Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

อาหารสัตว์

Posted By Plookpedia | 15 มิ.ย. 60
19,200 Views

  Favorite

อาหารสัตว์

 

เด็ก ๆ คงเคยเห็นวัวควายเดินกินหญ้าอย่างช้าๆ อยู่ในทุ่งนา เห็นม้ายืนเล็มหญ้าอยู่ในสนามหญ้าสีเขียว เห็นแม่ไก่พาลูกเล็ก ๆ เดินคุ้ยเขี่ยหาเมล็ดข้าวเปลือก และตัวแมลงตามพื้นดิน เห็นฝูงเป็ดว่ายน้ำดำน้ำหาหอยปลาตามคูคลอง เหล่านี้เป็นการหาอาหารตามธรรมชาติ ของสัตว์เลี้ยงของเรา

แต่ก่อนนี้คนไทยเลี้ยงสัตว์ไว้เพียงเล็กน้อย เพื่อใช้งาน ชาวนา ชาวไร่เลี้ยงวัวควายไว้เพียงบ้านละสามหรือสี่ตัว สำหรับช่วยทำนา ทำไร่ เลี้ยงเป็ดเลี้ยงไก่ไว้เพียงฝูงเล็ก ๆ เพื่อกินไข่ แต่ในปัจจุบันเราเลี้ยงสัตว์กันเป็นจำนวนมาก มีผู้เลี้ยงโคนมจำนวนสองถึงสามร้อยตัว ในพื้นที่หลายร้อยไร่ เพื่อรีดนม ส่งเข้าโรงงานทำนมสดบรรจุกล่อง นมผง และนมเม็ด มีการเลี้ยงไก่จำนวนนับพันตัว เพื่อเอาเนื้อส่งไปขายต่างประเทศ

 

 

การเลี้ยงสัตว์จำนวนมาก ๆ เช่นนี้ เราไม่ใช้วิธีปล่อยให้สัตว์หาอาหารกินเองตามธรรมชาติ แต่จะหาอาหารดีมีคุณภาพให้ เพื่อสัตว์เลี้ยงจะได้เติบโตเร็ว ไม่เป็นโรค และให้ผลิตผลสูง

 

 

เราสามารถตรวจได้ว่า อาหารสัตว์ชนิดใดมีคุณภาพดีเหมาะสมกับสัตว์ และทำให้สัตว์เติบโตเร็วในชั่วระยะเวลาอันสั้น โดยใช้วิธีการทางวิทยาศาสตร์
 

เนื่องจากการที่มีผู้เลี้ยงสัตว์จำนวนมากดังกล่าวแล้ว จึงได้มีผู้คิดทำอาหารสัตว์สำเร็จรูปจำหน่าย การใช้อาหารสำเร็จรูปเลี้ยงสัตว์ สะดวกสบายกว่าซื้อหรือหาอาหารสัตว์หลาย ๆ ชนิดมาผสมเอง แต่ผู้เลี้ยงจำเป็นต้องมีความรู้ในการใช้ และต้องหาอาหารเสริมให้ จึงจะทำให้การเลี้ยงสัตว์ได้ผลดีตามต้องการ

 

อาหารสัตว์ส่วนใหญ่ได้มาจากวัสดุพลอยได้ หรือเศษเหลือจากอาหารมนุษย์ แหล่งอาหารสัตว์ในเมืองไทยอาจแบ่งออกได้เป็น ๖ แหล่งใหญ่ ๆ ได้แก่ แหล่งอาหารสัตว์ธรรมชาติ แหล่งอาหารสัตว์ที่มนุษย์ผลิตขึ้น เศษวัสดุเหลือใช้จากโรงงาน วัสดุพลอยได้จากไร่นา แหล่งอาหารสัตว์ที่เป็นผลิตภัณฑ์จากสัตว์ และทุ่งหญ้า ซึ่งปลูกขึ้นโดยเฉพาะ

แหล่งอาหารสัตว์ธรรมชาติ ได้แก่ พืช หญ้า ถั่ว ที่ขึ้นอยู่ตามธรรมชาติ หญ้าตามที่รกร้าง และในทุ่งนานอกฤดูทำนา ตามคันนา ป่าละเมาะ อาหารสัตว์ตามธรรมชาติเช่นนี้ ใช้ในการเลี้ยงโคกระบือ

 

 

แหล่งอาหารสัตว์ที่มนุษย์ผลิตขึ้นหรือปลูกขึ้น เพื่อใช้เป็นอาหารสัตว์โดยเฉพาะ ได้แก่ เมล็ดข้าวโพด ข้าวฟ่าง หัวมันสำปะหลัง ใช้เลี้ยงโค กระบือ และสุกร

เศษวัสดุเหลือใช้จากโรงงาน เช่น กากถั่วเหลือง กากถั่วลิสง รำข้าว ปลายข้าว กากเบียร์ กากน้ำตาล เศษสับปะรด กระดูกป่น และอื่น ๆ ใช้เลี้ยงสัตว์ได้หลายชนิด

