คำว่า "ชุมชน" เธออาจไม่ค่อยคุ้นหูสักเท่าไรนัก แต่คำ ๆ นี้มีความสำคัญสำหรับสิ่งที่มีชีวิตอย่างมากโดยเฉพาะสัตว์บางประเภทซึ่งย่อมรวมถึงมนุษย์อย่างเช่น "เธอ" และ "ฉัน" ด้วย เธอคงเคยเห็นมด ผึ้ง หรือปลวก แล้วเธอเคยเห็นรังที่เป็นที่อยู่อาศัยของสัตว์เหล่านี้ไหม เธออาจจะแปลกใจว่าทำไมรังของสัตว์เหล่านี้ล้วนแต่มีขนาดใหญ่โตกว่าตัวของมันมากและเธอเคยเห็นน้ำผึ้งที่คั้นจากรังของผึ้งไหม ปริมาณน้ำผึ้งที่ได้มีมากมายเมื่อเทียบกับผึ้งที่ตัวเล็กขนาด ๑ - ๒ เซนติเมตรนั้น สัตว์เหล่านี้ทำได้อย่างไรมันใช้อิทธิฤทธิ์เวทมนตร์อะไรบ้างหรือเปล่า
สัตว์ตัวเล็ก ๆ ที่มีความสามารถเกินตัวเหล่านี้คงต้องมีระเบียบและกติกาที่เป็นข้อตกลงบางอย่างของการอยู่รวมกันเป็นกลุ่ม มีการร่วมมือกันทำงาน มีการช่วยเหลือซึ่งกันและกัน เอื้ออาทรต่อกัน ตัวที่แข็งแรงก็ช่วยตัวที่อ่อนแอหรือตัวที่ช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ สิ่งเหล่านี้เป็นความลับที่สัตว์ขนาดเล็กเหล่านี้ใช้ในการทำเรื่องที่มีขนาดใหญ่เกินตัวมาก ๆ ได้ เราเรียกความลับนี้ว่า "ความเป็นชุมชน" หรือเราอาจจะกล่าวได้ว่าพลังของชุมชน ก็คือพลังในการสร้างสรรค์สิ่งต่าง ๆ นั่นเอง ทีนี้เธออาจหันมาดูรอบ ๆ ตัวเธอดูบ้างโดยเริ่มต้นจากภายในครอบครัวของเธอก็ได้ ลองนึกดูซิว่าครอบครัวของเธอมีข้อตกลงบางอย่างร่วมกัน หรือมีการร่วมมือกันทำงานหรือไม่ เช่น
ถ้าเธอได้สังเกตสิ่งเหล่านี้ เธออาจจะพบว่ามนุษย์อย่างเธอและฉันก็มีความลับเช่นเดียวกับพวกมด ผึ้ง หรือปลวก ความลับที่ว่านี้ยิ่งมีมากก็จะยิ่งทำให้ครอบครัวมีความอบอุ่นมากขึ้นและหากมีในสังคมก็จะทำให้สังคมน่าอยู่มากขึ้นด้วย แต่ถ้าเธอยังไม่ได้เริ่มทำก็เริ่มสำรวจละแวกบ้านที่เธอพักอาศัยในหมู่บ้านหรือหมู่บ้านจัดสรรว่าพวกเขามีกฎระเบียบที่ยึดถือร่วมกัน พวกเขามีกิจกรรมร่วมกัน หรือมีความเอื้ออาทรช่วยเหลือกันหรือไม่ ความลับเหล่านี้ก็เป็นความลับของชุมชนเช่นเดียวกับมด ปลวก ผึ้ง หรือครอบครัวของเธอนั่นเอง
เราคงเคยได้ยินคำว่า "ชุมชน" กันมาบ้าง แต่หลายคนอาจสงสัยว่า คือ สิ่งเดียวกับบ้าน หมู่บ้าน หรือตำบลหรือไม่ ซึ่งก็อาจตอบได้ว่าทั้งใช่และไม่ใช่ หมู่บ้านและตำบลคือหน่วยพื้นฐานการปกครองระดับล่างสุดของสังคมไทยเป็นหน่วยการปกครองทางกายภาพ กล่าวคือมีขอบเขตและอาณาบริเวณที่แน่นอน ในขณะที่คำว่า "ชุมชน" สามารถให้ความหมายครอบคลุมถึงหน่วยทางสังคมของกลุ่มคนที่มีวัตถุประสงค์ร่วมกัน มีการติดต่อสื่อสาร มีการรวมกลุ่ม มีความรัก และมีการเรียนรู้ร่วมกัน เพื่อการปฏิบัติการบางอย่าง เช่น กลุ่มออมทรัพย์ กลุ่มป่าชุมชน กลุ่มเหล่านี้อาจจะเป็นสมาชิกร่วมกันได้ทั้งหมู่บ้านหรือเฉพาะบางคนในหมู่บ้านหรือต่างหมู่บ้านกันก็ได้
