Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

วิธีการและจุดเน้นของการพัฒนาฝีมือแรงงาน

Posted By Plookpedia | 15 มี.ค. 60
6,078 Views

  Favorite

วิธีการและจุดเน้นของการพัฒนาฝีมือแรงงาน 

การฝึกอาชีพ และการพัฒนาฝีมือแรงงานของหน่วยงานทั้งหลายนี้ มีวิธีการ และจุดเน้นที่คล้ายกันบ้าง และแตกต่างกันบ้าง ตามแนวความคิด สภาพปัญหา และจุดประสงค์ของแต่ละหน่วยงาน โดยทั่วๆ ไปอาจแบ่ง ออกเป็น ๕ ประเภทคือ 

๑. การฝึกเตรียมเข้าทำงาน 

เป็นการฝึกเบื้องต้น เพื่อเป็นพื้นฐานในการทำงาน เน้นในด้านกระบวนการการทำงาน การผลิต และกระบวนการในธุรกิจ ตลอดจน เสริมสร้างเจตคติ และฝีมือขั้นพื้นฐาน จุดอ่อนของการฝึกเตรียมบุคคลเข้าทำงาน มักเป็นเรื่องของหลักสูตรที่ไม่สอดคล้อง กับสภาพความต้องการของตลาด การคัดเลือกผู้เข้าฝึก ที่ไม่เหมาะกับความถนัด และความสนใจ และการมุ่งเน้นการฝึกด้านฝีมือเป็นสำคัญเพียงอย่างเดียว

 

ช่างเสริมสวย วิชาชีพอย่างหนึ่ง ที่มีการฝึกอบรม เพื่อยกระดับฝีมือ

 

 

หลักสำคัญสำหรับพิจารณาในการฝึก บุคคลเพื่อเตรียมเข้าทำงาน ทั้งผู้ดำเนินการ และผู้รับ การฝึกจะต้องสำรวจตลาด สำหรับงานที่ฝึกเตรียมเข้าทำงานนั้น มีอยู่หรือไม่ เพียงใด มีการสำรวจความถนัด จุดเด่น จุดอ่อนของผู้รับการฝึก ทั้งในด้านบุคลิก ลักษณะนิสัย และทรัพยากรอื่นๆ ที่จะเอื้ออำนวยต่องานนั้นๆ อนึ่ง ตลอดเวลาฝึกอบรม ควรสอดแทรกการวางแผนทำงาน และการเริ่มงาน ในระหว่างผู้รับการฝึกด้วยกันเอง ครู และสถาบันนั้นๆ เป็นระยะๆ
อนึ่ง หลักสูตรควรสอดแทรกวิธีการวางแผน และแสวงหาช่องทางไว้ในทุกขั้นตอน ของการฝึกอบรม มิฉะนั้น เมื่อฝึกสำเร็จ และแยกย้ายกันไปแล้ว ผู้สำเร็จการฝึกอาจจะโดดเดี่ยว ไม่สามารถจะเริ่มงานหรือหางานที่เหมาะสมทำได้

 

การฝึกอบรมการซ่อมเครื่องอิเล็กทรอนิกส์

 

๒. การฝึกยกระดับฝีมือ 

เน้นการฝึกความรู้ความสามารถเจตคติ ทั้งด้านทฤษฎี ด้านปฏิบัติ และวิทยาการ ตลอดจนเทคโนโลยีใหม่ๆ ให้แก่ผู้ที่ทำงานอยู่แล้ว ให้สามารถทำงานให้มีประสิทธิภาพยิ่งๆ ขึ้น การฝึก เพื่อยกระดับฝีมือนี้ มีทั้งการฝึกเฉพาะกิจในเรื่องใดเรื่องหนึ่ง เป็นระยะเวลาสั้นๆ และการฝึกเพื่อยกระดับฝีมือ ในระยะยาว การฝึก เพื่อยกระดับฝีมือนี้ มักเป็นการฝึกที่ได้ผลตอบแทนสูง เพราะหน่วยงานแต่ละหน่วยงาน ที่ส่งบุคลากรเข้ารับการฝึก และผู้เข้ารับการฝึกเอง จะทราบถึงความต้องการหน่วยงาน และของตนเองเป็นอย่างดี บางครั้งหน่วยฝึกอบรม และหน่วยที่ส่งคนเข้าฝึกอบรม จะมีการปรึกษาทำความตกลงกัน ในเรื่องหลักสูตรการฝึกอบรม เพื่อให้การฝึกอบรมมีประสิทธิภาพ ตรงกับความต้องการสูงสุดอีกด้วย

 

การฝึกเจียระไนพลอยเพื่อยกระดับฝีมือ

 

