Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

โรคที่เกิดจากพิษภัยของแอลกอฮอล์

Posted By Plookpedia | 20 มิ.ย. 60
2,331 Views

  Favorite

โรคที่เกิดจากพิษภัยของแอลกอฮอล์

โรคตับ 

      ตับถือเป็นอวัยวะที่เสี่ยงต่อพิษภัยของแอลกอฮอล์อย่างมาก ระยะเวลาและปริมาณของแอลกอฮอล์ที่ดื่มเข้าไปมีผลโดยตรงต่อตับยิ่งถ้าดื่มนานต่อเนื่องเป็นเวลามากกว่า ๑๐ ปีขึ้นไป ยิ่งมีโอกาสที่ตับจะเกิดปัญหาจากแอลกอฮอล์ได้แม้กระนั้นก็ตามในบางรายอาจใช้เวลาไม่ถึง ๑๐ ปี  หากปริมาณที่บริโภคนั้นค่อนข้างสูงโดยทั่วไปแอลกอฮอล์จะทำให้เกิดอันตรายต่อตับในผู้หญิงได้ง่ายกว่าในผู้ชายแม้จะดื่มในปริมาณที่น้อยกว่าก็ตามซึ่งอาจเกิดจากปัจจัยทางด้านฮอร์โมนบางชนิด โรคตับที่เกิดจากผลของแอลกอฮอล์ แบ่งได้เป็น ๓ ประเภท คือ โรคไขมันสะสม ในตับจากแอลกอฮอล์ โรคตับอักเสบจากแอลกอฮอล์และโรคตับแข็ง

    โรคไขมันสะสมในตับจากแอลกอฮอล์ 

      ภาวะนี้พบได้เป็นส่วนใหญ่ในผู้ที่ดื่มจัดแต่ถ้าหยุดดื่มแล้วจะสามารถกลับคืนสู่ภาวะปกติได้  ภาวะนี้เกิดจากความผิดปกติของการเผาผลาญและการสร้างไขมันอันเป็นผลมาจากแอลกอฮอล์ทำให้เกิดการสะสมของไขมันในเซลล์ตับทำให้เซลล์บวมตับโตบางครั้งอาจมีอาการกดเจ็บร่วมด้วย โดยทั่วไปภาวะนี้มักไม่ค่อยแสดงอาการให้เห็นทำให้เป็นผลเสียต่อผู้นั้นเนื่องจากไม่มีสัญญาณคอยบ่งเตือนว่าร่างกายกำลังมีปัญหาทั้ง ๆ ที่ความผิดปกติกำลังดำเนินอยู่ แต่ถ้าเกิดภาวะนี้อย่างรุนแรงก็จะมีอาการตัวเหลือง ตาเหลือง ที่เรียกว่า ดีซ่าน ท้องบวมน้ำและบวมตามแขนขาร่วมด้วยได้ ผู้ที่เกิดภาวะนี้อาจยังไม่รุนแรงถึงขั้นกลายเป็นโรคตับแข็งซึ่งต่างจากผู้ที่เป็นโรคตับอักเสบจากแอลกอฮอล์ที่มีวามเสี่ยงสูงมากที่จะกลายเป็นโรคตับแข็งในที่สุด

 

ภาวะท้องบวมน้ำ
ภาวะท้องบวมน้ำ

 

