ แห่ง ในจำนวนนี้ประมาณ ๙๕๔ แห่ง เป็นแหล่งชุมชนที่มีคูคันดินล้อมรอบ ทั้งนี้สันนิษฐานว่า น่าจะมีวัตถุประสงค์อย่างใดอย่างหนึ่ง หรือหลาย ๆ อย่างรวมกัน ได้แก่

        ๑. เพื่อเป็นการกำหนดขอบเขตบริเวณของชุมชน หรือบริเวณที่มีความสำคัญโดยเฉพาะ 

        ๒. เพื่อเป็นการป้องกันศัตรูจากภายนอก 

        ๓. เพื่อความสะดวกในการคมนาคมเชื่อมโยงกับทางน้ำ หรือเส้นทางออกสู่ทะเล 

        ๔. เพื่อกักเก็บน้ำไว้ใช้ประโยชน์สำหรับชุมชน

 

คูคันดินขุดล้อมรอบชุมชนโบราณ :ขุดล้อมรอบบนสันเนิน ใช้ในการป้องกันศัตรู

 

        คูและคันดินมีรูปแบบจำแนกออกได้เป็น ๒ กลุ่ม คือ "กลุ่มรูปแบบที่ขึ้นอยู่กับลักษณะภูมิประเทศ" และ "กลุ่มรูปแบบที่ไม่ขึ้นอยู่กับลักษณะภูมิประเทศ" กลุ่มหลังนี้มีรูปร่างไม่สัมพันธ์กับภูมิประเทศ ส่วนใหญ่อยู่ในบริเวณที่ราบ มีรูปแบบหลากหลาย เช่น รูปแบบอิสระ คือ มีรูปแบบไม่แน่นอนในทางเรขาคณิต รูปแบบวงกลม วงรี รูปแบบมุมมน และรูปแบบมุมเหลี่ยม เป็นต้น

 

คูคันดินขุดล้อมรอบชุมชนโบราณ :ขุดล้อมรอบบริเวณตีนเนินกักเก็บน้ำไว้ใช้ประโยชน์ในชุมชน
คูคันดินขุดล้อมรอบชุมชนโบราณ :ขุดในที่ราบกักเก็บน้ำและสร้างคันดินสูงใช้ในการป้องกันศัตรู

 

ส่วนกลุ่มรูปแบบที่ขึ้นอยู่กับภูมิประเทศนั้น รูปร่างคูและคันดินเป็นไปตามภูมิประเทศ ซึ่งมีลักษณะเป็นเนิน คูคันดินนั้น ขุดล้อมรอบเนิน หรือต่อเชื่อม ระหว่างเนินกับที่ราบ เช่น ชุมชนโบราณในบริเวณภาคเหนือที่เรียกว่า "ล้านนา"หรือรูปร่างคูคันดิน ที่ขุดล้อมรอบเนินในบริเวณภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เป็นต้น

 

แหล่งชุมชนโบราณที่มีพื้นที่ขนาดใหญ่ มักเคยเป็นเมืองสำคัญมาก่อน: เมืองเชียงใหม่
วัดพระธาตุวรมหาวิหาร อ.เมืองนครศรีธรรมราช

 

 

ขนาดพื้นที่บริเวณชุมชนโบราณ
        จากการใช้ภาพถ่ายทางอากาศ เพื่อหาความสัมพันธ์ระหว่างขนาดพื้นที่ และจำนวนแหล่งชุมชนโบราณในเมืองไทย ๘๙๖ แห่ง พบว่า จำนวนแหล่งชุมชนโบราณเป็นปฎิภาคกลับกันกับขนาดพื้นที่ คือ ชุมชนที่มีขนาดเล็กมีจำนวนมาก แต่ชุมชนโบราณที่มีขนาดใหญ่ มีจำนวนน้อย จึงมีลักษณะเช่นเดียวกับ แหล่งชุมชนทั่ว ๆ ไป เมื่อศึกษาข้อมูลประวัติศาสตร์โบราณคดีประกอบกัน ทำให้ทราบได้ว่า แหล่งชุมชนโบราณที่มีพื้นที่ขนาดใหญ่ มักจะเคยเป็นเมืองสำคัญมาก่อน

