Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

การปลูกและการดูแลรักษาข้าวฟ่าง

Posted By Plookpedia | 18 มิ.ย. 60
2,556 Views

  Favorite

 การปลูกและการดูแลรักษาข้าวฟ่าง 

 

ฤดูปลูก 
        ข้าวฟ่างปลูกได้ตลอดปี แต่ทั้งนี้จำเป็นต้องเลือกพันธุ์ปลูกให้เหมาะสม เพราะพันธุ์ข้าวฟ่างบางพันธุ์มีความไวต่อช่วงแสง โดยทั่วไปแล้ว เกษตรกรไทยจะปลูกข้าวฟ่างแตกต่างกันเป็น ๒ ระบบ แล้วแต่ท้องที่บางแห่งปลูกเป็นพืชหลัก บางแห่งปลูกเป็นพืชรอง ถ้าปลูกเป็นพืชหลัก
จะปลูกต้นฤดูฝน ราวเดือนพฤษภาคม-มิถุนายน หรือในขณะที่มีฝนพอที่จะปลูกได้ หากข้าวฟ่างรุ่นแรกให้ผลดี หลังจากเก็บเกี่ยวแล้ว เกษตรกรจะตัดต้น ปล่อยให้แตกหน่อ เพื่อเก็บผลิตผลอีกครั้งหนึ่ง
แต่ถ้าแตกหน่อไม่ดีก็จะไถทิ้ง แล้วปลูกข้าวฟ่างใหม่ หรือพืชอื่นแทนการปลูกต้นฤดูฝนมีปัญหาที่สำคัญ คือ ปัญหาการตากข้าวฟ่าง เพราะผลิตผลของการปลูกรุ่นนี้จะเก็บเกี่ยวได้ในระยะที่มีฝนตกชุกหาที่ตากช่อยาก เมล็ดมักชื้น และมีเชื้อราเกิดขึ้น ทำให้ได้เมล็ดไม่มีคุณภาพ นอกจากนี้การปลูกต้นฤดูฝนมักจะมีหนอนเจาะต้นอ่อนข้าวฟ่าง ซึ่งเป็นแมลงศัตรูที่สำคัญระบาดทำลายต้นอ่อนมาก แต่ปริมาณของหนอนนี้ จะลดลงในตอนปลายฤดูฝน การปลูกข้าวฟ่างต้นฤดูฝนนี้ จะปฏิบัติกันมากในแถบที่ปลูกข้าวโพดไม่ค่อยได้ผล อาจจะเป็นเพราะดินระบายน้ำไม่ค่อยดี หรือฝนตกค่อนข้างน้อยไม่สม่ำเสมอ เช่น แถบจังหวัดสุพรรณบุรี และกาญจนบุรี หรือพื้นที่ที่เป็นดินทรายมาก ความชื้นไม่พอที่จะปลูกข้าวโพดได้เช่น ท้องที่บางแห่งในจังหวัดนครสวรรค์

 

ไร่ข้าวฟ่างลูกผสม

 

การปลูกข้าวฟ่างเป็นพืชรอง 
        เกษตรกรจะปลูกกันมากในบริเวณที่เป็นแหล่งปลูกข้าวโพด เช่น ในจังหวัดสระบุรี ลพบุรี นครราชสีมา และเพชรบูรณ์ โดยปลูกข้าวฟ่างเป็นพืชที่สองตามหลังข้าวโพด หลังจากเก็บเกี่ยวข้าวโพดแล้ว ซึ่งจะอยู่ในราวเดือนสิงหาคม-กันยายน การปลูกในช่วงนี้น่าจะเป็นช่วงที่เหมาะสมที่สุด ในสภาพการเพาะปลูกของประเทศไทย เพราะระยะที่ปลูก ดินจะมีความชื้นดี ทำให้เมล็ดงอกได้สม่ำเสมอ ต้นอ่อนเจริญเติบโตดี ข้าวฟ่างรุ่นนี้จะแก่และเก็บเกี่ยวได้เมื่อฝนหมดพอดี ทำให้สะดวกในการเก็บเกี่ยว และการตาก ได้เมล็ดที่แห้งสนิทสะอาด และมีคุณภาพดี ไม่มีปัญหาเรื่องเชื้อราที่เมล็ด ข้าวฟ่างในขณะที่เป็นกล้าไม่ค่อยทนแล้งมากนัก แต่จะทนแล้งได้ดีเมื่อต้นโตแล้ว จึงควรใช้คุณสมบัติข้อนี้ของข้าวฟ่างให้เป็นประโยชน์ คือ ปลูกพืชอื่นในต้นฤดูฝน แล้วปลูกข้าวฟ่างตาม ซึ่งข้าวฟ่างก็ยังสามารถให้ผลได้ดี วิธีนี้จะทำให้สามารถปลูกพืชได้ ๒ ครั้ง โดยอาศัยน้ำฝนแต่เพียงอย่างเดียว

