Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

เทคนิคการผลิตไม้ผลนอกฤดู

Posted By Plookpedia | 19 มิ.ย. 60
20,709 Views

  Favorite

เทคนิคการผลิตไม้ผลนอกฤดู

      จ้ำจี้ผลไม้          แตงไทยแตงกวา 
ขนุนน้อยหน่า    พุทรามังคุด 
   ละมุดลำไย        มะเฟืองมะไฟ 
   มะกรูดมะนาว    มะพร้าวส้มโอ 

                                                                                                        ฟักแฟงแตงโม   ไชโยโห่ฮิ้ว

 

      คำคล้องจองข้างต้นนี้ใช้ร้องเล่นกันในกลุ่มเด็ก ๆ  นอกจากเล่นสนุกแล้วยังได้รู้จักชื่อผลไม้ไทยอีกด้วย ฟัก แฟง แตงกวาเป็นผักที่กินผลไม่ใช่ผลไม้ทั่วไป แต่นำมาแต่งปนไว้ด้วยเพราะชื่อคล้องจองกัน ยังมีชื่อผลไม้ไทยอีกหลายชนิดที่มิได้กล่าวถึง เช่น กล้วย มะม่วง มะละกอ ส้ม ทุเรียน เป็นต้น  ไม้ผลบางชนิดมีผลให้เรารับประทานตลอดปี เช่น กล้วย มะละกอ บางชนิดผลิดอกออกผลปีละ ๒ - ๓ ครั้ง เช่น ส้ม แต่มีหลายชนิดที่ตามปกติมีผลเฉพาะฤดูกาลของมัน เช่น ทุเรียน มังคุด ลำไย มะม่วง เป็นต้น ถ้าเราอยากรับประทานมะม่วงก็ต้องรอหน้ามะม่วง  มะม่วงหลายชนิดผลิดอกออกผลมากมายและมีราคาถูกชาวสวนจำหน่ายไม่หมดต้องทำเป็นมะม่วงกวนเก็บไว้รับประทานได้นาน ๆ  เมื่อถึงหน้าทุเรียน ชาวสวนก็เก็บทุเรียนมาจำหน่ายจนล้นตลาดทำให้ทุเรียนมีราคาถูกมากน่าเห็นใจชาวสวนที่ต้องขาดทุน

 

เทคนิคการผลิตไม้ผลนอกฤดู

 

เทคนิคการผลิตไม้ผลนอกฤดู

 

เทคนิคการผลิตไม้ผลนอกฤดู

 

เทคนิคการผลิตไม้ผลนอกฤดู


      นักวิชาการเกษตรจึงค้นคว้าวิธีการควบคุมไม้ผลให้ผลิดอกตามเวลาที่ต้องการเพื่อชาวสวนสามารถจะทำให้ต้นไม้มีผลนอกฤดู  เราสามารถหาซื้อมะม่วงน้ำดอกไม้รับประทานได้ตลอดปีทั้งยังผลิตมะม่วงและทุเรียนเพื่อส่งออกได้ราคาดีอีกด้วย  มนุษย์สามารถควบคุมไม้ผลให้ออกดอกได้โดยการควบคุมปัจจัยภายในต้นไม้นั้นและควบคุมปัจจัยภายนอก ได้แก่ อุณหภูมิ น้ำ แสงสว่าง ให้ต้นไม้ถูกกระตุ้นเพื่อให้รีบออกดอกและมีผล  ถ้าจะปลูกมะม่วงให้ได้ผลเร็วเราต้องเลือกวิธีทาบกิ่งแทนการเพาะเมล็ดเลือกพันธุ์มะม่วงที่ออกดอกง่ายและใช้สารเคมีที่เรียกว่า ฮอร์โมนพืช ช่วยกระตุ้นให้มะม่วงออกดอก

 

เทคนิคการผลิตไม้ผลนอกฤดู

 

เทคนิคการผลิตไม้ผลนอกฤดู

 

เทคนิคการผลิตไม้ผลนอกฤดู

 

เทคนิคการผลิตไม้ผลนอกฤดู

 