    โรคตับอักเสบจากแอลกอฮอล์ 

      แอลกอฮอล์ทำให้เกิดการอักเสบของเซลล์ตับทำให้เกิดการเสื่อมและการตายของเซลล์ การซ่อมแซมส่วนที่สึกหรอของเซลล์ต่าง ๆ เหล่านี้ มีผลทำให้โครงสร้างของเซลล์ตับผิดรูปร่างซึ่งเป็นสาเหตุอย่างหนึ่งที่นำไปสู่โรคตับแข็ง  อาการของผู้ที่เป็นโรคตับอักเสบนี้จะแตกต่างกันไปตั้งแต่ไม่มีอาการ มีอาการในระดับน้อย จนถึงอาการรุนแรงจนกระทั่งเสียชีวิตได้ โดยทั่วไปแล้วอาการมักประกอบด้วยปวดเมื่อยตามตัว เบื่ออาหาร คลื่นไส้อาเจียน น้ำหนักลด อึดอัดในท้อง และตัวเหลืองตาเหลือง บางรายมีไข้สูงร่วมด้วย เมื่อตรวจร่างกายมักจะพบว่ามีตับโตและกดเจ็บประมาณ ๑ ใน ๓ จะพบม้ามโต ในรายที่เป็นรุนแรงจะพบภาวะท้องบวมน้ำ เลือดออก แขนขาบวม และมีอาการสับสน เนื่องจากสมองร่วมด้วยได้ถึงแม้ว่าเมื่อหยุดบริโภคแอลกอฮอล์ไปแล้วจะทำให้อาการตัวเหลืองตาเหลือง ท้องบวมน้ำ หรือภาวะสับสนดีขึ้นก็ตาม แต่หากยังบริโภคแอลกอฮอล์ต่อไปอีกก็จะนำไปสู่การอักเสบของตับต่อไปได้เรื่อย ๆ ในบางรายกว่าจะฟื้นตัวจากการอักเสบต้องใช้เวลานานมากประมาณ ๖ เดือนหรือมากกว่า ภาวะนี้จัดได้ว่าเป็นภาวะเบื้องต้นที่นำไปสู่การเกิดตับแข็งในโอกาสต่อไป 

    โรคตับแข็ง 

      ถ้าการบริโภคแอลกอฮอล์ยังเป็นไปอย่างต่อเนื่องเซลล์ตับจะมีการถูกทำลายมากขึ้นในที่สุดตับจะฝ่อเกิดภาวะที่เรียกว่า ตับแข็ง ส่วนใหญ่แล้วใช้เวลานานประมาณ ๑๐ ปี ผู้ที่เกิดภาวะนี้จะมีอาการเบื่ออาหารผ่ายผอม ลักษณะแบบคนขาดอาหาร อ่อนเพลีย เลือดออกง่าย เกิดรอยช้ำตามตัวได้ง่าย  เมื่อเกิดภาวะตับแข็งจะทำให้การไหลเวียนของโลหิตในตับเป็นไปด้วยความลำบากทำให้ความดันในหลอดเลือดสูงขึ้น เกิดเส้นเลือดโป่งพองอาจเป็นในบริเวณหลอดอาหารซึ่งเสี่ยงต่อการอาเจียนออกมาเป็นเลือด นอกจากนี้ยังทำให้เกิดภาวะน้ำในช่องท้องมากขึ้น ท้องจะบวมน้ำ โดยปกติแล้วตับจะทำหน้าที่กำจัดของเสียในร่างกาย เมื่อเกิดภาวะตับแข็งจะทำให้ตับทำหน้าที่นี้ได้ไม่ดีผลที่ตามมาก็ คือ ภาวะตับวายและการทำงานของสมองสับสนได้ถึงแม้ว่าโรคตับแข็งจะเป็นโรคที่มีการดำเนินโรคอย่างต่อเนื่องก็ตามแต่หากได้รับการรักษาที่เหมาะสมร่วมไปกับการหยุดดื่มแอลกอฮอล์โดยเด็ดขาด อาจทำให้การดำเนินของโรคหยุดลงได้ส่งผลให้สภาพการทำงานของร่างกายที่ดีขึ้น

 

ลักษณะตับที่เป็นโรคตับแข็ง
ลักษณะตับที่เป็นโรคตับแข็ง

 

