ในด้านการผลิตและการค้า
ขณะนี้ด้านการผลิตของทั้งภาคเอกชน และภาครัฐบาล และด้านการค้าในประเทศไทย ได้มีการใช้เทคโนโลยีชีวภาพอยู่พอประมาณ ดังตัวอย่างนอกเหนือจากที่กล่าวมาแล้วตอนต้นอีก เช่น
•ทางการเกษตร
ไม้ดอกไม้ประดับ
มีบริษัทเอกชนขนาดเล็กหลายแห่ง สามารถใช้เทคโนโลยีการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อผลิตต้นกล้วยไม้ และไม้ตัดดอกอื่น ๆ จำหน่าย คิดเป็นมูลค่าประมาณ ๕๐๐ ล้านบาทต่อปี
ไรโซเบียม
เป็นจุลินทรีย์ที่ช่วยในการสร้างธาตุอาหารของพืชประเภทถั่ว กรมวิชาการเกษตรผลิต และแจกจ่ายให้เกษตรประมาณ ๗๐ ตันต่อปี
•ทางอุตสาหกรรม
ส่วนประกอบของอาหาร
มีการจัดตั้งโรงงานผลิตไลซีน ซึ่งเป็นส่วนประกอบของอาหารสัตว์ ประมาณความต้องการ ๕๐ ล้านบาทต่อปี (มูลค่าสินค้า) มีการปรับปรุง และทดสอบกระบวนการผลิตกรดมะนาว ซึ่งเป็นส่วนประกอบของอาหารหลายชนิด ความต้องการประมาร ๑๐๐ ล้านบาทต่อปี
เอนไซม์กลูโคอะไมเลส และแอลฟาอะไมเลส
การผลิตในประเทศอยู่ในขั้นทดลอง ความต้องการของตลาดประมาณ ๑๐๐ ล้านบาทต่อปี สำหรับอุตสาหกรรมแปรรูปแป้ง
•ทางสาธารณสุขและการแพทย์
สารวินิจฉัยโรค
มีบริษัทเล็ก ๆ ผลิตในประเทศ มูลค่าตลาดประมาณ ๕๐๐ ล้านบาทต่อปี
ยาปฏิชีวนะ
มีโรงงานแห่งแรกในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ผลิตคานาไมซินจากวัสดุทางการเกษตร กำลังผลิต ๑๐ ตันต่อปี
การใช้เทคโนโลยีชีวภาพในการผลิต และการค้าในปัจจุบันนั้น เห็นได้ว่า ส่วนหนึ่งเป็นการนำเทคโนโลยีที่มีอยู่แล้วในต่างประเทศ เข้ามาประยุกต์ใช้สำหรับการผลิตภายในประเทศ เพื่อทดแทนการนำเข้า แต่ก็มีส่วนที่เป็นการพัฒนาเทคโนโลยี เพื่อผลิตสินค้าเพื่อส่งออกอยู่ด้วย เช่น การผลิตไม้ดอกไม้ประดับ เป็นต้น ในอนาคตคาดว่า จะมีการใช้เทคโนโลยีชีวภาพในการผลิต และการค้าส่งออกมากขึ้น ซึ่งจะต้องการการพัฒนาเทคโนโลยีที่ก้าวหน้าขึ้นกว่าในปัจจุบัน ในอนาคต การนำเข้าเทคโนโลยีจากต่างประเทศจะยังคงมีความสำคัญอยู่ แต่การแข่งขันกันทั้งในตลาดภายในประเทศ และต่างประเทศ จะบังคับให้วงการผลิตของเอกชน ต้องพัฒนาเทคโนโลยีในลักษณะที่ใหม่มากขึ้น ซึ่งก็หมายความว่า เราต้องสร้างพื้นฐานความรู้ความสามารถในด้านการวิจัยและพัฒนาขึ้นด้วย มิใช่จะเพียงนำเข้าเทคโนโลยีจากต่างประเทศฝ่ายเดียวเท่านั้น
ในการพัฒนาเทคโนโลยีชีวภาพภายในประเทศนั้น นอกจากมหาวิทยาลัย และหน่วยงานต่าง ๆ ด้านการเกษตร อุตสาหกรรม และสาธารณสุข จะเป็นผู้ดำเนินการภายในขอบเขตงานของตนแล้ว รัฐบาลยังได้จัดตั้งศูนย์พันธุวิศวกรรม และเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติขึ้น ภายในกระทรวงวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และการพลังงาน เพื่อส่งเสริมการวิจัยพัฒนา และการถ่ายทอดเทคโนโลยีสู่ภาคเอกชน และประชาชนโดยทั่วไปอีกด้วย