 

เมืองนครราชสีมา

 

 

ท่อปู่พระยาร่วง...คลองชลประทานสมัยสุโขทัย
        ในอดีตเคยเข้าใจกันว่า "ท่อปู่พระยาร่วง" นี้เป็น "ถนนพระร่วง" แต่จากภาพถ่ายทางอากาศเห็นได้ชัดเจนว่า ท่อปู่พระยาร่วง เป็นแนวคลองที่ขุดต่อเนื่องกันตลอด จากกำแพงเพชรถึงสุโขทัย
ไปจนถึงศรีสัชนาลัย จารึกหลักที่ ๑๓ พ.ศ. ๒๐๕๓ คือ เมื่อประมาณเกือบ ๕๐๐ ปีมาแล้ว
ระบุการขุดลอกคลองบางส่วน เพื่อนำน้ำจากแม่น้ำปิงเมืองกำแพงเพชร มายังเมืองบางพาน
เพื่อแก้ไขปัญหาการขาดแคลนน้ำทำนา เป็นแนวคลองทางด้านใต้ และมีแนวต่อไปจนถึงสุโขทัย
ส่วนด้านเหนือขุดคูมาจากทิศตะวันตกของเมืองศรีสัชนาลัย ให้เชื่อมต่อกับคลองทางด้านใต้
ที่ต้นคลองแม่รำพันซึ่งมีระดับต่ำที่สุด แล้วไหลลงสู่บริเวณแม่น้ำยม ซึ่งเป็นที่ลุ่มต่ำในฤดูน้ำมีน้ำท่วมขังกว้างขวางเรียกว่า ทะเลหลวง 

 

ภาพถ่ายทางอากาศที่ บ.เมืองเก่า อ.เมือง จ.สุโขทัย

 

 

        แนวคลองจากกำแพงเพชร และจากศรีสัชนาลัย มาเชื่อมต่อกันที่สุโขทัย และน้ำไหลลงตามคลองแม่รำพัน ลงสู่แม่น้ำยมนี้ มีปรากฎอยู่ในแผนที่ยุทธศาสตร์ ครั้งรัชสมัยสมเด็จพระรามาธิบดี
ที่ ๑ อีกด้วย 

 

แผนที่แสดงแนวคลองชลประทาน "ท่อปู่พระยาร่วง" ที่เมืองสุโขทัย

 

        มาบัดนี้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้พระราชทานแผนที่เส้นทางส่วนหนึ่งของคลองนี้ คือ จากกำแพงเพชรถึงเมืองบางพานให้แก่กรมชลประทาน เพื่อขุดคลองนำน้ำจากแม่น้ำปิง เข้ามาใช้แก้ปัญหาขาดแคลนน้ำทำนา แนวคลองดังกล่าวได้สร้างแล้วเสร็จ ตามโครงการพระราชดำริ
คลองท่อทองแดง (พ.ศ.๒๕๒๔-๒๕๒๘) พสกนิกรในอาณาบริเวณนั้น จึงได้รับความร่มเย็นด้วยพระบารมีปกเกล้าฯ นับว่า เป็นการอนุรักษ์แนวคลองชลประทานสมัยสุโขทัย ให้คงอยู่เป็นมรดกทางวัฒนธรรมของชาติไทยสืบต่อไป และช่วยแก้ไขปัญหาขาดแคลนน้ำ นำความร่มเย็นมาสู่ปวงประชาของพระองค์ได้ในเวลาเดียวกัน

 

