Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

ลำไย

Posted By Plookpedia | 19 มิ.ย. 60
1,120 Views

  Favorite

ลำไย 

      ลำไยเป็นพืชที่ปลูกกันมากทางภาคเหนือของประเทศไทย แต่เดิมเชื่อกันว่าการออกดอกของลำไยต้องการอากาศเย็นแต่เนื่องจากปัจจุบันมีการปลูกลำไยในภูมิภาคอื่น ๆ ของประเทศด้วยดังนั้น ลำไยจึงอาจไม่ใช่พืชที่ต้องการอากาศเย็นในการออกดอกก็ได้  ปกติการออกดอกของลำไยเกิดขึ้นปีละ ๑ ครั้ง ส่วนใหญ่อยู่ในช่วงเดือนธันวาคมถึงมกราคมและเก็บเกี่ยวได้ในช่วงเดือนสิงหาคม      แต่ปัจจุบันสามารถบังคับให้ลำไยออกดอกได้ตามเวลาที่ต้องการโดยไม่จำกัดว่าเป็นช่วงใดของปี  การค้นพบวิธีการนี้ถือเป็นภูมิปัญญาของคนไทยโดยได้สังเกตว่าดินปืนสามารถกระตุ้นให้ลำไยออกดอกได้ ต่อมานักวิทยาศาสตร์ชาวไทยได้พิจารณาว่าสารที่เป็นองค์ประกอบหลักของดินปืน คือ โพแทสเซียมคลอเรต น่าจะเป็นสารหลักที่กระตุ้นให้ลำไยออกดอกและได้มีการศึกษาเรื่องนี้อย่างจริงจังตั้งแต่ พ.ศ. ๒๕๔๒ จนพิสูจน์ได้อย่างชัดเจนว่าสารโพแทสเซียมคลอเรตเป็นสารสำคัญที่มีผลกระตุ้นให้ลำไยออกดอกได้ไม่ใช่องค์ประกอบอื่น ๆ ที่มีอยู่ในดินปืน  ปัจจุบันชาวสวนที่ปลูกลำไยใช้สารโพแทสเซียมคลอเรตละลายน้ำแล้วพ่นให้ทั่วต้นลำไยในระยะที่มีใบแก่จัด ลำไยจะออกดอกได้ภายหลังจากการพ่นสารแล้วประมาณ ๓ - ๔ สัปดาห์ จากการค้นพบวิธีการบังคับการออกดอกของลำไยดังกล่าวทำให้ปัจจุบันมีการผลิตลำไยออกสู่ตลาดได้ตลอดทั้งปีรวมทั้งพื้นที่การปลูกลำไยก็ไม่ได้จำกัดเฉพาะในภาคเหนืออีกต่อไป 

 

ลำไยพันธุ์เพชรสาคร
ลำไยพันธุ์เพชรสาคร


      วิธีการใช้สารโพแทสเซียมคลอเรตเพื่อกระตุ้นการออกดอกของลำไยนั้น ปรากฏว่าลำไยสายพันธุ์ต่าง ๆ ที่ปลูกอยู่ในปัจจุบันมีการตอบสนองต่อการใช้สารเป็นอย่างดี นอกจากนี้ยังมีลำไยบางพันธุ์ เช่น พันธุ์เพชรสาคร นอกจากจะตอบสนองต่อการใช้สารโพแทสเซียมคลอเรตแล้วยังตอบสนองต่อการควั่นกิ่งด้วย นั่นคือในการบังคับให้ลำไยพันธุ์เพชรสาครออกดอกสามารถใช้วิธีการควั่นกิ่ง หรือรัดกิ่งแทนการใช้สารโพแทสเซียมคลอเรตได้ด้วย แต่ลำไยพันธุ์อื่น ๆ ที่ปลูกเป็นการค้านั้นพบว่าการควั่นกิ่งไม่สามารถกระตุ้นให้เกิดการออกดอกได้

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
  • Posted By
  • Plookpedia
  • 15 Followers
  • Follow