Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

การพัฒนาและการผลิต

Posted By Plookpedia | 13 มิ.ย. 60
1,115 Views

  Favorite

การพัฒนาและการผลิต

      เมื่อผลการสำรวจหาแหล่งปิโตรเลียมสามารถจะประเมินปริมาณสำรองของปิโตรเลียมที่มีสมรรถนะเชิงพาณิชย์เป็นที่แน่นอนแล้วตลอดจนสามารถระบุชนิดและคุณภาพของปิโตรเลียมได้ชัดเจน ขั้นต่อไปก็จะเป็นการพัฒนาและผลิตปิโตรเลียม การวางแผนเพื่อพัฒนาและผลิตปิโตรเลียมจากแหล่งนั้นอาจพัฒนาหลุมเจาะสำรวจปิโตรเลียมเดิมให้เป็นหลุมผลิตหรือจะทำการเจาะหลุมใหม่เพื่อการผลิตปิโตรเลียมเพิ่มเติมอีกตามเป้าหมายที่ได้กำหนดไว้ การกำหนดตำแหน่งหลุมผลิตนั้นมีหลักเกณฑ์ที่ประเมินแล้วว่าสามารถดำเนินการผลิตปิโตรเลียมให้เป็นไปโดยมีประสิทธิภาพสูงสุด 
      ปิโตรเลียมที่ผลิตขึ้นมาได้จากแหล่งนั้นจะมีทั้งส่วนที่เป็นน้ำมันดิบและแก๊สธรรมชาติโดยมีอัตราส่วนของแก๊สธรรมชาติต่อน้ำมันดิบในกรณีที่มีปิโตรเลียมทั้งสองชนิดสะสมรวมกันในแหล่งจะขึ้นอยู่กับธรรมชาติและคุณภาพของปิโตรเลียมที่ปรากฏเฉพาะในแต่ละแหล่ง 

(ก) การผลิตน้ำมันดิบ 

      แหล่งน้ำมันดิบบางแหล่งนั้นน้ำมันดิบสามารถจะไหลขึ้นมาถึงปากหลุมได้เองทั้งนี้เพราะน้ำมันดิบถูกกักเก็บในแหล่งภายใต้สภาพความกดดันสูง เมื่อหลุมเจาะเพื่อผลิตน้ำมันดิบทะลวงลึกลงไปถึงแหล่งปิโตรเลียมก็จะทำให้ความกดดันของแหล่งลึกดันเอาน้ำมันขึ้นมาสู่ระดับผิวดิน อย่างไรก็ดีสำหรับแหล่งน้ำมันดิบที่ไม่สามารถไหลขึ้นมาสู่ปากหลุมได้เองก็ต้องติดตั้งเครื่องสูบหรืออุปกรณ์ในการผลิตบางอย่างมาช่วยที่ปากหลุมหรือในหลุมผลิตหรืออาจใช้วิธีการนำเอาแก๊สธรรมชาติหรือแก๊สชนิดอื่นที่เหมาะสมอัดลงไปให้หมุนเวียน  ในหลุมผลิตเพื่อช่วยดันให้น้ำมันดิบขึ้นมาที่ปากหลุม เมื่อมีการผลิตน้ำมันดิบจากแหล่งเกิดขึ้นนั้นความกดดันในแหล่งน้ำมันดิบจะลดลงซึ่งจะทำให้ความสามารถในการผลิตลดลงด้วย ดังนั้นจึงต้องมีวิธีการรักษาความกดดันของแหล่งน้ำมันดิบโดยการอัดน้ำหรือแก๊สธรรมชาติลงไปในแหล่ง ถ้าธรรมชาติของแหล่งกักเก็บมีความเหมาะสมโดยเฉลี่ยแล้วปริมาณน้ำมันดิบที่แทรกตัวอยู่ในรูพรุนหรือรอยแตกของหินกักเก็บน้ำมันนั้นมีเพียงร้อยละ ๒๕ ถึง ๖๐ เท่านั้น ที่สามารถสกัดหรือผลิตออกมาใช้ประโยชน์ได้ ทั้งนี้น้ำมันส่วนที่เหลืออาจผลิตได้ด้วยเทคโนโลยีในปัจจุบันแต่ก็สิ้นเปลืองค่าใช้จ่ายสูงเกินจุดคุ้มทุน 

 

หัวเจาะ
หัวเจาะ

 

