Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

ธนาคารพาณิชย์

Posted By Plookpedia | 12 มิ.ย. 60
11,008 Views

  Favorite

ธนาคารพาณิชย์

 

พัฒนาการธนาคารพาณิชย์ในประเทศไทย 
กิจการธนาคารพาณิชย์ในประเทศเริ่มในสมัย พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ในขณะที่การค้าระหว่างประเทศไทย กับประเทศแถบยุโรปขยายตัวเพิ่มขึ้น จนทำให้นักธุรกิจชาวตะวันตกเข้ามาเปิดกิจการสาขาธนาคารพาณิชย์ในประเทศไทย เพื่ออำนวยความสะดวกทางการค้าระหว่างประเทศคือ ธนาคารฮ่องกงและเซี่ยงไฮ้ ของอังกฤษ ในปี พ.ศ. ๒๔๓๑ ธนาคารชาร์เตอร์ดของอังกฤษในปี พ.ศ. ๒๔๓๗ และธนาคารแห่งอินโดจีนของฝรั่งเศสในปี พ.ศ. ๒๔๓๙ ทางด้านของไทยเอง ได้มีการจัดตั้งกิจการประกอบธุรกิจในลักษณะธนาคารพาณิชย์ โดยให้ชื่อว่า บุคคลัภย์ (Book Club) ต่อมาได้เปลี่ยนชื่อเป็น บริษัทแบ๊งค์สยามกัมมาจล ทุน จำกัด (The Siam Commercial Bank Ltd.) ในปี พ.ศ. ๒๔๔๙ และเปลี่ยนเป็น ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด ในปี พ.ศ. ๒๔๘๒

 

บุคคลัภย์ สถานที่ทำการเดิมของธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด
ตั้งอยู่ที่บริเวณปากคลองตลาด เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร ปัจจุบัน เป็นที่อยู่อาศัย

 

หลังจากธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด ซึ่งเป็นธนาคารไทยแห่งแรกประสบความสำเร็จพอสมควรในการประกอบธุรกิจ ก็ได้มีธนาคารพาณิชย์ของไทยก่อตั้งเพิ่มขึ้นมาในระหว่าง
ปี พ.ศ. ๒๔๗๖ - ๒๔๘๔ (ก่อนสงครามโลกครั้งที่ ๒) ซึ่งได้มีการเปลี่ยนชื่อ และดำเนินงานมาจน ถึงปัจจุบัน ๔ แห่ง คือ ธนาคารนครธน จำกัด ธนาคารมหานคร จำกัด  ธนาคารเอเชีย จำกัด แต่การดำเนินงานของธนาคารไทยยังไม่มีประสิทธิภาพ และความก้าวหน้าเท่าเทียมกับสาขาธนาคารพาณิชย์ของต่างประเทศ ในประเทศไทย เนื่องจากขาดผู้มีความรู้ความเชี่ยวชาญในการบริหารงาน ธนาคารบางธนาคารต้องจ้างชาวต่างประเทศมาเป็นผู้บริหาร

 

ข้าว พืชผลทางการเกษตรที่สำคัญ เกษตรกรสามารถขอกู้ยืมสินเชื่อ
เพื่อการเกษตร จากธนาคารพาณิชย์ มาบำรุงรักษา เพื่อเพิ่มผลิตผลได้

 

ในระหว่าง พ.ศ. ๒๔๘๔ - ๒๔๘๘ (ระหว่าง สงครามโลกครั้งที่ ๒) เป็นช่วงเวลาและโอกาสให้ธนาคารพาณิชย์ของไทย ได้พัฒนาอย่างเต็มที่ เนื่องจากสาขาธนาคารต่างประเทศ ในประเทศไทย หยุดกิจการชั่วคราว และรัฐบาลส่งเสริมให้คนไทยก่อตั้งธนาคารพาณิชย์เพิ่มมากขึ้น ธนาคารที่ตั้งขึ้นในระหว่างนี้คือ ธนาคารกรุงไทย จำกัด ธนาคารกรุงเทพฯ พาณิชย์การ จำกัด ธนาคาร กรุงเทพ จำกัด ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด ธนาคารกสิกรไทย จำกัด

