Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

พลาสติกย่อยสลายได้ทางชีวภาพ อีกหนึ่งทางออกของภาวะโลกร้อน

Posted By sanomaru | 21 มิ.ย. 60
10,207 Views

  Favorite

เราทุกคนกำลังเผชิญหน้ากับภาวะโลกร้อน ซึ่งสาเหตุหนึ่งมาจากการสร้างขยะในปริมาณมหาศาล ที่สำคัญขยะเหล่านั้นเป็นขยะที่ไม่สามารถย่อยสลายได้ตามธรรมชาติ แต่ต้องใช้กระบวนการบางอย่างในการย่อยสลาย และจะปลดปล่อยสารพิษสู่ชั้นบรรยากาศ ปัจจุบันจึงมีการรณรงค์ให้ใช้ผลิตภัณฑ์เพื่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น โดยเฉพาะผลิตภัณฑ์ต่างๆ ที่ทำจากพลาสติก

ภาพ : Shutterstock

 

พลาสติกเป็นวัสดุที่ผลิตจากน้ำมันดิบหรือก๊าซธรรมชาติ ซึ่งมีอยู่หลากหลายประเภทแตกต่างกันไปตามองค์ประกอบทางเคมี กระบวนการผลิต และคุณสมบัติ พลาสติกประเภทหนึ่งที่นิยมนำมาใช้เป็นวัสดุในการผลิตขวดน้ำดื่ม จาน ชาม เลนส์สำหรับแว่นตา แผ่นกันรอยหน้าจอโทรศัพท์มือถือ แผ่นซีดีและดีวีดี คือ พอลิคาร์บอเนต (Polycarbonate) อันประกอบไปด้วย BPA (Bisphenol A) และฟอสจีน (Phosgene) ซึ่งเป็นสารที่ก่อให้เกิดอันตรายในมนุษย์ เช่น ทำลายระบบหายใจ เป็นสาเหตุของโรคมะเร็ง มีผลต่อความจำและการเรียนรู้

 

อย่างไรก็ตาม นับเป็นเรื่องน่ายินดีอย่างยิ่งที่นักวิทยาศาสตร์จากศูนย์เทคโนโลยีเคมีอย่างยั่งยืน (CSCT) แห่งมหาวิทยาลัยบาธ ประเทศอังกฤษ ได้ทำงานวิจัยที่ค้นพบการผลิตพลาสติกประเภทพอลิคาร์บอเนตจากคาร์บอนไดออกไซด์และน้ำตาล ด้วยการใช้แรงดันต่ำในอุณหภูมิห้อง

 

สำหรับน้ำตาลที่ใช้ในการผลิตพลาสติกประเภทนี้ นักวิทยาศาสตร์ใช้ไทมิดีน (Thymidine) ซึ่งเป็นน้ำตาลชนิดเดียวกับที่พบในดีเอ็นเอ จึงปลอดภัยต่อมนุษย์มากกว่าพลาสติกแบบเดิม และยังมีประโยชน์ในแง่ของงานวิศวกรรมเนื้อเยื่อ เนื่องจากในทางชีวภาพ พลาสติกชนิดใหม่จะเข้ากันได้กับร่างกายมนุษย์ จึงสามารถนำไปใช้เป็นอวัยวะทดแทน เช่น รากฟันเทียม หรือกระดูก ตลอดจนการปลูกถ่ายอวัยวะได้ด้วย ทั้งนี้ นักวิจัยยังได้ศึกษาการใช้น้ำตาลชนิดอื่นๆ เพิ่มเติมด้วย เช่น ไรโบส (Ribose) แมนโนส (Mannose)

 

ยิ่งไปกว่านั้นพลาสติกจากคาร์บอนไดออกไซด์และน้ำตาลนี้ มีความแข็งแรง โปร่งใส และสามารถป้องกันรอยขีดข่วนได้ เช่นเดียวกับพลาสติกแบบเดิม แต่แตกต่างกันที่พลาสติกชนิดใหม่ สามารถย่อยสลายกลับเป็นคาร์บอนไดออกไซด์และน้ำตาลได้โดยใช้เอนไซม์ที่พบในแบคทีเรียในดิน จึงไม่ส่งผลกระทบต่อสิ่งมีชีวิต และไม่ต้องกังวลทั้งเรื่องวิธีการกำจัดหรือพื้นที่ฝังกลบ

 

งานวิจัยนี้นับว่าเป็นจุดเริ่มต้นที่ดี เนื่องจากหากมีการต่อยอดงานวิจัย พลาสติกชนิดนี้อาจช่วยลดปริมาณการปล่อยก๊าซพิษสู่ชั้นบรรยากาศ และนำไปสู่การลดภาวะโลกร้อนได้ในอนาคต

 

 

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
Tags
  • Posted By
  • sanomaru
  • 17 Followers
  • Follow