ปั๊มน้ำโคลน
ปั๊มน้ำโคลน


      อย่างไรก็ดีการผลิตน้ำมันดิบโดยให้เหลือตกค้างอยู่ในแหล่งใต้ดินน้อยที่สุดนั้นก็ถือได้ว่าเป็นการผลิตที่มีประสิทธิภาพสูงสุด กระบวนการทางเทคนิคเพื่อเพิ่มพูนประสิทธิภาพในการผลิตโดยการเพิ่มอุณหภูมิในแหล่งน้ำมันดิบเพื่อลดความหนืด (Viscosity) ของน้ำมันดิบลง ทำให้น้ำมันดิบไหลได้สะดวกขึ้นสามารถกระทำได้โดยการอัดไอน้ำร้อนลงไปในแหล่งหรือการอัดสารละลายเคมีลงไปในแหล่งน้ำมันดิบเพื่อชะล้างละลายเอาน้ำมันดิบที่ตกค้างในแหล่งกักเก็บออกมา กระบวนการเหล่านี้จะต้องได้รับการศึกษาและทดสอบจนเป็นที่แน่ใจก่อนว่าได้ผลดีก่อนนำไปปฏิบัติจริงทั้งนี้เพราะเป็นเทคนิคที่ต้องลงทุนด้วยค่าใช้จ่ายสูงมาก 

 

เครื่องสูบและถังเก็บน้ำมันดิบ
เครื่องสูบและถังเก็บน้ำมันดิบ

 

(ข) การผลิตแก๊สธรรมชาติ 

      กระบวนการผลิตแก๊สธรรมชาติค่อนข้างจะยุ่งยากซับซ้อนมากกว่ากระบวนการผลิตน้ำมันดิบ ทั้งนี้เนื่องจากจะต้องมีการควบคุมความกดดันของแก๊สธรรมชาติในแหล่งอย่างรัดกุม นอกจากนี้เมื่อแก๊สธรรมชาติที่ผลิตได้มีสภาพความกดดันต่ำเกินไปก็จะต้องมีการเพิ่มความกดดันให้เพียงพอที่จะสามารถไหลไปได้ตามท่อส่ง โดยทั่ว ๆ ไปแล้วแก๊สธรรมชาติจากแหล่งสามารถไหลขึ้นมาถึงปากหลุมได้โดยความกดดันตามธรรมชาติที่มีอยู่ในแหล่งซึ่งได้รับการควบคุมระหว่างการผลิต หลังจากเริ่มผลิตแก๊สธรรมชาติแล้วความกดดันก็จะลดลงเรื่อย ๆ จนถึงระดับที่ไม่สามารถดันให้แก๊สธรรมชาติไหลขึ้นมาถึงปากหลุมด้วยอัตราการผลิตที่ควบคุมความกดดันก็ถือว่าการผลิตแก๊สธรรมชาติจากหลุมผลิตนั้น ๆ สิ้นสุดลง แก๊สธรรมชาติในแหล่งหลายแหล่งอาจมีแก๊สธรรมชาติเหลว (Condensate) ปะปนอยู่ด้วย ดังนั้นที่ปากหลุมผลิตจึงต้องมีกระบวนการแยกแก๊สธรรมชาติเหลวเอาไว้เพื่อนำไปใช้ประโยชน์เพิ่มเติมต่อไปโดยอาจนำไปผสมกับน้ำมันดิบในกระบวนการกลั่นหรือใช้เป็นวัตถุดิบในอุตสาหกรรมปิโตรเคมีต่อไป 
      ปิโตรเลียมที่ได้รับการผลิตและพัฒนาขึ้นมาจากแหล่งใต้ดินไม่ว่าจะอยู่ในรูปของน้ำมันดิบ แก๊สธรรมชาติ หรือแก๊สธรรมชาติเหลว มักจะมีมลทินปะปนขึ้นมาด้วยเสมอไม่มากก็น้อย มลทินเหล่านี้มักจะเป็นน้ำ แก๊สชนิดต่าง ๆ ที่มิใช่สารประกอบของไฮโดรคาร์บอนและตะกอน ซึ่งมลทินเหล่านี้จะต้องได้รับการสกัดออกก่อนเสมอ สำหรับน้ำมันดิบบางครั้งอาจต้องใช้ความร้อนในการแยกเอาน้ำออกหรืออาจต้องเติมสารเคมีเข้าไปผสมเพื่อป้องกันการแข็งตัวอีกด้วย กระบวนการที่ต่อเนื่องจากการผลิตก็คือการขนส่งปิโตรเลียมไปยังโรงกลั่นน้ำมันหรือโรงแยกแก๊สก่อนนำไปใช้เป็นเชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้า การขนส่งน้ำมันดิบ อาจใช้เรือบรรทุกน้ำมัน รถไฟ รถบรรทุก หรือท่อส่งน้ำมันดิบ ส่วนแก๊สธรรมชาติมักจะใช้วิธีการขนส่งทางท่อ

 

อุปกรณ์แยกเศษหินและน้ำ
อุปกรณ์แยกเศษหินและน้ำ 

 

 

ท่อส่งน้ำมันดิบจากหลุมผลิตเข้าสู่สถานีการผลิต
ท่อส่งน้ำมันดิบจากหลุมผลิตเข้าสู่สถานีการผลิต

 

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
  • Posted By
  • Plookpedia
  • 15 Followers
  • Follow