 

การไถเตรียมดินเพื่อปลูกข้าวฟ่าง

 

การเตรียมดิน 
        ควรไถดินครั้งแรกให้ลึกประมาณ ๑๓-๑๖ เซนติเมตร เพื่อพลิกดินให้แตกและทำลายวัชพืช แล้วตากดินไว้ประมาณ ๑ สัปดาห์ จากนั้น จึงไถแปรหรือไถพรวนเพื่อย่อยให้ดินร่วน  โดยเฉพาะอย่างยิ่งบริเวณที่จะโรยเมล็ด เพราะต้นอ่อนของข้าวฟ่างเจริญเติบโตช้า ดินบริเวณดังกล่าวจึงควรเตรียมให้ร่วนซุยดี เพื่อให้เก็บหรืออุ้มความชื้นและอากาศถ่ายเทได้ดี เหมาะแก่การงอกและการเจริญเติบโต ของต้นอ่อนข้าวฟ่าง การเตรียมดินไม่ดีอาจจะทำให้เมล็ดงอกไม่สม่ำเสมอ การเตรียมดินดี นอกจากจะทำให้พืชที่ปลูกเจริญเติบโตดีแล้ว ยังจะช่วยลดปริมาณวัชพืชลงได้อีกด้วย

 

วิธีการปลูก 
        การปลูกข้าวฟ่างอาจจะใช้วิธีหว่านหรือปลูกเป็นแถว การปลูกโดยวิธีหว่าน เสียแรงงานในการปลูกน้อย แต่ต้นข้าวฟ่างจะขึ้นไม่สม่ำเสมอ บางแห่งอาจจะถี่เกินไป หรือห่างเกินไป และต้นขึ้นไม่เป็นแถวเป็นแนว ทำให้เข้าไปดายหญ้ากำจัดวัชพืชลำบาก จะเสียแรงงานในการดายหญ้า มากกว่าการปลูกแถว ถ้าหากจะปลูกด้วยวิธีหว่าน ควรเตรียมดินให้สะอาดจริง ๆ จะช่วยลดปริมาณวัชพืชลงได้บ้าง การหว่านใช้เมล็ดประมาณ ๓-๔ กิโลกรัมต่อไร่ ส่วนการปลูกเป็นแถวเป็นแนว
นอกจากจะสะดวกในการเข้าไปดายหญ้า กำจัดวัชพืชแล้ว ยังสามารถควบคุมระยะปลูกให้สม่ำเสมอกันได้ดีอีกด้วย การปลูกเป็นแถวอาจจะใช้วิธีหยอดเป็นหลุม หรือใช้ควายหรือรถไถเปิดร่องให้ลึก ๕-๘ เซนติเมตร แล้วโรยเมล็ดให้ห่างกันได้ระยะแล้วจึงกลบ ระยะปลูกที่แนะนำ คือ ระยะห่างระหว่างแถว ๕๐-๖๐ เซนติเมตร และระหว่างต้น ๑๐ เซนติเมตร หรือระยะระหว่างแถว ๖๐ เซนติเมตร ระหว่างหลุม ๓๐ เซนติเมตร และ ๓ ต้นต่อหลุม ซึ่งจะมีจำนวนต้นต่อไร่ประมาณ ๒๖,๐๐๐-๓๒,๐๐๐ ต้น หากต้นที่ขึ้นมาถี่เกินไป ควรจะถอนทิ้งเสียบ้างให้ได้ระยะตามที่ต้องการ ถ้าปล่อยให้ต้นถี่เกินไป จะทำให้ต้นเล็ก รวงเล็ก และผลิตผลต่ำ การปลูกแบบแถวใช้เมล็ดพันธุ์ประมาณ ๓ กิโลกรัมต่อไร่

 

ไร่ข้าวฟ่างที่ปลูกโดยวิธีหว่าน

 