ระบบทางเดินอาหาร 

      แอลกอฮอล์มีผลโดยตรงต่อหลอดอาหารและกระเพาะอาหารทำให้เกิดการอักเสบ เป็นแผล คลื่นไส้ อาเจียน รวมถึงอาเจียนเป็นเลือดได้  ยิ่งถ้าเกิดตับแข็งซึ่งทำให้หลอดเลือดของหลอดอาหารโป่งพองดังที่ได้กล่าวมาแล้วนั้นโอกาสที่จะอาเจียนเป็นเลือดจำนวนมากจนถึงแก่ชีวิตก็ยิ่งสูงตามไปด้วย นอกจากนี้การบริโภคแอลกอฮอล์จำนวนมากอย่างต่อเนื่องจะมีผลต่อตับอ่อนได้ทำให้เกิดอาการปวดท้องอย่างรุนแรงและอาจนำไปสู่ความเสียหายต่อตับอ่อนอย่างถาวรได้

ระบบโลหิต 

      แอลกอฮอล์ในปริมาณที่มากจะมีผลต่อการทำงานของเม็ดเลือดขาวซึ่งเป็นระบบภูมิต้านทานอย่างหนึ่งของร่างกายทำให้สมรรถภาพในการกำจัดเชื้อโรคเสื่อมถอยลงมีผลทำให้เกิดสภาพร่างกายอ่อนแอติดเชื้อได้ง่ายและรุนแรง นอกจากนี้แอลกอฮอล์ยังมีผลต่อการสร้างเม็ดเลือดแดงและเกล็ดเลือดอีกด้วยทำให้เกิดภาวะโลหิตจางและการแข็งตัวของเลือดผิดปกติไป

    โรคหลอดเลือดในสมองและหลอดเลือดหัวใจ 
      แอลกอฮอล์จะทำให้ความดันโลหิตสูงขึ้นโดยเฉพาะผู้ที่บริโภคตั้งแต่ ๓ ดริงก์ต่อวัน ซึ่งหากยังมีการบริโภคอย่างต่อเนื่องในลักษณะเช่นนี้ไปนาน ๆ จะเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เกิดโรคความดันโลหิตสูงได้ นอกจากนี้แล้วแอลกอฮอล์ยังทำให้คอเลสเทอรอลและไตรกลีเซอไรด์เพิ่มสูงขึ้นอีกด้วยจึงเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหลอดเลือดอุดตันทั้งในสมองและหัวใจอีกทั้งแอลกอฮอล์ยังเป็นพิษต่อกล้ามเนื้อหัวใจโดยตรง บางครั้งอาจทำให้กล้ามเนื้อหัวใจตายอย่างถาวรได้ประมาณว่า ๑ ใน ๓ ของผู้ป่วยที่เป็นโรคของกล้ามเนื้อหัวใจเป็นผลมาจากการบริโภคแอลกอฮอล์ในปริมาณที่มาก อาจทำให้การเต้นของหัวใจผิดปกติได้แม้ในผู้ที่ไม่เคยเป็นโรคหัวใจมาก่อนก็ตาม

 

โรคหลอดเลือดในสมองและหลอดเลือดหัวใจ

 

มะเร็ง 

      อัตราการเกิดมะเร็งจะพบได้สูงในผู้ที่ติดแอลกอฮอล์โดยเฉพาะโรคมะเร็งของหลอดอาหารและกระเพาะอาหาร นอกจากนี้ยังเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งของตับ ลำไส้ใหญ่ และปอดด้วย โดยสาเหตุของการเกิดโรคมะเร็งอาจเกิดจากการที่แอลกอฮอล์มีผลทำให้ระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายเสื่อมลงและจากการที่แอลกอฮอล์เป็นพิษต่ออวัยวะเหล่านี้โดยตรง ถึงแม้จากการศึกษาจะพบว่าสาเหตุการเสียชีวิตอันดับต้น ๆ ในผู้ที่ติดเหล้าจะเกิดจากโรคหลอดเลือดหัวใจก็ตาม แต่การเสียชีวิตจากโรคมะเร็งในคนเหล่านี้ก็มีอยู่จำนวนไม่น้อยทีเดียว  สถิติที่ได้จากการศึกษาต่าง ๆ พบว่าผู้หญิงที่ดื่มแอลกอฮอล์ประมาณ ๑.๕ ดริงก์ต่อวัน จะเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งเต้านมได้ ๑.๔ เท่าและการดื่มแอลกอฮอล์ประมาณ ๔ ดริงก์ต่อวันในทั้งเพศหญิงและชายจะเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งของหลอดอาหารและช่องปากประมาณ ๓ เท่า หากปริมาณการดื่มเพิ่มขึ้นเป็น ๗ - ๘ ดริงก์ต่อวัน ความเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งเหล่านี้จะเพิ่มขึ้นเป็น ๕ เท่า โดยสรุปแล้วคาดการณ์ได้ว่าผู้ที่ติดแอลกอฮอล์ จะพบการเกิดโรคมะเร็งของระบบต่าง ๆ สูง เป็น ๑๐ เท่าของคนปกติทั่วไป

