Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

โรคเกิดจากไวรัส

Posted By Plookpedia | 14 มิ.ย. 60
11,438 Views

  Favorite

โรคเกิดจากไวรัส 

      เอชไอวี (ดูในสารานุกรมไทยฯ เล่ม ๒๐ เรื่อง กลุ่มอาการภูมิคุ้มกันเสื่อมหรือโรคเอดส์) สมองอักเสบ กลุ่มอาการไข้เลือดออกเด็งกี่ ไข้หวัดใหญ่ (ดูในสารานุกรมไทยฯ เล่ม ๑๐ เรื่อง โรคติดต่อและโรคเขตร้อน) และตับอักเสบ (ดูในสารานุกรมไทยฯ เล่ม ๑๗ เรื่องโรคตับอักเสบจากไวรัส)
      กลุ่มอาการไข้เลือดออกที่จะกล่าวถึงต่อไป ได้แก่ กลุ่มอาการไข้เลือดออกฮันตาน ไข้เลือดออกมาร์บวร์ก ไข้เลือดออกอีโบลา ไข้ลาสสา โรคมือ-เท้า และปากเปื่อย โรคติดเชื้ออีไควน์ มอร์บิลลิไวรัส โรคติดเชื้อลิสสาไวรัสของค้างคาว โรคติดเชื้อ Parvovirus B19 ไข้ผื่นดอกกุหลาบ ตาแดงจากเชื้อไวรัส หัดเยอรมัน และฝีดาษวานร

 

กลุ่มอาการไข้เลือดออก (Hemorrhagic fever syndrome) 

      ไข้เลือดออกนั้นส่วนใหญ่จะเกิดจากเชื้อไวรัส  มีเชื้อไวรัสมากกว่าสิบชนิดเป็นตัวก่อโรคแต่ละชนิดมักจะพบในภูมิภาคต่าง ๆ กัน โดยพบแพร่กระจายกว้างบ้าง เฉพาะถิ่นบ้าง การติดต่อมักจะมีพาหะนำโรคเป็นสัตว์บ้าง เช่น แมลง และวงจรการติดต่อเป็นแบบชีวภาพคือ เชื้อไวรัสจะต้องการช่วงเวลาหนึ่งที่จะเพิ่มจำนวนในพาหะนั้น ๆ ก่อน จึงจะแพร่ต่อไปได้ด้วยเหตุนี้เองจึงแบ่งไข้เลือดออกเป็นกลุ่ม ๆ ตามประเภทของพาหะนำโรค ดังนี้ 

๑. ไข้เลือดออกชนิดที่มียุงเป็นพาหะ 

      ไข้เลือดออกเด็งกี่ (Dengue hemorrhagic fever) ซึ่งเป็นชนิดที่พบในประเทศไทย ในอเชียอาคเนย์ และในแถบแคริบเบียน 
      ไข้เหลือง (yellow fever) ซึ่งพบอยู่ในบางอาณาบริเวณของอเมริกาใต้ แอฟริกาใต้ และแอฟริกากลาง ซึ่งนอกจากตัวจะเหลืองหรือที่เรียกว่า ดีซ่าน จากการที่โรคไปทำให้ตับอักเสบแล้วยังจะทำให้มีเลือดออกที่ใต้ผิวหนังและตามอวัยวะต่าง ๆ ได้ด้วย
      ไข้เลือดออกริฟท์แวลเลย์ (Rift Valley fever) ในแอฟริกาก็มียุงเป็นพาหะ 

 

๒. ไข้เลือดออกชนิดที่มีเห็บเป็นพาหะ 

โรคนี้พบได้ทั้งในบริเวณแหลมไครเมียและในแอฟริกาจึงเรียกชื่อโรคว่า "ไครเมียน - คองโก โฮโมเรยิค ฟีเวอร์" (Crimean-Congo hemorrhagic fever) หรือไข้เลือดออกไครเมียน - คองโก 
ไข้ออมสก์ (Omsk hemorrhagic fever) พบในรัสเซีย 
ไข้ป่าคีอาซานูร์ (Kyasanur forest disease) ในอินเดียมีเห็บเป็นพาหะ 