หลังสงครามโลกครั้งที่ ๒ ธนาคารพาณิชย์ของไทยเจริญเติบโตขึ้น จนแข่งขัน กับสาขาธนาคารพาณิชย์ต่างประเทศในประเทศไทยได้ ทั้งด้านการดำเนินงาน และการบริหารงาน ประชาชนมีความเข้าใจในการฝากเงินกับธนาคารพาณิชย์มากขึ้น กิจการค้า และการเกษตรที่ต้องใช้บริการของธนาคารพาณิชย์มีมากขึ้นเป็นลำดับ เป็นสิ่งจูงใจให้ธนาคารพาณิชย์ที่มีอยู่ ขยายงานออกไปยังส่วนภูมิภาค ขณะเดียวกัน ได้มีการตั้งธนาคารพาณิชย์เพิ่มขึ้นอีก ๖ ธนาคาร ตามชื่อที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน คือ ธนาคารไทยทนุ จำกัด  ธนาคารสหธนาคาร จำกัด ธนาคารศรีนคร จำกัด ธนาคารแหลมทอง จำกัด ธนาคารทหารไทย จำกัด และธนาคารสยาม จำกัด ธนาคารพาณิชย์ของไทย ได้ขยายการประกอบการ ตามความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศ ด้วยการเปิดสาขาเพิ่มมากขึ้นทั่วประเทศ ทั้งในกรุงเทพมหานคร และต่างจังหวัด ตลอดจนต่างประเทศด้วย ขณะเดียวกันธนาคารพาณิชย์ต่างประเทศ ก็ได้เข้ามาเปิดสาขาประเทศไทยเพิ่มขึ้นด้วย โดยส่วนใหญ่ เปิดสำนักงาน ในกรุงเทพมหานคร ปัจจุบัน มีธนาคารพาณิชย์ไทย ที่ดำเนินงานอยู่ ๑๖ ธนาคาร และธนาคารพาณิชย์ต่างประเทศ ที่เปิดสาขาในประเทศไทย ๑๔ ธนาคารด้วยกัน

 

 

การดำเนินงานของธนาคารพาณิชย์ 
กิจการธนาคารพาณิชย์ในแต่ละประเทศ มีวิวัฒนาการ และกรอบการดำเนินงานต่างกัน ตามสภาพแวดล้อมทางเศรษฐกิจ สังคม และสภาพความสัมพันธ์ที่เป็นมาแต่อดีต หากแต่เนื้อหาของการดำเนินงานจะคล้ายคลึงกัน เราแบ่งธนาคารพาณิชย์ตามขอบข่าย การดำเนินงานได้ ๒ แบบ คือ ธนาคารพาณิชย์ในระบบธนาคารเดี่ยว (unit banking) และธนาคารพาณิชย์ในระบบธนาคารสาขา (branch banking) ระบบธนาคารเดี่ยว หมายถึง ระบบที่ธนาคารพาณิชย์แต่ละแห่งมีสำนักงานเพียงแห่งเดียว ดำเนินการโดยเอกเทศ ไม่อยู่ใต้การควบคุมของธนาคารอื่น และไม่มีธนาคารใดอยู่ในการควบคุมของตน ธนาคารลักษณะนี้ แพร่หลายมากในสหรัฐอเมริกา มักจะเป็นธนาคารที่ตั้งในท้องถิ่น และดำเนินงานโดยบุคคลในท้องถิ่น เพื่อสนองความต้องการด้านบริการทางการเงินของบุคคลในชุมชนนั้น

 

ระบบธนาคารสาขา หมายถึง ระบบการ ธนาคารพาณิชย์ที่ธนาคารแห่งหนึ่งมีสาขามากมายหลายแห่ง กระจายอยู่ทั่วประเทศ หรือในต่างประเทศด้วย เพื่อความสะดวกในการโยกย้าย ถ่ายเทเงินทุนระหว่างประเทศ และให้บริการด้านธุรกิจทั้งในประเทศ และต่างประเทศแก่ลูกค้าของธนาคาร สาขาแต่ละแห่งจะให้บริการในท้องถิ่นที่สาขาตั้งอยู่ แต่นโยบายการดำเนินงานอยู่ที่สำนักงานใหญ่ ระบบธนาคารพาณิชย์ในประเทศต่าง ๆ ในยุโรปเป็นระบบธนาคารสาขา เช่นเดียวกับประเทศไทย

 