ชุมชนโบราณในบริเวณรอบอ่าวไทย
        มีหลักฐานทางประวัติศาสตร์โบราณคดีว่า บริเวณรอบอ่าวไทย มีชุมชนอยู่ไม่ห่างไกลจากทะเล มีเส้นทางคมนาคม หรือขุดคูคลองให้ติดต่อออกสู่ทะเลได้ ชุมชนเหล่านี้ มีการติดต่อกับชุมชนตามชายฝั่งมหาสมุทรแปซิฟิก เช่น จีน เขมร เวียดนาม และอินโดนีเซีย นอกจากนี้ ยังมีการติดต่อกับชุมชนในมหาสมุทรอินเดีย เช่น ลังกา อินเดีย พม่า และบริเวณตะวันออกกลางอีกด้วย

 

ชุมชนโบราณบริเวณรอบอ่าวไทย ส่วนใหญ่พบในบริเวณต่อไปนี้ คือ 

๑. บริเวณที่ราบเจ้าพระยา 
        ตั้งแต่แนวชายฝั่งทะเลด้านตะวันตก จังหวัดเพชรบุรี อ้อมไปทางทิศตะวันตก จังหวัดชลบุรี ได้แก่ เพชรบุรี คูบัว ราชบุรี นครปฐม กำแพงแสน อู่ทอง สุพรรณบุรี อู่ตะเภา (จังหวัดสระบุรี)
ดงละคร (จังหวัดนครนายก) และเมืองพระรถ (อำเภอพนัสนิคม จังหวัดชลบุรี)

        ปรากฏหลักฐานทางธรณีวิทยาว่า บริเวณที่ราบเจ้าพระยาตอนล่าง เริ่มตั้งแต่ จังหวัดชัยนาทลงมา แม่น้ำเจ้าพระยาแยกออกเป็นสองสายคือ แม่น้ำท่าจีน และแม่น้ำเจ้าพระยา ไปจนออกอ่าวไทยนั้น เคยเป็นทะเลมาก่อน ย้อนหลังไปยังสมัยทวารวดี หรือประมาณ ๑,๕๐๐ ปีมาแล้ว ทะเลจะลึกเข้าไปมาก ใกล้กับเมืองโบราณ เช่น ที่เมืองคูบัว จังหวัดราชบุรี เมืองนครชัยศรีโบราณ ที่ตัวเมืองจังหวัดนครปฐม เมืองอู่ทอง ที่อำเภออู่ทอง จังหวัดสุพรรณบุรี เมืองอู่ตะเภา อำเภอหนองแซง จังหวัดสระบุรี และเมืองพระรถ อำเภอพนัสนิคม จังหวัด ชลบุรี เป็นต้น แต่ละเมืองได้พบร่องรอยขุดคลองต่อเชื่อมกับทะเล

 

เมืองอู่ตะเภา จ.สระบุรี
เมืองคูบัว จ.ราชบุรี

 

 

๒. บริเวณจังหวัดภาคใต้ 
        พบชุมชนโบราณในบริเวณอ่าวบ้านดอน จังหวัดสุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช พัทลุง สงขลา และบริเวณลุ่มน้ำปัตตานี

ชุมชนโบราณทุกแห่งรอบอ่าวไทย จะมีเส้นทางติดต่อเข้าออกถึงทะเล บางแห่งขุดคลองเชื่อม
เพื่อให้เรือเข้าถึงตัวเมืองได้สะดวก เมืองเหล่านี้ จึงมีลักษณะเป็นเมืองท่าติดต่อค้าขายกับภายนอก
โดยทางเรือได้