 

 

วัสดุพลอยได้จากไร่นา ได้แก่ ใบพืชนานาชนิด เช่น ยอดอ้อย ต้นและเปลือกข้าวโพดฝักอ่อน ฟางข้าว ใช้เลี้ยงโค กระบือ แพะ และแกะ

แหล่งอาหารสัตว์ที่เป็นผลิตภัณฑ์จากสัตว์ เป็นส่วนที่เหลือ จากการใช้เป็นอาหารมนุษย์ เช่น ปลาป่น เปลือกหอย กระดูกสัตว์ เป็นต้น

 

เศษสับปะรด เศษวัสดุเหลือใช้ชนิดหนึ่งจากโรงงานอุตสาหกรรมใช้เป็นอาหารสัตว์ได้ดี

 

ทุ่งหญ้าซึ่งปลูกขึ้นโดยเฉพาะ สำหรับสัตว์ประเภทกินหญ้านั้น ใช้พันธุ์หญ้า และถั่วพันธุ์ดีโดยเฉพาะ ทุ่งหญ้าเช่นนี้บำรุงรักษา โดยการใส่ปุ๋ย กำจัดวัชพืช ปล่อยโคแทะเล็มเอง หรือตัดให้กิน พันธุ์หญ้าที่ใช้กันมาก ได้แก่ หญ้ารูซี และพืชอื่น ๆ เช่น ถั่วลาย ถั่วฮามาตาและกระถิน

 

สัตว์เลี้ยงจะเจริญเติบโตดี น้ำหนักเพิ่มเร็ว ในชั่วระยะเวลาอันสั้น และให้ผลิตผลสูง ถ้าได้รับอาหารคุณภาพดี เพียงพอกับความต้องการ ของร่างกาย เราสามารถตรวจสอบคุณภาพ ของอาหารสัตว์ได้ โดยวิธีการทางวิทยาศาสตร์ โดยทั่วไป ใช้วิธีวิเคราะห์หาส่วนประกอบทางเคมี เช่น หาปริมาณโปรตีน ไขมัน กากหรือเยื่อใย แร่ธาตุ ค่าพลังงาน สารย่อยยาก ตลอดจนสารพิษ และการย่อยได้ของอาหาร

 

ฝักและต้นข้าวฟ่าง ใช้เป็นอาหารเลี้ยงโคได้

 

อาหารสัตว์ที่มีคุณภาพดี จะต้องมีรสชาติดี ไม่เป็นรา ไม่มีสารพิษเจือปน มีค่าการย่อยได้สูง มีอัตราการเปลี่ยนอาหารเป็นเนื้อสูง มีระยะเวลาในการขุนสั้น และมีราคาถูก

 

อาหารสัตว์ที่มีคุณภาพดี จะต้องมีรสชาติดี ไม่เป็นรา ไม่มีสารพิษเจือปน
มีค่าการย่อยได้สูง มีอัตราการเปลี่ยนอาหารเป็นเนื้อสูง มีระยะเวลาในการขุนสั้น และมีราคาถูก

 

การให้อาหารแก่สัตว์เลี้ยง ควรเลือกชนิดอาหารให้เหมาะกับชนิดและประเภทของสัตว์เลี้ยง เช่น อาหารที่เหมาะกับไก่ไข่ ไก่เนื้อ หรือลูกไก่ ย่อมแตกต่างกัน กำหนดปริมาณอาหารอย่างพอเหมาะ แต่ก่อนนี้เกษตรกรผู้เลี้ยงสัตว์ซื้อวัตถุดิบอาหารสัตว์หลาย ๆ อย่าง นำมาผสมเองตามสูตรที่ต้องการ ปัจจุบันมีบริษัทตั้งโรงงานผลิตอาหารสำเร็จรูป จำหน่ายแก่ผู้เลี้ยงสัตว์ เช่น อาหารไก่ เป็ด และสุกร บางบริษัทผลิตอาหารโคนม และโคเนื้อด้วย

เพื่อป้องกันการปลอมปนอาหารสัตว์ อันจะก่อให้เกิดผลร้าย ต่อเกษตรกรผู้เลี้ยงสัตว์ จึงได้มีการกำหนดมาตรฐานอาหารสัตว์ขึ้น โดยกรมปศุสัตว์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ทำหน้าที่ควบคุม ตรวจตราการผลิตอาหารสัตว์ ให้มีมาตรฐานอย่างถูกต้อง

 

ชาวนาชาวไร่มักเลี้ยงสัตว์ไว้จำนวนไม่มากนัก เพื่อใช้งานหรือบริโภคภายในครอบครัว

 

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
Tags
  • Posted By
  • Plookpedia
  • 15 Followers
  • Follow