ตามพระราชบัญญัติการธนาคารพาณิชย์ พ.ศ. ๒๕๐๕ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติม โดยพระราชบัญญัติ การธนาคารพาณิชย์ (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๒๒  "การธนาคารพาณิชย์" หมายความว่า     "การประกอบธุรกิจประเภทรับฝากเงินที่ต้องจ่ายคืน เมื่อทวงถาม หรือเมื่อสิ้นระยะเวลาอันกำหนดไว้ และใช้ประโยชน์เงินนั้น ในทางหนึ่ง หรือหลายทาง เช่น (ก) ให้สินเชื่อ (ข) ซื้อขายตั๋วแลกเงิน หรือตราสารเปลี่ยนมืออื่นใด (ค) ซื้อขายเงินปริวรรตต่างประเทศ" การดำเนินงาน ของธนาคารพาณิชย์ เปรียบเสมือนเป็นตัวกลางทางการเงิน ทำหน้าที่รับฝากเงิน และกู้ยืมเงิน จากแหล่งต่าง ๆ ที่มีเงินเหลือ มาให้กู้ยืมต่อ แก่ผู้ที่ต้องการเงิน โดยธนาคารพาณิชย์จ่ายดอกเบี้ยจำนวนหนึ่งให้กับผู้ฝากเงิน และผู้ให้กู้ และคิดดอกเบี้ยจากผู้ที่กู้ยืมเงิน จากธนาคารพาณิชย์ในอัตราที่สูงกว่า ธนาคารได้รายได้จากส่วนต่าง ของอัตราดอกเบี้ย ส่วนต่างนั้น รายได้นี้ ธนาคารนำมาใช้เป็นค่าใช้จ่ายในการดำเนินงาน เช่น เงินเดือน ค่าจ้าง        ค่าอาคาร และวัสดุต่างๆ รายได้ส่วนที่เหลือ หลังจากการจ่ายค่าใช้จ่ายเหล่านี้ ถือเป็นกำไรจากการประกอบการ ซึ่งพิจารณาการดำเนินงานได้จากงบการเงินของธนาคารพาณิชย์

 

ตั๋วแลกเงิน

 

ธนาคารพาณิชย์มีเงินรับฝากเป็นแหล่งที่มาของเงินทุน (source of funds) ที่สำคัญในการดำเนินงาน รองลงมาคือ เงินกู้ยืม และเงินส่วนของผู้ถือหุ้นของธนาคารพาณิชย์นั้น ๆ เอง   ซึ่งจะมีจำนวนค่อนข้างน้อยเมื่อเทียบกับเงินรับฝาก

 

สมุดฝากเงินของธนาคารต่างๆ

 

เงินรับฝากที่ธนาคารพาณิชย์รับฝากจากประชาชนทั่วไป แบ่งออกเป็นประเภทใหญ่ ๆ ตามลักษณะของระยะเวลาของการฝากได้เป็น ๓ ประเภท คือ

๑. เงินฝากกระแสรายวัน
๒. เงินฝากออมทรัพย์
๓. เงินฝากประจำ

 

๑. เงินฝากกระแสรายวัน 
เงินฝากประเภทนี้เป็นเงินฝาก ที่ผู้ฝากจะโอนจ่ายเงินในบัญชีของตนให้กับผู้อื่น ได้ด้วยการเขียนเช็คสั่งจ่าย ธนาคารพาณิชย์จะโอนเงิน จำนวนเท่ากับที่ผู้สั่งจ่าย (ผู้เป็นเจ้าของบัญชี) ระบุไว้บนเช็ค ให้กับผู้ที่นำเช็คมาขึ้นเงิน หรือจ่ายให้กับธนาคารอื่น ที่ส่งเช็คฉบับนั้น มาเรียกเก็บ ปกติธนาคารจะไม่ให้ดอกเบี้ยสำหรับเงินฝากประเภทนี้ เพราะถือว่า บัญชีนี้ให้ประโยชน์ทางอ้อมที่ไม่เป็นตัวเงินกับผู้ฝาก คือ ทำให้ผู้ฝากได้รับความสะดวกในการใช้จ่ายเงิน โดยเขียนเช็คสั่งจ่าย แทนการเบิกเงินสดจากธนาคาร

 

สมุดคู่ฝากบัญชีเงินฝากกระแสรายวัน หรือบัญชีเงินฝากเดินสะพัด

 