 

มะเร็งกระเพาะอาหารชนิดต่างๆ
มะเร็งกระเพาะอาหารชนิดต่างๆ

 

การนอนหลับ 

      หลายคนมีความเชื่อว่าแอลกอฮอล์ช่วยทำให้หลับสบายและหลายคนบริโภคแอลกอฮอล์เพื่อช่วยให้ตนเองหลับได้ดีขึ้นเป็นประจำ ความจริงแล้วแอลกอฮอล์มีผลต่อการนอนหลับมากกว่าที่คิด คือ แอลกอฮอล์ทำให้เกิดความรู้สึกง่วงได้จริงเมื่อเริ่มดื่มในช่วงแรก ๆ หลังจากนั้นเมื่อแอลกอฮอล์เข้าสู่ร่างกายและถูกเผาผลาญโดยตับจะทำให้เกิดสารเคมีตัวใหม่ซึ่งสารเคมีตัวนี้มีผลกระตุ้นสมองทำให้เกิดการตื่น  ดังนั้นในครึ่งคืนแรกของการนอนอาจจะหลับได้เนื่องจากฤทธิ์ของแอลกอฮอล์แต่คุณภาพการนอนในช่วงครึ่งคืนหลังจะถูกรบกวนอย่างมากและเมื่อมีการใช้แอลกอฮอล์เป็นประจำทุกวันจะก่อให้เกิดภาวะติดแอลกอฮอล์ขึ้นนั่น คือ เมื่อไม่ได้ดื่มหรือลดปริมาณการดื่มลงจะทำให้เกิดอาการนอนไม่หลับ ฝันร้าย กระสับกระส่าย จนต้องหันมาพึ่งแอลกอฮอล์เพื่อระงับอาการเหล่านี้ จนกลายเป็นวงจรของการติดแอลกอฮอล์ไป นอกจากนี้แอลกอฮอล์ยังทำให้สมองที่เกี่ยวข้องกับการนอนนั้นเสื่อมลงทำให้คุณภาพการนอนด้อยตามไปด้วยแม้ว่าจะหยุดดื่มแล้วก็ตามจึงสรุปได้ว่าการบริโภคแอลกอฮอล์เพื่อช่วยการนอนหลับนั้นกลับจะยิ่งเพิ่มปัญหาให้เกิดโรคนอนไม่หลับตามมาได้