๓. การฝึกในกิจการ 

เป็นการฝึกปฏิบัติงานจริงในสถานประกอบการ โดยปกตินิยมให้ผู้จบการฝึกเตรียมเข้าทำงาน ได้เข้าฝึกในกิจการ ทั้งนี้ เพื่อให้มีความชำนาญ มีความคุ้นเคยกับเครื่องมืออุตสาหกรรม สภาพการทำงาน และการปฏิบัติตามกฎระเบียบ และการเน้นชีวิตจริง ของกระบวนการของสถานประกอบการนั้น การเข้าฝึกในกิจการนี้ หากมีการวางแผนร่วมกัน ระหว่างสถานประกอบการ หน่วยงานฝึกอบรม และผู้รับการฝึกอบรม ให้ฝึกงานในสภาพที่ ผู้เข้าฝึกจะนำประสบการณ์ไปทำงานจริง จะทำให้เกิดประโยชน์สูง สำหรับการฝึก หากสามารถจัดให้ผู้รับการฝึกได้เห็นกระบวนการ ที่ผู้รับการฝึกอาจต้องเกี่ยวข้อง ในอาชีพนั้นๆ ทุกขั้นตอนได้ ก็จะเป็นการดี ส่วนที่ผู้ใดกลุ่มใด จะฝึกเน้นขั้นตอนใด หรือด้านใดด้านหนึ่งโดยเฉพาะ ก็อาจทำความตกลงร่วมกัน เพื่อประโยชน์สูงสุดของการฝึกอบรม

 

 

การเรียนรู้วิชาคอมพิวเตอร์ การเรียนรู้ที่มีความจำเป็น ต่อระบบธุรกิจในปัจจุบัน


๔. การฝึกอาชีพที่ไม่ใช่ช่าง 

อาชีพที่ไม่ใช่ช่างมีอยู่มากมาย เช่น การประกอบธุรกิจส่วนตัว พนักงานบริการ ผู้ช่วยแม่บ้าน จุดอ่อนของการฝึกอาชีพที่ไม่ใช่ช่าง โดยทั่วๆ ไป มักเป็นการฝึก โดยที่ผู้รับการฝึกไม่มีโอกาสได้สำรวจอาชีพอย่างกว้างขวาง ไม่มีการสำรวจตนเอง ถึงความถนัด ความชอบ ทรัพยากรที่ตนมีอยู่ อนึ่งการฝึกโดยทั่วไป มักเน้นที่ฝีมือในการผลิตเป็นสำคัญ มักละเลยองค์ประกอบอื่นๆ ที่มีความสำคัญต่อความสำเร็จในอาชีพ เช่น เรื่องความเหมาะสมของนิสัยใจคอ ความถนัด การเห็นช่องทางในการประกอบอาชีพ ความสามารถในการจัดการ การบริหารงานทรัพยากร การมีแหล่งข้อมูลที่กว้างขวาง และทันเหตุการณ์ การเลือกสถานที่ การรู้จักการทำบัญชี การระดมทุน การติดตามผล การประเมินผล และการประชาสัมพันธ์ เป็นต้น

 

การฝึกอาชีพให้แก่สตรีชนบทที่สนใจ โดยศูนย์ศิลปาชีพพิเศษบางไทร จังหวัดพระนครศรีอยุธยา

 

 

๕. การฝึกอาชีพในชนบท 

เป็นการฝึกความรู้ความสามารถในอาชีพต่างๆ ตามความต้องการ และความเหมาะสมของบุคคล กลุ่มบุคคลและท้องถิ่น ในช่วงแผนพัฒนาเศรษฐกิจ และสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ ๕ มีการฝึกอาชีพในชนบทในลักษณะนี้มาก และค่อนข้างจะกว้างขวาง
จุดอ่อนของการฝึกอาชีพในชนบทประเภท "กลุ่มสนใจ" นี้ คือ ชาวชนบทมักขาดข้อมูลทางการตลาด ทำให้ไม่แน่ใจว่า ตนเองต้องการรู้ ต้องการฝึกอะไร ฉะนั้นมักฝึกตามที่หน่วยงานที่จัดมีความพร้อมที่จะฝึกให้ ซึ่งอาจไม่ตรงกับความต้องการของตลาดแรงงาน และความต้องการของตน อนึ่งการฝึกอาชีพในชนบท ซึ่งหลายหน่วยงานจัดอยู่ มักเป็นการนำอาชีพในเมือง หรือเทคโนโลยีใหม่ๆ เข้าไปใช้ไปสอน และการเรียนการสอน มักไม่เอื้อให้ได้ใช้ข้อมูลท้องถิ่น และข้อจำกัดส่วนบุคคล เข้ามาเป็นเครื่องตัดสินใจในการทำงาน การฝึกงานให้ได้ผลิตผลมาก โดยการใช้ปุ๋ยเคมี อาจทำให้ชาวนาทำงานได้ผลิตผล คือ ได้ข้าวต่อไร่มากขึ้นจริง แต่เพราะต้องไปกู้หนี้ยืมสิน เสียดอกเบี้ยสูง การเพิ่มผลผลิต อาจทำให้ได้กำไรน้อยกว่าที่ชาวนา จะใช้ปุ๋ยคอก หรือปุ๋ยหมักที่พอจะจัดทำจัดหาเองได้ แม้ผลิตผลจะไม่สูงเท่ากับการใช้ปุ๋ยเคมีก็ตาม

 

 

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
  • Posted By
  • Plookpedia
  • 15 Followers
  • Follow