      ต้นไม้บางชนิดถ้าผ่านฤดูหนาวไปแล้วอากาศอุ่นขึ้นก็จะเริ่มมีตุ่มตามกิ่งและผลิดอกออกผล  ไม้ผลหลายชนิดเมื่อขาดน้ำจะออกดอกได้ดี ต้นไม้หลายชนิดจึงออกดอกในช่วงหมดฤดูฝน (พ้นฤดูฝน) แสงสว่างมีส่วนทำให้ไม้ผลออกดอกช้าหรือเร็ว  ถ้าเราสามารถจัดช่วงเวลาให้น้ำ แสงสว่าง และอุณหภูมิสัมพันธ์กันอย่างเหมาะสม ต้นไม้ก็จะผลิดอกออกผลได้แม้จะอยู่นอกฤดูกาล  บางครั้งชาวสวนใช้วิธีงดให้น้ำระยะหนึ่ง ตัดแต่งกิ่ง เด็ดใบ จนเกือบหมด บางครั้งใช้มีดคม ๆ เคาะไปรอบ ๆ ต้น แต่เดิมผู้ใหญ่เล่าว่าการทำเช่นนั้นจะทำให้ต้นไม้กลัวตายแล้วรีบผลิดอกออกผลเพื่อขยายพืชพันธุ์ของมันไว้  แท้จริงแล้วมีเหตุผลทางวิทยาศาสตร์อธิบายว่าเมื่อต้นไม้ขาดน้ำหรือถูกควั่นเปลือกรอบ ๆ ต้น  ต้นไม้จะขาดอาหารจึงเริ่มออกดอก เมื่อชาวสวนรดน้ำตามปกติต้นไม้ก็จะสดชื่นและเติบโตตามปกติต่อไป

มะม่วงมากมาย           วางขายตลอดปี 
ส้มสดรสดี                  มีผลหลายครั้ง 
ทุเรียนลำไย                 ผลไม้อร่อยจัง 
ชาวสวนอาจสั่ง           ออกดอกทันใจ 
ทาบกิ่งเลือกพันธุ์        เคาะควั่นต้นไม้ 
งดน้ำส่องไฟ               กิ่งใบแล้งร้อน 
จึงรีบผลิดอก              ออกผลมาก่อน 

                                                                                                  ไม่ตามขั้นตอน            แห่งฤดูกาล 
                                                                                                  เทคโนโลยี                 มีคุณมหาศาล 
                                                                                                  เพิ่มค่าบันดาล            ความอุดมสมบูรณ์

 

 

 

 

      ถ้าเราเดินไปในตลาดเราจะพบแผงจำหน่ายผลไม้หลายชนิดที่มีสีสวยและจัดวางไว้อย่างดึงดูดใจให้ซื้อมาลองชิม ผลไม้ที่มีวางจำหน่ายตลอดปี คือ กล้วย มะละกอ แต่บางฤดูจะมีส้ม ลำไย เงาะ มังคุด ทุเรียน ลางสาด มะม่วง วางจำหน่ายสลับช่วงเวลากันตลอดปี  เมื่อถึงหน้าลำไยมีลำไยหลายพันธุ์วางจำหน่ายเต็มตลาดมีราคาถูกอย่างไม่น่าเชื่อ ทุเรียนที่ปกติมีราคาแพงมากพอถึงหน้าทุเรียนชาวสวนก็ขนทุเรียนมาจำหน่ายดาษดื่นไปหมดทุเรียนมีราคาถูกจนชาวสวนขาดทุน  ด้วยเหตุผลดังกล่าวข้างต้นนักวิชาการเกษตรจึงคิดค้นเทคนิคการผลิตไม้ผลนอกฤดูโดยอาศัยความรู้เกี่ยวกับธรรมชาติของต้นไม้และความรู้ทางเทคโนโลยีทำให้ไม้ผลผลิดอกออกผลนอกฤดูกาลเพื่อสร้างรายได้ที่ดีให้แก่ชาวสวนและประชาชนได้รับประทานผลไม้ที่ต้องการนอกฤดู ยิ่งไปกว่านั้นยังช่วยส่งเสริมการจำหน่ายผลไม้ออกสู่ตลาดต่างประเทศได้อย่างสม่ำเสมอ

 

ตลาด

 

หัวปลี

 

      ไม้ผลมีพฤติกรรมการออกดอกและผลิตผลในฤดูกาลไม่เหมือนกัน บางชนิดผลิตผลทั้งปี เช่น กล้วย มะละกอ มะพร้าว ฯลฯ แต่บางชนิดผลิตผลในบางช่วงของปีและมากกว่าปีละ ๑ ครั้ง เพราะชาวสวนสามารถบังคับให้ออกดอกในช่วงเวลาที่เหมาะสมได้ เช่น องุ่น ส้ม เป็นต้น ไม้ผลหลายชนิดผลิตผลเพียงปีละ ๑ ครั้ง ในฤดูกาลที่จำเพาะ เช่น ทุเรียน มังคุด ลางสาด ลำไย ลิ้นจี่ มะม่วงส่วนใหญ่ เป็นต้น ดังนั้นถ้าต้องการผลิตผลนอกฤดูกาลชาวสวนต้องควบคุมการออกดอกและการผลิตผลของต้นไม้ประเภทนั้น ๆ