 

๓. ไข้เลือดออกชนิดที่มีสัตว์แทะเป็นพาหะ 

      สัตว์แทะที่เป็นพาหะมักจะเป็นพวกหนูนานาชนิด เช่น หนูนา หนูบ้าน หนูป่า หนูเดียร์ สัตว์แทะพวกนี้ จะติดเชื้อไวรัสแบบเรื่อรังและสัตว์แทะที่มีเชื้อมักจะไม่เป็นโรค เมื่อเพ่นพานไปมาก็ปล่อยเชื้อออกทางน้ำลาย มูล และเยี่ยว สัตว์แทะจึงเป็นทั้งพาหะและเป็นแหล่งสะสมเชื้อโรคเอาไว้แพร่ต่อไป 
      ไข้เลือดออกเกาหลี (Korean hemorrhagic fever) ที่เกิดจากเชื้อฮันตาน (Hantaan virus) 
      ไข้เลือดออกจูนิน (Junin virus) ที่พบในอาร์เจนตินา 
      ไข้เลือดออกโบลิเวีย (Bolivian hemorrhagic fever) ที่เกิดจากไวรัสมาชูโบ (Machupo virus) 
      ไข้เลือดออกลาสสา (Lassa fever) ในแอฟริกา จะมีพวกหนูเป็นพาหะทั้งสิ้น 

 

พาหะนำโรคไข้เลือดออกได้
หนูบ้าน-หนูนา เป็นพาหะนำโรคไข้เลือดออกได้4

 

๔. ไข้เลือดออกชนิดที่ยังพิสูจน์ไม่ได้ แน่ชัดว่ามีสัตว์ชนิดใดเป็นพาหะ 

     โรคที่เกิด ได้แก่ ไข้อีโบลา (Ebola fever) และไข้มาร์กบัวร์ก (Marburg fever) ทั้งสองโรคนี้ แพร่อยู่ในแอฟริกา เป็นต้น

กลุ่มอาการไข้เลือดออกฮันตาน (Hantaan virus) 

      ไวรัสฮันตานนั้นติดต่อจากสัตว์แทะแพร่มาสู่คนทางน้ำลาย มูล และเยี่ยว โดยคนสูดหายใจเข้าไปแต่ยังไม่พบว่าติดต่อจากคนที่เป็นโรคไปยังคนอื่นได้โดยตรง โรคไข้เลือดออกเกาหลีนั้นอาจจะมีอาการอ่อน ๆ คือ มีไข้คล้าย ๆ ไข้หวัดใหญ่ สำหรับรายที่ติดเชื้อไวรัสฮันตานและมีอาการรุนแรง จะมีอาการเป็น ๓ ลักษณะ ดังนี้

 

เชื้อไวรัสฮันตาน
แม่น้ำฮันตานในเกาหลีเป็นแหล่งที่พบเชื้อไวรัสฮันตานเป็นครั้งแรก 

 

๑. ไข้เลือดออกที่มีอาการทางไต 

      อาการของโรคนี้จะ มีไข้สูงปวดเมื่อยตามเนื้อตามตัว มีเลือดออกใต้ผิวหนัง ออกที่ตาขาวจนตาแดงเป็นปื้น และบวมตามตัว ซึ่งเกิดจากไตอักเสบร่วมด้วยอาการแบบนี้เป็นลักษณะที่พบในเกาหลี จีน และประเทศอื่น ๆ ในเอเซีย 