 

๒. เงินฝากออมทรัพย์ 
เงินฝากประเภทนี้เป็นเงินฝากที่สนับสนุนการออมของผู้ออมรายย่อย ธนาคารจะไม่กำหนดจำนวนเงินขั้นต่ำที่จะรับฝากแต่ละครั้ง หรือกำหนดไว้ต่ำมาก จึงเป็นบัญชีที่ผู้ออมอาจนำเงินฝากไว้ แม้ว่าจะเป็นเงินจำนวนเล็กน้อย บัญชีเงินฝากประเภทออมทรัพย์ไม่มีกำหนดเวลาของการรับฝากเหมือนเงินฝากประจำ ธนาคารให้ดอกเบี้ยสำหรับเงินที่ฝากค้างไว้ แม้ว่า ดอกเบี้ยจะต่ำกว่าเงินฝากประจำ แต่เงินฝากประเภทออมทรัพย์ให้ความสะดวกในการถอนเงินมากกว่า

 

สมุดคู่ฝากบัญชีเงินฝากออมทรัพย์

 

 

๓. เงินฝากประจำ 
เป็นเงินฝากที่ผู้ฝาก จะกำหนดระยะเวลาของการฝากไว้ เช่น เป็นเงินฝากระยะ ๖ เดือน ๑ ปี ๒ ปี เป็นต้น ปกติ ธนาคารจะกำหนดจำนวนเงินขั้นต่ำที่ธนาคารจะรับฝาก สำหรับการฝากแต่ละครั้ง เงินฝากประเภทนี้จะได้ดอกเบี้ยสูงกว่าเงินฝากประเภทอื่น เพราะเงินฝากที่มีระยะเวลากำหนดแน่นอน และมีระยะเวลานาน เป็นเงินที่ธนาคารพาณิชย์จะนำไปหาผลประโยชน์ได้สะดวกกว่าเงินฝากประเภทอื่น ไม่ต้องเผื่อเงินสำรองไว้เพื่อถอน มากเท่ากับเงินฝากประเภทอื่น การถอนเงินฝากประเภทนี้กับธนาคารพาณิชย์ในเมืองไทยนั้น ผู้ฝากอาจถอนได้ เมื่อต้องการ ไม่มีการกำหนดว่า ให้ผู้ฝากแจ้งล่วงหน้า แต่เมื่อผู้ฝากขอถอนเงินก่อนที่เงินฝากนั้น จะถึงกำหนด ตามที่ตกลงทำสัญญาไว้กับธนาคาร เมื่อแรกฝากธนาคารพาณิชย์จะหักลดดอกเบี้ยลง จากที่ได้ตกลงไว้เดิม

 

สมุดคู่ฝากบัญชีเงินฝากประจำ

 

นอกจากเงินฝากสามประเภทใหญ่ที่กล่าวมาแล้ว ธนาคารพาณิชย์ยังมีโครงการส่งเสริมการออมอีกหลายประเภท เพื่อให้สอดคล้องกับลักษณะรายได้ของผู้ฝาก เช่น การรับฝากจากผู้ฝากเป็น ประจำทุกเดือนเป็นจำนวนเงินเดือนละเท่า ๆ กัน ตามระยะเวลาที่ตกลงกันไว้ เช่น ๒ ปี หรือ ๓ ปี เมื่อฝากครบตามระยะเวลาที่กำหนด ธนาคารพาณิชย์จะจ่ายคืนเงินให้  พร้อมทั้งสมทบเงินให้อีกจำนวนหนึ่ง ซึ่งเป็นดอกเบี้ย ดอกเบี้ยจำนวนนี้ เมื่อคำนวณออกมาจะใกล้เคียงกับดอกเบี้ยเงินฝากประจำ

 

ธนาคารพาณิชย์นำเงินที่ได้จากการรับฝากเงิน การกู้ยืม และเงินทุนของตนเอง ไปให้กู้ยืมแก่ลูกค้า ลงทุนซื้อสินทรัพย์ทางการเงิน และดำเนินธุรกิจอื่นในขอบเขต ที่ธนาคารพาณิชย์ พึงกระทำได้ตามพระราชบัญญัติการธนาคาร พาณิชย์ พ.ศ. ๒๕๐๕ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติม โดยพระราชบัญญัติการธนาคารพาณิชย์ (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๒๒ เพื่อก่อให้เกิดรายได้ต่อไป