การออกดอกของไม้ผล 

      สิ่งที่ควบคุมการออกดอกของไม้ผล มี ๒ ประการ คือ ปัจจัยภายใน ได้แก่ อายุของต้นไม้ สายพันธุ์ และสารเคมีที่เกี่ยวข้องกับการเจริญเติบโต ส่วนอีกประการหนึ่งคือ ปัจจัยภายนอก ได้แก่ สภาพแวดล้อม เช่น อุณหภูมิ ความชื้นในดิน ปริมาณแสง เป็นต้น

 

การออกดอกของไม้ผล

 

การออกดอกของไม้ผล

 

การควบคุมปัจจัยภายใน 

๑. อายุการผลิตผล
      ไม้ผลที่ชาวสวนขยายพันธุ์ด้วยการเพาะเมล็ดนั้นใช้เวลานานกว่าจะเติบโตออกดอกครั้งแรก เช่น มังคุด อาจต้องรอเวลาถึง ๑๐ ปี แต่ถ้าขยายพันธุ์โดยติดตา ทาบกิ่ง เวลาการเติบโตและผลิดอกออกผลจะเร็วขึ้น เช่น มะม่วงที่ตามปกติต้องรอให้เติบโตถึง ๖ ปี ก็เหลือเพียง ๒ - ๓ ปีเท่านั้น ยิ่งถ้าใช้สารเร่งบางชนิดเพียงกิ่งเล็ก ๆ ก็มีดอกและติดผลแล้ว

 

การทาบกิ่ง
การทาบกิ่ง

 

การติดตา
การติดตา

 

๒. สายพันธุ์ 
      ไม้ผลแต่ละชนิดมีหลากหลายสายพันธุ์ บางสายพันธุ์ออกดอกติดผลช้า บางสายพันธุ์ก็ออกดอกเร็ว เช่น มะม่วงมีมากกว่า ๒๐๐ สายพันธุ์ ที่รู้จักแพร่หลาย คือ มะม่วงน้ำดอกไม้ มะม่วงแก้ว มะม่วงอกร่อง มะม่วงเขียวเสวย และมะม่วงแรด ต้นมะม่วงพันธุ์น้ำดอกไม้จะออกดอกได้ง่ายกว่ามะม่วงเขียวเสวย ผลมีรูปทรงสวยงามเมื่อสุกมีผิวสวยและมีรสชาติหวานอมเปรี้ยวนิด ๆ ดังนั้น มะม่วงน้ำดอกไม้จึงเป็นผลไม้ที่ชาวสวนนิยมปลูกเพื่อเป็นสินค้าส่งออกและได้มีการคัดเลือกสายพันธุ์อย่างดี

๓. สารฮอร์โมนพืช 
      สารเคมีหรือฮอร์โมนพืชบางชนิดมีผลเกี่ยวข้องกับการเจริญเติบโตและการออกดอกของไม้ผลบางชนิดกระตุ้นให้ต้นไม้เติบโตและออกดอกเร็วและบางชนิดไปกระตุ้นกิ่งใบให้งาม แต่ไม่ออกดอก ชาวสวนจึงต้องมีความรู้เกี่ยวกับสารเหล่านี้และสามารถใช้เร่งดอกอย่างได้ผล

การควบคุมปัจจัยภายนอก

      แม้ว่าชาวสวนได้เลือกพันธุ์ไม้และใส่สารฮอร์โมนพืชเพื่อควบคุมการออกดอกแล้ว แต่ยังไม่ประสบความสำเร็จเพราะต้องควบคุมปัจจัยภายนอกที่เป็นสภาพแวดล้อมของไม้ผลนั้นด้วย ปัจจัยภายนอกได้แก่

๑. อุณหภูมิ 
      อากาศร้อน หนาวเย็น อบอุ่น มีผลต่อการออกดอกของไม้ผล ต้นไม้ที่ขึ้นในเขตร้อนถ้าผ่านฤดูหนาวซึ่งไม่จำเป็นต้องหนาวจัดมาช่วงเวลาหนึ่งพออากาศอุ่นขึ้นต้นไม้จะเริ่มออกดอกทันที แต่ไม้ผลในเขตหนาว เช่น แอปเปิล สาลี่ ต้องผ่านฤดูหนาวจัดอุณหภูมิต่ำมาก ๆ อาจถึงจุดเยือกแข็งพอเข้าฤดูใบไม้ผลิอากาศอุ่นขึ้นต้นไม้ก็จะออกดอกสะพรั่ง

๒. น้ำ 
      น้ำส่งผลให้ดินมีความชุ่มชื้น ถ้าชาวสวนรดน้ำต้นไม้ประเภทไม้ผลมากเกินไปต้นไม้จะแตกกิ่งใบมากแต่ไม่มีดอก ชาวบ้านเรียกกันว่า บ้าใบ ไม้ผลเขตร้อนจึงออกดอกได้ดีเมื่อขาดน้ำและมีอุณหภูมิต่ำในช่วงเวลาหนึ่งที่เหมาะสม ชาวสวนจึงงดให้น้ำในช่วงเวลาปลายฤดูฝนพอย่างเข้าฤดูหนาวที่แล้งต้นไม้จึงออกดอกมาก การงดน้ำเพียงช่วงเวลาหนึ่งจึงเป็นเทคนิคเร่งให้ไม้ผลออกดอกได้ดี