๒. ไข้และมีอาการทางไต 

      ลักษณะนี้พบอยู่ทางกลุ่มสแกนดิเนเวีย อาการอ่อนกว่าลักษณะแรกและไม่ค่อยมีเลือดออก 
๓. ไข้และอาการทางปอด 
      คือมีไข้และปอดบวม ไม่มีเลือดออก ลักษณะนี้เพิ่งจะพบว่าระบาดในสหรัฐอเมริกาเมื่อต้นปี พ.ศ. ๒๕๓๗ และมีอัตราการตายสูงมากถึง ๗๐ %  ถ้ามีภาวะทางระบาดวิทยาที่พอเหมาะ เช่น หนูชุกชุมขึ้น คนอยู่กันแออัดมากขึ้น มีการเคลื่อนย้ายประชากร จากชนบทเข้าเมืองมากขึ้น คนบุกรุกป่ามากขึ้น หนูย้ายถิ่นฐานมาก และมีภูมิอากาศที่เหมาะสม โรคไข้เลือดออกเกาหลีจะสามารถระบาดได้ง่ายขึ้นรวมทั้งในประเทศไทยด้วย จากการสำรวจทางวิทยาการระบาดก็พบว่ามีการติดเชื้อไวรัสฮันตานนี้แล้วประปรายในประเทศไทย

ไข้เลือดออกมาร์บวร์ก 

      มีรายงานโรคครั้งแรกจากเมืองมาร์บวร์กสหพันธ์รัฐเยอรมนีเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๑๐  โดยมีรายงานว่าพนักงานประจำห้องทดลองและสัตวแพทย์ติดเชื้อจากลิงเขียวแอฟริกัน (African green monkey) ที่นำเข้าจากประเทศยูกันดา เพื่อนำเนื้อเยื่อไปเพาะผลิตวัคซีนป้องกันโรคโปลิโอ  ในครั้งนั้นมีผู้ติดเชื้อ ๓๑ คน และตาย ๗ คน ระยะฟักตัวประมาณ ๑ สัปดาห์ อาการที่สำคัญคือ มีไข้ ปวดศีรษะ ปวดตามตัว มีเลือดออก ใต้ผิวหนัง อาเจียน ถ่ายอุจจาระเป็นเลือดและช็อกในที่สุดก็เสียชีวิต  มีรายงานโรคเพิ่มเติมจากนครแฟรงค์เฟิร์ตและจากประเทศยูโกสลาเวียด้วย โรคนี้ไม่พบในลักษณะการระบาดใหญ่ สาเหตุเกิดจากเชื้อไวรัสในวงศ์ ฟิโลวิริเดอี (Filoviridae) เช่นกัน มีชื่อว่า ไวรัสมาร์บวร์ก (Marburg virus) ยังไม่มีวัคซีนป้องกันโรคขณะนี้รักษาได้โดยยาไรบาวิริน  โรคนี้อุบัติขึ้นจากการนำเอาลิงจากแอฟริกาส่งเข้าไปจำหน่ายในยุโรป

 

โรคไข้เลือดออกมาร์บวร์ก
ลิงเขียวแอฟริกันนำโรคไข้เลือดออกมาร์บวร์ก

 