 

แผนผังแสดงที่มาและทางใช้ไปของเงินทุน

 

ทางใช้ไปของเงินทุนของธนาคาร พาณิชย์ (use of funds) มีรายการที่สำคัญอันเป็นธุรกิจหลักของธนาคารพาณิชย์ คือ เงินให้กู้ยืม มีอัตราประมาณร้อยละ ๗๕ ของสินทรัพย์ทั้งหมด รองลงมาคือการลงทุนในหลักทรัพย์ต่าง ๆ ทั้งในภาคเอกชน และรัฐบาล เช่น ซื้อพันธบัตร และตั๋วเงินคลังของรัฐบาล หรือซื้อหุ้นของ บริษัทต่าง ๆ นอกจากนี้ ยังมีการนำเงินทุนไปใช้ในการลงทุนสร้างอาคารสำนักงาน และซื้อสินทรัพย์อื่น ๆ และธนาคารพาณิชย์ยังต้องกันเงินส่วนหนึ่งไว้ เป็นเงินสำรอง เพื่อใช้ในการเบิกถอนของผู้ฝากเงินด้วย

 

เจ้าหน้าที่ของธนาคารเยี่ยมชมกิจการของเกษตรกร พร้อมทั้งให้คำปรึกษาในการขอกู้เงิน

 

เงินให้กู้ยืมของธนาคารพาณิชย์ส่วนใหญ่ จะเป็นเงินให้กู้ยืมระยะสั้น เพื่อให้สอดคล้องกับแหล่งที่มาของเงินทุน อันได้แก่ เงินรับฝากจากประชาชน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นเงินรับฝากอาย ประมาณ ๑ ปี ด้วยเหตุนี้ เงินให้กู้ยืมของธนาคารพาณิชย์จึงมุ่งให้กู้ยืม เพื่อใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนในกิจการค้าปลีก และค้าส่ง อุตสาหกรรม และการนำเข้า และส่งออกสินค้า รวมกันมากกว่าร้อย ละ ๕๐ ของเงินให้สินเชื่อทั้งหมด กิจการดังกล่าว นับเป็นภาคเศรษฐกิจที่เจริญแล้ว และให้ผลตอบแทนต่อเงินลงทุนสูง ส่วนในภาคเศรษฐกิจที่ยังไม่เจริญ เช่น ภาคเกษตรนั้น ธนาคารพาณิชย์ ถูกกำหนดโดยข้อบังคับ ของธนาคารแห่งประเทศไทย ให้ปล่อยสินเชื่อหรือให้กู้ยืมแก่ภาคเกษตร ไม่ต่ำกว่าร้อยละ ๑๓ ของยอดเงินฝากรวมของธนาคารนั้น ในสิ้นปีที่ผ่านมา โดยจะดำเนินการให้กู้ยืมเอง หรือนำไปฝากกับธนาคาร เพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร เพื่อให้ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร นำไปให้เกษตรกร หรือสถาบันเกษตรกรกู้ยืมแทน ตามนโยบายของทางการ ที่ต้องการให้ธนาคารพาณิชย์ปล่อยสินเชื่อไปสู่ภาคเศรษฐกิจ ที่มีประโยชน์ต่อการพัฒนาประเทศ โดยเฉพาะการพัฒนาชนบท  ซึ่งส่วนใหญ่เป็นภาคเกษตรกรรม เงินให้กู้อีกประเภทหนึ่ง ที่ธนาคารพาณิชย์ให้ความสนใจ และให้กู้ยืมมากขึ้นคือ การให้กู้ยืมแก่บุคคลทั่วไป เพื่อจัดหาที่อยู่อาศัยเป็นของตนเอง ซึ่งเป็นเงินให้กู้ยืม ที่มีความเสี่ยงน้อยมาก สำหรับธนาคารพาณิชย์เอง แต่เป็นเงินกู้ในระยะค่อนข้างยาว

 

แผนผังแสดงประเภทของตั๋วเงิน

 

การให้กู้ยืมหรือการให้สินเชื่อของธนาคารพาณิชย์แยกได้เป็น ๓ ประเภท คือ

๑. เงินให้กู้ (loans)
๒. เงินเบิกเกินบัญชี (overdrafts)
๓. ตั๋วเงินซื้อลด (discounts)