        ดังจะเห็นได้จากเมืองนครชัยศรีโบราณ ที่ตัวจังหวัดนครปฐม การสร้างเมืองมีคูน้ำคันดินล้อมรอบ และมีร่องรอยขุดคลองออกสู่ทะเล แต่ต่อมาฝั่งทะเลถอยร่นไป การออกสู่ทะเลตามแนวคลองเก่าไม่สะดวก จึงได้ขุดแนวคลองใหม่เชื่อมต่อกับแม่น้ำออกสู่ทะเล ร่องรอยแนวคลองนี้ ปรากฏให้เห็นได้อย่างชัดเจนในภาพถ่ายทางอากาศ ในภูมิประเทศจริง ก็มีหลักฐานสำรวจได้ ที่แนวคลองเก่าขุดจากตัวเมืองไปทางใต้ ห่างจากตัวเมืองประมาณ ๙ กิโลเมตร จนติดต่อกับทะเล ที่บริเวณบ้านดอนยายหอม ต่อมาเมื่อทะเลถอยร่นไกลออกไป การเดินทางติดต่อกับทะเลไม่สะดวก จึงได้ขุดคลองใหม่จากกลางเมืองไปทางทิศตะวันออก เชื่อมต่อกับแม่น้ำท่าจีน ที่นครชัยศรี ต่อมาภายหลังที่
พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯ ให้บูรณะองค์พระปฐมเจดีย์ ได้ขุดลอกคลองนี้ตลอดแนว จากแม่น้ำท่าจีนต่อเชื่อมกับแนวคูเมืองทางด้านเหนือ และขุดคลองใหม่ต่อออกไปจนถึงพระปฐมเจดีย์ ปัจจุบันเรียกว่า คลองเจดีย์บูชา

 

ชุมชนโบราณบริเวณทุ่งกุลาร้องไห้
        ทุ่งกุลาร้องไห้อยู่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีเนื้อที่ ๓,๐๐๐ ตารางกิโลเมตร เป็นที่ลุ่มต่ำ คล้ายท้องกระทะของบริเวณที่ราบสูงโคราช แถบลุ่มแม่น้ำมูล และแม่น้ำชี มีแม่น้ำมูลเป็นขอบเขตทางใต้ บริเวณนี้รองรับด้วยชั้นหินที่มีเกลือ แม้ในฤดูฝนจะมีน้ำท่วมขัง แต่หลังจากนั้นพื้นที่จะ
แห้งแล้ง มีน้ำและดินเค็มอยู่ทั่วไป แต่บางบริเวณ ก็มีสภาพภูมิประเทศเป็นเนินสูงกว่าบริเวณ
รอบข้าง สามารถขุดกักหาน้ำจืดได้ ชุมชนโบราณมักอยู่บริเวณนี้

        จากการสำรวจแหล่งชุมชนโบราณด้วยภาพถ่ายทางอากาศพบว่า บริเวณทุ่งกุลาร้องไห้นี้
มีชุมชนโบราณถึง ๙๒ แห่ง มีคูคลองชลประทาน ๖๕ สาย ขุดเชื่อมต่อระบายน้ำ จากทิศตะวันตกไปยังทิศตะวันออก ยาว ๕๔๓ กิโลเมตร นอกจากนี้ ยังพบแนวเขื่อนกั้นน้ำ เพื่อปิดกักยกระดับน้ำ ๒ แห่ง ยาว ๔.๕ กิโลเมตร และ ๓.๕ กิโลเมตร เช่น ชุมชนโบราณ ที่บ้านหลุบโมก อำเภอราษีไศล
จังหวัดศรีสะเกษ ซึ่งเป็นที่อยู่อาศัยของคนปัจจุบัน จากภาพถ่ายทางอากาศ เมื่อ พ.ศ. ๒๕๑๗ คูคันดินโบราณตื้นเขิน และในภาพ เมื่อ พ.ศ. ๒๕๓๐ ได้มีการขุดลอกกักเก็บน้ำจืด ใช้ประโยชน์สำหรับชุมชนปัจจุบัน

 

ชุมชนโบราณบริเวณทุ่งกุลาร้องไห้ ที่บ้านหนองมะเหียะอ.สุวรรณภูมิ จ.ร้อยเอ็ด

 

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
Tags
  • Posted By
  • Plookpedia
  • 15 Followers
  • Follow