การใส่ปุ๋ย 
        ถ้าดินที่ปลูกอุดมสมบูรณ์ดีอยู่แล้ว ก็ไม่จำเป็นต้องใส่ปุ๋ยอีก แต่ถ้าดินมีความอุดมสมบูรณ์ต่ำ
ก็ควรหาปุ๋ยคอก ปุ๋ยพืชสด หรือปุ๋ยเคมี ใส่ช่วยตามสมควร อัตราการใส่ปุ๋ยเคมีหรือปุ๋ยวิทยาศาสตร์ที่ควรใช้ จะแตกต่างกันไปตามสภาพความสมบูรณ์ของดิน ในแต่ละท้องที่ และแต่ละชนิดของดินโดยทั่ว ๆ ไป ถ้าดินมีความอุดมสมบูรณ์ต่ำ เช่น ในดินทรายแนะนำให้ใช้ปุ๋ยสูตร ๑๖-๑๖-๘ หรือ ๑๕-๑๕-๑๕ ในอัตราประมาณ ๓๕-๘๐ กิโลกรัมต่อไร่ แล้วแต่สูตรปุ๋ย สำหรับดินร่วนเหนียวที่ไม่อุดมสมบูรณ์นักใช้ปุ๋ยสูตร ๒๐-๒๐-๐ ในอัตรา ๒๕-๕๐ กิโลกรัมต่อไร่

 

ไร่ข้าวฟ่างที่ปลูกโดยวิธีปลูกเป็นแถว

 

การใส่ปุ๋ยในการปลูกแบบหว่าน ต้องหว่านปุ๋ยดังกล่าวแล้วพรวนกลบก่อนหว่านข้าวฟ่าง การปลูกเป็นแถวอาจใช้วิธีโรยในแถวที่จะปลูก หรือหยอดในหลุมที่จะหยอดเมล็ด แต่ต้องไม่ให้เมล็ดสัมผัสกับปุ๋ยได้ อาจจะโรยปุ๋ยก้นร่องหรือก้นหลุม แล้วกลบด้วยดิน ก่อนที่จะหยอดเมล็ด เนื่องจากปุ๋ยเคมีมีราคาแพง ฉะนั้น จึงควรใช้ปุ๋ยคอกหรือปุ๋ยหมักให้มากที่สุดเท่าที่จะหาได้ เพราะนอกจากจะลดค่าปุ๋ยแล้ว ปุ๋ยคอกและปุ๋ยหมักยังช่วยทำให้ดินร่วนซุย อมน้ำ และดูดซับธาตุอาหารได้ดีขึ้นอีกด้วย

การปลูกข้าวฟ่างโดยวิธีปลูกเป็นแถว เกษตรกรควรโรยปุ๋ยที่ก้นหลุม แล้วกลบก่อนหยอดเมล็ด
ข้าวฟ่าง เพื่อมิให้เมล็ดข้าวฟ่างสัมผัสกับปุ๋ย เพราะปุ๋ยจะดูดความชื้นจากเมล็ดทำให้งอกได้ยาก

 

 

การกำจัดวัชพืช 
        วัชพืชเป็นตัวแย่งน้ำและอาหารของพืชที่ปลูก หากปล่อยให้มีมากจะทำให้ผลิตผลต่ำ ควรจะดายหญ้ากำจัดวัชพืชอย่างน้อย ๒ ครั้ง ครั้งแรกควรทำเมื่อข้าวฟ่างมีอายุราว ๑ เดือน หรือขณะที่ข้าวฟ่างและวัชพืชยังเล็กอยู่ในระยะแรกๆ ข้าวฟ่างจะโตช้า ขึ้นสู้หรือแข่งกับวัชพืชไม่ทัน การกำจัดวัชพืชในช่วงนี้นับว่าสำคัญมาก หากปล่อยให้มีวัชพืช จะทำให้ผลิตผลของข้าวฟ่าง ลดต่ำลงมามาก การกำจัดวัชพืชครั้งที่ ๒ เมื่อข้าวฟ่างมีอายุประมาณ ๒ เดือน การปลูกข้าวฟ่างแบบหว่าน มักไม่มีการกำจัดวัชพืช เนื่องจากเข้าไปปฏิบัติในแปลงได้ลำบาก 

 

การใช้สารเคมีในการกำจัดวัชพืชในสภาพการเพาะปลูกข้าวฟ่างของประเทศไทยยังไม่เหมาะสม เนื่องจาก สารเคมีราคาค่อนข้างแพง ในกรณีที่ต้องการใช้ ควรใช้สารเคมีควบคุมวัชพืชอะทราซีน (atrazine) พ่นหลังจากปลูกข้าวฟ่างเสร็จแล้ว และดินยังมีความชื้นอยู่ ในอัตรา ๔๐๐ กรัมต่อไร่

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
Tags
  • Posted By
  • Plookpedia
  • 15 Followers
  • Follow