 

เงินให้กู้ 
เป็นเงินที่ธนาคารพาณิชย์ให้แก่ลูกค้าเป็นเงินก้อน ลูกค้าผู้กู้จะเบิกเงินไปได้ทั้งจำนวน เพื่อนำไปใช้ตามวัตถุประสงค์ของตน ผู้ขอกู้ต้องชำระดอกเบี้ยเต็มตามจำนวนเงินที่กู้ นับตั้งแต่วันที่เริ่มสัญญากู้ ไม่ว่าผู้กู้จะเบิกเงินก้อนนั้นไปใช้ หรือยังฝากไว้กับธนาคาร ดังนั้น ผู้ที่ขอกู้เงินประเภทนี้ จะต้องมีโครงการใช้เงินพร้อมอยู่แล้ว และหากมีเงินเหลือก็จะต้องแสวงหาที่ลงทุนชั่วคราว เพื่อให้เงินที่เหลือได้ดอกผล พอจะชดเชยกับส่วนของดอกเบี้ย ที่ต้องเสีย สำหรับเงินกู้จากธนาคารพาณิชย์ 

 

 

การรับเหมาก่อสร้าง ธุรกิจที่ต้องพึ่งบริการรับรองหรือค้ำประกันจากธนาคารพาณิชย์

 

เงินเบิกเงินบัญชี 
แตกต่างจากเงินให้กู้ตรงที่ว่า เมื่อผู้กู้ทำสัญญาขอกู้แบบเบิกเงินเกินบัญชีกับธนาคารแล้ว ธนาคารยังไม่ถือว่า ผู้กู้เป็นลูกหนี้ ของธนาคาร จนกว่าผู้กู้จะได้ใช้จ่ายเงินเกินบัญชีกระแสรายวันที่ตนมีอยู่กับธนาคาร ธนาคารจะยินยอมให้ผู้กู้เบิกเงินเกินจำนวนเงิน ที่มีอยู่ในบัญชีกระแสรายวันของผู้กู้ได้ เท่ากับจำนวนเงินที่กำหนดเอาไว้ในสัญญา ภายในช่วงเวลาอายุของสัญญา ผู้กู้จะใช้เงินเมื่อใดก็ได้ตามต้องการ และเมื่อใดที่ผู้กู้มีเงินก็นำเงินมาฝากเข้าบัญชี เพื่อลดยอดเงินส่วนที่เบิกเกินบัญชีลง ธนาคารจะคิดดอกเบี้ยเฉพาะส่วนที่เจ้าของบัญชี     เบิกเกินบัญชี และเฉพาะวันที่มีการเบิกเกินบัญชีจริงเท่านั้น สัญญาเงินกู้ชนิดนี้ เป็นสัญญาที่สะดวก สำหรับผู้ทำการค้า ที่บางเวลาต้องใช้เงินจำนวนมาก แต่ต้องการเงินไปใช้เป็นช่วงเวลาไม่นานนัก วิธีเบิกเกินบัญชีเป็นวิธีปฏิบัติของการธนาคารพาณิชย์ในอังกฤษ และในประเทศไทยด้วย ส่วนวิธีการให้กู้ยืมเงินก้อน เป็นวิธีที่ธนาคารพาณิชย์ในสหรัฐอเมริกา นิยมใช้ในการให้กู้ยืมเงินแก่ลูกค้า

 

ตั๋วเงินซื้อลด 
เป็นวิธีการให้เงินกู้เพื่อการค้า โดยธนาคารพาณิชย์จะรับซื้อตั๋วเงิน ที่พ่อค้ารายหนึ่ง ออกให้พ่อค้าอีกรายหนึ่ง ตั๋วเงินนี้เป็นตั๋วเงินที่เกิดขึ้น เนื่องจากการซื้อขายสินค้า ซึ่งจะมีการชำระเงินในภายหลัง พ่อค้าที่ได้รับตั๋วเงิน แต่ต้องการเงินสดไปใช้ จะนำตั๋วเงินนี้ ไปขายลดต่อให้กับธนาคารพาณิชย์ ตั๋วเงินประเภทนี้ จะเป็นตั๋วที่มีการชำระเงิน ตามจำนวนที่ระบุไว้บนหน้าตั๋ว ในวันที่ตั๋วเงินครบกำหนด ธนาคารรับซื้อตั๋วเงินในรูปของการซื้อลด คือ ธนาคารให้ราคาแก่ผู้ที่นำตั๋วเงินมาขายไม่เต็มตามราคา ที่ระบุไว้บนหน้าตั๋ว ส่วนต่างของจำนวนเงิน ที่ธนาคารชำระเป็นค่าซื้อลดตั๋วเงิน กับจำนวนเงินที่ธนาคารได้รับตามหน้าตั๋วเงิน เมื่อครบกำหนด คือ ดอกเบี้ยที่ธนาคารได้รับจากการซื้อลดตั๋วเงินดังกล่าว ตั๋วเงินมี ๓ ชนิด คือ เช็ค ตั๋วสัญญาใช้เงิน และตั๋วแลกเงิน ตั๋วเงินส่วนใหญ่ที่ธนาคารพาณิชย์ซื้อลดไว้ ได้แก่ เช็ค