นักมานุษยวิทยาและนักสังคมวิทยาสันนิษฐานว่า คำว่า "ชุมชน" นั้น น่าจะเริ่มนำมาใช้ในช่วงระหว่าง พ.ศ. ๒๔๙๓ - ๒๕๐๕ โดยบัญญัติมาจากคำภาษาอังกฤษว่า "community" เนื่องมาจากในระยะนั้นอิทธิพลของวิชาสังคมศาสตร์จากประเทศตะวันตกได้แพร่ขยายเข้ามาสู่ประเทศไทย เพื่อใช้ในการศึกษาสภาพสังคมชนบทซึ่งรัฐบาลก็ได้ใช้คำ ๆ นี้เรื่อยมา จนใน พ.ศ. ๒๕๐๕ รัฐบาลได้ตั้งหน่วยงานชื่อว่า "กรมการพัฒนาชุมชน" ในสังกัดกระทรวงมหาดไทย และด้วยเหตุที่คำว่า "ชุมชน" มักจะเกี่ยวข้องกับหน่วยงานด้านการปกครอง ความหมายของคำว่า "ชุมชน" ในระยะแรกจึงนำไปใช้ในความหมายที่ใกล้เคียง หรือซ้อนทับกับคำว่า "บ้าน" หรือ "หมู่บ้าน" ซึ่งมีฐานะเป็นหน่วยการปกครองที่มีขอบเขตพื้นที่ที่แน่นอน ภายใต้การควบคุมของรัฐ ความเข้าใจนี้ได้เป็นที่ยอมรับมาจนถึงปัจจุบัน โดยความหมายดังกล่าวมีข้อจำกัดอย่างมากเพราะในความเป็นจริงความสัมพันธ์ของคนมิได้ขึ้นกับขอบเขตของพื้นที่เพียงอย่างเดียว หากแต่คนยังมีความสัมพันธ์กันทางสังคมวัฒนธรรม และทรัพยากรธรรมชาติอีกทั้งยังมีพลังอย่างมากในการจัดการตัวเองและสังคม ซึ่งสามารถเห็นได้จากพื้นที่ต่าง ๆ ทั่วประเทศ อาทิ กลุ่มสัจจะสะสมทรัพย์ในจังหวัดจันทบุรี จังหวัดตราด จังหวัดสงขลา กลุ่มรักษาป่าชุมชนรักษาแม่น้ำในจังหวัดเชียงใหม่ จังหวัดน่าน จังหวัดตรัง กลุ่มโรงสีชุมชนในแถบอีสานตอนกลางอย่างจังหวัดยโสธร จังหวัดร้อยเอ็ด เป็นต้น
ในอดีตก่อนการปรับปรุงการปกครองในสมัยรัชกาลที่ ๕ นั้น คนในสังคมหรือชุมชนนั้น ๆ จะจัดการในเรื่องต่าง ๆ กันเอง เช่น การศึกษา การรักษาโรคภัยไข้เจ็บ การพัฒนาชุมชน การงานอาชีพ ฯลฯ โดยรัฐมีหน้าที่เพียงแต่ดูแลเรื่องความมั่นคงของประเทศและรักษาความสงบภายในหน่วยต่าง ๆ ของสังคมเท่านั้น ครั้นเมื่อมีการปรับปรุงการปกครองในสมัยรัชกาลที่ ๕ โดยจัดตั้งกระทรวงต่าง ๆ ขึ้น รัฐจึงเข้ามามีบทบาทในการดูแลความเป็นอยู่ของคนในสังคมหรือชุมชนมากขึ้นจนกระทั่งเกิดการเปลี่ยนแปลงการปกครองใน พ.ศ. ๒๔๗๕ รัฐ ยิ่งเพิ่มบทบาทและอำนาจหน้าที่มากขึ้นจนครอบคลุมทุกด้านของคนในชุมชนตั้งแต่เกิดจนตาย จนกลายเป็นว่ารัฐได้สร้างวัฒนธรรมแห่งการพึ่งพาและคอยให้หน่วยงานรัฐเข้ามาจัดการทุกเรื่องของชีวิตตั้งแต่เรื่องเล็ก ๆ เช่น ขยะในบ้าน การรักษาสุขภาพ ไปจนถึงเรื่องใหญ่ ๆ เช่น การขุดลอกคลอง การรักษาป่า ทั้งที่ในอดีตชุมชนสามารถจัดการกันเองหรือกล่าวอีกนัยหนึ่งได้ว่า สายใยในการอยู่ร่วมกันและวิถีทางในการอยู่รอดของคนในชุมชนนั้นขึ้นอยู่กับรัฐโดยสิ้นเชิง
ปัจจุบัน กล่าวได้ว่าสังคมไทยกำลังเผชิญกับปัญหาเชิงโครงสร้างที่สำคัญคือ โครงสร้างรัฐราชการแบบรวมศูนย์ที่มีขนาดใหญ่เกินไปและนับวันยิ่งด้อยประสิทธิภาพในการแก้ปัญหาต่าง ๆ ของสังคม ปัญหาจราจรในเมืองใหญ่ ปัญหาการแพร่ระบาดของยาเสพติด ปัญหาการระบาดของโรคเอดส์ หรือปัญหาการทำลายทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จนมีการกล่าวกันว่า "รัฐนั้นเล็กเกินไปสำหรับปัญหาใหญ่ ๆ และใหญ่เกินไปสำหรับปัญหาเล็ก