ระบบประสาท 

      ประมาณร้อยละ ๑๐ ของผู้ที่ดื่มจัดจะเกิดอาการชา ปวด หรือเจ็บตามปลายมือปลายเท้าทั้งสองข้างซึ่งเป็นผลโดยตรงของแอลกอฮอล์และภาวะพร่องวิตามินที่มีต่อระบบปลายประสาทในบางคนอาจมีอาการลักษณะนี้อย่างถาวรได้แม้จะหยุดดื่มไปแล้วก็ตาม 
    โรคจิตประสาทหลอน 
      ผู้ที่บริโภคแอลกอฮอล์จนติดนั้นอาจเกิดอาการหูแว่วได้ยินเสียงคนมาพูดต่อว่า ทำให้เกิดอาการหวาดกลัว หวาดระแวง ควบคุมตัวเองไม่ได้หรืออาจมีอาการสับสน เพ้อ จำเวลา สถานที่ และบุคคลไม่ได้ จำกลางวันสับสนกับกลางคืน จำคนรอบข้างใกล้ชิดไม่ได้ ประสาทหลอนเห็นภาพต่าง ๆ ที่ทำให้กลัว อาการเหล่านี้มักเกิดขึ้นหลังจากหยุดหรือลดปริมาณการบริโภคแอลกอฮอล์ลงภายใน ๑ - ๓ วัน บางรายอาจเกิดอาการชักนำมาก่อน ถ้าเกิดอาการเหล่านี้ขึ้นจะเป็นตัวบ่งบอกว่าสมองได้รับพิษจากแอลกอฮอล์ถึงระดับที่รุนแรงแล้วนอกจากนี้ภาวะขาดแอลกอฮอล์อาจทำให้เกิดอาการหูแว่วเพียงอย่างเดียวได้โดยมีอาการประสาทหลอนคิดว่ามีคนคอยจ้องที่จะทำร้าย ก่อให้เกิดอาการหวาดระแวง กลัวถูกฆ่า และควบคุมตัวเองไม่ได้ ถึงขั้นทำร้ายตัวเองหรือจับผู้อื่นเป็นตัวประกัน อาการทางจิตต่าง ๆ ที่กล่าวมานี้พบได้สูงถึงร้อยละ ๑๐ ของผู้ที่ติดแอลกอฮอล์ 

 

โรคจิตประสาทหลอน
แอลกอฮอล์ส่งผลให้เกิดอาการ ทางจิต และประสาทหลอนได้

 

โรคจิตประสาทหลอน
แอลกอฮอล์ส่งผลให้เกิดอาการ ทางจิต และประสาทหลอนได้


    โรคสมองเสื่อม 
      จากการที่วิตามินบี ๑ ลดน้อยลง เนื่องจากการบริโภคแอลกอฮอล์และจากการที่แอลกอฮอล์มีพิษต่อเซลล์สมองโดยตรงทำให้ผู้ติดแอลกอฮอล์เกิดอาการสมองเสื่อมได้โดยความจำจะบกพร่องอย่างชัดเจน การตัดสินใจและการใช้เหตุผลผิดพลาดหรือบกพร่องไป ทักษะในการคิดก็เสื่อมลงตามตัวไปด้วย ในบางรายหากได้รับการรักษาไม่ทันอาจทำให้กลายเป็นโรคสมองเสื่อมอย่างถาวรได้ นอกจากนี้แอลกอฮอล์ยังไปมีผลต่อสมองส่วนเล็กที่เรียกว่า ซีรีเบลลัม (cerebellum) ทำให้สมองส่วนนี้เสื่อมลงซึ่งมีผลโดยตรงต่อการทรงตัวทำให้การยืนและการเดินไม่มั่นคง