ไข้เลือดออกอีโบลา 

      โรคไข้เลือดออกอีโบลา มีรายงานการระบาดครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๑๙ ที่ประเทศ ซูดาน และซาอีร์ ระยะฟักตัวประมาณ ๑ - ๒ สัปดาห์ อาการที่สำคัญคือผู้ป่วยจะมีอาการไข้สูงอย่างเฉียบพลัน ปวดศีรษะมาก ตาพร่ามัว อาเจียน ต่อมาจะมีผื่นขึ้นตามตัว มีจุดเลือดออกหรือมีจ้ำห้อเลือดใต้ผิวหนัง และมีการตกเลือดตามอวัยวะภายในต่าง ๆ ได้แก่ ตับ ไต กระเพาะอาหาร และลำไส้ ซึ่งมีผลทำให้ช็อก ผู้ป่วยจึงเสียชีวิตในระยะเวลารวดเร็วในอัตราป่วยตายตั้งแต่ร้อยละ ๓๐ จนถึงร้อยละ ๘๐ การระบาดในระยะเริ่มต้นมีรายงานเฉพาะใน ๒ ประเทศนั้น แต่ต่อมามีการระบาดซ้ำอีกหลายครั้ง ทั้งในประเทศซาอีร์และประเทศอื่น ๆ ในทวีปแอฟริกา ต้นเหตุของโรคเป็นเชื้อไวรัสอยู่ในวงศ์ฟิโลวิริเดอี (Family : Filovirdae) ชื่อไวรัส อีโบลา (Ebola virus) มีอยู่ ๓ สายพันธุ์ คือ สายพันธุ์ซูดาน (Sudan หรือ S strain) สายพันธุ์ซาอีร์ (Zaire หรือ Z strain) และล่าสุดแยกได้จากลิงที่ส่งไปจากฟิลิปปินส์และไปล้มป่วยเป็นจำนวนมากที่สถานีกักกันลิง เมืองเรสตัน สหรัฐอเมริกา จึงเรียกว่าสายพันธุ์เรสตัน (Reston หรือ R strain) สายพันธุ์หลังนี้ทำให้คนเลี้ยงลิงที่อยู่ใกล้ชิดติดเชื้อแต่ไม่ป่วยเป็นโรค  ส่วนอีกสองสายพันธุ์นั้นเป็นสายพันธุ์ก่อโรคในมนุษย์ยังไม่ทราบต้นเหตุของการระบาดเป็นครั้งแรกแต่เข้าใจว่าไวรัสคงจะอยู่ในลิง  การแพร่โรคสามารถแพร่จากผู้ป่วยไปสู่คนอื่นได้  ขณะนี้ยังไม่มีวัคซีนป้องกัน การรักษาสามารถใช้ยาไรบาวิรินรักษาได้ โรคนี้ยังไม่มีรายงานการติดโรคจากประเทศนอกทวีปแอฟริกา  โรคนี้คงอุบัติขึ้นเนื่องจากความแห้งแล้งและความอดอยากของลิงทำให้ลิงเข้าสู่หมู่บ้านและอาจเกิดจากคนจับลิงมาฆ่าเป็นอาหาร การอุบัติของโรคที่เรสตันเกิดจากการส่งลิงจากประเทศฟิลิปินส์ไปจำหน่าย

ไข้เลือดออกลาสสา (Lassa fever) 

      มีรายงานโรคครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๑๒ จากประเทศไนจีเรีย ระยะฟักตัวประมาณ ๒ - ๓ สัปดาห์ อาจสั้นเพียง ๔ วัน หรือนานว่า ๑ เดือน  อาการเริ่มแรกคือจะมีไข้สูงแบบเฉียบพลันปวดศีรษะ ปวดตามตัว มีแผลในปากใน คอ ปอดบวมน้ำ มีน้ำในช่องเยื่อหุ่มปอด มีผื่นตามตัว มีจุดเลือดออกใต้ผิวหนัง ในปัสสาวะมีโปรตีน มีเลือดออกจากทางเดินอาหาร เม็ด เลือดขาวต่ำ เกล็ดเลือดต่ำ โรคนี้เกิดจากไวรัส ลาสสา (Lassa virus) ระบาดได้ทั้งในชนบทและเขตเมืองโดยมีหนูเป็นพาหะของโรค อัตราการตายสูงถึง ๒๐% พบเฉพาะในแอฟริกา โรคนี้เกิดจากมีหนูชุกชุมขึ้นในหมู่บ้านเนื่องจากการ จัดการสุขาภิบาลสิ่งแวดล้อมไม่ดี

โรคมือ-เท้า และปากเปื่อย (Hand-foot  and mouth disease)