 

รถบริการแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ

 

ในการให้กู้ยืมเงินด้วยวิธีต่างๆ ธนาคาร พาณิชย์จะต้องพิจารณาด้วยความระมัดระวัง เพื่อให้มีความมั่นใจพอสมควรว่า จะได้เงินคืน เมื่อครบกำหนดตามสัญญา ถ้าเป็นการกู้ไปทำธุรกิจจะต้องศึกษาฐานะทางการเงินของธุรกิจ และโครงการที่จะนำเงินกู้ไปใช้ว่า เหมาะสม และให้ผลตอบแทนที่คุ้มค่ากับการลงทุนหรือไม่ ธนาคารอาจจะให้กู้ยืม โดยให้มีผู้ค้ำประกัน หรือเรียกหลักทรัพย์เป็นประกันการชำระหนี้คืน เมื่อครบกำหนด หลักทรัพย์ที่ค้ำประกันอาจจะเป็นที่ดิน เงินฝากประจำ และสินทรัพย์ทางการเงินอื่น ๆ 

 

แผนกบริการแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ

 

ธุรกิจการรับฝากเงิน และให้กู้ยืมเงิน ถือเป็นธุรกิจหลักของธนาคารพาณิชย์ แต่โดยปกติแล้ว ธนาคารพาณิชย์ยังมีบริการอื่นให้แก่ลูกค้าอีกหลายประการ โดยเฉพาะบริการต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการเงิน และการจัดการการเงินของลูกค้า ทั้งที่เป็นบุคคลธรรมดา นักธุรกิจ และบริษัท ห้างร้าน บริการนี้อยู่ในข้อกำหนดของกฎหมาย และประเพณีปฏิบัติของธนาคารพาณิชย์จะทำได้ ดังต่อไปนี้

 

การรับรองและการค้ำประกัน (acceptance and guarantee)
การทำธุรกิจบางชนิด ผู้ที่ติดต่อกันจะไม่มีความไว้วางใจกัน เพราะไม่รู้จักกันดีพอ จึงมักจะพึ่งธนาคารพาณิชย์ให้เป็นคนกลาง ทำหน้าที่ในการรับรอง หรือค้ำประกันการจ่ายเงินตามตั๋วเงินที่ลูกค้าเป็นผู้จ่าย หรือการปฏิบัติตามสัญญา ที่ลูกค้าต้องปฏิบัติต่อคู่กรณี หากลูกค้าไม่จ่ายเงิน หรือไม่ปฏิบัติตามสัญญา ธนาคารมีภาระต้องชดใช้เงิน หรือค่าเสียหายแทนลูกค้า เช่น การค้ำประกันผู้รับเหมา ในการรับเหมาทำงานก่อสร้างขนาดใหญ่ การค้ำประกันบริษัทต่างๆ ต่อทางราชการ ในเรื่องการชำระค่าภาษีอากร ค่าไฟฟ้า และการค้ำประกันผู้กู้เงินในประเทศในการกู้ยืมเงินจากสถาบันการเงินในต่างประเทศ เป็นต้น การรับรอง และการค้ำประกัน เป็นธุรกิจ ที่ธนาคารพาณิชย์ใช้ชื่อเสียงของตนให้เป็นประโยชน์ และได้รับผลตอบแทน โดยการเรียกเก็บค่าธรรมเนียมจากลูกค้า ก่อนที่จะรับรองตั๋วเงิน หรือออกหนังสือค้ำประกันให้