 

รูปแบบหนึ่งของการให้น้ำ ไม้ผล
รูปแบบหนึ่งของการให้น้ำ ไม้ผล


๓. แสง 
      ฤดูกาลที่เปลี่ยนแปลงไปจะมีผลต่อช่วงเวลากลางวันและกลางคืนในแต่ละเขต ด้านภูมิศาสตร์ประเทศไทยอยู่ในเขตร้อนฤดูร้อนจึงมีช่วงเวลากลางวันยาวหรือได้รับแสงสว่างยาวนาน พืชบางชนิดจึงออกดอกเราเรียกพืชประเภทนี้ว่า พืชวันยาว ส่วนพืชที่ออกดอกได้แม้พื้นที่นั้นมีช่วงเวลากลางวันไม่นานนักเรียกว่า พืชวันสั้น ดังนั้นถ้าจะควบคุมและกระตุ้นให้ต้นไม้ออกดอกจึงต้องควบคุมจำนวนชั่วโมงที่ต้นไม้ได้รับแสงเต็มที่

 

สรุปได้ว่า การควบคุมการออกดอกของไม้ผลทำได้หลายวิธี คือ 
      ๑. การใช้สารเคมีบางประเภท เช่น ใช้สารแพกโคลบิวทราโซลควบคุมการเติบโตของมะม่วง มะนาว ให้ออกดอกตามต้องการหรือใช้สารโพแทสเซียมคลอเรตกระตุ้นต้นลำไยให้ออกดอก เป็นต้น 
      ๒. ควบคุมปริมาณการให้น้ำ โดยหยุดรดน้ำช่วงเวลาหนึ่งปล่อยให้ดินแห้งต้นไม้ “พักตัว” การงดให้น้ำมักทำกันในฤดูแล้ง เมื่อขาดน้ำต้นไม้จะสร้างตาดอกขึ้นเมื่อเริ่มรดน้ำใหม่ตาดอกก็เติบโตเป็นช่อดอกต่อไป

 

การพักตัว ของต้นไม้ เพื่อสร้างตาดอกใหม่
การ "พักตัว" ของต้นไม้ เพื่อสร้างตาดอกใหม่

 

     ๓. การตัดแต่งกิ่ง ควั่นกิ่ง หรือรัดกิ่ง เมื่อต้องการให้ต้นองุ่น น้อยหน่า ฝรั่ง ออกดอกได้พร้อมกับการเจริญเติบโตของใบอ่อน ชาวสวนเลือกตัดแต่งกิ่งที่มีสีน้ำตาลให้สั้นจนเหลือใบน้อยที่สุด ต้นไม้จะสร้างใบขึ้นมาใหม่และสร้างตาดอกขึ้นมา  ส่วนการควั่นกิ่งหรือรัดกิ่งนั้นแต่เดิมชาวบ้านเชื่อกันว่าถ้าทรมานต้นไม้ด้วยการสับราก สับต้น ควั่นกิ่ง ใช้ลวดรัดกิ่งต้นไม้รู้สึกว่าใกล้จะตายจึงสร้างตาดอก เพื่อแพร่พันธุ์  ถ้าจะอธิบายตามหลักการทางวิทยาศาสตร์การทรมานต้นไม้ก็ คือ การขัดขวางการเคลื่อนที่ของอาหารจากใบสู่เปลือกไม้ที่จะส่งไปยังราก เมื่อรากขาดอาหารก็ไม่สามารถดูดน้ำและแร่ธาตุเพื่อส่งไปตามท่อน้ำผ่านเนื้อไม้ขึ้นไปสู่ยอดได้  ต้นไม้เกิดอาการคล้ายขาดน้ำและขาดธาตุอาหารจึงเริ่มออกดอกหลังจากนั้นประมาณ ๑ - ๒ เดือน ชาวสวนรดน้ำใหม่ ต้นไม้ก็สร้างเนื้อเยื่อปิดรอยควั่นเชื่อมประสานต่อท่ออาหารทำให้ต้นไม้เติบโตต่อไปได้ตามปกติ

 

การตัดแต่งกิ่งเพื่อให้ต้นไม้ สร้างใบและตาดอกขึ้นใหม่
การตัดแต่งกิ่งเพื่อให้ต้นไม้ สร้างใบและตาดอกขึ้นใหม่

 

 

 

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
  • Posted By
  • Plookpedia
  • 15 Followers
  • Follow