      โรคนี้มีรายงานเป็นครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๑๒ จากรัฐแคลิฟอร์เนีย โดยเด็กที่ป่วยมีอาการสมองอักเสบและเยื่อหุ้มสมองอักเสบ อีกสามปีต่อมาจึงมีรายงานโรคจากนอกเขตรัฐแคลิฟอร์เนีย มักเป็นกับเด็กอายุต่ำกว่า ๖ ขวบ โรคนี้มีระยะฟักตัว ๓ - ๖ วัน เริ่มแรกจะมีไข้นำก่อนสองสามวันแล้วจึงมีอาการทางสมองอาจมีอาการอัมพาตคล้ายโปลิโอตามมา อาการที่สำคัญคือจะมีตุ่มพองที่มือ เท้า และในปาก มีผื่นนูนแดงตามผิวหนัง มีอาการของกล้ามเนื้อ หัวใจอักเสบ ปลายประสาทอักเสบหลายตำแหน่งอาจมีอาการทางระบบหายใจคือหวัดร่วมด้วย  ปัจจุบันพบโรคนี้ระบาดประปรายทั่วโลก ต้นเหตุของโรคคือ ไวรัสเอ็นเตโรไวรัส ๗๑ (enterovirus 71) การระบาดครั้งสุดท้ายเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๔๐ ที่ซาราวัดประเทศมาเลเซียและใน ปี พ.ศ. ๒๕๔๑ ระบาดที่ไต้หวัน โรคนี้ยังไม่มียารักษาและไม่มีวัคซีนป้องกัน ไม่ทราบว่าโรคนี้อุบัติขึ้นจากสาเหตุใดและมีอะไรเป็นปัจจัยที่สำคัญเข้าใจว่าจะเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม

โรคติดเชื้ออีไควน์ มอร์บิลลิไวรัส (Equine morbillivirus)

      มีรายงานโรคเป็นครั้งแรกในประเทศออสเตรเลียเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๓๗ ไวรัสที่ก่อโรคเรียกชื่อว่า Equine morbillivirus เป็นไวรัสที่อยู่ในจีนัสเดียวกันกับไวรัสก่อโรคหัดในคน โดยเกิดการระบาดในม้าก่อน ม้าจะป่วยด้วยโรคระบบหายใจ ปอดบวม และล้ม คนติดโรคจากการสัมผัสกับสิ่งคัดหลั่งและน้ำมูกของม้าที่เจ็บ ในคนจะมีระยะฟักตัวประมาณ ๑ - ๒ สัปดาห์ อาจมีอาการปอดบวมหรือสมองอักเสบ ทั้งในม้าและในคนมีอัตราการตายสูง  โรคนี้มีบ่าง (Pteropus flying fox) เป็นตัวนำโรคไปสู่ม้า ยังไม่มีวิธีรักษาและไม่มีวัคซีนป้องกันโรค ขณะนี้มีรายงานจากออสเตรเลียเพียงประเทศเดียว โรคนี้เกิดจากมีค้างคาวหรือบ่างซึ่งเป็นพาหะของโรคมากขึ้น

โรคติดเชื้อลิสสาไวรัสจากค้างคาว (Lyssa bat virus)

      เป็นโรคติดเชื้อไวรัสที่สัมพันธ์ใกล้ชิดกับไวรัสโรคพิษสุนัขบ้า เรียกชื่อว่า lyssa bat virus ระยะฟักตัวประมาณหนึ่งเดือนถึงหลายเดือน การติดเชื้อทำให้เป็นโรคคล้ายโรคพิษสุนักบ้าในคนและทำให้ตายได้เช่นกัน ติดโรคโดยถูกค้างคาวกัดหรือข่วน มีรายงานจากทวีปยุโรปเป็นครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๒๘ และมีรายงานล่าสุดจากประเทศออสเตรเลียว่าเกิดในคนที่ถูกบ่าง (pteropus flying fox) ข่วน เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๓๙ ยังไม่มีวิธีการรักษาโรค หากไปสัมผัส (ถูกค้างคาวหรือบ่างกัดหรือข่วน) ให้ปฏิบัติทำนองเดียวกับการป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า ทั้งนี้รวมทั้งการฉีดวัคซีนแบบหลังสัมผัสโรคโดยฉีดให้ครบชุดก็จะสามารถป้องกันโรคนี้ได้  โรคนี้เกิดจากการที่มีค้างคาวซึ่งเป็นพาหะนำโรคชุกชุมขึ้น