ระบบสืบพันธุ์ 

      สำหรับผู้ชายการดื่มแอลกอฮอล์อย่างต่อเนื่องมีผลทำให้สมรรถภาพทางเพศเสื่อมลงได้ในบางรายจะทำให้ลูกอัณฑะและท่อนำเชื้อฝ่อทำให้ปริมาณน้ำอสุจิและตัวอสุจิลดลงซึ่งเป็นสาเหตุหนึ่งของการเป็นหมัน ส่วนในผู้หญิงการดื่มแอลกอฮอล์ในปริมาณมากเป็นประจำอาจส่งผลให้ไม่มีประจำเดือน รังไข่มีขนาดเล็กลง เยื่อบุโพรงมดลูกผิดปกติ ซึ่งเป็นสาเหตุที่ทำให้มีบุตรยาก นอกจากนี้ อาจทำให้เกิดการแท้งบุตรในขณะตั้งครรภ์ได้ 
    ผลของแอลกอฮอล์ต่อเด็กในครรภ์ 
      ได้พบความสัมพันธ์อย่างชัดเจนระหว่างผลเสียของการดื่มแอลกอฮอล์ในขณะตั้งครรภ์กับความผิดปกติของทารกที่คลอดจากมารดาที่ติดแอลกอฮอล์  แอลกอฮอล์สามารถผ่านรกไปสู่เด็กในครรภ์ได้ง่ายซึ่งอาจมีผลทำให้ทารกเสียชีวิตในครรภ์มารดาและเกิดการแท้งได้  นอกจากนี้ทารกที่คลอดจากมารดาซึ่งดื่มแอลกอฮอล์อาจพบความผิดปกติต่าง ๆ เหล่านี้ได้ เช่น ภาวะปัญญาอ่อน กะโหลกศีรษะเล็ก น้ำหนักแรกคลอดต่ำ และน้ำหนักตัวในช่วงพัฒนาการน้อยผิดปกติ ร่างกายเล็ก มีความผิดปกติของใบหน้า และในขณะที่เด็กโตขึ้นสามารถพบปัญหาทางพฤติกรรมต่าง ๆ เช่น สมาธิสั้น มีความบกพร่องในการใช้สติปัญญา นอกจากนี้ยังสามารถพบความผิดปกติของหัวใจโดยกำเนิดได้โดยความผิดปกติต่าง ๆ เหล่านี้ จะเกิดขึ้นอย่างถาวรและเนื่องจากข้อมูลในปัจจุบันนี้ยังไม่พบว่ามีปริมาณแอลกอฮอล์ในระดับปลอดภัยที่จะไม่ทำให้เกิดผลต่าง ๆ ต่อทารกในครรภ์ ดังนั้นการดื่มแอลกอฮอล์ในระหว่างการตั้งครรภ์จึงควรหลีกเลี่ยงเป็นอย่างยิ่ง

โรคพิษสุราเรื้อรัง 

      เมื่อบริโภคแอลกอฮอล์อย่างต่อเนื่องในปริมาณที่มากจะทำให้เกิด “การติด” ขึ้น โดยการติดนั้นแบ่งออกเป็น ๒ ชนิด คือ ติดทางกายและติดทางใจ ลักษณะของการติดทางกายจะสังเกตได้เมื่อมีการหยุดดื่มหรือลดปริมาณการดื่มลงภายใน ๒๔ ชั่วโมง คือ จะเกิดอาการกระสับกระส่าย หงุดหงิด มือสั่น นอนไม่หลับ ใจสั่น คลื่นไส้ อาเจียน และในบางคนจะได้ยินเสียงแว่ว ประสาทหลอน สับสน และชักได้ ส่วนลักษณะของการติดทางใจนั้นจะสังเกตได้ว่ามีอาการของความอยากอยู่เรื่อย ๆ ขาดไม่ได้ต้องพยายามหามาบริโภคแม้ว่าจะเสี่ยงต่อความก้าวหน้าในหน้าที่การงานก็ตาม  เมื่อผู้นั้นเกิดการติดแอลกอฮอล์แล้วก็จะกลายเป็นโรคพิษสุราเรื้อรังในที่สุดโดยแอลกอฮอล์เริ่มไปมีผลต่ออวัยวะที่สำคัญต่าง ๆ ของร่างกายตามที่กล่าวมาแล้วข้างต้นไม่ว่าจะเป็นสมอง ตับ หัวใจ และหลอดเลือด ทำให้เกิดโรคตับแข็ง ความจำเสื่อม และโรคหัวใจ การตัดสินใจและความมีเหตุผลลดลง ขาดสติ ซึ่งมีผลต่อความรับผิดชอบและหน้าที่การงานอย่างมาก

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
  • Posted By
  • Plookpedia
  • 15 Followers
  • Follow