ๆ" เหตุการณ์จลาจลเมื่อกลางเดือนพฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๓๕ ถือได้ว่าเป็นจุดหักเหที่สำคัญของประวัติศาสตร์การเมืองไทย ผลในเชิงรูปธรรมก็คือ มีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่เมื่อวันที่ ๑๑ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๔๐ ซึ่งเปิดโอกาสให้ประชาชนมีส่วนร่วมทางการเมืองและการปกครองตนเองมากขึ้น ดังจะเห็นได้จากการมีธรรมนูญฉบับใหม่มาตรา ๔๕ ที่บัญญัติเรื่องการรวมตัวกันเป็นชุมชนในชื่อต่าง ๆ มาตรา ๔๖ บัญญัติเรื่องสิทธิชุมชนหรือมาตรา ๘๐ บัญญัติว่ารัฐต้องเสริมสร้างความเข้มแข็งของชุมชน เป็นต้น
นอกจากการที่รัฐธรรมนูญจะเอื้อต่อการฟื้นฟูวิถีชีวิตของชุมชนแล้วควรจะต้องพิจารณาถึงองค์ประกอบอื่น ๆ ด้วย ได้แก่
๑. ชุมชนต้องมีพื้นที่สาธารณะเพื่อใช้สื่อสารหรือพบปะกันของคนในชุมชน เช่น สภากาแฟ ศาลาวัด งานบุญประเพณี ซึ่งจะทำให้เกิดการแลกเปลี่ยนข่าวสารและเรื่องราวต่าง ๆ ได้
๒. สมาชิกต้องมีส่วนร่วมในกิจกรรมต่าง ๆ ของชุมชน เช่น ร่วมคิด ร่วมทำร่วมตัดสินใจ ร่วมติดตามตรวจสอบ ในเรื่องต่าง ๆ ของชุมชน เพราะสมาชิกแต่ละคนมีประสบการณ์และมุมมองที่แตกต่างกันในฐานะสมาชิกของ "ชุมชน" จึงจำเป็นต้องเรียนรู้เรื่องราวทั้งหมดโดยอาจเป็นการพูดคุยหรือเรียนรู้ร่วมกัน
๓. ชุมชนต้องมีผู้นำที่มีความสามารถที่คอยกระตุ้นให้เกิดหรือสร้างจิตสำนึกของการเป็นเจ้าของซึ่งมักเป็นผู้นำอย่างไม่เป็นทางการและไม่มีอำนาจ แต่มีความสามารถหลากหลายแตกต่างกัน เราอาจพบผู้นำแบบนี้ได้ทั่วไป เช่น บางคนเป็นหมอพื้นบ้านเป็นผู้นำทางศาสนาหรือเป็นเกษตรกร เป็นต้น
๔. ชุมชนต้องตระหนักว่าผู้แก้ไขปัญหาหรืออำนาจที่แท้จริงนั้นไม่ได้ขึ้นอยู่กับกฎหมาย หน่วยงาน องค์กรของรัฐเท่านั้น แต่สามารถสร้างขึ้นได้ด้วยตนเองและความร่วมมือกับผู้อื่นซึ่งวิธีการคิดเช่นนี้นำไปสู่ความเชื่อมั่นที่ว่า "ประชาชนในท้องถิ่นเท่านั้น ที่สามารถแก้ปัญหาของท้องถิ่นได้"
๕. ความสัมพันธ์ระหว่างคนกับสถาบันภายในชุมชน เช่น สถาบันการศึกษา สถาบันศาสนา ต้องใกล้ชิดกันซึ่งจะก่อให้เกิดความซื่อสัตย์และความไว้วางใจกัน ทำให้เกิดพลังในการเปลี่ยนแปลง และแก้ไขปัญหาได้
๖. ชุมชนต้องมีสำนึกของความเป็นชุมชนและมีวัฒนธรรมการเอื้ออาทรต่อกัน ซึ่งจะสร้างหรือเกิดขึ้นได้จากการที่คนในชุมชนร่วมมือกันทำงานบ่อย ๆ ถือเป็นสายสัมพันธ์ที่ทำให้ทุกคน
"อยู่ร่วม" และ "อยู่รอด" ได้จนกระทั่งกลายเป็นสำนึกของความเป็นชุมชนในที่สุด
จากที่กล่าวมาจะเห็นได้ว่า "ชุมชนที่เข้มแข็ง" นั้นไม่ได้เกิดขึ้นเองไม่สามารถสร้างหรือสั่งได้จากหน่วยงานหรือสถาบันภายนอกใด ๆ มีเพียงคนในชุมชนเท่านั้นที่ต้องร่วมกันสร้าง หากพวกเราทุกคนอยากเห็นสังคมไทยน่าอยู่มากกว่าปัจจุบันก็ต้องร่วมกันปฏิบัติและสร้างระเบียบความสัมพันธ์แบบใหม่ให้เกิดขึ้นในสังคมของเรา