 

เช็คของขวัญของธนาคารต่าง ๆ

 

การโอนเงิน (transfer payment)
การโอนเงิน เป็นบริการอำนวยความสะดวกแก่ลูกค้า ในการส่งเงินจากที่แห่งหนึ่งไปยังที่อีกแห่งหนึ่งในประเทศ และต่างประเทศ โดยโอนผ่านสาขาของธนาคารเดียวกัน หรือโอนผ่านธนาคารพาณิชย์อื่น หรือโอนผ่านธนาคารตัวแทนในต่างประเทศ

 

เครื่องบริการเงินด่วน ATM

 

การซื้อขายเงินตราต่างประเทศ (foreign exchange)
ผู้ส่งออกและผู้ที่เดินทางเข้ามาท่องเที่ยวในประเทศ จะมีเงินตราของประเทศอื่น ที่ต้องการเปลี่ยนเป็นเงินบาท ในขณะเดียวกันผู้ที่นำสินค้าเข้า และผู้ที่จะเดินทางไปต่างประเทศ       จะต้องการเงินตราต่างประเทศ เพื่อใช้ชำระให้กับต่างประเทศ ธนาคารพาณิชย์รับซื้อและขายเงินตราต่างประเทศ โดยได้รับกำไรจากส่วนต่างระหว่างราคาซื้อ ซึ่งถูกกว่าราคาที่ธนาคารพาณิชย์ขาย ธนาคารพาณิชย์ในประเทศไทย ให้บริการซื้อขายเงินตราต่างประเทศเช่นนี้ได้ และยังมีบุคคลบางราย ได้รับอนุญาตจากทางการ ให้ประกอบธุรกิจซื้อขายเงินตราต่างประเทศได้ด้วย แต่ขอบเขตของการประกอบธุรกิจ จะจำกัดไว้แคบกว่าของธนาคารพาณิชย์

 

การเรียกเก็บเงินตามตราสารเพื่อลูกค้า (bill for collection)
การเรียกเก็บเงินตามตราสาร เพื่อลูกค้า เป็นบริการที่ธนาคารให้แก่ลูกค้าที่มีบัญชีเงินฝากกับธนาคาร ด้วยการเรียกเก็บเงินตามเช็ค ดราฟต์ ตั๋วแลกเงิน และตราสารทางการเงินอื่น ๆ ที่มีลักษณะคล้ายคลึงกันให้แก่ลูกค้า เมื่อเรียกเก็บเงินได้ ธนาคารจะนำเงินเข้าบัญชีให้ลูกค้า ธนาคารให้บริการเรียกเก็บเงินทั้งภายในประเทศ และระหว่างประเทศ โดยธนาคารจะเรียกเก็บค่าธรรมเนียมจากลูกค้า 

 

บริการอื่น ๆ (other business) 
ธนาคารพาณิชย์ให้บริการเพื่อประโยชน์ของลูกค้า โดยลูกค้าอาจจะเสียค่าธรรมเนียม สำหรับบริการบางอย่างหรือไม่เสียเลยก็ได้ เช่น 

๑. บริการรับฝากของมีค่า โดยการให้เช่าตู้นิรภัย 
๒. บริการชำระค่าไฟฟ้า ค่าน้ำประปา ค่าโทรศัพท์ ค่าภาษี และค่าธรรมเนียม ให้แก่ส่วนราชการและองค์การต่าง ๆ ผ่านทางธนาคารพาณิชย์ 
๓. บริการออกเช็คของขวัญเพื่องานมงคลต่าง ๆ 
๔. บริการออกบัตรเครดิต เพื่อบริการลูกค้าในการซื้อสินค้าตามสถานบริการ และห้างสรรพสินค้า โดยไม่ต้องจ่ายเงินสดทันที 
๕. บริการรับฝาก และจ่ายเงิน โดยเครื่องอัตโนมัติ "บริการเงินด่วน" ATM (automatic teller machine) 
๖. บริการจ่ายเงินเดือนพนักงานของลูกค้า ที่เป็นบริษัท ห้างร้าน และส่วนราชการ 
๗. บริการส่งเงินเพื่อการศึกษาในต่างประเทศให้ลูกค้า

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
Tags
  • Posted By
  • Plookpedia
  • 15 Followers
  • Follow