 

โรคติดเชื้อลิสสาไวรัส และโรคพิษสุนัขบ้า
ค้างคาวเป็นพาหะนำโรคติดเชื้อลิสสาไวรัส และโรคพิษสุนัขบ้า

 

โรคติดเชื้อพาร์โวไวรัสบี ๑๙ (Parvovirus B19) 

      ไวรัสดีเอ็นเอขนาดเล็กนี้พบครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๑๒ เชื้อนี้ทำให้เกิดโรคหลายโรค ได้แก่ ไข้ออกผื่นในเด็กที่มีชื่อว่า Erythema infectiosa หรือ fifth disease ระยะฟักตัวประมาณ ๑ สัปดาห์     ผู้ป่วยจะมีอาการหวัด เจ็บคอ มีผื่น ปวดท้อง มีการทำลายเม็ดเลือดอย่างรุนแรงและรวดเร็ว จนกลายเป็นโลหิตจางแบบอะพลาสติก   พบบ่อยในเด็กวัยเรียนและมักระบาดในโรงเรียน ติดต่อกันทางระบบหายใจ การอยู่ใกล้ชิดกัน ติดจากผู้ป่วยไปสู่คนอื่นได้ หากมีการติดเชื้อตั้งแต่อยู่ในครรภ์ทารกจะตายก่อนคลอด (คือการคลอด เอาเด็กที่ตายแล้วออกมา) ขณะมีไข้จะมีผื่นเกิดขึ้นมักเกิดที่แขนขา ไม่ค่อยเกิดตามลำตัว ผื่นที่เกิดขึ้นที่หน้าจะเป็นผื่นแดงคล้ายโดยตบหน้าแต่รอบ ๆ ปากจะไม่มีผื่น โรคนี้พบว่ามีการระบาดประปรายทั่วโลก โรค Erythema infectiosa เป็นโรคที่รู้จักกันมานานแล้วแต่เชื้อก่อโรคเพิ่งจะเป็นที่รู้จักกัน

 

อีสุกอีใส
อีสุกอีใสก็เป็นไข้ออกผื่นชนิดหนึ่ง

 

ไข้ผื่นกุหลาบ (Roseola infantum) 

      โรคนี้เป็นโรคที่รู้จักกันมานานแล้วเกิดกับทารกและเด็กเล็กมีชื่อพ้องคือ Exanthem subitum ระยะฟักตัว ๑๐ - ๑๕ วัน แต่เพิ่งจะพบต้นเหตุของโรคว่าเป็นเชื้อไวรัสเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๓๑ คือ Herpesvirus type 6 เด็กจะมีไข้ ๓ - ๕ วัน ขณะที่ไข้ขึ้นสูงอาจชักโดยทั่วไปจะมีอาการหวัด ต่อมน้ำเหลืองที่บริเวณข้างคอโต หลังไข้ลดภายใน ๒๔ ชั่วโมง มีผื่นนูนแดงขึ้นตามตัวอาจพบว่ามีสมองอักเสบ เยื่อหุ่มสมองอักเสบด้วย การแพร่ของโรคคือการติดต่อโดยตรงจากผู้ป่วยคนหนึ่งไปยังอีกคนหนึ่ง เป็นแล้วจะหายได้เองและไม่กลับมาเป็นซ้ำอีก โรคนี้เป็นโรคที่เพิ่งจะพบเชื้อซึ่งเป็นต้นเหตุเมื่อไม่นานมานี้แต่ตัวโรคเองรู้จักกันมานานแล้ว 

ตาแดงจากเชื้อไวรัส (Acute hemorrhagic conjunctivitis) 

      โรคนี้ระบาดเป็นครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๑๒ จากประเทศกานาขณะนี้พบได้ทั่วโลก ระยะฟักตัวสั้นเพียง ๒๔ - ๔๘ ชั่วโมง อาการเริ่มแรกจะมีความรู้สึกคันตา เคืองตา น้ำตาไหล ทนแสงแดดจ้าไม่ได้ อาการเกิดขึ้นโดยปัจจุบันโดยเริ่มที่ตาข้างใดข้างหนึ่งก่อนชั่วระยะเพียงวันเดียวจะลามไปยังตาอีกข้างหนึ่ง ต่อมาจะมีอาการปวดตา ตาแดง มีจุดเลือดออกใต้ตาขาว อาการเลือดออกนี้จะทุเลาไปเองภายใน ๗ - ๑๒ วัน อาการตาอักเสบมักจะเป็นอยู่ประมาณ ๗ วัน โรคนี้มักเกิดขึ้นในลักษณะของอาการระบาดต้นเหตุของโรค ได้แก่ ไวรัส enterovirus 70 และ Coxsackie A 24 Variant ส่วนไวรัส Adenovirus type อาจทำให้ตาแดงได้ แต่มักไม่มีเลือดออกใต้เยื่อบุตาขาว โรคนี้มีรายงานในประเทศไทยเช่นกันแต่ยังไม่ทราบว่าอะไรเป็นปัจจัยทำให้โรคนี้อุบัติขึ้นมาใหม่

 

โรคตาแดงจากเชื้อไวรัส
โรคตาแดงจากเชื้อไวรัส

 

โรคหัดเยอรมัน (German measles, rubella) 

      มีชื่อเรียกอีกชื่อหนึ่งว่าโรครูเบลลา เป็นโรคติดเชื้อซึ่งจะติดต่อโดยการสัมผัสกับน้ำมูก น้ำลาย ละอองฝอยของน้ำมูก น้ำลายของผู้ป่วยจะมีเชื้อซึ่งแพร่ได้ตั้งแต่ ๒ - ๓ วัน ก่อนมีอาการของโรค และแพร่ต่อไปได้อีกประมาณหนึ่งสัปดาห์หลังจากอาการทุเลาแล้ว ระยะฟักตัวของโรคประมาณ ๒ - ๓ สัปดาห์  โรคนี้เป็นโรคที่มีอาการอ่อน ในประเทศไทยพบว่ามีผู้ป่วยทั้งเด็กและผู้ใหญ่ลักษณะสำคัญของโรคคือ มีไข้ไม่สูงนัก มีน้อย รายที่มีไข้สูงถึง ๔๐ องศาเซลเซียส ไข้จะเป็นอยู่ประมาณ ๑ - ๒ วัน ก็จะมีผื่นนูนขนาดเล็กสีแดงจาง ๆ กระจายตามผิวหนัง แต่ก็อาจรวมกันเป็นปื้นได้ในบางบริเวณ ผื่นจะขึ้นที่ใบหน้า คอ และหลังหู แล้วแพร่กระจายลงไปที่ลำตัวและแขนภายในเวลา ๒๔ ชั่วโมง เมื่อผื่นขึ้นเต็มที่ไข้จะลดอาการจะเริ่มทุเลาผื่นจะเริ่มจางจากหน้าลงไป นอกจากมีไข้และผื่นแล้วจะมีต่อมน้ำเหลืองโตบริเวณหลังหูและท้ายทอยตอนล่าง เมื่อกดจะรู้สึกเจ็บ ต่อมน้ำเหลืองจะโตก่อนจะมีอาการไข้ อาจมีอาการปวดข้อนิ้วมือ ข้อมือ และข้อเท้า ร่วมด้วยก็ได้
      ตามปกติโรคนี้เป็นในเด็กแต่ถ้าเป็นในผู้ใหญ่จะมีอาการหนักกว่า คือ มีไข้สูง ปวดเมื่อยตามตัวและปวดตามข้อมาก โรคนี้เป็นแล้วหายได้เองและมีภูมิคุ้มกันอยู่ได้ตลอดชีวิต ถ้าสตรีที่กำลังตั้งครรภ์เพียงไม่กี่เดือนเป็นโรคนี้ทารกจะพิการตั้งแต่กำเนิด เช่น ตาเป็นต้อกระจก ต้อหิน หูหนวก ผนังกั้นหัวใจโหว่ และยังมีความพิการอื่น ๆ อีกหลายประการ  โรคนี้มีวัคซีนฉีดป้องกันโดยฉีดเพียงครั้งเดียวก็สามารถป้องกันได้ตลอดชีวิต  วินิจฉัยได้จากอาการของโรคและการชันสูตรทางห้องปฏิบัติการ

 

โรคหัดเยอรมัน
โรคหัดเยอรมันเป็นโรคติดเชื้ออุบัติซ้ำชนิดหนึ่ง

 

ฝีดาษวานร 

      มีไวรัสอีกชนิดหนึ่งที่อยู่ในสกุลเดียวกันกับไวรัสไข้ทรพิษซึ่งก่อให้เกิดโรคฝีดาษในสัตว์มีอยู่สปีชีส์หนึ่งที่ก่อโรคในลิงทำให้เกิดโรคที่มีชื่อว่า Monkey pox virus โรคนี้อาจติดต่อไปยังคนได้ แต่อาการก็จะอ่อนกว่าไข้ทรพิษหรือฝีดาษแท้ ๆ ไข้ฝีดาษวานรนี้มีรายงานในลักษณะของการระบาดย่อม ๆ ที่มณฑลคาซายโอเรียนทัล (Kasai Oriental) ประเทศซาอีร์ระหว่างปี พ.ศ. ๒๕๓๙ - ๒๕๔๐ โรคนี้ตามปกติจะระบาดอยู่ในลิงในป่าเขตร้อนฝนชุกในแอฟริกากลางและแอฟริกาตะวันตก  ไวรัสอาจจะแพร่จากลิงไปสู่คนได้โดยทำให้เกิดโรคคล้าย ๆ ไข้ทรพิษ บางรายมีความรุนแรงจนทำให้เสียชีวิตได้  จากเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๓๙ จนถึงเดือนสิงหาคมในปีเดียวกันมีผู้ป่วยที่มีอาการของโรคไข้ฝีดาษวานร ๗๑ ราย เสียชีวิต ๖ ราย โรคเกิดขึ้น ๑๓ ตำบล ในประเทศซาอีร์ในเขตคาตาโค-คอมเบ (มีประชากรประมาณ ๑๕,๖๙๘ คน) มณฑลแซนคูรู มณฑลคาซาย- โอเรียนทัล ได้มีการส่งสะเก็ดตุ่มและเลือดของผู้ป่วย ๑๑ รายไปยังห้องชันสูตร  ได้ผลยืนยันว่าเป็นไข้ฝีดาษวานรทั้ง ๑๑ ราย โดยได้ส่งไปตรวจที่ศูนย์ควบคุมโรคและป้องกันโรคแห่งสหรัฐอเมริกาที่นครแอตแลนตา มลรัฐจอร์เจีย สหรัฐอเมริกา ได้มีผู้เชี่ยวชาญเดินทางไปตรวจสอบโรค ณ บริเวณที่มีการระบาด พบว่ามีการติดต่อจากคนไปสู่คนได้ แต่ที่ระบาดในระยะแรกเป็นการแพร่โรคจากสัตว์ไปยังคนเท่านั้น โรคนี้อุบัติขึ้นจากความแห้งแล้งและความก้าวหน้าของเทคโนโลยีทางการแพทย์ที่สามารถกำจัดกวาดล้างไข้ทรพิษ ให้หมดไปจากโลกการปลูกฝีป้องกันไข้ทรพิษจะป้องกันไข้ฝีดาษวานรได้

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
  • Posted By
  • Plookpedia
  • 15 Followers
  • Follow